ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

               ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยี ที่มีกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน มีหลักธรรมคำสอนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อโลกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พระพุทธศาสนาก็สามารถประยุกต์ใช้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีได้อย่างเช่นสังคมยูบิควิตัสนำมารวมกับพระพุทธศาสนาจึงเกิดศัพท์ใหม่ว่า "พุทธยูบิควิตัส" ว่าด้วยพระพุทธศาสนาในยุคเทคโนโลยีไร้สาย

 สังคมยูบิควิตัส  

          เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีการสื่อสารมาบรรจบกันจนทำให้เกิดเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างชาวโลกมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการติดต่อผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตซึ่งในอดีตต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในที่ทำงานเท่านั้น ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กสามารถใช้ที่บ้านและพัฒนาเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถพกพาติดตัวไปได้สะดวก ในอนาคตอันใกล้เครื่องคอมพิวเตอร์จะมีขนาดเล็กสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ในยุคนี้กลายเป็นสังคมใหม่ที่มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “สังคมยูบิควิตัส” (Ubiquitous society) คือทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไร้ขีดจำกัด ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกาลเวลาอีกต่อไป
          ยูบิควิตัสเทคโนโลยี (Ubiquitous technology) สังคมยูบิควิตัส (Ubiquitous society) หรือ ยูบิคอมบ์ (Ubicomp) ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการสื่อสารใหม่ และเป็นแนวโน้มของสังคมสารสนเทศ ยูบิควิตัส เป็นภาษาลาติน มีความหมายว่า อยู่ในทุกแห่ง หรือ มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มาร์ค ไวเซอร์ (Mark Weiser) แห่งศูนย์วิจัย Palo Alto ของบริษัท Xerox ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำนิยาม “ยูบิควิตัสคอมพิวติง” ไว้ว่าโลกที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ทุกหนทุกแห่ง  ทุกที่ที่คนไปจะมีสภาพแวดล้อมที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ ณ ที่นั้นได้เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์ของตนเอง (ฮิเดกะ โซกิ,ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลกIT ในอนาคต, แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ(กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545), หน้า 5.)  การใช้คอมพิวเตอร์ได้ทุกหนทุกแห่งในปัจจุบันกำลังจะเป็นสภาพที่กำลังเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน ที่บ้านแล้ว ยังมีชิปคอมพิวเตอร์ในเครื่องอุปกรณ์ต่างๆเช่นโทรศัพท์มือถือซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปมากพกพาได้สะดวก



ภาพสังคมยูบิควิตัสในญี่ปุ่น

  เทคโนโลยีในสังคมยูบิควิตัส

           เทคโนโลยีที่ทำให้สังคมยูบิควิตัสเป็นจริงมี 4 กลุ่มคือ เทคโนโลยีพื้นฐาน เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีการเข้าถึง เทคโนโลยีด้านการประยุกต์ (ฮิเดกะ โซกิ,ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลก IT ในอนาคต,แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ(กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545), หน้า 156.) สรุปได้ดังนี้
             1.เทคโนโลยีพื้นฐาน ในสังคมยูบิควิตัส การที่จะสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องส่วนตัวของเราได้นั้น มีความจำเป็นต้องพกพาสิ่งที่สามารถยืนยันตันตนของเราอยู่ด้วย สิ่งนั้นคือรหัสผ่านของตนเองนั่นเอง เราสามารถเข้าสู่ระบบเครือข่ายได้ทุกแห่งเพียงแต่ป้อนรหัสผ่านของเราเข้าไป ซึ่งจะไม่มีทางตรงกับคนอื่นนั่นคือเทคโนโลยีพื้นฐานสิ่งแรกในสังคมยูบิควิตัส เรียกเทคโนโลยีพื้นฐานนี้ว่าเทคโนโลยีตรวจสอบบุคคล
              2.เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีที่สำคัญอย่างแรกคือการทำให้ชิปมีขนาดเล็ก ประหยัดพลังงาน มีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าเพียงพอ  เทคโนโลยีแสดงผลและป้อนข้อมูล ทั้งหมดนั้นคือเทคโนโลยีฮาร์แวร์ที่จำเป็นในสังคมยูบิควิตัส
            3.เทคโนโลยีการเข้าถึง  การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทุกที่ทุกเวลาจะต้องมีเทคโนโลยีเครือข่ายซึ่งมีทั้งแบบมีสายและไร้สาย แกนหลักที่ทำให้เกิดสังคมยูบิควิตัสคือบรอดแบรนด์ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกหนทุกแห่ง นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นเช่น WWW, Java,WAP,XML เป็นต้น และเทคโนโลยีการเข้าถึงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือโมบายส์เทคโนโลยี อุปกรณ์โมบายส์คือคอมพิวเตอร์ที่เบาและสามารถพกพาไปได้ทุกที่ ทำให้เรามีคอมพิวเตอร์ที่พกพาไปได้ทุกที่ ในปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์ผ่านมือถือสามารถเข้าสู่เว็บไซต์ได้ทุกที่ที่มีมือถือ
          4.เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้งาน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้ได้จริงๆ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกอย่างแท้จริงถึงคุณประโยชน์ของคอมพิวเตอร์   



 
ดร.ทั้งสองท่านกำลังปล่อยโคมไฟขึ้นฟ้าทักทายเทวดา

          เทคโนโลยีทั้งสี่ประการมาบรรจบกันในสังคมใดสังคมนั้นก็กลายเป็นสังคมยูบิควิตัสได้โดยไม่ยาก ในส่วนของพระพุทธศาสนาเป็นส่วนของเนื้อหาที่สามารถเผยแผ่ได้ในสังคมโดยการใช้เทคโนโลยีทั้งสี่ประเภท โดยที่พระสงฆ์ผู้ทำการเผยแผ่ไม่ต้องสร้างเครื่องมือใหม่ขึ้นมาเลย เพราะมีเทคโนโลยีที่ตอบสนองอยู่แล้ว เพียงแต่ออกแบบเนื้อหาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย จากนั้นจึงนำเผยแผ่โดยอาศัยเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีการเข้าถึง สิ่งที่บรรจุในชิปคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กบรรจุข้อมูลได้มากพอนั้น อาจเป็นพระไตรปิฎกทั้งฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อมีข้อสงสัยในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเปิดดูทางเว็บไซต์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งในอนาคตควรมีหลายภาษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างทั่วถึง หากยังคิดว่าพระไตรปิฎกยังเป็นหลักคำสอนที่ยากแก่การทำความเข้าใจ องค์กรสงฆ์หรือคณะสงฆ์ก็ต้องหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาษาให้ทันสมัยเหมาะแก่ยุคสมัยซึ่งการปรับปรุงมิได้ทำให้หลักธรรมดั้งเดิมมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ภาษาที่เหมาะกับคนในสังคมยุบิควิตัสควรเป็นข้อความที่สั้น กระชับ ง่ายเข้าใจได้ทันที ภาษาพระพุทธศาสนาสามารถทำให้ง่ายได้เช่น “ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว” ซึ่งก็มาจากภาษาบาลีในภัทเทกรัตตสูตร (ม.อุปริ. 14/527/348.)  ว่า  “อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ” ภาษาแปลตามพระไตรปิฎกฉบับภาไทยแปลว่า “พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ” ซึ่งถูกต้องตามลักษณะการถอดความจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนในยุคยูบิควิตัส แต่ถ้านำมาปรับปรุงแปลใหม่จะทำให้ติดปากคนได้ง่าย การประยุกต์มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงมิใช่การทำให้คำสอนเป็นสัทธรรมปฎิรูปแต่ประการใด เพียงแต่ทำให้เหมาะสมกับยุคสมัยเท่านั้น
          เมื่อโลกเจริญไปด้วยพลังขับเคลื่อนของเทคโนโลยี หากพระพุทธศาสนาไม่ประยุกต์หลักธรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว ในอนาคตจะหาคนสนใจศึกษาจนเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาน้อยยิ่งขึ้น แม้ในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วก็ยังประสบปัญหาการอ่านหนังสือของเด็กดังที่หนังสือนิวยอร์คไทม์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2548 บ็อบ เฮอร์เบร์ต ได้เขียนบทความลงตีพิมพ์แสดงถึงความสนใจของเด็กๆในสหรัฐอเมริกามีข้อความตอนหนึ่งว่า “ บ้านเรือนชาวอเมริกันนับวันจะไม่มีหนังสือและสิ่งพิมพ์หลงเหลืออยู่แล้ว เด็กหันหน้าเข้าหาความบันเทิงจากโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และเกมส์อิเล็คทรินิกส์กันหมด ดูเหมือนเทคโนโลยีที่สร้างความสุขแบบฉับพลัน(Instant Gratification Technology)ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนการอ่านไปเสียแล้ว (บ็อบ เฮอร์เบร์ต,เด็กสหรัฐอ่านหนังสือน้อยลง,นิวยอร์คไทม์, (ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2548). 



ภาพบรรยากาศในการสัมมนา

               ยูบิควิตัส (Ubiquitous) หรือยูบิควิตัส คอมพิวติ้ง (Ubiquitous Computing) ยังหมายถึงการเชื่อมต่อไร้สายในอุดมคติ ที่การมีคอมพิวเตอร์อยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ตามถนนหนทาง ผู้คนจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้จากทุกสถานที่ โดยเชื่อมต่อถึงกันด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ตามกระแสแห่งการพัฒนากล่าวได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคยูบิควิตัส ที่เป็นเหมือนคลื่นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ลูกที่ 3 ที่กำลังถาโถมเข้าใส่มวลมนุษยชาติ  ปรากฎการณ์ยูบิควิตัสจะเข้ามาช่วยให้มนุษย์ มีความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ด้วยโครงข่ายของการสื่อสาร ได้แก่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโทรศัพท์มือถือ ที่จะเป็นกุญแจ และประตูที่จะพาผู้ใช้งานไปสู่ความสะดวกสบายโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาและสถานที่ อัลวิน ทอฟเลอร์ได้อธิบายพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีพื้นที่จริงในโลกกายภาพอาจเรียกว่าเป็น อพื้นที่ (untime) (อัลวิน และ ไฮดี ทอฟเลอร์, ความมั่งคั่งปฏิวัติ,แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล, (กรุงเทพฯ:มติชน,2552),หน้า  129.) เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงภาพเสมือนจริงมิใช่ภาพจริง  โดยสรุปลักษณะสำคัญของสังคมยูบิควิตัสคือ 
          1. มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์ตลอดเวลา ถ้ามีแต่เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียวยังมิใช่สังคมยูบิควิตัส คอมพิวเตอร์จะต้องเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กจึงจะเป็นยูบิควิตัสคอมพิวติง 
          2. คอมพิวเตอร์จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเครื่องใช้ต่างๆ โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้สึกตัวว่า กำลังใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่  สังคมยูบิควิตัสจะต้องเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จะต้องมีเป้าหมายให้คอมพิวเตอร์เป็นเหมือนกับกระดาษ ตัวอักษรที่อยู่บนกระดาษ เป็นอินเตอร์เฟสที่คนสามารถใช้ได้ง่าย คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งแวดล้อมมิใช่เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
          3. การให้บริการที่สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทั้งสถานที่อุปกรณ์ และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ ในโลกของยูบิควิตัสคอมพิวติง บริการที่คอมพิวเตอร์มีให้เลือกต้องเปลี่ยนไปตามผู้ใช้หรือสถานการณ์ของผู้ใช้ (ฮิเดกะ โซกิ,ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลกIT ในอนาคต, แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ(กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545), หน้า 12.)
          เมื่อมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทรกซึมอยู่ในที่ทุกแห่งและสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของผู้ใช้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมยูบิควิตัส  
 พุทธยูบิควิตัส (BUDDHIST UBIQUIT0US)

          พระพุทธศาสนาอยู่ในสังคมโลกมานานหลายศตวรรษ ผ่านกาลเวลาที่มีความเจริญมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะการเผยแผ่ที่ประยุกต์เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายแตกต่างกันได้ ในยุคปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก พระพุทธศาสนาหากดูผิวเผินจะขัดแย้งกับกระแสของเทคโนโลยี เพราะเป็นลักษณะสังคมแบบทุนนิยมซึ่งมีความโลภเป็นหลัก แต่หากดูอีกด้านหนึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีมิใช่ความเลวร้าย อยู่ที่ผู้ใช้ต่างหาก ถ้าผู้ใช้มีภูมิต้านทานทางจิตที่มั่นคงแล้ว เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้พระพุทธศาสนากระจายไปยังกลุ่มชนได้อีกมาก  มีงานวิจัยเรื่องการสื่อสารยุคใหม่กับความเห็นของผู้บริโภคระบุว่าผู้บริโภคในยุคปีพุทธศักราช 2551 ให้ความสนใจในสามจอคือจอโทรทัศน์ จอโทรศัพท์มือถือและจอคอมพิวเตอร์ (ศรีศักดิ์  จามรมาน(ศ.ดร.),อินเทอร์เน็ตนักล่าอาณานิคมโลก,(กรุงเทพฯ:ฐานบุคส์ 2551),หน้า  68.)
          แนวโน้มในอนาคตพระพุทธศาสนาก็ควรใช้ช่องทางเผยแผ่ให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคทั้งสามกลุ่มนั้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่ากำลังจะกลายเป็นสังคมยูบิควิตัสเต็มรูปแบบ  เราสามารถนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในสังคมยูบิควิตัสได้ดังต่อไปนี้

          1. เมื่อนำเทคโนโลยียูบิควิตัสมาใช้ในพระพุทธศาสนาจะมีผลทำให้มีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา เพียงแต่มีอุปกรณ์การเชื่อมต่อกับเครือข่ายเช่นคอมพิวเตอร์โน็ตบุค โทรศัพท์มือถือเป็นต้น จึงเป็นโจทย์อย่างหนึ่งขององค์กรสงฆ์ว่าจะทำอย่างไรให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนามีการเคลื่อนไหวอยู่ในระบบเครือข่ายได้ตลอดเวลา อาจจะเป็นเสียงริงโทนคำสวดของพระพุทธศาสนาง่าย ๆเช่น พุทธัง  สรณัง คัจฉามิ, นโม พุทธายะ, อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทธโธ เป็นต้น หรือจะเป็นพุทธสุภาษิตเช่น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน, อตฺตา  หเว  ชิตํ  เสยฺโย ชนะตนนั่นแหละเป็นดี,อกตํ  ทุกฺกฏํ  เสยฺโย  ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า,กลฺยาณการี  กลฺยาณํ  ปาปการี  จ  ปาปกํ  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว,กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก  สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น
          2.ทุกคนกำลังศึกษาพระพุทธศาสนาโดยที่ผู้ศึกษาไม่รู้สึกตัวว่ากำลังศึกษา คำสอนของพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญอยู่สองระดับคือระดับโลกียะคือชาวบ้านทั่วไปก็ศึกษาได้และระดับโลกุตตระเป็นธรรมะขั้นสูงเพื่อการหลุดพ้น คณะสงฆ์สามารถนำเสนอหลักธรรมง่ายๆที่ทุกคนรับรู้ได้โดยไม่มีความรู้สึกว่ากำลังศึกษาพระพุทธศาสนาเช่น ทุกคนเป็นเศรษฐีได้ “ถ้าขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง” ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า   
                                                       อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ       อปฺปมตฺโต วิธานวา             
                                                       สมํ กปฺเปติ ชีวิตํ                สมฺภตํ อนุรกฺขติ  ฯ
(องฺ. อฏฺฐก. 23/144/289.)
          พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยแปลความหมายไว้ว่า “คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสมเลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้”  ถ้านำเสนอทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทยจะเป็นเนื้อหาที่ยาก แต่เมื่อนำมาย่อความก็จะเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย จนผู้รับสารไม่รู้สึกว่ากำลังศึกษาพระพุทธศาสนา
          อีกตัวอย่างหนึ่งสาเหตุแห่งความสุขได้แก่ “ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เพียรฆ่ากิเลส ไม่สร้างเหตุแห่งความประมาท ปราศจากความตระหนี่” ซึ่งเป็นคำสอนที่มาจากภาษาบาลีว่า “นาญญตฺร โพชฺฌงฺคตปสา  นาญญตฺตร อินฺทริสํวรา   นาญญตร  สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ (สํ.ส. 15/265/75.) หากแปลเป็นภาษาไทยตามตัวอักษรก็จะแปลได้ว่า “นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์  นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย” แต่เมื่อนำเสนอเป็นคำง่ายๆคนทั่วไปอาจจะไม่คิดว่าตนเองกำลังศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ อาจคิดว่าเป็นเพียงคำที่นักปราชญ์คนใดคนหนึ่งคิดขึ้นเป็นต้น
          3. การให้บริการที่สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทั้งสถานที่อุปกรณ์ และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สังคมยูบิควิตัสหลักคำสอนก็ต้องสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมเช่นการเทศน์ การบรรยายธรรมเป็นต้น แต่ต้องประยุกต์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นมีการแสดงธรรมในโรงภาพยนตร์ มีการปาฐกถาธรรมทางอินเทอร์เน็ต มีการส่งข้อความเสียงทางโทรศัพท์มือถือเป็นต้น เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาสมและตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ก็จะทำให้กลายเป็นสังคมพุทธยูบิควิตัส โดยไม่ได้กระทบต่อหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพราะผู้รับสารสามารถเลือกรับสารได้ตามความสะดวกของผู้รับสารเอง  
          นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อสี่ปีที่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เด็กไม่สนในการอ่าน มัวแต่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ แม้แต่สามเณรก็เล่นคอมพิวเตอร์อย่างหนัก จนทำให้มีผลกระทบต่อสายตา ดังที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน (มส.คุมเข้มสามรเณรเล่นคอมพิวเตอร์,มติชน,(ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2551). ว่า“นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รายงานข้อมูลของโรงพยาบาลสงฆ์ที่ได้ตรวจวัดสายตาเพื่อแก้ปัญหาสายตาผิดปกติของสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสำรวจสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาหลาย113 แห่ง และในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม บาลี 63 แห่ง รวม 2,658 รูป พบว่ามีสามเณรดูโทรทัศน์ นานเกิน 1 ชั่วโมง 1,580 รูป และใช้คอมพิวเตอร์นานเกิน 2 ชั่วโมง 900 รูป และจากการตรวจวัดสายตาพบมีสามเณรที่มีสายตาผิดปกติ 498 รูป ในจำนวนนี้มีอาการสายตาสั้น 313 รูป  สายตาสั้นและเอียง 149 รูป สายตาเอียง 25 รูป ทางโรงพยาบาลสงฆ์ได้ให้คำแนะนำเรื่องการใช้สายตา ที่ถูกต้อง และถวายแว่นสายตาให้กับสามเณรที่มีสายตาผิดปกติด้วย
          แนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีอื่นๆนอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว ยังมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าไปยังวัดต่างๆมากยิ่งขึ้น พระภิกษุสามเณรรุ่นใหม่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลหรือในกิจการอย่างอื่น หากคณะสงฆ์ยังไม่มีมาตรการรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตของพระสงฆ์สามเณร ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาได้

 บทสรุป
          สิ่งหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสารของโลกยุคยูบิควิตัสในอนาคตอันใกล้คือเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย (Mobility Technology) ปัจจุบันเป็นคำที่ใช้แทนเทคโนโลยี 3G สามารถรับส่งข้อมูลในความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ อย่างรวดเร็ว และ มีรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นประกอบกับอุปกรณ์สื่อสารไร้สายในระบบ 3Gสามารถให้บริการระบบเสียงและแอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่เช่นจอแสดงภาพสี, เครื่องเล่น mp3, เครื่องเล่นวีดีโอ การดาวน์โหลดเกม, แสดงกราฟฟิกและการแสดงแผนที่ตั้งต่างๆ ทำให้การสื่อสารเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่สร้างความสนุกสนานและสมจริงมากขึ้น ช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและคล่องตัวขึ้นโดยโทรศัพท์เคลื่อนที่เปรียบเสมือน คอมพิวเตอร์แบบพกพา,วิทยุส่วนตัว และแม้แต่กล้องถ่ายรูป ผู้ใช้สามารถใช้บริการข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวเกาะติดสถานการณ์, ข่าวบันเทิง, ข้อมูลด้านการเงิน, ข้อมูลการท่องเที่ยว และ ตารางนัดหมายส่วนตัว  คุณสมบัติหลักของ 3G คือ มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของ 3G ตลอดเวลาที่เราเปิดเครื่องโทรศัพท์ นั่นคือไม่จำเป็นต้องต่อโทรศัพท์เข้าเครือข่าย และ log-in ทุกครั้งเพื่อใช้บริการรับส่งข้อมูล  อุปกรณ์สื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โทรศัพท์เท่านั้น แต่ยังปรากฏในรูปแบบของอุปกรณ์ สื่อสารอื่น เช่น Palmtop, Personal Digital Assistant (PDA), Laptop และ PC (พีรยา พลายละหาร, เทคโนโลยี 3G คืออะไร <
http://www.pantown.com/board.php 27 ก.ค. 52> (25/11/52)  
          ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 4G จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ใช้สามารถดาวโหลดเพลง MP 3 จำนวน 100 เพลงในเวลาน้อยกว่า 3 วินาทีเท่านั้น แม้ว่าผู้ใช้กำลังใช้งานอื่นอยู่ก็ตาม (พรรณี  สวนเพลง(ผศ.ดร.),เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้,(กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น,2552), หน้า 339.)
           ดังนั้นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 3G และ4G ที่นำมาใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบันได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่มากกว่าเครื่องโทรศัพท์สามารถใช้ฟังเพลง ถ่ายภาพ รับส่งข้อมูลและภาพได้ ทำให้มีการทำงานที่คล่องตัวรวดเร็ว ในที่สุดก็จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เกือบทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน 
          แม้ว่าเทคโนโลยีไร้สายจะเน้นไปที่การทำพาณิชยกรรม และธุรกิจด้านบรรเทิงเป็นหลัก แต่หากนำมาใช้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็จะทำให้พระพุทธศาสนามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีมีอยู่หลายด้าน แต่ถ้านำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ก็จะเป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนา เพราะทำให้มีช่องทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามากขึ้น   

          หากสังคมพระพุทธศาสนามีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางและมีกฎระเบียบที่ชัดเจน  ก็จะทำให้มีการเผยแผ่พระพุทธศึกษาสามารถมีอยู่ในทุกที่ ทุกเวลา ทุกคนสามารถศึกษาพระพุทธศาสนาได้ทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของ E-learning หรือการเรียนแบบออนไลน์  M-Learning หรือ Mobile-Learning เป็นการเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นต้นซึ่งสามารถศึกษาได้ตลอดเวลาที่มีมือถือในมือและเข้าระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ได้  นอกจากนั้นคณะสงฆ์สามารถถ่ายทอดสดการแสดงธรรม การปะชุมองค์กรทางพระพุทธศาสนาไปทั่วโลก  มีเว็บไชต์ทางพระพุทธศาสนาแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น  มีองค์กรของคณะสงฆ์ไทยดูแลการใช้อินเทอร์เน็ต และมีระบบเครือข่ายของคณะสงฆ์ไทยและจะกลายเป็นสังคมยูบิควิตัส  (Ubiquitous Society) คือสภาพแวดล้อมของคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ได้ทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลา 
          ในศตวรรตที่ 21 การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ต่างๆได้ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีโมบายส์เช่นโทรศัพท์มือถือได้ทำให้โลกของเน็ตเวิร์กและคอมพิวเตอร์ไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ที่บ้านหรือที่ทำงานเท่านั้น แต่ทำให้สามารถใช้ได้ทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลา พระพุทธศาสนาก็จะกลายเป็นพุทธยูบิควิตัส (Buddhist Ubiquitous) คือมีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาได้ทุกหนทุกแห่งโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพราะในอนาคตสังคมจะกลายเป็นสังคมมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ในทุกหนทุกแห่ง โดยไม่จำกัดด้วยเงื่อนไขของกาลเวลาหรือสถานที่ สอดคล้องกับพระธรรมคุณข้อหนึ่งในมหานามสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาตว่า “อกาลิโก” (องฺ ฉกฺก.22/281/318.)  หมายถึงไม่ประกอบด้วยกาลคือไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา บรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็น ผลได้ทันที เป็นจริงอยู่อย่างไรก็เป็นอย่างนั้นไม่จำกัดด้วยกาล หากนำมาใช้ในการศึกษาก็จะกลายเป็นว่ามีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาอีกต่อไป ในโลกอนาคตผู้ที่มีความรู้ การเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงจะทำให้มีโอกาสอยู่รอดในสังคมได้
                                                                              

 พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน(ป.ธ.7)
 อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
นักศึกษาปริญญาเอก ศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต

หมายเหตุ: คำว่า "พุทธยูบิควิตัส" ผู้เขียนบัญญัติขึ้นใช้เอง เพื่อใช้เป็นชื่อบทความและให้เหมาะกับเนื้อหา ยังไม่ได้รับการรับรองจากนักวิชาการใดๆ นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการนักศึกษาปริญญาเอก(ศน.ด) เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย. ๒๕๕๒ ที่จังหวัดนครปฐม 

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาบาลี.กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2514.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทย.กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2514.
บ็อบ เฮอร์เบร์ต.เด็กสหรัฐอ่านหนังสือน้อยลง.นิวยอร์คไทม์. ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2548.
พรรณี  สวนเพลง(ผศ.ดร.).เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น,2552.
พีรยา พลายละหาร. เทคโนโลยี 3G คืออะไร <
http://www.pantown.com/board.php 27 ก.ค. 52> (25/11/52). 
มติชน.ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2551.
ศรีศักดิ์  จามรมาน(ศ.ดร.).อินเทอร์เน็ตนักล่าอาณานิคมโลก.กรุงเทพฯ:ฐานบุคส์ 2551.
ห้างหุ้นส่วนมุทเทอร์ อูนด์ โซน,พระไตรปิฎกฉบับซีดีรอม.
อัลวิน และ ไฮดี ทอฟเลอร์. ความมั่งคั่งปฏิวัติ.แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล. กรุงเทพฯ:มติชน,2552.
ฮิเดกะ โซกิ.ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลกIT ในอนาคต. แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ.กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545.

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก