ทุกข์คือสิ่งที่ควรกำหนดรู้
ความจิรงแท้ที่มีอยู่ในโลกคือทุกข์ ดังนั้นทุกข์จึงเป็นปริญเญยยธรรมคือธรรมที่ควรกำหนดรู้ หากผู้ใดกำหนดรู้ความจริงแท้คือทุกข์ได้ก็จะเข้าใจธรรมหมวดอื่นๆได้ โดยที่สุดท่านหมายเอาอุปาทานขันธ์ห้าว่าเป็นทุกข์ ขันธ์ห้าคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปก็คือสิ่งที่ควรกำหนดรู้คือนามรูปดังที่ปรากฎในปริญญาสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วจะเป็นอย่างไรมีคำตอบในเรื่องเดียวกันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรอบรู้เป็นไฉน คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้น ไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าความรอบรู้ (สํ.ขนฺธ 17/54/26)
วิธีปฏิบัติต่อความทุกข์
ความทุกข์มีอยู่คู่กับโลกนี้ ปุถุชนคงไม่มีใครหนีพ้นจากความทุกข์ไปได้ เพียงแต่ว่าจะประสบกับทุกข์มากหรือน้อยเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงวิธีปฏิบัติต่อทุกข์ไว้ ในเทวหสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/12/)ว่า “ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น” ความหมายของพุทธพจน์นี้คือไม่เอาทุกข์มาใส่ตน หากมีความสุขแม้เพียงเล็กน้อยก็พึงยินดีในความสุขนั้น แต่อย่าติดในสุขมากจนเกินไปเพราะจะกลายเป็นทุกข์โดยไม่รู้ตัว
ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้(ปริญเญยยธรรม) ทุกข์บางอย่างมีอยู่ประจำสังขารได้มาพร้อมกับการเกิด(ชาติ) จากนั้นก็จะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องคือ เมื่อเกิด แก่ เจ็บตาย การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง นั่นเป็นทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากการเกิด พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นว่าตราบใดที่ยังเกิดก็ต้องมีกระบวนการแห่งทุกข์ตามมาอย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นวิธีกำจัดทุกข์จึงมีวิธีง่ายๆคือไม่เกิดอีกเป็นการตัดตอนกระบวนการแรก
ปุถุชนคนธรรมดาที่ได้การเกิดมาแล้ว ก็ต้องบริหารร่างกายและจิตใจที่เรียกว่าขันธ์ห้าอันนับว่าเป็นที่รวมของทุกข์ทั้งหลายให้ดี ต้องเข้าใจ กำหนดรู้ เพราะทุกข์มีไว้รู้ ส่วนวิธีที่จะกำจัดทุกข์นั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสลับซับซ้อนมาก เมื่อเรารู้เท่าทันความทุกข์ ก็จะไม่ต้องทุกข์เมื่อประสบกับความทุกข์ สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะไม่ทำให้เราทุกข์ ที่ทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะไม่รู้เท่าทันทุกข์ แต่การที่จะกำหนดรู้เท่าทันทุกข์นั้นต้องใช้ปัญญาพิจารณาอย่างแยบคายที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการจึงจะเห็น ถ้าตราบใดที่ยังมองไม่เห็นว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ก็ต้องทนทุกข์โดยการแบกขันธ์กันต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
01/04/53