การบริโภคปัจจัยกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตไว้ที่สำคัญเพียงพอแก่การประกอบสมณธรรม เพื่อดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นประกอบด้วยเครื่องใช้สอย 4 ประการคือ
เครื่องนุ่งห่ม ให้ใช้เพียงจีวร 3 ผืนเพื่อป้องกันอันตรายจากความหนาว ร้อน สัตว์ร้ายและแมลงต่างๆ ดังมีบทบัญญัติเรื่องจีวรไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค
อาหาร ได้มาจากการบิณฑบาตเป็นการบริโภคเพื่อให้มีกำลังในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น มิได้มุ่งให้บริโภคเพื่อความเพลิดเพลินหรือติดในรสอาหาร
ที่อยู่อาศัย อนุญาตให้ใช้เท่าที่จำเป็น แม้แต่กุฏิที่อยู่อาศัยก็ทรงมีกำหนดขนาดไว้ไม่ให้ใหญ่เกินไป เพื่อป้องกันความโลภและติดในที่อยู่
ยารักษาโรค อนุญาตให้ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ก็เพียงพอสำหรับการปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้าร่างกายไม่ป่วยหนักจนเกินไป ยาขนานนี้ก็สามารถใช้เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ตามครรลอง
ปรัชญาที่สำคัญในการบริโภคปัจจัยจึงอยู่ที่ความรู้จักพอดีหรือสันโดษดังที่ทรงติเตียนพระสุทินน์โดยอเนกปริยาย ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย (วิ. มหา. 1/16/26)
ทรงติเตียนท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร และตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่เหมาะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต เพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม เพื่อถือตามพระวินัย (วิ. มหา 1/82/242)
พระเทวทัตอ้างความมักน้อยสันโดษได้ทูลขอพระ 5 ประการว่า พระพุทธเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการ ที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ 5ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุ ทั้งหลายพึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและ เนื้อ รูปนั้นพึง ต้องโทษ
แต่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่าอย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้น จงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนา จงถือ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จง ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็น เสนาสนะ 8 เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ (วิ.จุล 7/384 /128)
ภิกษุเช่นใดชื่อว่าผู้สันโดษ พระผู้มีพระภาคแสดงไว้ว่า “ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ (ที.สี 9/124/68)
ภิกษุสันโดษแล้วได้อะไร พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า “ภิกษุประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอัน เป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก วิจิกิจฉาได้(ที.สี 9/124/68)
สันโดษจึงเป็นเบื้องต้นของการบรรลุคุณธรรมขั้นสูง โดยการละนิวรณ์ธรรมได้ สันโดษยังจัดเป็นอริยวงศ์ดังที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้ว่า “ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งจีวร และไม่ได้จีวรก็ไม่เดือดร้อน และได้จีวรแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในสันโดษด้วยจีวรนั้น ดูกรผู้มีอายุทั้งหลายภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญ ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต และไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่เดือดร้อน และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในสันโดษด้วยบิณฑบาตนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ และไม่ได้เสนาสนะก็ไม่เดือดร้อน และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในสันโดษด้วยเสนาสนะนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม (ที.ปา. 11/237/180)
การบริโภคปัจจัยของบรรพชิตโดยสันโดษและพิจารณาจึงมีส่วนสัมพันธ์กับการพัฒนาคุณธรรม โดยการขัดเกลากิเลส แล้วอาศัยความเพียรเพื่อพัฒนาจิต ถ้าจิตยังมีความโลภ โทสะ โมหะ ก็ยังจะต้องติดข้องอยู่ในวังวนแห่งการแสวงหา แต่ถ้าภิกษุบริโภคปัจจัยด้วยความสันโดษแล้วนั่นจะเป็นทางก้าวสู่อริยมรรค และพัฒนาไปสู่วิมุติต่อไป
การบริโภคปัจจัยของคฤหัสถ์กับแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ในส่วนของอุบาสก อุบาสิกา มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่ให้ดำเนินชีวิตตามสมควรแก่ฐานะเช่นหากปารถนาจะเป็นเศรษฐีก็ให้ปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัฏฐสังวัตตนิกธรรม ดังที่ทีชาณุได้ทูลถามธรรมเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตรคือ
(1) อุฏฐานสัมปทาได้แก่กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้
(2) อารักขสัมปทากุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป
(3) กัลยาณมิตตตาได่แก่กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา
(4) สมชีวิตา ได้แก่ กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนักไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ เมื่อหาทรัพย์ได้แล้วพระพุทธองค์ยังทรงแสดงทางเสื่อมแห่งโภคะไว้ว่า โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ 4 ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า 4 ทาง ไหลออก 4 ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้าปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (องฺ อฏฐก. 23/144/289)
สรุป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเศรษฐกิจพอเพียง ก็อาศัยหลักการจากความสันโดษและสัมมาอาชีวะในพระพุทธศาสนานี่เอง ถ้าทุกคนรู้จักพอเพียงดำเนินชีวิตตามสมควรแก่ฐานะ ก็จะไม่เกิดการปล้น ฆ่า แย่งชิงทรัพย์ของผู้อื่น ปัญหาเรื่องการเบียดเบียนแย่งชิงก็จะน้อยลง สังคมก็จะสงบสุข เพราะความพอเพียงของปัจเจกบุคคล ประเทศชาติและโลกก็จะมีแต่สันติสุข
ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต ในสมัยพุทธกาลแสดงปัจจัยไว้สำหรับภิกษุเพียงสี่ประการคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ว่าเป็นสิ่งที่เพียงพอสำหรับบรรพชิต แต่ในสมัยปัจจุบันเมื่อโลกเจริญขึ้นดูเหมือนว่าปัจจัยสำหรับบรรพชิตจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามความเจริญของโลก สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพุทธกาลจึงต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นต้องมีโทรทัศน์ไว้ดูข่าวสารบ้านเมือง มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว มีคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานที่สะดวกขึ้น มีรถยนต์เพื่อการเดินทางที่รวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภิกษุจริงหรือยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้
ส่วนคฤหัสถ์ยิ่งบริโภคปัจจัยตามกิเลสคือโลภ โทสะ โมหะ แม้จะมีมากแต่ก็ดูเหมือนจะไม่เคยพอ จึงต้องแข่งขัน แย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติค่อยๆหมดไป เมื่อคนมีกิเลสทำให้เกิดการขัดแย้ง ในที่สุดก็จะเกิดสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ในสมัยพุทธกาลเคยมีสงครามแย่งชิงน้ำเพื่อทำการเกษตรระหว่างสักกะกับโกลิยะ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปห้าม แต่ในปัจจุบันการยิ่งชิงยิ่งมากขึ้นทุกวัน ยิ่งโลกที่ถือกันว่าเจริญทางวัตถุ ยิ่งกอบโกยประเทศที่ด้อยกว่า บางครั้งถึงกับยึดครองก็มี หากโลกยังไม่รู้จักวิธีใช้สอยปัจจัยยิ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด แต่ถ้าถือตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว คำว่าพอคำเดียวน่าจะเป็นคำตอบในการบริโภคปัจจัยได้เป็นอย่างดี ปรัชญาการบริโภคปัจจัยของบรรพชิตหลักการอยู่ที่รู้จักสันโดษในปัจจัย ส่วนฆราวาสก็ให้ยึดหลักสัมมาอาชีวะคือเลี้ยงชีพในทางที่ชอบนั่นเอง หากภิกษุจะใช้สอยบริโภคปัจจัยเหมือนอย่างฆราวาส ถึงแม้บางอย่างพุทธบัญญัติมิได้บัญญัติไว้ แต่ก็ให้ถืออนุโลมตามมหาปเทสคือพิจารณาว่าควรในสิ่งที่ควรหรือไม่ แต่หลักการที่พระพุทธองค์ได้วางหลักในการบริโภคปัจจัยไว้คือเพื่อให้อยู่ได้ตามอัตตภาพเพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบความเพียรกำจัดกิเลสอาสวะหลุดพ้นจากพันธนาการสู่อิสรภาพทางจิตต่างหาก
เป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียงก็เพื่อให้คนไทยตั้งแต่ครอบครัวชุมชนประเทศ สามารถใช้ชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมอย่างสมดุลย์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก หลักใหญ่อยู่ที่ทางสายกลาง มีองค์ประกอบสำคัญคือยึดหลักสันโดษหรือความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ดังพระดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” ถ้ารากฐานมั่นคงแข็งแร็ง ชีวิตย่อมจะมั่นคงไปด้วย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/12/53
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2514.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับอรรถกถา.กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2533.
คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.มงคลัตถทีปนีแปล.กรุงเทพฯ:
มหามกุฏราชวิทยาลัย,2538.
พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ 14, (กรุงเทพฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์, 2548.
พระไพศาล วิสาโล.พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและ ทางออกจากวิกฤต.กรุงเทพฯ:
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546.
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19 กรกฎาคม 2517.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2517.
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
28 สิงหาคม 2518.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541.
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง,เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร, กรุงเทพฯ:
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2545 – 2549.
สุนัย แศรษฐ์บุญสร้าง. แนวทางปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ:,มูลนิธิวิถีสุข,2549.
ราชบัณฑิตยสภา.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ:นานมีบุคส์จำกัด,2546.
วิชัย ธรรมเจริญ.คู่มือนักธรรมชั้นตรี.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2545.
อภิชัย พันธเสน บรรณาธิการ.สังเคราะห์องค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ:สำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการวิจัย,2546.
อภิชัย พันธเสน.พุทธเศรษฐศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ: อมรินทร์,2547.