ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            เรามักจะได้ยินคนบ่นกันว่าทุกข์ไม่ค่อยมีใครพูดกันเรื่องความสุขนัก ดูเหมือนความทุกข์มักจะปรากฎให้คนเห็นมากกว่าความสุข ทั้งๆที่ชีวิตมนุษย์ย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ผสมผสานคละเคล้ากันไป มนุษย์จึงจะอยู่ในโลกนี้ได้ แต่มนุษย์น้อยนักที่พยายามจะทำความเข้าใจกับความทุกข์ คนส่วนมากอยากมีความสุขเกลียดกลัวทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในพระพุทธศาสนาความทุกข์เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเข้าใจศาสนา 
          ความทุกข์เป็นหลักคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์คือความเจ็บ ความแก่ ความตาย จึงย้อนสืบสาวหาเหตุว่าทุกข์นี้มาจากไหน จนในที่สุดก็ทราบว่ามาจากตัณหา จึงดำเนินการต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะหนีจากทุกข์ได้ จึงทรงเห็นว่าหากดับตัณหาได้ก็จะเข้าสู่นิโรธคือความดับทุกข์ได้ จากนั้นจึงแสวงหาทางในการดับทุกข์จึงค้นพบว่ามีอยู่ทางเดียวคืออริยมรรค เมื่อดำเนินตามทางที่คิดค้นได้ ในที่สุดเมื่อปฏิบัติตามก็สามารถบรรลุธรรมจนกลายมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน 
           ชาวพุทธรู้จักหลักธรรมข้อนี้อริยสัจสี่ประการประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ในวันนี้จะนำเสนอเรื่องทุกข์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเดียวที่มีขนาดยาว ผู้อ่านโปรดพิจารณาค่อยๆอ่านก็ได้ อย่าอ่านรวดเดียวจบเพราะอาจทำให้ปวดหัวได้  หากสงสัยก็สามารถค้นค้นได้ตามหลักฐานที่อ้างอิงได้ 
          ตัวเลขในวงเล็บหมายถึงการอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ตัวแรกหมายถึงเล่มที่ ตัวที่สองหมายถึงข้อ ส่วนตัวที่สามหมายถึงหน้า เล่มกับข้อจะตรงกันทุกฉบับ แต่หน้าอาจจะไม่ตรงกัน เช่น(19/1679/422) หมายถึงสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ 19 ข้อ 1679 หน้า 422 
            คนส่วนมากมักจะกลัวความทุกข์ ไม่อยากพบเห็น เพราะกลัวจะทนไม่ได้ ยิ่งในภาวะที่ต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน บางคนเมื่อประสบกับความทุกข์ แก้ปัญหาไม่ได้ถึงขั้นต้องฆ่าตัวตายหนีปัญหาไปเลยก็มี“ปัญหาที่แก้ได้ก็ไม่ต้องไปกังวลถึงมัน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ถึงกังวลไปก็ไม่มีประโยชน์”ผู้ประสบปัญหาคือคนที่กำลังประสบกับความทุกข์ พระพุทธศาสนาแทนที่จะพูดถึงความสุขกลับมุ่งเน้นถึงความทุกข์ การศึกษาเริ่มต้นด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ 

             คำว่า “ทุกข์”หมายถึงสภาพที่ทนได้ยาก ความทุกข์ ความไม่สบาย มีแสดงไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรปฐมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ได้เสนอเรื่องความจริงแท้ที่เรียกว่าอริยสัจจ์ เริ่มต้นด้วยทุกข์ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ห้าเป็นทุกข์   
          ในขันธสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคได้ยืนยันไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา  อุปาทานขันธ์คือสังขาร  อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ (สํ.มหา. 19/. 1679/422)
          ในเทศนาครั้งแรกแสดงไว้เพียงหัวข้อเท่านั้นไม่ได้มีคำอธิบายโดยละเอียดนัก ต่อมาได้มีคำอธิบายไว้ในในทีฆนิกาย มหาวรรค (10/294/227) ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์   
          นอกจากนั้นยังได้ให้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ตามลำดับคือ(10/295/227 “ชาติหมายถึงความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ  
          ชราหมายถึงความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนัง   เป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา    
          มรณะหมายถึงความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ 
          โสกะหมายถึงความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ  ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความ   พิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ
          ปริเทวะหมายถึงความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของ บุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่าง  หนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ
          สรุปว่าทุกข์หมายถึงความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความ เสวยอารมณ์ อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์
         โทมนัสหมายถึง ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส
          อุปายาสหมายถึงความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น  ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส
          ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์หมายถึงความประสบ    ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูลปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่  เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ 

          ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์หมายถึงความไม่ประสบ    ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์
          ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์หมายถึงความปรารถนา  ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความ เกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความ ปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์  
          ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึง  ได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์  ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส   เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส    เป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ 
          ทุกข์โดยย่อได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ 


เรื่องทุกข์ที่มาในอรรถกถา

          ทุกข์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นมีปรากฏหลายแห่ง แต่โดยสรุปแล้ว  ในความเป็นทุกข์แห่งสังขารเรียกว่า “ทุกฺขตา” และลักษณะที่แห่งทุกขตา พระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกทุกข์ไว้ถึงสิบประเภทคือ
        1.  สภาวทุกข์  หรือทุกข์ประจำสังขาร  คือความเกิด ความแก่ และความตาย ตราบใดที่ยังมีสังขารจึงไม่มีทางหนีความเกิด ความแก่ และความตายได้พ้น มีทางเดียวคือกำหนดรู้
        2.  ปกิณณกทุกข์  หรือทุกข์จร  คือ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกขะโทมนัส  อุปายาส  ทุกข์จรเป็นทุกข์ในส่วนเจตสิก เกิดเพราะการพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รัก(ปิยารมณ์)หรือมิได้สมหวัง  ทุกข์เกิดเพราะประจวบด้วยอารมณ์อันไม่เป้นที่รัก (อัปปิยารมณ์) เช่น ความอึดอัด  ขึ้งเคียด เกลียดชัง เป็นเป็นต้นจัดเป็นโสกะ ปริเทวะ  อุปายาส  เข้าในหมวดแห่งทุกข์เกิดเพราะพรากจากปิยารมณ์  ส่วนโทมนัสเข้าในความไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ทุกข์ประเภทนี้เป็นสิ่งที่เฝ้าระวังไม่ให้เกิดได้
        3.  นิพัทธทุกข์ คือทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นเจ้าเรือนได้แก่  หนาว  ร้อน  หิว   กระหาย  ปวดอุจจาระ  ปวดปัสสาวะ  ทุกข์หมวดนี้ไม่ค่อยมีใครคำนึงถึงนัก  เพราะเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ง่าย  แต่ ถ้าถ้ามีความผิดปกติก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เดือดร้อน ทุกข์ประเภทนี้ต้องคอยบำบัดวันละหลายรอบ
        4. พยาธิทุกข์หรือทุกขเวทนา  คือโรคภัยต่าง ๆที่เกิดขึ้นทางกายเพราะอวัยวะทำหน้าที่ไม่ปกติ ปัจจุบันการแก้ทุกข์ประเภทนี้จึงทำให้เกิดโรงพยาบาลเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังมีโรคใหม่ๆเกิดขึ้นไม่น้อยเหมือนกันมนุษย์หนีเจ็บไม่ได้ หนีตายไม่พ้น
        5.  สันตาปทุกข์  ทุกข์คือความร้อนรุมหรือทุกข์ร้อน  ได้แก่ความกระวนกระวายใจเพราะถูกไฟคือกิเลสราคะ โทสะ  โมหะเผา    เราสามารถป้องกันได้เพียงแต่ไม่ให้กิเลสเหล่านี้มีมากเกินประมาณ

        6. วิปากทุกข์หรือผลกรรม  ได้แก่วิปฏิสารคือความร้อนใจ การเสวยกรรมกรณ์ คือถูกลงอาชญา  ความฉิบหาย  ความตกยาก และความตกอบาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสันตาปทุกข์
        7.  สหคตทุกข์ทุกข์ไปด้วยกัน  หรือทุกข์กำกับกัน  ได้แก่ทุกข์มีเนื่องมาจากวิบุลผล  ดังแสดงในธรรมสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/95/123)ว่า “โลกธรรม 8 ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลกและโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม 8 ประการ คือลาภ  ความเสื่อมลาภ ยศ  ความเสื่อมยศ  นินทา  สรรเสริญ   สุข  ทุกข์  แต่ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้าย  เสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง
        8.  อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการทำมาหากินได้แก่อาชีวทุกข์  คือทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิต สัตว์ทั้งหลายย่อมแย่งกันหากิน ดิรัจฉานมีเนื้อเป็นภักษา ย่อมผลาญชีวิตชนิดเล็กกว่าตนเป็นอาหารย่อมสู้กันเองบ้าง  เพราะเหตุแห่งอาหาร  สัตว์มีหญ้าเป็นภักษา  ออกหากิน  ย่อมเสี่ยงต่ออันตราย  ย่อมหวาดเสียวเป็นนิตย์  ต้องคอยหลีกหนีศัตรู  หมู่มนุษย์มีการงานขัดทางแห่งกันและกัน ต่างคิดแข่งขันตัดรอนกัน   ทำร้ายกัน   ผลาญชีวิตกัน    เพราะเหตุแห่งอาชีวะก็มีได้เสวยทุกข์อันเป็นวิบากเนื่องมาจากอาชีวะก็มีเป็นอันมาก  แม้ผู้มีทางหาโดยไม่ต้องประกับผู้อื่น  แทบทุกคนยังรู้สึกว่า  หาได้ไม่พอเพื่อเป็นอยู่สะดวก  คนส่วนมากมักมีความรู้สึกว่าหาได้ไม่พอกิน แม้แต่คนที่รวยมากๆก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังรวยไม่พอ แต่ความจริงคนเรากินพออิ่มท้องในแต่ละวันเท่านั้นเอง
        9.  วิวาทมูลกทุกข์  คือทุกข์มีวิวาทเป็นมูล  ได้แก่ความไม่โปร่งใจ  ความกลัวแพ้  ความหวั่นหวาด  มีเนื่องมาจากทะเลาะกันก็ดี  สู้คดีกันก็ดี  รบกันก็ดี  แสดงในบาลีโดยความเป็นกามาทีนพ ดูเหมือนว่าโลกปัจจุบันเสี่ยงกับการเกิดสงครามก็เพราะความเห็นไม่ตรงกันเลยก่อการวิวาทและนำไปสู่สงครามระหว่างประเทศได้
        10.  ทุกขขันธ์  หรือทุกข์รอบยอด  หมายเอาสังขารคือประชุม ปัญจขันธ์เอง  แสดงในบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า  "โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5  เป็นทุกข์"  แสดงในบาลีปฏิจจสมุปบาทว่า  "ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั่น  ย่อมมีด้วยอย่างนี้  ทุกข์ขันธ์นี่แหละเป็นยอดของทุกข์ เมื่อเราเกิดมา เราก็ได้ความเจ็บ ความตายมาด้วย ขันธ์ทั้งห้าเราต้องบริหาร คอยดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา

ทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของสามัญญลักษณะ
          ทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือขันธ์ห้าที่ต้องบริหารดูแลรักษา แต่ขันธ์ก็อยู่ในกฎแห่งสามัญญลักษณะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาดังที่ปรากฎในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค อนิจจสูตร (17/39/20)“ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง 
          สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ดังที่ปรากฏในทุกขสูตร (17/40/20) ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์  อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
          สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตาดังที่ปรากฎในอนัตตสูตร(17/40/20) ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา
          สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตาดังที่ยืนยันไว้ในอนิจจสูตรที่ 2 (17/42/20) ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้
          เมื่อกำหนดรู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว พระพุทธองค์ทรงสรุปถึงผลที่ตามมาว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญาแม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี 

         
ทุกข์คือสิ่งที่ควรกำหนดรู้
          ความจิรงแท้ที่มีอยู่ในโลกคือทุกข์ ดังนั้นทุกข์จึงเป็นปริญเญยยธรรมคือธรรมที่ควรกำหนดรู้ หากผู้ใดกำหนดรู้ความจริงแท้คือทุกข์ได้ก็จะเข้าใจธรรมหมวดอื่นๆได้ โดยที่สุดท่านหมายเอาอุปาทานขันธ์ห้าว่าเป็นทุกข์ ขันธ์ห้าคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปก็คือสิ่งที่ควรกำหนดรู้คือนามรูปดังที่ปรากฎในปริญญาสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วจะเป็นอย่างไรมีคำตอบในเรื่องเดียวกันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรอบรู้เป็นไฉน คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้น ไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าความรอบรู้ (สํ.ขนฺธ 17/54/26) 


วิธีปฏิบัติต่อความทุกข์

          ความทุกข์มีอยู่คู่กับโลกนี้ ปุถุชนคงไม่มีใครหนีพ้นจากความทุกข์ไปได้ เพียงแต่ว่าจะประสบกับทุกข์มากหรือน้อยเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงวิธีปฏิบัติต่อทุกข์ไว้ ในเทวหสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/12/)ว่า “ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม  ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม  ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น” ความหมายของพุทธพจน์นี้คือไม่เอาทุกข์มาใส่ตน หากมีความสุขแม้เพียงเล็กน้อยก็พึงยินดีในความสุขนั้น แต่อย่าติดในสุขมากจนเกินไปเพราะจะกลายเป็นทุกข์โดยไม่รู้ตัว 
          ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้(ปริญเญยยธรรม) ทุกข์บางอย่างมีอยู่ประจำสังขารได้มาพร้อมกับการเกิด(ชาติ) จากนั้นก็จะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องคือ เมื่อเกิด แก่ เจ็บตาย การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง นั่นเป็นทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากการเกิด พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นว่าตราบใดที่ยังเกิดก็ต้องมีกระบวนการแห่งทุกข์ตามมาอย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นวิธีกำจัดทุกข์จึงมีวิธีง่ายๆคือไม่เกิดอีกเป็นการตัดตอนกระบวนการแรก
          ปุถุชนคนธรรมดาที่ได้การเกิดมาแล้ว ก็ต้องบริหารร่างกายและจิตใจที่เรียกว่าขันธ์ห้าอันนับว่าเป็นที่รวมของทุกข์ทั้งหลายให้ดี ต้องเข้าใจ กำหนดรู้ เพราะทุกข์มีไว้รู้ ส่วนวิธีที่จะกำจัดทุกข์นั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสลับซับซ้อนมาก  เมื่อเรารู้เท่าทันความทุกข์ ก็จะไม่ต้องทุกข์เมื่อประสบกับความทุกข์ สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะไม่ทำให้เราทุกข์ ที่ทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะไม่รู้เท่าทันทุกข์ แต่การที่จะกำหนดรู้เท่าทันทุกข์นั้นต้องใช้ปัญญาพิจารณาอย่างแยบคายที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการจึงจะเห็น ถ้าตราบใดที่ยังมองไม่เห็นว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ก็ต้องทนทุกข์โดยการแบกขันธ์กันต่อไป
            
   

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
01/04/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก