พระพุทธศาสนาอยู่ในสังคมโลกมานานหลายศตวรรษ ผ่านกาลเวลาที่มีความเจริญมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะการเผยแผ่ที่ประยุกต์เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายแตกต่างกันได้ ในยุคปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก พระพุทธศาสนาหากดูผิวเผินจะขัดแย้งกับกระแสของเทคโนโลยี เพราะเป็นลักษณะสังคมแบบทุนนิยมซึ่งมีความโลภเป็นหลัก แต่หากดูอีกด้านหนึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีมิใช่ความเลวร้าย อยู่ที่ผู้ใช้ต่างหาก ถ้าผู้ใช้มีภูมิต้านทานทางจิตที่มั่นคงแล้ว เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้พระพุทธศาสนากระจายไปยังกลุ่มชนได้อีกมาก มีงานวิจัยเรื่องการสื่อสารยุคใหม่กับความเห็นของผู้บริโภคระบุว่าผู้บริโภคในยุคปีพุทธศักราช 2551 ให้ความสนใจในสามจอคือจอโทรทัศน์ จอโทรศัพท์มือถือและจอคอมพิวเตอร์ (ศรีศักดิ์ จามรมาน(ศ.ดร.),อินเทอร์เน็ตนักล่าอาณานิคมโลก,(กรุงเทพฯ:ฐานบุคส์ 2551),หน้า 68.)
แนวโน้มในอนาคตพระพุทธศาสนาก็ควรใช้ช่องทางเผยแผ่ให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคทั้งสามกลุ่มนั้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่ากำลังจะกลายเป็นสังคมยูบิควิตัสเต็มรูปแบบ เราสามารถนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในสังคมยูบิควิตัสได้ดังต่อไปนี้
1. เมื่อนำเทคโนโลยียูบิควิตัสมาใช้ในพระพุทธศาสนาจะมีผลทำให้มีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา เพียงแต่มีอุปกรณ์การเชื่อมต่อกับเครือข่ายเช่นคอมพิวเตอร์โน็ตบุค โทรศัพท์มือถือเป็นต้น จึงเป็นโจทย์อย่างหนึ่งขององค์กรสงฆ์ว่าจะทำอย่างไรให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนามีการเคลื่อนไหวอยู่ในระบบเครือข่ายได้ตลอดเวลา อาจจะเป็นเสียงริงโทนคำสวดของพระพุทธศาสนาง่าย ๆเช่น พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, นโม พุทธายะ, อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทธโธ เป็นต้น หรือจะเป็นพุทธสุภาษิตเช่น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน, อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย ชนะตนนั่นแหละเป็นดี,อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า,กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว,กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น
2.ทุกคนกำลังศึกษาพระพุทธศาสนาโดยที่ผู้ศึกษาไม่รู้สึกตัวว่ากำลังศึกษา คำสอนของพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญอยู่สองระดับคือระดับโลกียะคือชาวบ้านทั่วไปก็ศึกษาได้และระดับโลกุตตระเป็นธรรมะขั้นสูงเพื่อการหลุดพ้น คณะสงฆ์สามารถนำเสนอหลักธรรมง่ายๆที่ทุกคนรับรู้ได้โดยไม่มีความรู้สึกว่ากำลังศึกษาพระพุทธศาสนาเช่น ทุกคนเป็นเศรษฐีได้ “ถ้าขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง” ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า
อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิธานวา
สมํ กปฺเปติ ชีวิตํ สมฺภตํ อนุรกฺขติ ฯ (องฺ. อฏฺฐก. 23/144/289.)
พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยแปลความหมายไว้ว่า “คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสมเลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้” ถ้านำเสนอทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทยจะเป็นเนื้อหาที่ยาก แต่เมื่อนำมาย่อความก็จะเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย จนผู้รับสารไม่รู้สึกว่ากำลังศึกษาพระพุทธศาสนา
อีกตัวอย่างหนึ่งสาเหตุแห่งความสุขได้แก่ “ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เพียรฆ่ากิเลส ไม่สร้างเหตุแห่งความประมาท ปราศจากความตระหนี่” ซึ่งเป็นคำสอนที่มาจากภาษาบาลีว่า “นาญญตฺร โพชฺฌงฺคตปสา นาญญตฺตร อินฺทริสํวรา นาญญตร สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ (สํ.ส. 15/265/75.) หากแปลเป็นภาษาไทยตามตัวอักษรก็จะแปลได้ว่า “นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย” แต่เมื่อนำเสนอเป็นคำง่ายๆคนทั่วไปอาจจะไม่คิดว่าตนเองกำลังศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ อาจคิดว่าเป็นเพียงคำที่นักปราชญ์คนใดคนหนึ่งคิดขึ้นเป็นต้น
3. การให้บริการที่สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทั้งสถานที่อุปกรณ์ และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สังคมยูบิควิตัสหลักคำสอนก็ต้องสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมเช่นการเทศน์ การบรรยายธรรมเป็นต้น แต่ต้องประยุกต์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นมีการแสดงธรรมในโรงภาพยนตร์ มีการปาฐกถาธรรมทางอินเทอร์เน็ต มีการส่งข้อความเสียงทางโทรศัพท์มือถือเป็นต้น เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาสมและตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ก็จะทำให้กลายเป็นสังคมพุทธยูบิควิตัส โดยไม่ได้กระทบต่อหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพราะผู้รับสารสามารถเลือกรับสารได้ตามความสะดวกของผู้รับสารเอง
นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อสี่ปีที่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เด็กไม่สนในการอ่าน มัวแต่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ แม้แต่สามเณรก็เล่นคอมพิวเตอร์อย่างหนัก จนทำให้มีผลกระทบต่อสายตา ดังที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน (มส.คุมเข้มสามรเณรเล่นคอมพิวเตอร์,มติชน,(ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2551). ว่า“นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รายงานข้อมูลของโรงพยาบาลสงฆ์ที่ได้ตรวจวัดสายตาเพื่อแก้ปัญหาสายตาผิดปกติของสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสำรวจสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาหลาย113 แห่ง และในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม บาลี 63 แห่ง รวม 2,658 รูป พบว่ามีสามเณรดูโทรทัศน์ นานเกิน 1 ชั่วโมง 1,580 รูป และใช้คอมพิวเตอร์นานเกิน 2 ชั่วโมง 900 รูป และจากการตรวจวัดสายตาพบมีสามเณรที่มีสายตาผิดปกติ 498 รูป ในจำนวนนี้มีอาการสายตาสั้น 313 รูป สายตาสั้นและเอียง 149 รูป สายตาเอียง 25 รูป ทางโรงพยาบาลสงฆ์ได้ให้คำแนะนำเรื่องการใช้สายตา ที่ถูกต้อง และถวายแว่นสายตาให้กับสามเณรที่มีสายตาผิดปกติด้วย
แนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีอื่นๆนอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว ยังมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าไปยังวัดต่างๆมากยิ่งขึ้น พระภิกษุสามเณรรุ่นใหม่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลหรือในกิจการอย่างอื่น หากคณะสงฆ์ยังไม่มีมาตรการรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตของพระสงฆ์สามเณร ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาได้