เมื่อพวกเราถามถึงการเป็นอยู่ ภิกษุณีตอบว่า “รับประทาน(ฉัน) เท่าที่มี อะไรก็ได้พอประทังชีวิตไปวันๆ เงินสนับสนุนส่วนมากจะมาจากไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น พวกเราทำงานเพราะใจรัก ไม่มีเงินเดือน แต่อยากเห็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกริยาทรมานพระองค์จนกระทั่งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด มีสภาพดีขึ้น พวกเราก็ได้อุทาหรณ์ของพุทธองค์นั่นแหละเป็นกำลังใจ พวกเราสร้างโรงเรียนมาหลายปีแล้ว และเปลี่ยนครูไปหลายชุดแล้ว แต่ยังไม่เคยมีคนอินเดียยอมบวชเป็นภิกษุณีแม้แต่คนเดียว” ประโยคหลังเหมือนเป็นบทสรุปสำหรับทัศนะในการบวชของคนอินเดียในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือโรงเรียนที่มหาโพธิสมาคมสร้างขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อยู่ห่างจากสระมุจลินท์ประมาณ 1 กิโลเมตร รอบๆบริเวณโรงเรียนมีป่าหญ้ากุสะที่พระพุทธเจ้าใช้รองนั่งก่อนจะตรัสรู้ หญ้ากุสะคล้ายๆ หญ้าคา แต่ไม่ใช้หญ้าคาเพราะเกิดเป็นกอเป็นพุ่มสูงท่วมหัว นุ่ม คล้ายต้นตระไคร้มากกว่าจะคล้ายหญ้าคา ตัวอาคารเรียนมี 3 ชั้น ๆ ละ 5 ห้อง ท่านศีลภัทร์พระภิกษุชาวศรีลังกาจากมหาโพธิสมาคม ผู้บริหารโรงเรียนเล่าให้ฟังว่า “โรงเรียนแห่งนี้มหาโพธิสมาคมเป็นผู้สนับสนุน และดำเนินการทั้งหมด ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 300 คน การที่จะสนับสนุนให้คนอินเดียบวชเพื่อสืบศาสนาในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะอิทธิพลของฮินดูยังแรงอยู่ ที่บวชมาส่วนมากก็เพราะพวกเขาถือว่าเป็นอาชีพที่สบาย โดยเฉพาะที่วัดมหาโพธิ์ถือว่าเป็นแหล่งทำเงินที่สำคัญที่สุด อีกอย่างหนึ่งปัจจุบันอินเดียมีองค์กรที่ดูแลพระภิกษุชาวอินเดียโดยเฉพาะบริหารงานกันเอง จัดการบรรพชาอุปสมบทกันเองทั้งในฝ่ายมหายานและเถรวาท ดังนั้นมหาโพธิสมาคมจึงหันมาให้บริการด้านอื่นเช่นสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลแทน”
มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อซาร์บาที่เดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนกับพวกเรา เมื่อเที่ยวชมโรงเรียนและฟังเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนจบแล้วกลับยกปัญหาอย่างหนึ่งขึ้นมาถามว่า “ทำไมเมื่อพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์บรรลุธรรมคือเรียนสำเร็จแล้ว ยังต้องเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาอยู่อีก นิพพานคือจุดหมายสูงสุด ส่วนการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิภาวนาคือทาง เมื่อถึงจุดหมายแล้วก็ไม่น่าจะเดินอยู่บนเส้นทางสายนั้นอีกต่อไป”
ท่านศีลภัทร์ภิกษุชาวศรีลังกาจึงตอบว่าเพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้จะปฏิบัติต่อไป แต่ดูเหมือนว่าซาร์บาก็ยังพยายามถามคำถามเดิมอยู่นั่นเองเมื่อพบกับพระภิกษุรูปอื่นๆ ผู้เขียนคิดถึงสิทธารถะตัวละครสำคัญคนหนึ่งของเฮอร์มานน์ เฮสเส ที่เมื่อพบพระพุทธเจ้าปัญหาที่สิทธารถะถามคือ “ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าพระองค์ตรัสรู้ สิ่งที่พระองค์รู้นั้นประเสริฐที่สุด แต่สงสัยว่าพระองค์ทำอย่างไรในคืนวันตรัสรู้โดยเฉพาะในเวลาที่ตรัสรู้” พระพุทธเจ้าตอบสิทธารถะสั้นๆว่า “พ่อหนุ่มเธอฉลาดเกินไป อย่าให้ความฉลาดเป็นกำแพงปิดกั้นเป้าหมายของเธอเลย”และในที่สุดแทนที่สิทธารถะจะบวชในพระพุทธศาสนากลับเดินทางแสวงหาสัจธรรมและปฏิบัติจนหายสงสัยตามแนวทางที่ตนคิดว่าถูกต้องที่สุด “เมื่อข้ามถึงฝั่งแล้ว เรือก็ไม่จำเป็นต้องแบกไปด้วย” น่าจะเป็นบทสรุปนี้กระมังที่ชาร์บาพยายามค้นหาคำตอบ “เรื่องโรงเรียนผมพออธิบายให้ฟังได้ แต่ปัญหาที่ชาร์บาถาม แม้ผมพยายามจะอธิบายอย่างไรดูเหมือนเธอก็ยังไม่หายสงสัย” ท่านศีลภัทรพระภิกษุชาวศรีลังกาบอกผู้เขียนเบาๆ