สอนหนังสือพระนวก(พระบวชใหม่)วิชาพุทธประวัติพอมาถึงตอนที่พระพุทธเจ้าจะประกาศพระพุทธศาสนา ทำไมจึงไม่ทรงแสดงธรรมแก่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบอุรุเวลาเสนานิคม หรือปัจจุบันคือพุทธคยา ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แต่กลับต้องเดินทางไกลไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือปัจจุบันคือสารนารถ เมืองพาราณสี ซึ่งอยู่ห่างจากพุทธคยาเกือบร้อยกิโลเมตร พระพุทธเจ้าใช้เวลาเดินทางถึงสิบวันเพื่อที่จะแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ นับจากวันตรัสรู้จนถึงวันแสดงธรรมครั้งแรกเป็นเวลาถึงสองเดือน กลับมารื้อบทความที่เคยพิมพ์เผยแผ่มาหลายปีแล้วก็ได้พบบทความชื่อ “จากพุทธคยาถึงพาราณสี” เขียนไว้ในช่วงที่เดินทางไปอินเดียครั้งแรก พิมพ์เผยแผ่ในวารสารปัญญา เมื่อหลายปีก่อน พอกลับมาอ่านอีกครั้งเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงได้นำกลับให้อ่านกันอีกครั้ง เป็นความรู้ที่ได้มาจากการพำนักที่วัดป่าพุทธคยาเป็นเวลาหนึ่งเดือน ช่วงนั้นยังใช้กล้องฟิล์ม แต่ฟิล์มที่ถ่ายหาไม่พบ บังเอิญได้พบกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช หอมทวนลม จึงได้ปรารภถึงเรื่องภาพถ่ายอินเดีย ท่าน ดร.ธวัช บอกว่าภาพผมมีเยอะเลย ยินดีให้ฟรีถ้าอยากได้ นั่นจึงเป็น ปฐมเหตุมีภาพประกอบเรื่องอย่างลงตัว ดร.ธวัชใช้กล้องยี่ห้อเดียวกัน เพียงแต่ต่างรุ่นกันเท่านั้น ฝีมือถ่ายภาพนั้นยอดเยี่ยมมาก ต้องขอบคุณอย่างมากที่อนุญาตให้ใช้ภาพถ่ายประกอบบทความได้ เรื่องนี้เป็นเหมือนบันทึกของผู้ผ่านทางเท่านั้น ข้อมูลทั้งหมดหากมีที่ผิดพลาดเป็นของผู้บันทึกคนเดียว
หลังงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีในปีพุทธศักราช 2500 ที่รัฐบาลอินเดียได้จัดงานเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนชมพูทวีปเป็นเวลาถึง 2500 ปีล่วงผ่านมานานแล้ว อันถือเป็นกึ่งพุทธกาล และชาวอินเดียทั่วประเทศได้รู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว ในแต่ละรัฐได้มีผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น การนับถือศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา มิใช่เรื่องของเหตุผล การเปลี่ยนศาสนาแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่การเข้าใจสาระหลักธรรมคำสอนของศาสนาเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ปัจจุบันคนอินเดีย “รู้จัก” พระพุทธศาสนา แต่จะมีสักกี่คนที่ “รู้จริงและรู้แจ้ง” ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
เมื่อพระพุทธศาสนาได้ย้อนกลับคืนมาสู่มาตุภูมิ จนมีชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทจำนวนหนึ่ง และมีพุทธศาสนิกชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดูและอิสลามนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก คือแทนที่จะเป็นพระพุทธศาสนาแห่งมาตุภูมิ กลับกลายเป็นว่าเป็นพระพุทธศาสนาจากต่างประเทศเข้าไปเผยแผ่ในอินเดีย สถานที่ที่มีชื่อเสียงและมีประชาชนชาวอินเดียรู้จักมากที่สุดคือพุทธคยาหรือโพธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในอดีตคือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยาสีสประเทศ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันเป็นตำบลโพธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร
แม่น้ำเนรัญชราปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำลิลาจันยังคงมีน้ำหลากในฤดูฝน แต่พอถึงฤดูแล้งจะแห้งขอดสามารถเดินข้ามไปได้อย่างสบายๆ เพราะแม่น้ำนี้มีแต่ทราย นักจาริกแสวงบุญบางกลุ่มมักจะนิยมเดินข้ามน้ำ(ทั้งๆที่มีสะพานข้าม)เพื่อไปชมสถานที่ที่พระพุทธเจ้าลอยถาดที่ฝั่งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำ บ้านนางสุชาดายังเหลือเนินดินสูงไว้เป็นอนุสรณ์ เดินผ่านทุ่งนาที่ข้าวกำลังเขียวขจี จะเป็นสุชาดาวิหาร สถานที่ที่พระพุทธเจ้ารับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาในวันตรัสรู้ มีรูปปั้นรูปนางสุชาดากำลังถวายข้าวแด่พระพุทธเจ้า ที่แผ่นจารึกอ่านได้ความว่า “สร้างถวายโดยอูชิ ชเวและดอว์ ขิ่น วิน ชาวพม่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2493” ปัจจุบันฮินดูเข้าดูแล เมื่อนักจาริกแสวงบุญเดินทางไปถึง ผู้ดูแลชาวฮินดูจะพยายามออกมาต้อนรับนำธูปเทียนมาให้บูชา และพยายามพูดบรรยายสรรพคุณ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ที่ใจบุญถวายปัจจัยที่ตู้บริจาค จากบริเวณนี้ไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นทางเดินบนคันนา ก็จะถึงที่ตั้งอาศรมของอุรุเวลากัสปะ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำลิลาจันนั่นเอง วัดจากการเดินทางด้วยเท้าจากบริเวณต้นมหาโพธิ์ที่พระองค์ประทับนั่งตรัสรู้ถึงอาศรมของอุรุเวลากัสสปะประมาณ 4 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร จะมองเห็นภูเขารังคศิริตั้งตระหง่าน เมื่อมองผ่านทุ่งนาจะมองเห็นภูมิทัศน์อันสวยงามอย่างยิ่ง
ภูเขารังคศิริ ถ้าจะเดินทางไปต้องเหมารถราคาประมาณ 200 รูปี วันที่ผู้เขียนและคณะเดินทางไปมีเพียงชาวญี่ปุ่นไม่กี่คน ถ้ำบนยอดเขาที่ระบุว่าเป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นเป็นเพียงถ้ำเล็กๆพอคนลอดเข้าไปได้ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจากประเทศไทยถวายไว้โดยวัดป่าธรรมชาติ ข้างๆกันจะมีรูปนางทุรคาเทพเจ้าของฮินดูเคียงคู่อยู่ บอกไม่ถูกว่าเกิดความรู้สึกอย่างไรเมื่อกราบพระพุทธรูปโดยที่มีนางทุรคาอยู่เคียงข้าง ส่วนด้านนอกเป็นวัดทิเบต ไม่สนใจอะไรมากไปกว่าการขายดอกไม้ธูปเทียนให้แก่ผู้จาริกแสวงบุญ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือต้องเผชิญกับบรรดาขอทานทั้งหลาย
ที่เชิงเขารังคศิริมีโรงเรียนชื่อสุชาดาวิทยาลัย ดำเนินการโดยสถาบันภิกษุณีจากไต้หวัน ครูสอนส่วนมากจึงมาจากนักศึกษาชาวไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียตนาม ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอินเดีย วันที่ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมเป็นวันหยุดจึงไม่ได้เห็นการเรียนการสอน ภิกษุณีชาวไต้หวันเล่าให้ฟังว่า “ที่นี่คงพัฒนายาก เพราะแม้จะมีองค์กรต่างๆ สนับสนุนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยแต่ก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน โจรผู้ร้ายมักจะปล้นอยู่เสมอ พวกเราก็อ่อนใจ จึงต้องใช้เท่าที่มี บางครั้งโจรมานั่งรอที่หน้าโรงเรียน ก่อนที่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือจักรเย็บผ้าจะมาถึงด้วยซ้ำ”
เมื่อสาธยายถึงความใจแคบของโจรแล้วภิกษุณีคนเดิมจึงเล่าต่อว่า “ในโรงเรียนปัจจุบันจึงเหลือเพียงจักรเย็บผ้าเก่าไม่กี่อันเพื่อใช้สอนนักเรียน โดยให้นักเรียนนี่แหละไปอ้อนวอนโจรอย่ามาปล้นอีกเลย เพราะถ้าปล้นไปก็ไม่รู้จะเอาอะไรใช้เรียน กลยุทธที่ให้นักเรียนไปขอร้องโจรนี่ได้ผล เราจึงใช้เรื่อยมา ลำพังพวกเราเขาไม่เชื่อหรอก เพราะพวกเขาคิดว่าพวกเรามาแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศของเขา” ภิกษุณีชาวไต้หวันอธิบายอย่างยืดยาวเหมือนกับจะเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจ ที่เก็บกดมานาน ครั้นเมื่อพวกเราได้ฟังก็ได้แต่ช่วยให้กำลังใจเธอในการทำงานเพื่อเยาวชนต่อไป
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับโรงเรียนของรัฐแล้ว สุชาดาวิทยาลัย ก็นับได้ว่าอยู่ในขั้นที่ค่อนข้างจะเจริญ เพราะโรงเรียนของรัฐ ที่ผู้เขียนแวะเข้าไปเยี่ยมแห่งหนึ่งที่ข้างๆบ้านนางสุชาดานั้น เป็นเพียงตัวอาคารที่เก่าโทรมหลังหนึ่ง วันนั้นนักเรียนเรียนที่สนามหญ้าริมทางเดินใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีกระดานดำ นักเรียนแต่ละคนมีกระดานดำเล็กๆประจำตัวใช้แทนสมุดเรียน ไม่มีห้องเรียนน่าจะเรียกว่าสนามเรียนมากกว่า โรงเรียนมีเพียงต้นไม้หนึ่งต้นและเก้าอี้สำหรับครู 1 ตัว เหมือนกับสภาพที่รพินทรนารถ ฐากูร เขียนพรรณาไว้ใน “โรงเรียนใต้ร่มไม้” แต่ในหนังสือมีสภาพดีกว่านี้อีกหลายเท่านัก มีครูเพียงคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ 30 คน ชุดที่นักเรียนสวมใส่ตามสบายหลายหลากสี พอเห็นนักจาริกแสวงบุญเดินผ่าน จะมีนักเรียนบางคนแอบหลบจากสนามเรียน(ใช้แทนห้องเรียน) เพื่อประกอบอาชีพ นั่นคือขอทานจากนักท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม จนบางคนลืมอาชีพหลักคือการเรียนไปเลย
เมื่อพวกเราถามถึงการเป็นอยู่ ภิกษุณีตอบว่า “รับประทาน(ฉัน) เท่าที่มี อะไรก็ได้พอประทังชีวิตไปวันๆ เงินสนับสนุนส่วนมากจะมาจากไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น พวกเราทำงานเพราะใจรัก ไม่มีเงินเดือน แต่อยากเห็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกริยาทรมานพระองค์จนกระทั่งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด มีสภาพดีขึ้น พวกเราก็ได้อุทาหรณ์ของพุทธองค์นั่นแหละเป็นกำลังใจ พวกเราสร้างโรงเรียนมาหลายปีแล้ว และเปลี่ยนครูไปหลายชุดแล้ว แต่ยังไม่เคยมีคนอินเดียยอมบวชเป็นภิกษุณีแม้แต่คนเดียว” ประโยคหลังเหมือนเป็นบทสรุปสำหรับทัศนะในการบวชของคนอินเดียในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือโรงเรียนที่มหาโพธิสมาคมสร้างขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อยู่ห่างจากสระมุจลินท์ประมาณ 1 กิโลเมตร รอบๆบริเวณโรงเรียนมีป่าหญ้ากุสะที่พระพุทธเจ้าใช้รองนั่งก่อนจะตรัสรู้ หญ้ากุสะคล้ายๆ หญ้าคา แต่ไม่ใช้หญ้าคาเพราะเกิดเป็นกอเป็นพุ่มสูงท่วมหัว นุ่ม คล้ายต้นตระไคร้มากกว่าจะคล้ายหญ้าคา ตัวอาคารเรียนมี 3 ชั้น ๆ ละ 5 ห้อง ท่านศีลภัทร์พระภิกษุชาวศรีลังกาจากมหาโพธิสมาคม ผู้บริหารโรงเรียนเล่าให้ฟังว่า “โรงเรียนแห่งนี้มหาโพธิสมาคมเป็นผู้สนับสนุน และดำเนินการทั้งหมด ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 300 คน การที่จะสนับสนุนให้คนอินเดียบวชเพื่อสืบศาสนาในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะอิทธิพลของฮินดูยังแรงอยู่ ที่บวชมาส่วนมากก็เพราะพวกเขาถือว่าเป็นอาชีพที่สบาย โดยเฉพาะที่วัดมหาโพธิ์ถือว่าเป็นแหล่งทำเงินที่สำคัญที่สุด อีกอย่างหนึ่งปัจจุบันอินเดียมีองค์กรที่ดูแลพระภิกษุชาวอินเดียโดยเฉพาะบริหารงานกันเอง จัดการบรรพชาอุปสมบทกันเองทั้งในฝ่ายมหายานและเถรวาท ดังนั้นมหาโพธิสมาคมจึงหันมาให้บริการด้านอื่นเช่นสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลแทน”
มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อซาร์บาที่เดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนกับพวกเรา เมื่อเที่ยวชมโรงเรียนและฟังเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนจบแล้วกลับยกปัญหาอย่างหนึ่งขึ้นมาถามว่า “ทำไมเมื่อพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์บรรลุธรรมคือเรียนสำเร็จแล้ว ยังต้องเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาอยู่อีก นิพพานคือจุดหมายสูงสุด ส่วนการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิภาวนาคือทาง เมื่อถึงจุดหมายแล้วก็ไม่น่าจะเดินอยู่บนเส้นทางสายนั้นอีกต่อไป”
ท่านศีลภัทร์ภิกษุชาวศรีลังกาจึงตอบว่าเพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้จะปฏิบัติต่อไป แต่ดูเหมือนว่าซาร์บาก็ยังพยายามถามคำถามเดิมอยู่นั่นเองเมื่อพบกับพระภิกษุรูปอื่นๆ ผู้เขียนคิดถึงสิทธารถะตัวละครสำคัญคนหนึ่งของเฮอร์มานน์ เฮสเส ที่เมื่อพบพระพุทธเจ้าปัญหาที่สิทธารถะถามคือ “ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าพระองค์ตรัสรู้ สิ่งที่พระองค์รู้นั้นประเสริฐที่สุด แต่สงสัยว่าพระองค์ทำอย่างไรในคืนวันตรัสรู้โดยเฉพาะในเวลาที่ตรัสรู้” พระพุทธเจ้าตอบสิทธารถะสั้นๆว่า “พ่อหนุ่มเธอฉลาดเกินไป อย่าให้ความฉลาดเป็นกำแพงปิดกั้นเป้าหมายของเธอเลย”และในที่สุดแทนที่สิทธารถะจะบวชในพระพุทธศาสนากลับเดินทางแสวงหาสัจธรรมและปฏิบัติจนหายสงสัยตามแนวทางที่ตนคิดว่าถูกต้องที่สุด “เมื่อข้ามถึงฝั่งแล้ว เรือก็ไม่จำเป็นต้องแบกไปด้วย” น่าจะเป็นบทสรุปนี้กระมังที่ชาร์บาพยายามค้นหาคำตอบ “เรื่องโรงเรียนผมพออธิบายให้ฟังได้ แต่ปัญหาที่ชาร์บาถาม แม้ผมพยายามจะอธิบายอย่างไรดูเหมือนเธอก็ยังไม่หายสงสัย” ท่านศีลภัทรพระภิกษุชาวศรีลังกาบอกผู้เขียนเบาๆ
โรงเรียนทั้งสามแห่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สุชาดาวิทยาลัยได้งบจากต่างประเทศ บริหารโดยภิกษุณีในนิกายฝ่ายมหายาน เน้นการเรียนการสอนด้านอาชีพ โรงเรียนของมหาโพธิสมาคมบริหารจัดงานโดยภิกษุฝ่ายเถรวาท เพราะใช้ครูชาวอินเดียเป็นผู้สอน มหาโพธิสมาคมเป็นเพียงเจ้าของผู้บริหารจึงไม่ค่อยมีปัญหา จึงมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะชัดเจนและมั่นคง ส่วนอีกโรงเรียนที่ดำเนินการโดยคนอินเดียเอง เรียนสบายๆ ไม่สนใจเวลา ครูว่างเมื่อไหร่ก็มาสอน โดยตีระฆังบอก นักเรียนอยากเรียนก็เรียน ไม่มีระเบียบที่ชัดเจน และนี่คืออินเดียขนาดแท้และดั้งเดิม ยังคงรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างคงเส้นคงวา นี่แหละเมืองคนจนที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง
เสน่ห์ของพุทธคยาที่สำคัญที่สุดคือเจดีย์พุทธคยาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นโพธิ ห่างจากต้นโพธิประมาณ 2 เมตร เจดีย์สูงประมาณ 27 เมตร วัดรอบฐานได้ประมาณ 85 เมตร ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 4 องค์ ภายในเจดีย์เป็นห้องโถง มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักด้วยหินดำในสมัยปาละ มีอายุประมาณ 1400 ปี เป็นพระประธาน ผู้คนจากทุกสารทิศมักจะเดินทางมาเพื่อกราบไหว้วัชรอาสน์ที่ใต้ต้นโพธิ์และเจดีย์ ภายในอาณาบริเวณวัดมหาโพธิจะมีพระภิกษุชาวอินเดียคอยดูแลอย่างใกล้ชิด (ในอดีตเคยอยู่ในการดูแลของมหาโพธิสมาคม โดยมีพระภิกษุจากศรีลังกา เป็นผู้ดูแลและคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้พระภิกษุชาวอินเดียได้เรียกร้องเพื่อกำกับดูแลวัดมหาโพธิ์เอง) เกี่ยวกับต้นโพธิ์ มีบันทึกไว้ว่าต้นปัจจุบันเป็นต้นที่ 4
ต้นโพธิ์ต้นแรก พระนางมหิสุนทรี มเหสีของพระเจ้าอโศกได้สั่งให้นำเอายาพิษมารดที่โคนต้นและนำน้ำร้อนมาลวก เพียงเพราะความคิดที่ว่าพระเจ้าอโศกรักต้นโพธิ์มากกว่าตนเอง จนกระทั่งต้นโพธิ์เฉาตาย ต้นโพธิ์ต้นแรกจึงมีอายุเพียง 352 ปี นี่เป็นพลังของความอิจฉาริษยาโดยแท้ ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ อิสตรีนี่เข้าใจยากจริงๆ
ต้นโพธิ์ต้นที่สอง พระเจ้าอโศกได้ตั้งสัจจอธิษฐาน ขอให้ต้นโพธิ์เกิดขึ้นอีก ต่อมาไม่นานก็มีหน่อเกิดจากต้นเดิมกลายเป็นต้นโพธิ์ต้นใหม่จากต้นเดิมนั่นเอง ในปีพุทธศักราช 1100 พระเจ้าศาสางกะ กษัตริย์ฮินดู จากแคว้นเบงกอลพยายามทำลาย ผลสุดท้ายตัวเองกระอักโลหิตตายที่โคนต้นโพธิ์ แต่ต้นโพธิ์ยังอยู่เรื่อยมา ต้นโพธิ์ต้นที่สองนี้มีอายุประมาณ 871 ปี กษัตริย์ก็ยากจะเข้าใจเหมือนกัน
ต้นโพธิ์ต้นที่สาม พระเจ้าปูรวรมา ได้ทรงตั้งสัจจอธิษฐาน หน่อต้นโพธิ์ก็ได้แตกหน่อออกมาอีก มีอายุยืนยาวนานถึง 1258 ปี และล้มตายไปเองในปีพุทธศักราช 2421 ธรรมขาติซื่อสัตย์เสมอเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจลักษณะโดยแท้
ต้นโพธิ์ต้นที่สี่ พุทธศักราช 2423 เซอร์คันนิ่งแฮม ได้พบหน่อต้นโพธิ์ 2 หน่อใกล้ ๆ กับต้นเดิม จึงได้นำมาปลูกที่เดิมและอีกต้นหนึ่งปลูก ๆ กันประมาณ 10 เมตร ปัจจุบันจึงมีต้นโพธิ์ 2 ต้น ต้นที่อยู่บริเวณที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งจนกระทั่งตรัสรู้ ปัจจุบัน(พ.ศ.2544) มีขนาดประมาณ 3 คนโอบสูงประมาณ 100 ฟุต มีอายุ 122 ปี เมื่อเห็นต้นโพธิ์ในปัจจุบันก็ให้สงสารและหวั่นใจว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะตามลำต้นเป็นโพรงที่พร้อมจะล้มลงได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางพฤษศาสตร์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดก็ตาม
นอกจากนั้นที่พุทธคยายังมีสถานที่ที่ผู้คนมักจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปทัศนามากนัก คือสระมุจลินท์,ต้นอัชปาลนิโครธและต้นราชายตนะ อยู่ห่างจากต้นโพธิ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าเดินทางไปกับขบวนท่องเที่ยวมักจะพลาดโอกาส เพราะถนนหนทางลำบาก เต็มไปด้วยหลุมและบ่อ ที่สะดวกที่สุดคือการเดินทางตัดทุ่งนา โดยเฉพาะสระมุจลินท์ได้รับการจำลองไว้แล้วภายในวัดมหาโพธิ์แล้ว ส่วนสระมุจลินท์ที่เป็นของจริงต้องเดินทางไปเอง ปัจจุบันน่าเศร้าใจไม่น้อย วันที่ผู้เขียนกับคณะจากวัดป่าพุทธคยาเดินทางไปนั้น เป็นเวลาย่ำสายัณห์ จึงมักจะเดินสวนทางกับบรรดาคนเลี้ยงแพะ,คนเลี้ยงวัวหรือชาวนาชาวสวนที่กำลังเดินกลับสู่เคหา สระมุจลินท์กลายเป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงวัวและแพะ น้ำไม่ใสสะอาดเหมือนในตำนานที่เล่าขาน มีต้นไม้ขึ้นเต็มตามขอบสระ วัวและแพะถูกผูกเลี้ยงไว้ข้างๆ ขอบสระ จึงมีสภาพไม่น่าดูนัก
ที่น่าตลึงงันของพุทธศาสนิกชาวไทยอีกอย่างหนึ่งคือรอบๆ บริเวณวัดมหาโพธิ์มีผู้คนชาวอินเดียทำมาหากิน มักจะตั้งชื่อที่ไม่มีโอกาสได้ยินในเมืองไทยเช่นสิทธัตถะโฮเตล, สุชาดาโฮเตล,พุทธโฮเตล,สิทธารถะเรสตัวรอง,อรหันต์ทัวร์,นิพพานทัวร์ เป็นต้น
เมื่ออนาคาริกธรรมปาละมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ได้มีหลายประเทศได้มาสร้างวัดขึ้น นอกจากวัดมหาโพธิ์แล้ว ก็มีวัดพม่าสร้างก่อนที่อนาคาริกจะเดินทางไป(พ.ศ.2418),วัดจีน(พ.ศ.2478),วัดธิเบต(พ.ศ.2481) ในโอกาสที่อินเดียจัดงานฉลองพุทธชยันตีในปีพุทธศักราช 2500 นั้น ก็ได้ชักชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาให้มาสร้างวัดที่พุทธคยาคือวัดไทยพุทธคยา ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในอินเดีย (สร้างเสร็จปีพ.ศ.2415),วัดญี่ปุ่น อินโดซาน นิปปอนจิ(พ.ศ.2416),วัดไดโจเกียวญี่ปุ่น(พ.ศ.2526)และพระพุทธรูปใหญ่ไดโจเกียว(พ.ศ.2532),วัดภูฏาน(พ.ศ.2531), ปัจจุบันยังมีวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางประเทศก็ยังสร้างไม่เสร็จเช่นวัดบังคลาเทศ ในส่วนของประเทศไทยได้มีการสร้างวัดป่าพุทธคยาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้ๆ กับต้นโพธิ์มองเห็นได้ชัดเจน โดยมีนโยบายสร้างเป็นศูนย์วิปัสสนานานาชาติ
จากพุทธคยาเดินทางโดยรถไฟประมาณ 4 ชั่วโมงก็ถึงเมืองพารณสี ในสมัยพุทธกาลน่าจะเป็นเมืองเดียวที่พระพุทธศาสนาไม่อาจตั้งมั่นได้นานเหมือนกับเมืองอื่นๆ มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เมืองพารณสี ที่สำคัญที่สุดคือแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันคือสารนารถอยู่ห่างจากเมืองพารณสีไม่ไกลนัก
จากหนังสือร้อยถิ่นอินเดียของอมตานันทะบรรยายถึงอินเดียไว้ตอนหนึ่งว่า “อินเดียคือเมืองแห่งคงคาแดนสวรรค์ เมืองสันตุฏฐิ์ เมืองอาวุธลับนับไม่ถ้วน เมืองผ้ากาสีนารีฟ้อน เมืองวิงวอนพระเจ้าช่วย เมืองกล้วยแขกทอดไม่มี เมืองนั่งขี้คุยกัน เมืองสำคัญแสวงบุญ เมืองกลิ่นฉุนเครื่องเทศ เมืองเหตุเมืองผล เมืองคนจนผู้ยิ่งใหญ่” คำบรรยายนี้น่าจะอธิบายเมืองพาราณสีได้ชัดเจนครบถ้วนที่สุด
ถ้าจะนับเมืองที่ประวัติยาวนานมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกแล้ว เมืองพารณสีน่าจะอยู่อันดับต้นๆ ของโลก ในสมัยพุทธกาลอยู่ในแคว้นกาสีเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าเนื้อดีและมีนางระบำรำฟ้อนที่ขึ้นชื่อที่สุด นิทานที่คนเฒ่าคนแก่มักจะเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอๆว่า “ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพารณสี…” และก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนบางคนเข้าใจว่าเมืองพารณสีและพระเจ้าพรหมทัตเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนานเท่านั้น
แต่ไม่น่าเชื่อว่าเมืองพาราณสียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ (ตามความเชื่อในลัทธิฮินดู) ออกเสียงเป็นวาราณสี อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ อินเดีย และริมฝั่งแม่น้ำคงคาทางทิศตะวันออก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ยังมีเมืองรามนคร มีพระเจ้าพรหมทัตครองเมือง เหมือนเรื่องเล่าในอดีตไม่มีผิด พระเจ้าพรหมทัตในปัจจุบันมิได้มีฐานะเป็นกษัตริย์ตามความเชื่อเดิม แต่เป็นตำแหน่งหัวหน้าวังหรือบ้านที่ชื่อว่ารามนคร และพรหมทัตคือตำแหน่งที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตกาลอันยาวนาน นัยว่าถ้านับย้อนหลังก็ประมาณ 7,000 ปีล่วงมาแล้ว พรหมทัตปัจจุบันอายุประมาณ 90 กว่าปีแล้ว จึงไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นตัวจริงสักเท่าไร แต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยบานารัส ฮินดู หรือที่นักศึกษาไทยนิยมเรียกว่ามหาวิทยาลัยพาราณสี ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งโดยการสืบทอด และเป็นมหาวิทยลัยหนึ่งที่มีพระนักศึกษาไทยศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก
พารณสีเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้วก็ได้ประกาศแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหรือสารนารถในปัจจุบัน ห่างจากเมืองพารณสีประมาณ 8 กิโลเมตร จากบันทึกของหลวงจีนเฮี้ยนจัง(เดินทางไปอินเดียในช่วงพ.ศ.1172-1187)ได้บันทึกไว้พรรณาถึงเมืองพารณสีและอารามมฤคทายวันไว้ตอนหนึ่งว่า “นครพารณสีด้านตะวันตกจดแม่น้ำคงคา มีอารามกว่า 30 แห่ง และมีพระสงฆ์กว่า 2,000 รูป ล้วนเป็นพระฝ่ายหินยานสรวาสติวาทินทั้งสิ้น อารามมฤคทายวันมีหอสูงเทียมเมฆ ระเบียงรอบหอติดต่อกัน 4 ด้าน ในอารามมีพระภิกษุสงฆ์ 1,500 รูป เป็นฝ่ายสัมสติยะนิกายหินยาน ในกำแพงมีวิหารสูงกว่า 100 เชี้ยะ บันไดปูด้วยแผ่นศิลากว่า 100 ขั้น กำแพงข้างบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้นๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปลายน้ำทอง” แต่ปัจจุบันที่เมืองพาราณสีไม่มีวัดของพระพุทธศาสนาอยู่เลย ส่วนที่มฤคทายวันยังคงเหลือซากแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีตให้เห็น
สถานที่ที่เด่นที่สุดในสารนารถคือธัมเมกสถูปและมูลคันธกุฏิตั้งอยู่ที่อาณาบริเวณที่เคยเป็นป่าอิสิปตนมฤคทายวันสถานที่แสดงปฐมเทศนา และเจาคันธเจดีย์สถานที่พระพุทธเจ้าพบกับปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ทุกอย่างอยู่ในสภาพที่เหลือเพียงซากเก่าทางโบราณคดีเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือภายในพิพิธภัณฑ์สารนารถ ที่จัดแสดงร่องรอยความเจริญของพระพุทธศาสนาจากอดีตเรื่อยมา โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก สร้างด้วยหินทรายแกะสลักศิลปะคุปตะในสมัยพระเจ้าอโศก ที่น่าแปลกอย่างหนึ่งคือแทนที่จะมีผู้ฟังเพียง 5 ท่านคือปัญจวัคคีย์ แต่มีเพิ่มเข้ามาอีก 2 คนเป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง นัยว่าเป็นผู้มีศรัทธาสร้างพระพุทธรูป จึงขอแกะสลักภาพตัวเองและภรรยาร่วมด้วย ดังนั้นผู้ที่นั่งฟังปฐมเทศนาสำหรับพระพุทธรูปองค์นี้จึงมี 7 คน
ในยุคฟื้นฟูพระพุทธศาสนายุคใหม่นั้นเมื่อชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนามากขึ้น มีบันทึกไว้ว่าที่สารนารถพระภิกษุชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือพระ เค. ธัมมรักษิต เป็นชาวอินเดียเกิดที่กุสินารา ในปีพุทธศักราช 2456 เริ่มต้นศึกษาบาลีที่ศรีลังกาได้รับการอุปสมบทในปีพุทธศักราช 2485 และได้เข้าร่วมงานกับมหาโพธิสมาคม เมื่อย้อนกลับมาที่อินเดียได้พักจำพรรษาอยู่ที่สารนารถ เป็นบรรณาธิการวารสาร “ธรรมทูต” ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนเป็นภาษาฮินดี พิมพ์ที่สารนารถ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการมหาโพธิวิทยาลัยในปีพุทธศักราช 2502 และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันถึง 15 ปี ปัจจุบันโพธิวิทยาลัยยังดำเนินงานทางด้านให้บริการทางการศึกษาด้านภาษาบาลี ส่วนวัดที่สารนารถมีวัดพม่า,วัดทิเบต,วัดจีน(ในปี พ.ศ.2444 มีพระไทยเป็นเจ้าอาวาส),วัดไทยสารนารถ (ในปีพ.ศ.2544 มีพระอินเดียเป็นเจ้าอาวาส)
เมื่ออนาคาริกฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ในอินเดียในปีพุทธราช 2434 นั้นได้เริ่มที่พุทธคยาและสารนารถ จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธทั่วโลกพยายามเดินทางไปเพื่อสักการบูชา นับได้ว่าความเพียรพยายามในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่อินเดียสัมฤทธิผลได้ส่วนหนึ่ง และอาจกล่าวได้ว่าคนอินเดียในปัจจุบันรู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือพระภิกษุชาวอินเดียสามารถทำงานประกอบอาชีพได้อย่างเสรีเหมือนคนทั่วไป ระบบการโคจรบิณฑบาตเหมือนในประเทศไทยไม่มีให้เห็นเลย แต่ทว่าระบบการรับสังฆทานกลับมีให้เห็นแทบทุกแห่งในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา นี่คงเป็นปัญหาในการแสวงหาความเป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับชาวอินเดียในยุคใหม่ต่อไป
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โพธิบัลลังค์ อุรุเวลาเสนานิคม จากนั้นใช้เวลา 49 วันเสวยวิมุติสุข และพินิจพิจารณาวางแผนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จากนั้นจึงเดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ จนมีผู้เห็นธรรมตามพระพุทธองค์โดยอัญญาโกญฑัญญะขออุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ทำให้วันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์ ถัดมาอีกวันก็เข้าพรรษา แต่จากการได้ไปพำนักยังดินแดนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ปัจจุบันคือพุทธคยาเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน จากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟจากพุทธคยาถึงพาราณสีใช้เวลาไม่นาน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรื่อง เสื่อมโทรม และได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จนปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนควรไปสักการบูชาสักครั้งในช่วงชีวิตหนึ่ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
แก้ไขปรับปรุง 31/08/53
ขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช หอมทวนลม อาจารย์ประจำคณะศาสนาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายประกอบบทความ