พารณสีเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้วก็ได้ประกาศแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหรือสารนารถในปัจจุบัน ห่างจากเมืองพารณสีประมาณ 8 กิโลเมตร จากบันทึกของหลวงจีนเฮี้ยนจัง(เดินทางไปอินเดียในช่วงพ.ศ.1172-1187)ได้บันทึกไว้พรรณาถึงเมืองพารณสีและอารามมฤคทายวันไว้ตอนหนึ่งว่า “นครพารณสีด้านตะวันตกจดแม่น้ำคงคา มีอารามกว่า 30 แห่ง และมีพระสงฆ์กว่า 2,000 รูป ล้วนเป็นพระฝ่ายหินยานสรวาสติวาทินทั้งสิ้น อารามมฤคทายวันมีหอสูงเทียมเมฆ ระเบียงรอบหอติดต่อกัน 4 ด้าน ในอารามมีพระภิกษุสงฆ์ 1,500 รูป เป็นฝ่ายสัมสติยะนิกายหินยาน ในกำแพงมีวิหารสูงกว่า 100 เชี้ยะ บันไดปูด้วยแผ่นศิลากว่า 100 ขั้น กำแพงข้างบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้นๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปลายน้ำทอง” แต่ปัจจุบันที่เมืองพาราณสีไม่มีวัดของพระพุทธศาสนาอยู่เลย ส่วนที่มฤคทายวันยังคงเหลือซากแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีตให้เห็น
สถานที่ที่เด่นที่สุดในสารนารถคือธัมเมกสถูปและมูลคันธกุฏิตั้งอยู่ที่อาณาบริเวณที่เคยเป็นป่าอิสิปตนมฤคทายวันสถานที่แสดงปฐมเทศนา และเจาคันธเจดีย์สถานที่พระพุทธเจ้าพบกับปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ทุกอย่างอยู่ในสภาพที่เหลือเพียงซากเก่าทางโบราณคดีเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือภายในพิพิธภัณฑ์สารนารถ ที่จัดแสดงร่องรอยความเจริญของพระพุทธศาสนาจากอดีตเรื่อยมา โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก สร้างด้วยหินทรายแกะสลักศิลปะคุปตะในสมัยพระเจ้าอโศก ที่น่าแปลกอย่างหนึ่งคือแทนที่จะมีผู้ฟังเพียง 5 ท่านคือปัญจวัคคีย์ แต่มีเพิ่มเข้ามาอีก 2 คนเป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง นัยว่าเป็นผู้มีศรัทธาสร้างพระพุทธรูป จึงขอแกะสลักภาพตัวเองและภรรยาร่วมด้วย ดังนั้นผู้ที่นั่งฟังปฐมเทศนาสำหรับพระพุทธรูปองค์นี้จึงมี 7 คน
ในยุคฟื้นฟูพระพุทธศาสนายุคใหม่นั้นเมื่อชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนามากขึ้น มีบันทึกไว้ว่าที่สารนารถพระภิกษุชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือพระ เค. ธัมมรักษิต เป็นชาวอินเดียเกิดที่กุสินารา ในปีพุทธศักราช 2456 เริ่มต้นศึกษาบาลีที่ศรีลังกาได้รับการอุปสมบทในปีพุทธศักราช 2485 และได้เข้าร่วมงานกับมหาโพธิสมาคม เมื่อย้อนกลับมาที่อินเดียได้พักจำพรรษาอยู่ที่สารนารถ เป็นบรรณาธิการวารสาร “ธรรมทูต” ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนเป็นภาษาฮินดี พิมพ์ที่สารนารถ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการมหาโพธิวิทยาลัยในปีพุทธศักราช 2502 และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันถึง 15 ปี ปัจจุบันโพธิวิทยาลัยยังดำเนินงานทางด้านให้บริการทางการศึกษาด้านภาษาบาลี ส่วนวัดที่สารนารถมีวัดพม่า,วัดทิเบต,วัดจีน(ในปี พ.ศ.2444 มีพระไทยเป็นเจ้าอาวาส),วัดไทยสารนารถ (ในปีพ.ศ.2544 มีพระอินเดียเป็นเจ้าอาวาส)
เมื่ออนาคาริกฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ในอินเดียในปีพุทธราช 2434 นั้นได้เริ่มที่พุทธคยาและสารนารถ จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธทั่วโลกพยายามเดินทางไปเพื่อสักการบูชา นับได้ว่าความเพียรพยายามในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่อินเดียสัมฤทธิผลได้ส่วนหนึ่ง และอาจกล่าวได้ว่าคนอินเดียในปัจจุบันรู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือพระภิกษุชาวอินเดียสามารถทำงานประกอบอาชีพได้อย่างเสรีเหมือนคนทั่วไป ระบบการโคจรบิณฑบาตเหมือนในประเทศไทยไม่มีให้เห็นเลย แต่ทว่าระบบการรับสังฆทานกลับมีให้เห็นแทบทุกแห่งในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา นี่คงเป็นปัญหาในการแสวงหาความเป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับชาวอินเดียในยุคใหม่ต่อไป
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โพธิบัลลังค์ อุรุเวลาเสนานิคม จากนั้นใช้เวลา 49 วันเสวยวิมุติสุข และพินิจพิจารณาวางแผนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จากนั้นจึงเดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ จนมีผู้เห็นธรรมตามพระพุทธองค์โดยอัญญาโกญฑัญญะขออุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ทำให้วันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์ ถัดมาอีกวันก็เข้าพรรษา แต่จากการได้ไปพำนักยังดินแดนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ปัจจุบันคือพุทธคยาเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน จากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟจากพุทธคยาถึงพาราณสีใช้เวลาไม่นาน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรื่อง เสื่อมโทรม และได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จนปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนควรไปสักการบูชาสักครั้งในช่วงชีวิตหนึ่ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
แก้ไขปรับปรุง 31/08/53
ขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช หอมทวนลม อาจารย์ประจำคณะศาสนาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายประกอบบทความ