โรงเรียนทั้งสามแห่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สุชาดาวิทยาลัยได้งบจากต่างประเทศ บริหารโดยภิกษุณีในนิกายฝ่ายมหายาน เน้นการเรียนการสอนด้านอาชีพ โรงเรียนของมหาโพธิสมาคมบริหารจัดงานโดยภิกษุฝ่ายเถรวาท เพราะใช้ครูชาวอินเดียเป็นผู้สอน มหาโพธิสมาคมเป็นเพียงเจ้าของผู้บริหารจึงไม่ค่อยมีปัญหา จึงมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะชัดเจนและมั่นคง ส่วนอีกโรงเรียนที่ดำเนินการโดยคนอินเดียเอง เรียนสบายๆ ไม่สนใจเวลา ครูว่างเมื่อไหร่ก็มาสอน โดยตีระฆังบอก นักเรียนอยากเรียนก็เรียน ไม่มีระเบียบที่ชัดเจน และนี่คืออินเดียขนาดแท้และดั้งเดิม ยังคงรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างคงเส้นคงวา นี่แหละเมืองคนจนที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง
เสน่ห์ของพุทธคยาที่สำคัญที่สุดคือเจดีย์พุทธคยาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นโพธิ ห่างจากต้นโพธิประมาณ 2 เมตร เจดีย์สูงประมาณ 27 เมตร วัดรอบฐานได้ประมาณ 85 เมตร ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 4 องค์ ภายในเจดีย์เป็นห้องโถง มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักด้วยหินดำในสมัยปาละ มีอายุประมาณ 1400 ปี เป็นพระประธาน ผู้คนจากทุกสารทิศมักจะเดินทางมาเพื่อกราบไหว้วัชรอาสน์ที่ใต้ต้นโพธิ์และเจดีย์ ภายในอาณาบริเวณวัดมหาโพธิจะมีพระภิกษุชาวอินเดียคอยดูแลอย่างใกล้ชิด (ในอดีตเคยอยู่ในการดูแลของมหาโพธิสมาคม โดยมีพระภิกษุจากศรีลังกา เป็นผู้ดูแลและคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้พระภิกษุชาวอินเดียได้เรียกร้องเพื่อกำกับดูแลวัดมหาโพธิ์เอง) เกี่ยวกับต้นโพธิ์ มีบันทึกไว้ว่าต้นปัจจุบันเป็นต้นที่ 4
ต้นโพธิ์ต้นแรก พระนางมหิสุนทรี มเหสีของพระเจ้าอโศกได้สั่งให้นำเอายาพิษมารดที่โคนต้นและนำน้ำร้อนมาลวก เพียงเพราะความคิดที่ว่าพระเจ้าอโศกรักต้นโพธิ์มากกว่าตนเอง จนกระทั่งต้นโพธิ์เฉาตาย ต้นโพธิ์ต้นแรกจึงมีอายุเพียง 352 ปี นี่เป็นพลังของความอิจฉาริษยาโดยแท้ ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ อิสตรีนี่เข้าใจยากจริงๆ
ต้นโพธิ์ต้นที่สอง พระเจ้าอโศกได้ตั้งสัจจอธิษฐาน ขอให้ต้นโพธิ์เกิดขึ้นอีก ต่อมาไม่นานก็มีหน่อเกิดจากต้นเดิมกลายเป็นต้นโพธิ์ต้นใหม่จากต้นเดิมนั่นเอง ในปีพุทธศักราช 1100 พระเจ้าศาสางกะ กษัตริย์ฮินดู จากแคว้นเบงกอลพยายามทำลาย ผลสุดท้ายตัวเองกระอักโลหิตตายที่โคนต้นโพธิ์ แต่ต้นโพธิ์ยังอยู่เรื่อยมา ต้นโพธิ์ต้นที่สองนี้มีอายุประมาณ 871 ปี กษัตริย์ก็ยากจะเข้าใจเหมือนกัน
ต้นโพธิ์ต้นที่สาม พระเจ้าปูรวรมา ได้ทรงตั้งสัจจอธิษฐาน หน่อต้นโพธิ์ก็ได้แตกหน่อออกมาอีก มีอายุยืนยาวนานถึง 1258 ปี และล้มตายไปเองในปีพุทธศักราช 2421 ธรรมขาติซื่อสัตย์เสมอเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจลักษณะโดยแท้
ต้นโพธิ์ต้นที่สี่ พุทธศักราช 2423 เซอร์คันนิ่งแฮม ได้พบหน่อต้นโพธิ์ 2 หน่อใกล้ ๆ กับต้นเดิม จึงได้นำมาปลูกที่เดิมและอีกต้นหนึ่งปลูก ๆ กันประมาณ 10 เมตร ปัจจุบันจึงมีต้นโพธิ์ 2 ต้น ต้นที่อยู่บริเวณที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งจนกระทั่งตรัสรู้ ปัจจุบัน(พ.ศ.2544) มีขนาดประมาณ 3 คนโอบสูงประมาณ 100 ฟุต มีอายุ 122 ปี เมื่อเห็นต้นโพธิ์ในปัจจุบันก็ให้สงสารและหวั่นใจว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะตามลำต้นเป็นโพรงที่พร้อมจะล้มลงได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางพฤษศาสตร์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดก็ตาม
นอกจากนั้นที่พุทธคยายังมีสถานที่ที่ผู้คนมักจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปทัศนามากนัก คือสระมุจลินท์,ต้นอัชปาลนิโครธและต้นราชายตนะ อยู่ห่างจากต้นโพธิ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าเดินทางไปกับขบวนท่องเที่ยวมักจะพลาดโอกาส เพราะถนนหนทางลำบาก เต็มไปด้วยหลุมและบ่อ ที่สะดวกที่สุดคือการเดินทางตัดทุ่งนา โดยเฉพาะสระมุจลินท์ได้รับการจำลองไว้แล้วภายในวัดมหาโพธิ์แล้ว ส่วนสระมุจลินท์ที่เป็นของจริงต้องเดินทางไปเอง ปัจจุบันน่าเศร้าใจไม่น้อย วันที่ผู้เขียนกับคณะจากวัดป่าพุทธคยาเดินทางไปนั้น เป็นเวลาย่ำสายัณห์ จึงมักจะเดินสวนทางกับบรรดาคนเลี้ยงแพะ,คนเลี้ยงวัวหรือชาวนาชาวสวนที่กำลังเดินกลับสู่เคหา สระมุจลินท์กลายเป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงวัวและแพะ น้ำไม่ใสสะอาดเหมือนในตำนานที่เล่าขาน มีต้นไม้ขึ้นเต็มตามขอบสระ วัวและแพะถูกผูกเลี้ยงไว้ข้างๆ ขอบสระ จึงมีสภาพไม่น่าดูนัก
ที่น่าตลึงงันของพุทธศาสนิกชาวไทยอีกอย่างหนึ่งคือรอบๆ บริเวณวัดมหาโพธิ์มีผู้คนชาวอินเดียทำมาหากิน มักจะตั้งชื่อที่ไม่มีโอกาสได้ยินในเมืองไทยเช่นสิทธัตถะโฮเตล, สุชาดาโฮเตล,พุทธโฮเตล,สิทธารถะเรสตัวรอง,อรหันต์ทัวร์,นิพพานทัวร์ เป็นต้น
เมื่ออนาคาริกธรรมปาละมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ได้มีหลายประเทศได้มาสร้างวัดขึ้น นอกจากวัดมหาโพธิ์แล้ว ก็มีวัดพม่าสร้างก่อนที่อนาคาริกจะเดินทางไป(พ.ศ.2418),วัดจีน(พ.ศ.2478),วัดธิเบต(พ.ศ.2481) ในโอกาสที่อินเดียจัดงานฉลองพุทธชยันตีในปีพุทธศักราช 2500 นั้น ก็ได้ชักชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาให้มาสร้างวัดที่พุทธคยาคือวัดไทยพุทธคยา ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในอินเดีย (สร้างเสร็จปีพ.ศ.2415),วัดญี่ปุ่น อินโดซาน นิปปอนจิ(พ.ศ.2416),วัดไดโจเกียวญี่ปุ่น(พ.ศ.2526)และพระพุทธรูปใหญ่ไดโจเกียว(พ.ศ.2532),วัดภูฏาน(พ.ศ.2531), ปัจจุบันยังมีวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางประเทศก็ยังสร้างไม่เสร็จเช่นวัดบังคลาเทศ ในส่วนของประเทศไทยได้มีการสร้างวัดป่าพุทธคยาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้ๆ กับต้นโพธิ์มองเห็นได้ชัดเจน โดยมีนโยบายสร้างเป็นศูนย์วิปัสสนานานาชาติ
จากพุทธคยาเดินทางโดยรถไฟประมาณ 4 ชั่วโมงก็ถึงเมืองพารณสี ในสมัยพุทธกาลน่าจะเป็นเมืองเดียวที่พระพุทธศาสนาไม่อาจตั้งมั่นได้นานเหมือนกับเมืองอื่นๆ มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เมืองพารณสี ที่สำคัญที่สุดคือแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันคือสารนารถอยู่ห่างจากเมืองพารณสีไม่ไกลนัก
จากหนังสือร้อยถิ่นอินเดียของอมตานันทะบรรยายถึงอินเดียไว้ตอนหนึ่งว่า “อินเดียคือเมืองแห่งคงคาแดนสวรรค์ เมืองสันตุฏฐิ์ เมืองอาวุธลับนับไม่ถ้วน เมืองผ้ากาสีนารีฟ้อน เมืองวิงวอนพระเจ้าช่วย เมืองกล้วยแขกทอดไม่มี เมืองนั่งขี้คุยกัน เมืองสำคัญแสวงบุญ เมืองกลิ่นฉุนเครื่องเทศ เมืองเหตุเมืองผล เมืองคนจนผู้ยิ่งใหญ่” คำบรรยายนี้น่าจะอธิบายเมืองพาราณสีได้ชัดเจนครบถ้วนที่สุด
ถ้าจะนับเมืองที่ประวัติยาวนานมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกแล้ว เมืองพารณสีน่าจะอยู่อันดับต้นๆ ของโลก ในสมัยพุทธกาลอยู่ในแคว้นกาสีเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าเนื้อดีและมีนางระบำรำฟ้อนที่ขึ้นชื่อที่สุด นิทานที่คนเฒ่าคนแก่มักจะเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอๆว่า “ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพารณสี…” และก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนบางคนเข้าใจว่าเมืองพารณสีและพระเจ้าพรหมทัตเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนานเท่านั้น
แต่ไม่น่าเชื่อว่าเมืองพาราณสียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ (ตามความเชื่อในลัทธิฮินดู) ออกเสียงเป็นวาราณสี อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ อินเดีย และริมฝั่งแม่น้ำคงคาทางทิศตะวันออก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ยังมีเมืองรามนคร มีพระเจ้าพรหมทัตครองเมือง เหมือนเรื่องเล่าในอดีตไม่มีผิด พระเจ้าพรหมทัตในปัจจุบันมิได้มีฐานะเป็นกษัตริย์ตามความเชื่อเดิม แต่เป็นตำแหน่งหัวหน้าวังหรือบ้านที่ชื่อว่ารามนคร และพรหมทัตคือตำแหน่งที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตกาลอันยาวนาน นัยว่าถ้านับย้อนหลังก็ประมาณ 7,000 ปีล่วงมาแล้ว พรหมทัตปัจจุบันอายุประมาณ 90 กว่าปีแล้ว จึงไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นตัวจริงสักเท่าไร แต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยบานารัส ฮินดู หรือที่นักศึกษาไทยนิยมเรียกว่ามหาวิทยาลัยพาราณสี ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งโดยการสืบทอด และเป็นมหาวิทยลัยหนึ่งที่มีพระนักศึกษาไทยศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก