สอนหนังสือพระนวก(พระบวชใหม่)วิชาพุทธประวัติพอมาถึงตอนที่พระพุทธเจ้าจะประกาศพระพุทธศาสนา ทำไมจึงไม่ทรงแสดงธรรมแก่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบอุรุเวลาเสนานิคม หรือปัจจุบันคือพุทธคยา ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แต่กลับต้องเดินทางไกลไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือปัจจุบันคือสารนารถ เมืองพาราณสี ซึ่งอยู่ห่างจากพุทธคยาเกือบร้อยกิโลเมตร พระพุทธเจ้าใช้เวลาเดินทางถึงสิบวันเพื่อที่จะแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ นับจากวันตรัสรู้จนถึงวันแสดงธรรมครั้งแรกเป็นเวลาถึงสองเดือน กลับมารื้อบทความที่เคยพิมพ์เผยแผ่มาหลายปีแล้วก็ได้พบบทความชื่อ “จากพุทธคยาถึงพาราณสี” เขียนไว้ในช่วงที่เดินทางไปอินเดียครั้งแรก พิมพ์เผยแผ่ในวารสารปัญญา เมื่อหลายปีก่อน พอกลับมาอ่านอีกครั้งเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงได้นำกลับให้อ่านกันอีกครั้ง เป็นความรู้ที่ได้มาจากการพำนักที่วัดป่าพุทธคยาเป็นเวลาหนึ่งเดือน ช่วงนั้นยังใช้กล้องฟิล์ม แต่ฟิล์มที่ถ่ายหาไม่พบ บังเอิญได้พบกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช หอมทวนลม จึงได้ปรารภถึงเรื่องภาพถ่ายอินเดีย ท่าน ดร.ธวัช บอกว่าภาพผมมีเยอะเลย ยินดีให้ฟรีถ้าอยากได้ นั่นจึงเป็น ปฐมเหตุมีภาพประกอบเรื่องอย่างลงตัว ดร.ธวัชใช้กล้องยี่ห้อเดียวกัน เพียงแต่ต่างรุ่นกันเท่านั้น ฝีมือถ่ายภาพนั้นยอดเยี่ยมมาก ต้องขอบคุณอย่างมากที่อนุญาตให้ใช้ภาพถ่ายประกอบบทความได้ เรื่องนี้เป็นเหมือนบันทึกของผู้ผ่านทางเท่านั้น ข้อมูลทั้งหมดหากมีที่ผิดพลาดเป็นของผู้บันทึกคนเดียว
หลังงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีในปีพุทธศักราช 2500 ที่รัฐบาลอินเดียได้จัดงานเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนชมพูทวีปเป็นเวลาถึง 2500 ปีล่วงผ่านมานานแล้ว อันถือเป็นกึ่งพุทธกาล และชาวอินเดียทั่วประเทศได้รู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว ในแต่ละรัฐได้มีผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น การนับถือศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา มิใช่เรื่องของเหตุผล การเปลี่ยนศาสนาแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่การเข้าใจสาระหลักธรรมคำสอนของศาสนาเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ปัจจุบันคนอินเดีย “รู้จัก” พระพุทธศาสนา แต่จะมีสักกี่คนที่ “รู้จริงและรู้แจ้ง” ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
เมื่อพระพุทธศาสนาได้ย้อนกลับคืนมาสู่มาตุภูมิ จนมีชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทจำนวนหนึ่ง และมีพุทธศาสนิกชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดูและอิสลามนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก คือแทนที่จะเป็นพระพุทธศาสนาแห่งมาตุภูมิ กลับกลายเป็นว่าเป็นพระพุทธศาสนาจากต่างประเทศเข้าไปเผยแผ่ในอินเดีย สถานที่ที่มีชื่อเสียงและมีประชาชนชาวอินเดียรู้จักมากที่สุดคือพุทธคยาหรือโพธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในอดีตคือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยาสีสประเทศ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันเป็นตำบลโพธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร
แม่น้ำเนรัญชราปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำลิลาจันยังคงมีน้ำหลากในฤดูฝน แต่พอถึงฤดูแล้งจะแห้งขอดสามารถเดินข้ามไปได้อย่างสบายๆ เพราะแม่น้ำนี้มีแต่ทราย นักจาริกแสวงบุญบางกลุ่มมักจะนิยมเดินข้ามน้ำ(ทั้งๆที่มีสะพานข้าม)เพื่อไปชมสถานที่ที่พระพุทธเจ้าลอยถาดที่ฝั่งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำ บ้านนางสุชาดายังเหลือเนินดินสูงไว้เป็นอนุสรณ์ เดินผ่านทุ่งนาที่ข้าวกำลังเขียวขจี จะเป็นสุชาดาวิหาร สถานที่ที่พระพุทธเจ้ารับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาในวันตรัสรู้ มีรูปปั้นรูปนางสุชาดากำลังถวายข้าวแด่พระพุทธเจ้า ที่แผ่นจารึกอ่านได้ความว่า “สร้างถวายโดยอูชิ ชเวและดอว์ ขิ่น วิน ชาวพม่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2493” ปัจจุบันฮินดูเข้าดูแล เมื่อนักจาริกแสวงบุญเดินทางไปถึง ผู้ดูแลชาวฮินดูจะพยายามออกมาต้อนรับนำธูปเทียนมาให้บูชา และพยายามพูดบรรยายสรรพคุณ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ที่ใจบุญถวายปัจจัยที่ตู้บริจาค จากบริเวณนี้ไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นทางเดินบนคันนา ก็จะถึงที่ตั้งอาศรมของอุรุเวลากัสปะ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำลิลาจันนั่นเอง วัดจากการเดินทางด้วยเท้าจากบริเวณต้นมหาโพธิ์ที่พระองค์ประทับนั่งตรัสรู้ถึงอาศรมของอุรุเวลากัสสปะประมาณ 4 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร จะมองเห็นภูเขารังคศิริตั้งตระหง่าน เมื่อมองผ่านทุ่งนาจะมองเห็นภูมิทัศน์อันสวยงามอย่างยิ่ง
ภูเขารังคศิริ ถ้าจะเดินทางไปต้องเหมารถราคาประมาณ 200 รูปี วันที่ผู้เขียนและคณะเดินทางไปมีเพียงชาวญี่ปุ่นไม่กี่คน ถ้ำบนยอดเขาที่ระบุว่าเป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นเป็นเพียงถ้ำเล็กๆพอคนลอดเข้าไปได้ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจากประเทศไทยถวายไว้โดยวัดป่าธรรมชาติ ข้างๆกันจะมีรูปนางทุรคาเทพเจ้าของฮินดูเคียงคู่อยู่ บอกไม่ถูกว่าเกิดความรู้สึกอย่างไรเมื่อกราบพระพุทธรูปโดยที่มีนางทุรคาอยู่เคียงข้าง ส่วนด้านนอกเป็นวัดทิเบต ไม่สนใจอะไรมากไปกว่าการขายดอกไม้ธูปเทียนให้แก่ผู้จาริกแสวงบุญ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือต้องเผชิญกับบรรดาขอทานทั้งหลาย
ที่เชิงเขารังคศิริมีโรงเรียนชื่อสุชาดาวิทยาลัย ดำเนินการโดยสถาบันภิกษุณีจากไต้หวัน ครูสอนส่วนมากจึงมาจากนักศึกษาชาวไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียตนาม ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอินเดีย วันที่ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมเป็นวันหยุดจึงไม่ได้เห็นการเรียนการสอน ภิกษุณีชาวไต้หวันเล่าให้ฟังว่า “ที่นี่คงพัฒนายาก เพราะแม้จะมีองค์กรต่างๆ สนับสนุนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยแต่ก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน โจรผู้ร้ายมักจะปล้นอยู่เสมอ พวกเราก็อ่อนใจ จึงต้องใช้เท่าที่มี บางครั้งโจรมานั่งรอที่หน้าโรงเรียน ก่อนที่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือจักรเย็บผ้าจะมาถึงด้วยซ้ำ”
เมื่อสาธยายถึงความใจแคบของโจรแล้วภิกษุณีคนเดิมจึงเล่าต่อว่า “ในโรงเรียนปัจจุบันจึงเหลือเพียงจักรเย็บผ้าเก่าไม่กี่อันเพื่อใช้สอนนักเรียน โดยให้นักเรียนนี่แหละไปอ้อนวอนโจรอย่ามาปล้นอีกเลย เพราะถ้าปล้นไปก็ไม่รู้จะเอาอะไรใช้เรียน กลยุทธที่ให้นักเรียนไปขอร้องโจรนี่ได้ผล เราจึงใช้เรื่อยมา ลำพังพวกเราเขาไม่เชื่อหรอก เพราะพวกเขาคิดว่าพวกเรามาแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศของเขา” ภิกษุณีชาวไต้หวันอธิบายอย่างยืดยาวเหมือนกับจะเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจ ที่เก็บกดมานาน ครั้นเมื่อพวกเราได้ฟังก็ได้แต่ช่วยให้กำลังใจเธอในการทำงานเพื่อเยาวชนต่อไป
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับโรงเรียนของรัฐแล้ว สุชาดาวิทยาลัย ก็นับได้ว่าอยู่ในขั้นที่ค่อนข้างจะเจริญ เพราะโรงเรียนของรัฐ ที่ผู้เขียนแวะเข้าไปเยี่ยมแห่งหนึ่งที่ข้างๆบ้านนางสุชาดานั้น เป็นเพียงตัวอาคารที่เก่าโทรมหลังหนึ่ง วันนั้นนักเรียนเรียนที่สนามหญ้าริมทางเดินใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีกระดานดำ นักเรียนแต่ละคนมีกระดานดำเล็กๆประจำตัวใช้แทนสมุดเรียน ไม่มีห้องเรียนน่าจะเรียกว่าสนามเรียนมากกว่า โรงเรียนมีเพียงต้นไม้หนึ่งต้นและเก้าอี้สำหรับครู 1 ตัว เหมือนกับสภาพที่รพินทรนารถ ฐากูร เขียนพรรณาไว้ใน “โรงเรียนใต้ร่มไม้” แต่ในหนังสือมีสภาพดีกว่านี้อีกหลายเท่านัก มีครูเพียงคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ 30 คน ชุดที่นักเรียนสวมใส่ตามสบายหลายหลากสี พอเห็นนักจาริกแสวงบุญเดินผ่าน จะมีนักเรียนบางคนแอบหลบจากสนามเรียน(ใช้แทนห้องเรียน) เพื่อประกอบอาชีพ นั่นคือขอทานจากนักท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม จนบางคนลืมอาชีพหลักคือการเรียนไปเลย