ในยุคที่พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกนั้น ในโลกยังไม่มีวิชาเศรษฐศาสตร์ คำสอนของพระพุทธศาสนาส่วนหนึ่งจึงว่าด้วยการเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์และการประกอบอาชีพของคฤหัสถ์ ไม่มีการกล่าวถึงกำไร ขาดทุน แต่พูดถึงวิธีการใช่สอยวัสดุปัจจัย โดยเฉพาะในส่วนของบรรพชิตเน้นที่คำจำเป็นและความพอเพียงกับการดำเนินชีิวิตเท่านั้น เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพุทธเศรษฐศาสตร์ เขียนต่อกันเป็นเรื่องเดียวกันมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่เห็นเป็นเรื่องที่ยาวเกินไปจึงแยกออกเป็นสองตอน ค่อยๆอ่านค่อยๆวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผู็เขียน เพราะทดลองนำเสนอเพื่อให้พิจารณาเท่านั้น
คำว่า “พุทธเศรษฐศาสตร์” มาจากคำสองคำคือ “พุทธ”เป็นคำย่อของพุทธธรรม กับ “เศรษฐศาสตร์"”เมื่อนำเอาคำว่าพุทธธรรมและเศรษฐศาสตร์เข้าด้วยกัน จึงเป็น"พุทธเศรษฐศาสตร์" ซึ่งหมายถึงการนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า มาประยุกต์เข้ากับแนวคิดในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาจากอารยธรรมตะวันตก ในส่วนที่เป็นพุทธธรรมที่จะนำมาประยุกต์กับวิชาเศรษฐศาสตร์ที่พัฒนามาจากตะวันตก เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงของตัวมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธหรือพุทธเศรษฐศาสตร์ทั้งสองคำนี้ยังมีปัญหาของการทำความเข้าใจ เพราะมีผู้ให้ความเห็นว่าไม่ควรเรียกพุทธเศรษฐศาสตร์ว่าเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ถึงแม้คำดังกล่าวจะมีความหมายไม่ต่างจากพุทธเศรษฐศาสตร์มากนัก แต่คำดังกล่าวให้ความหมายว่าเป็นแนวหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีหลายแนวทางโดยที่เศรษฐศาสตร์แนวพุทธเป็นเพียงแนวหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ ถ้าพิจารณาตามกรอบของวิชาเศรษฐศาสตร์ ก็อาจจะให้คำนิยามวิชาพุทธเศรษฐศาสตร์ได้ว่า เป็นวิชาที่ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลและสังคมบรรลุซึ่งศานติสุขจากการมีชีวิตอยู่ในโลกของวัตถุ ภายใต้เงื่อนไขของการมีทรัพยากรที่จำกัด (อภิชัย พันธเสน,พุทธเศรษฐศาสตร์,พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ: อมรินทร์,2547, หน้า 4.)
เรื่องของการใช้คำเมื่อมีคำอธิบายอยู่สองคำนี้ จึงขอใช้พุทธเศรษฐศาสตร์ตามทรรศนะที่ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน นำเสนอไปก่อน
พระพุทธศาสนามุ่งสอนให้ทุกคนมีความสุขดังพระดำรัสเมื่อครั้งที่ส่งสาวกยุคแรกออกไปประกาศพระพุทธศาสนาความว่า “พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลศในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม (วิ. มหา. 4/32/ 32)
ในครั้งนั้นมีพระสมณทูตจำนวน 60 รูปเกิดขึ้นครั้งแรก การเผยแผ่ธรรมในครั้งนั้นโดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก อะไรคือประโยชน์ ในพระพุทธศาสนาแสดงประโยชน์ไว้ 3 ประการดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรคว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ตน สมควรแท้เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ผู้อื่น สมควรแท้เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็หรือว่า บุคคลผู้มองเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายสมควรแท้จริงเพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท (สํ.นิ.16/67/35)
ความสุขในพระพุทธศาสนานั้นมีแสดงไว้หลายระดับมีปรากฏในสุขวรรค อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้คือ สุขของคฤหัสถ์ สุขเกิดแต่บรรพชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้แลดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุขสองอย่างนี้ สุขเกิดแต่บรรพชาเป็นเลิศ .... กามสุข เนกขัมมสุข เนกขัมมสุขเป็นเลิศ สุขเจือกิเลส สุขไม่เจือกิเลส สุขไม่เจือกิเลสเป็นเลิศ สุขมีอาสวะ สุขไม่มีอาสวะ สุขไม่มีอาสวะเป็นเลิศ สุขอิงอามิส สุขไม่อิงอามิส สุขไม่อิงอามิสเป็นเลิศ, สุขของพระอริยเจ้า สุขของปุถุชน สุขของพระอริยเจ้าเป็นเลิศ กายิกสุข เจตสิกสุข เจตสิกสุขเป็นเลิศ สุขอันเกิดแต่ฌานที่ยังมีปีติ สุขอันเกิดแต่ฌานที่ไม่มีปีติ สุขอันเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นเลิศ สุขเกิดแต่ความยินดี สุขเกิดแต่ความวางเฉย สุขเกิดจากการวางเฉยเป็นเลิศ สุขที่ถึงสมาธิ สุขที่ไม่ถึงสมาธิ สุขที่ถึงสมาธิเป็นเลิศ สุขเกิดแต่ฌานมีปีติเป็นอารมณ์ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์เป็นเลิศ สุขที่มีความยินดีเป็นอารมณ์ สุขที่มีความวางเฉยเป็นอารมณ์ สุขที่มีความวางเฉยเป็นอารมณ์เป็นเลิศ สุขที่มีรูปเป็นอารมณ์ สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุของอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุขสองอย่างนี้ สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์เป็นเลิศ (องฺ ทุก. 20/ 309- 321/74-75)
สิ่งที่เป็นภัยต่อมนุษย์หรือสิ่งที่มนุษย์กลัวนั้น ในพลสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาตแสดงไว้ 5 อย่างคือ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง 4 ประการคือ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร กำลังคือการงานอันไม่มีโทษ กำลังคือการสงเคราะห์ ย่อมก้าวล่วงภัย 5 ประการ ภัย 5 ประการเป็นไฉน คืออาชีวิตภัย อสิโลกภัย ปริสสารัชภัย มรณภัย ทุคติภัย (องฺ นวก. 23/209/292)
เมื่อมนุษย์มีสิ่งที่กลัวจึงต้องหาทางเพื่อกำจัดความกลัว สิ่งที่เป็นเครื่องมือคือกำลังทั้งสี่ประการ สิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายคือความสุขหรือเมื่อความกลัวหายไป หรืออย่างน้อยก็บรรเทาเบาบางลง ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดในการบริโภคปัจจัย เพื่อให้เกิดความสุขมากที่สุด
การแสวงหาความสุขนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล แต่ในพระพุทธศาสนาเมื่อพูดถึงประเด็นทางเศรษฐกิจมีหลักในการใช้สอยโดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อการดำรงค์อยู่ได้เท่านั้น การใช้สอยนั้นใช้คำว่าบริโภคซึ่งมาจากคำว่า “ปริโภค” ในภาษาบาลีหมายถึงการบริโภคใช้สอยปัจจัย ส่วนคำว่า “ปัจจัย” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้ว่า เครื่องอาศัยเลี้ยงชีพของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา 4 อย่างคือจีวร(ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต(อาหาร) เสนาสนะ(ที่อยู่อาศัย)แลคิลานเภสัช(ยา) รวมเรียกว่าจตุปัจจัยคือปัจจัย 4 โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ มักใช้แต่ภิกษุสามเณรราชบัณฑิตยสภา,พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2542 กรุงเทพฯ:นานมีบุคส์จำกัด,2546,หน้า 686) การบริโภค หมายถึงกิน(ใช้เฉพาะอาการที่ทำให้ล่วงลำคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่นบริโภคอาหาร เสพเช่นบริโภคกาม ใช้สิ้นเปลือง ใช้สอยเช่นบริโภคสมบัติ คู่กับอุปโภค (เล่มเดียวกัน, หน้า 608.)
ปัจจัยที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ที่เรียกว่าอนุศาสน์คือคำสอนในสิ่งที่บรรพชิตควรกระทำเรียกว่าเป็นเครื่องอยู่หรือเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตเรียกนิสสัยดังพระดำรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้ อุปสมบท บอกนิสสัย 4 ว่าดังนี้
1. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลากภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท
2. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)
3. บรรพชา อาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภคือวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ
4. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วินย./4/87/106)
สรุปได้ว่าปัจจัยเพื่อการบริโภคสำหรับบรรพชิตโดยย่อคือเที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า การบริโภคปัจจัยทั้งสี่อย่างนั้น
การแสวงหาปัจจัยของภิกษุในพระพุทธศาสนา
การได้มาซึ่งปัจจัยของภิกษุนั้นท่านแสดงไว้สองอย่างคือได้มาด้วยความบริสุทธิ์เป็นปัจจัยอันบริสุทธิ์และปัจจัยที่ได้มาอย่างไม่บริสุทธิ์พระพุทธโฆษาจารย์แสดงไว้ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคว่า "ปัจจัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากสงฆ์หรือคณะของภิกษุผู้ไม่กำหนดถือธุดงค์ และเกิดขึ้นจากสำนักของพวกคฤหัสถ์ผู้เลื่อมใสด้วยคุณของภิกษุนั้นมีการแสดงธรรมเป็นต้น ชื่อว่าปัจจัยที่มีความเกิดขึ้นอันบริสุทธิ์, ส่วนปัจจัยที่เกิดจากสมณวัตร มีเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นต้น ชื่อว่าปัจจัยมีความเกิดขึ้นอันบริสุทธิ์ยิ่งทีเดียว ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากสมณวัตร มีเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น ของภิกษุผู้กำหนดถือธุดงค์ และเกิดขึ้นจากสำนักของพวกคฤหัสถ์ผู้เลื่อมใสในธุดงคคุณของภิกษุนั้น โดยอนุโลมข้อกำหนดธุดงค์ ชื่อว่าปัจจัยมีความเกิดขึ้นอันบริสุทธิ์(คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย,มงคลัตถทีปนีแปล,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย2538, หน้า 83)
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตจึงต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ จึงจะเป็นไปตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แต่การได้มาด้วยความบริสุทธิ์ถูกต้องนั้น มิใช่การกระทำได้ง่าย เมื่อได้มาแล้วยังมีหลักในการบริโภคอีก
การบริโภคปัจจัย
หลักปรัชญาในการบริโภคปัจจัยแบ่งได้ 2 ประการคือ การบริโภคปัจจัยของภิกษุสามเณร และการบริโภคัจจัยของคฤหัสถ์ ในการบริโภคทั้งสองประการนั้นพอจำแนกได้ดังต่อไปนี้
1.ปรัชญาการบริโภคของบรรพชิต การบริโภคปัจจัยของภิกษุนั้นท่านให้พิจารณา ถ้าไม่พิจารณาก็เป็นเหมือนการบริโภคหนี้ ดังที่ท่านแสดงไว้ในอรรถกถารูปิยสิกขาบทท่านกล่าวว่า "การบริโภคปัจจัยที่มิได้พิจารณา ของภิกษุผู้มีศีลชื่อว่า บริโภคหนี้
ส่วนฎีการูปิยสิกขาบทท่านอธิบายไว้ว่า "เหมือนอย่างว่า ลูกหนี้ ย่อมไม่ได้ เพื่อจะไปประเทศที่ปรารถนา ตามความชอบใจของตนได้ฉันใด,ภิกษุผู้ประกอบด้วยการบริโภคหนี้ย่อมไม่ได้เพื่อออกไปจากโลกฉันนั้น (มงคลัตถทีปนีแปล,หน้า 88)
เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้เห็นอาทีนพตามที่กล่าวแล้ว ควรพิจารณาปัจจัยทั้งหลายโดยแท้. แต่เมื่อจะพิจารณา พึงพิจารณาใน 3 กาล ในกาลทั้ง 3 นั้น ในกาลได้พึงพิจารณาแม้คราวเดียวด้วยธาตุปัจจเวกขณะ เป็นต้นว่า "จีวรนี้สักว่าเป็นธาตุ เป็นไปตามปัจจัย" ดังนี้ก็ได้ ด้วยปฏิกูลปัจจเวกขณะ เป็นต้นว่า "ก็จีวรเหล่านี้ทั้งหมด เป็นของไม่น่าเกลียด" ดังนี้ก็ได้. แท้จริง การบริโภคปัจจัยที่พิจารณาอย่างนั้นแล้วเก็บไว้ต่อจากกาลได้ หาโทษมิได้เลย ดุจการใช้สอยบาตรจีวรที่อธิษฐานแล้วเก็บไว้
การพิจารณาในกาลได้นั้น เป็นการแสดงความหมดจดในเบื้องต้นแห่งสติเครื่องพิจารณาเป็นเบื้องหน้า หาใช่ห้ามการพิจารณาในกาลบริโภคเป็นเบื้องหน้าไม่ เพราะฉะนั้น ในการบริโภคควรพิจารณาอีก ก็ในกาลบริโภคนั้น พึงพิจารณาพร้อมด้วยการบริโภค ด้วยตังขณิกปัจจเวกขณะว่า "เราพิจารณาโดยแยบคายแล้วเสพจีวร" ดังนี้เป็นต้น ก็ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า "จีวร ภิกษุพึงพิจารณาทุกขณะที่บริโภค, บิณฑบาต พึงพิจารณาทุกคำกลืน,เสนาสนะ พึงพิจารณาทุกขณะที่บริโภค" ดังนี้ (มงคลัตถทีปนีแปล,หน้า 89)
ประเด็นสำคัญของการใช้สอยหรือบริโภคปัจจัยของภิกษุ จึงอยู่ที่การพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงใช้สอยปัจจัยทั้งสี่ อย่าง มิได้สอนให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย จีวรก็ให้ใช้เพื่อป้องกันความหนาวร้อน เหลือบยุงลิ้น หรือแมลงต่างๆ และเพื่อปกปิดป้องกันความละอาย มิได้ให้ใช้เพื่อความสวยงาม
ในพระวินัยปิฎกมีข้อบัญญัติในการใช้สอยปัจจัยเช่นการใช้จีวรให้ใช้เฉพาะ 3 ผืนไม่ให้เกินความจำเป็นดังที่แสดงไว้ในจีวรวรรค นิสสัคคียปาจิตตีย์ ว่าด้วยการใช้สอยจีวร เพื่อความระเบียบและความเป็นผู้ไม่มักมากในจีวรอนุญาตให้ใช้แต่ที่จำเป็นคือไตรจีวรที่เกินไปก็มี กำหนดเวลาไว้ในสิกขาบทที่ 1ว่าภิกษุทรงอติเรกจีวรเป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ (วิ.มหา. 2/1/3)
ต่อมาจึงได้มีอนุบัญญัติเพิ่มเติมว่าภิกษุทรงอติเรกจีวรได้เพียง 10 วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าล่วง 10 วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (วิ.มหา. 2/2/3) จีวรที่ใช้ต้องรักษาให้ดีดังในสิกขาบทที่สองว่า ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์เว้นไว้แต่ได้สมมติ (วิ.มหา. 2/10/ 9)
การขอจีวรขอได้เฉพาะญาติเท่านั้นดังในสิกขาบทที่ 6ว่าภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีสมัยที่จะขอจีวรได้ คือ เวลาภิกษุมีจีวรอันโจรลักไป หรือมีจีวรอันฉิบหายเสีย (วิ.มหา. 2/53/41)
ขนาดของจีวรระบุไว้ในรัตตนวรรค สิกขาบทที่ 10 ว่า ภิกษุทำจีวรให้เท่าจีวรพระสุคตก็ดี เกินกว่านั้นก็ดี ต้องปาจิตตีย์ ประมาณจีวรพระสุคตนั้น ยาว 9 คืบพระสุคต กว้าง 6 คืบต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก
การใช้สอยจีวรในฐานะเป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันความละอาย กำหนดไว้เพียงความจำเป็นเท่านั้น ถ้ามีจีวรหลายผืนก็ให้แสดงการวิกัปป์ไว้ให้เป็นของส่วนรวมการบริโภคบาตรพระพุทธองค์ก็มีบัญญัติเป็นสิกขาบทไว้ว่าให้ใช้เพียงบาตรเดียวดังที่แสดงไว้ในปัตตวรรคสิกขาบทที่ 1ว่าบาตรนอกจากบาตรอธิษฐานเรียกอติเรกบาตร อติเรกบาตรนั้น ภิกษุเก็บไว้ได้เพียง 10 วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้ล่วง 10 วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์. หากจะเปลี่ยนใหม่ต้องใช้ไม่ได้จริง ๆ ดังที่ระบุไว้ในสิกขาบทที่สองว่า ภิกษุมีบาตรร้าวยังไม่ถึง 10 นิ้ว ขอบาตรใหม่แต่คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ในการรับบิณฑบาตรก็มีกำหนดปริมาณไว้ไม่ให้มากเกินไปดังที่ระบุไว้ใน โภชนวรรคที่ 4 สิกขาบท 4 ว่าภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ทายกเขาเอาขนมมาถวายเป็นอันมาก จะรับได้เป็นอย่างมากเพียง 3 บาตรเท่านั้น ถ้ารับให้เกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์. ของที่รับมามากเช่นนั้น ต้องแบ่งให้ภิกษุอื่น.
เมื่อจะบริโภค(ฉัน)อาหารมีวัตรเฉพาะในการฉันถึง 30 ข้อในเสขิยวัตรว่า ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ.เมื่อรับบิณฑบาต เราจักแลดูแต่ในบาตร. เราจักรับแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก.เราจักรับบิณฑบาตแต่พอเสมอขอบปากบาตร.เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ. เมื่อฉันบิณฑบาต เราจักแลดูแต่ในบาตร เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง.เราจักฉันแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก.เราจักไม่ขยุ้มข้าวสุกแต่ยอกลงไป.เราจักไม่กลบแกงหรือกับข้าวด้วยข้าวสุก เพราะอยากจะได้มาก. เราไม่เจ็บไข้ จักไม่ขอแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน เราจักไม่ดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ.เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก.เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม.เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก เราจักไม่อ้าปากไว้ท่า เมื่อฉันอยู่ เราจักไม่เอานิ้วมือสอดเข้าปาก เมื่อข้าวอยู่ในปาก เราจักไม่พูด.เราจักไม่โยนคำข้าวเข้าปาก เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้วให้ตุ่ย.เราจักไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง.เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าวให้ตกลงในบาตรหรือในที่นั้นๆ เราจักไม่ฉันแลบลิ้น. เราจักไม่ฉันดังจับ ๆ.เราจักไม่ฉันดังซูด ๆ.เราจักไม่ฉันเลียมือ.เราจักไม่ฉันขอดบาตร.เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก.เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ.เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน (วิ.ปริวาร. 8/417/114)
การใช้สอยเสนาสนะกำหนดไว้ด้วยขนาดดังที่บัญญัติไว้ในสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ 6 ว่าภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง 12 คืบพระสุคต โดยกว้างเพียง 7 คืบ วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส. ถ้าที่มีเจ้าของต้องให้สงฆ์แสดงที่ก่อนดังในสิกขาบทที่ 7 ว่าถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้น มีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อนต้องสังฆาทิเสส
เครื่องใช้อย่างอื่นเช่นเตียง ตั่ง เมื่อใช้แล้วต้องเก็บให้ดี ดังในภูตคามวรรคสิกขาบทที่ 4 ว่าภิกษุเอาเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ ของสงฆ์ไปตั้งในที่แจ้งแล้วเมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บก็ดี ไม่มอบหมายแก่ผู้อื่นก็ดี ต้องปาจิตตีย์และสิกขาบทที่ 5 ว่าภิกษุเอาที่นอนของสงฆ์ปูนอนในกุฎีสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บก็ดี ไม่มอบหมายแก่ผู้อื่นก็ดีต้องปาจิตตีย์
การใช้สอยคิลานเภสัช เมื่อภิกษุเป็นไข้ท่านแสดงไว้ในนิสัยข้อที่สี่ว่าให้ภิกษุฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เมือได้รับอันตรายถึงต้องเป็นแผลขนาดของผ้าปิดแผลต้องไม่ใหญ่เกินไปมีระบุไว้ในรัตนวรรค สิกขาบทที่ 8 ว่า ภิกษุทำผ้าปิดแผล พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณนั้นยาว 4 คืบพระสุคต กว้าง 2 คืบ ถ้าทำให้เกินกำหนดนี้ ต้องปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก
ปรัชญาในการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ของภิกษุสามเณรจึงอยู่ที่ความสันโดษซึ่งแสดงไว้ในหลักแห่งสันโดษในการบริโภคปัจจัยนั้น สังคมสงฆ์ไม่ได้สอนหรือเผยแผ่อย่างจริงจังมานานแล้ว ทั้งๆ ที่สันโดษคือหัวใจสำคัญของการบริโภคปัจจัย สันโดษนั้นท่านแสดงไว้ดังนี้
สันโดษ 3 และ 12 (ความยินดี, ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ
1. ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือ เพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา
2. ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสดงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ย่อมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตนแต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน
3. ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ทานผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของปอนๆ มาใช้หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน
สันโดษ 3 นี้ เป็นไปในปัจจัย 4 แต่ละอย่าง จึงรวมเรียกว่า สันโดษ 12 อนึ่ง สันโดษ 3 นี้ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งมุ่งแสดงข้อปฏิบัติของพระภิกษุโดยเฉพาะ ปรากฏในอรรถกถาและฎีกามากมายไม่น้อยกว่า 10 แห่ง คฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร (ที.อ. 1/253; ม.อ. 2/188; องฺ.อ. 1/81; ขุทฺทก.อ. 159; อุ.อ. 288)
สันโดษจึงเป็นสาระสำคัญในการบริโภคใช้สอยปัจจัยของภิกษุ ไม่ให้มีความมักมากจนเกินไป ให้รู้จักพอ ใช้สอยเฉพาะที่จำเป็นสำหรับชีวิตบรรพชิตเพื่อทำที่สุดทุกข์อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
2. ปรัชญาการบริโภคปัจจัยของคฤหัสถ์ สำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนหรือผู้ที่ยังบริโภคกาม การบริโภคปัจจัยก็ย่อมแตกต่างจากภิกษุเรียกว่ากามโภคีมี 10 จำพวกดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีกามโภคีสูตรว่า ดูกรคฤหบดี กามโภคีบุคคลมีอยู่ในโลก 10 จำพวก 10 จำพวกเป็นไฉน คือ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม และไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำแต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม และไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้วย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมโดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ แต่เป็นผู้กำหนัด หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น 1 กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่นไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น (องฺ ทสก. 24/ 91/153)
หลักการสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ที่ความสันโดษคือจะทำอะไร ให้ทำด้วยอิทธิบาทธรรม คือทำอย่างเต็มที่ และเมื่อได้ผลออกมาอย่างไรจากการกระทำครั้งนั้นก็ให้เกิดความสุข-ความพอ ถ้าไม่ได้ผลตามต้องการให้ปรับปรุงใหม่คราวหน้า ความสุข-ความพอคือพอใจในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี พอใจในสิ่งที่เป็น เมื่อรู้จักพอก็จะมีความสุขในความพอตามควรแก่ความสามารถ ตามควรแก่การกระทำ ตามควรแก่ ฐานะ และตามควรแก่กฎเกณฑ์สังคม (จริยธรรม) กฎเกณฑ์ศีลธรรม และกฎเกณฑ์ของกฎหมาย ถ้ามีความสันโดษเป็นพื้นฐานแล้ว ความพอเพียงก็จะตามมา และผลที่ได้รับคือความสุข ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะความสุขของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามสมควรแก่ฐานะ ในส่วนของผู้ครองเรือนหรือศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่ากามโภคีบุคคลย่อมมีการแสวงหาที่ชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้จำแนกกามโภคีบุคคลไว้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 แสวงหาไม่ชอบธรรม
1. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข,ทั้งไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี
2. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข,แต่ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี
3. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณข่มขี่, ได้มาแล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุขด้วย,แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำกรรมดีด้วย
พวกที่ 1 ควรตำหนิทั้ง 3 สถาน; พวกที่ 2 ตำหนิ 2 สถาน ชม 1 สถาน; พวกที่ 3 ตำหนิ 1 สถาน ชม2สถานกลุ่มที่ 2 แสวงหาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง
4. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง ทารุณข่มขี่บ้าง ไม่ทารุณข่มขี่บ้าง, ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข. ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี
5. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ทารุณข่มขี่บ้าง ไม่ทารุณข่มขี่บ้าง, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, แต่ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี
6. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง โดยทารุณข่มขี่บ้าง ไม่ทารุณข่มขี่บ้าง, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, ทั้งแจกจ่ายแบ่งปัน และใช้ทำกรรมดี
พวกที่ 4 ควรตำหนิ 3 สถาน ชม 1 สถาน; พวกที่ 5 ตำหนิ 2 สถาน ชม 2 สถาน; พวกที่ 6 ตำหนิ 1 สถาน ชม 3 สถาน
กลุ่มที่ 3 แสวงหาชอบธรรม
7. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข,ไม่แจกจ่ายแบ่งเป็นไม่ใช้ทำความดี
8. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข,แต่ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำความดี
9. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุขด้วย, ทั้งแจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดีด้วย; แต่เขายังจิตยังสยบมัวเมา ยังหมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้นโดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้นเป็นนายเหนือโภคทรัพย์ (พวกที่ 7 ควรตำหนิ 2 สถาน ชม 1 สถาน; พวกที่ 8 ตำหนิ 1 สถาน ชม 2 สถาน; พวกที่ 9 ชม 3 สถาน ตำหนิ 1 สถาน
พวกพิเศษ : แสวงหาชอบธรรม และใช้อย่างรู้เท่าทันเป็นอิสระ
10. พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดีด้วย; ไม่สยบมัวเมา ไม่หมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้น โดยรู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์
(พวกที่ 10 นี้ ทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐ สูงสุด ควรชมทั้ง 4 สถาน (สํ.สฬ. 18/631-643/408-415; องฺ.ทสก. 24/91/188 อ้างใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์, 2548), หน้า 232)
มนุษย์ในยุคแรกใช้สอยปัจจัยเพียงเพราะความอยู่รอด ไม่ได้ใช้จ่ายทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีแต่จะทำให้ทรัพยากรหมดไปอย่างรวดเร็วและเป็นอันตรายต่อโลกและสภาพแวดล้อม ศาสนาน่าจะหยุดยั้งสังคมบริโภคนิยมดังที่พระไพศาล วิสาโล อ้างไว้ว่า “มนุษย์นั้นแสวงหาวัตถุเริ่มแรกก็เพื่อความอยู่รอดปลอดพ้นจากอันตราย เมื่อบรรลุจุดหมายดังกล่าวแล้ว แรงจูงใจขั้นต่อมาก็คือการแสวงหาวัตถุเพื่อความสะดวกสบายทางกายหรือปรนเปรอประสาททั้งห้า เช่น อาหารที่เอร็ดอร่อย เครื่องเสียงที่ให้ความบันเทิง แม้ว่าแรงจูงใจดังกล่าวมิใช่ของใหม่สำหรับมนุษย์ แต่เมื่อระบบอุตสาหกรรมได้พัฒนามาจนถึงขั้นที่ผลิตอย่างล้นเหลือ ลัทธิบริโภคนิยมก็เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนใฝ่เสพด้วยความเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการบริโภคเท่านั้น การบริโภคได้ขยายขอบเขตและมีความหลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ลัทธิบริโภคนิยมไม่ได้ยุติที่การปรนเปรอประสาททั้งห้าเท่านั้น หากยังพัฒนาไปถึงขั้นที่มุ่งตอบสนองความสุขทางจิตใจด้วย โดยที่สิ่งเสพหรือสินค้าก็มิได้จำกัดที่วัตถุและบริการเท่านั้น หากยังขยายไปถึงประสบการณ์และสัญลักษณ์ ตรงนี้เองที่ทำให้ลัทธิบริโภคนิยมบ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากศาสนา (พระไพศาล วิสาโล,พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและ ทางออกจากวิกฤต,(กรุงเทพฯ:มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546),หน้า 129)
พระพุทธศาสนามีปรัชญาในการใช้สอยปัจจัยเท่าที่จำเป็น มิใช่เสนอให้เป็นศาสนาบริโภคนิยม เป็นเวลาสองพันกว่าปีนับตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตคือพระโสณะและพระอุตตระมายังดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ นับตั้งแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด เจริญบ้างเสื่อมบ้างในบางครั้ง แต่บรรพบุรุษก็เอาตัวรอดรักษาศาสนาไว้ได้ ตราบเท่ายุคสมัยแห่งเรา ในสังคมบริโภคนิยม ทิศทางของการบริโภคปัจจัยก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจุบันเราจึงได้เห็นจีวรสวยๆ อาหารอร่อย กุฎีศาลา โบสถ์วิหารที่ใหญ่โตโอฬารบางแห่งราคาหลายร้อยล้าน แม้แต่เวลาเจ็บป่วยก็ต้องพึ่งพาโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการอย่างดีเยี่ยม และค่าใช้จ่ายก็แพงไปด้วย ศาสนาในสังคมไทท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์
พระไพศาล วิสาโล ได้สรุปไว้อย่างน่าคิดว่า “สังคมไทย ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการแพร่ขยายของศาสนาบริโภคนิยมก็คือ การถือเงินตราเป็นสรณะ เอาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศ ถือเอาผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จของคนทั้งประเทศยิ่งกว่าจะให้ความสำคัญกับความสุขและชีวิตที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับที่ผู้คนต่างถือเอารายได้หรือทรัพย์สินเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของชีวิต ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งบอกว่า พุทธศาสนาถูกทุนนิยมและบริโภคนิยมเบียดขับออกไปจากการเป็นศาสนาหลักของสังคมไทยไปแล้ว การที่สถาบันสงฆ์ยอมปิดปากเรื่องสันโดษเพื่อเห็นแก่การพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยจอมพลสฤษดิ์ในแง่หนึ่งก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอิทธิพลของทุนนิยมที่เหนือพุทธศาสนา และเมื่อประเทศไทยถึงแก่ความวิบัติในทางเศรษฐกิจอันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยกันทั้งประเทศ โดยแทบจะไม่มีเสียงเตือนจากพุทธศาสนามาก่อนเลย นั่นก็เท่ากับชี้ว่าพุทธศาสนาได้พ่ายแพ้ต่อบริโภคนิยมไปแล้ว แม้ว่าวัดวาอารามและโบสถ์วิหารอันใหญ่โตจะผุดสะพรั่งทั่วทั้งประเทศก็ตาม (พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและ ทางออกจากวิกฤต, หน้า 138)
การบริโภคปัจจัยกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตไว้ที่สำคัญเพียงพอแก่การประกอบสมณธรรม เพื่อดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นประกอบด้วยเครื่องใช้สอย 4 ประการคือ
เครื่องนุ่งห่ม ให้ใช้เพียงจีวร 3 ผืนเพื่อป้องกันอันตรายจากความหนาว ร้อน สัตว์ร้ายและแมลงต่างๆ ดังมีบทบัญญัติเรื่องจีวรไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค
อาหาร ได้มาจากการบิณฑบาตเป็นการบริโภคเพื่อให้มีกำลังในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น มิได้มุ่งให้บริโภคเพื่อความเพลิดเพลินหรือติดในรสอาหาร
ที่อยู่อาศัย อนุญาตให้ใช้เท่าที่จำเป็น แม้แต่กุฏิที่อยู่อาศัยก็ทรงมีกำหนดขนาดไว้ไม่ให้ใหญ่เกินไป เพื่อป้องกันความโลภและติดในที่อยู่
ยารักษาโรค อนุญาตให้ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ก็เพียงพอสำหรับการปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้าร่างกายไม่ป่วยหนักจนเกินไป ยาขนานนี้ก็สามารถใช้เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ตามครรลอง
ปรัชญาที่สำคัญในการบริโภคปัจจัยจึงอยู่ที่ความรู้จักพอดีหรือสันโดษดังที่ทรงติเตียนพระสุทินน์โดยอเนกปริยาย ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย (วิ. มหา. 1/16/26)
ทรงติเตียนท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร และตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่เหมาะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต เพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม เพื่อถือตามพระวินัย (วิ. มหา 1/82/242)
พระเทวทัตอ้างความมักน้อยสันโดษได้ทูลขอพระ 5 ประการว่า พระพุทธเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการ ที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ 5ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุ ทั้งหลายพึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและ เนื้อ รูปนั้นพึง ต้องโทษ
แต่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่าอย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้น จงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนา จงถือ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จง ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็น เสนาสนะ 8 เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ (วิ.จุล 7/384 /128)
ภิกษุเช่นใดชื่อว่าผู้สันโดษ พระผู้มีพระภาคแสดงไว้ว่า “ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ (ที.สี 9/124/68)
ภิกษุสันโดษแล้วได้อะไร พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า “ภิกษุประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอัน เป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก วิจิกิจฉาได้(ที.สี 9/124/68)
สันโดษจึงเป็นเบื้องต้นของการบรรลุคุณธรรมขั้นสูง โดยการละนิวรณ์ธรรมได้ สันโดษยังจัดเป็นอริยวงศ์ดังที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้ว่า “ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งจีวร และไม่ได้จีวรก็ไม่เดือดร้อน และได้จีวรแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในสันโดษด้วยจีวรนั้น ดูกรผู้มีอายุทั้งหลายภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญ ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต และไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่เดือดร้อน และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในสันโดษด้วยบิณฑบาตนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ และไม่ได้เสนาสนะก็ไม่เดือดร้อน และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในสันโดษด้วยเสนาสนะนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม (ที.ปา. 11/237/180)
การบริโภคปัจจัยของบรรพชิตโดยสันโดษและพิจารณาจึงมีส่วนสัมพันธ์กับการพัฒนาคุณธรรม โดยการขัดเกลากิเลส แล้วอาศัยความเพียรเพื่อพัฒนาจิต ถ้าจิตยังมีความโลภ โทสะ โมหะ ก็ยังจะต้องติดข้องอยู่ในวังวนแห่งการแสวงหา แต่ถ้าภิกษุบริโภคปัจจัยด้วยความสันโดษแล้วนั่นจะเป็นทางก้าวสู่อริยมรรค และพัฒนาไปสู่วิมุติต่อไป
การบริโภคปัจจัยของคฤหัสถ์กับแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ในส่วนของอุบาสก อุบาสิกา มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่ให้ดำเนินชีวิตตามสมควรแก่ฐานะเช่นหากปารถนาจะเป็นเศรษฐีก็ให้ปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัฏฐสังวัตตนิกธรรม ดังที่ทีชาณุได้ทูลถามธรรมเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตรคือ
(1) อุฏฐานสัมปทาได้แก่กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้
(2) อารักขสัมปทากุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป
(3) กัลยาณมิตตตาได่แก่กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา
(4) สมชีวิตา ได้แก่ กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนักไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ เมื่อหาทรัพย์ได้แล้วพระพุทธองค์ยังทรงแสดงทางเสื่อมแห่งโภคะไว้ว่า โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ 4 ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า 4 ทาง ไหลออก 4 ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้าปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (องฺ อฏฐก. 23/144/289)
สรุป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเศรษฐกิจพอเพียง ก็อาศัยหลักการจากความสันโดษและสัมมาอาชีวะในพระพุทธศาสนานี่เอง ถ้าทุกคนรู้จักพอเพียงดำเนินชีวิตตามสมควรแก่ฐานะ ก็จะไม่เกิดการปล้น ฆ่า แย่งชิงทรัพย์ของผู้อื่น ปัญหาเรื่องการเบียดเบียนแย่งชิงก็จะน้อยลง สังคมก็จะสงบสุข เพราะความพอเพียงของปัจเจกบุคคล ประเทศชาติและโลกก็จะมีแต่สันติสุข
ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต ในสมัยพุทธกาลแสดงปัจจัยไว้สำหรับภิกษุเพียงสี่ประการคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ว่าเป็นสิ่งที่เพียงพอสำหรับบรรพชิต แต่ในสมัยปัจจุบันเมื่อโลกเจริญขึ้นดูเหมือนว่าปัจจัยสำหรับบรรพชิตจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามความเจริญของโลก สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพุทธกาลจึงต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นต้องมีโทรทัศน์ไว้ดูข่าวสารบ้านเมือง มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว มีคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานที่สะดวกขึ้น มีรถยนต์เพื่อการเดินทางที่รวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภิกษุจริงหรือยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้
ส่วนคฤหัสถ์ยิ่งบริโภคปัจจัยตามกิเลสคือโลภ โทสะ โมหะ แม้จะมีมากแต่ก็ดูเหมือนจะไม่เคยพอ จึงต้องแข่งขัน แย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติค่อยๆหมดไป เมื่อคนมีกิเลสทำให้เกิดการขัดแย้ง ในที่สุดก็จะเกิดสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ในสมัยพุทธกาลเคยมีสงครามแย่งชิงน้ำเพื่อทำการเกษตรระหว่างสักกะกับโกลิยะ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปห้าม แต่ในปัจจุบันการยิ่งชิงยิ่งมากขึ้นทุกวัน ยิ่งโลกที่ถือกันว่าเจริญทางวัตถุ ยิ่งกอบโกยประเทศที่ด้อยกว่า บางครั้งถึงกับยึดครองก็มี หากโลกยังไม่รู้จักวิธีใช้สอยปัจจัยยิ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด แต่ถ้าถือตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว คำว่าพอคำเดียวน่าจะเป็นคำตอบในการบริโภคปัจจัยได้เป็นอย่างดี ปรัชญาการบริโภคปัจจัยของบรรพชิตหลักการอยู่ที่รู้จักสันโดษในปัจจัย ส่วนฆราวาสก็ให้ยึดหลักสัมมาอาชีวะคือเลี้ยงชีพในทางที่ชอบนั่นเอง หากภิกษุจะใช้สอยบริโภคปัจจัยเหมือนอย่างฆราวาส ถึงแม้บางอย่างพุทธบัญญัติมิได้บัญญัติไว้ แต่ก็ให้ถืออนุโลมตามมหาปเทสคือพิจารณาว่าควรในสิ่งที่ควรหรือไม่ แต่หลักการที่พระพุทธองค์ได้วางหลักในการบริโภคปัจจัยไว้คือเพื่อให้อยู่ได้ตามอัตตภาพเพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบความเพียรกำจัดกิเลสอาสวะหลุดพ้นจากพันธนาการสู่อิสรภาพทางจิตต่างหาก
เป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียงก็เพื่อให้คนไทยตั้งแต่ครอบครัวชุมชนประเทศ สามารถใช้ชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมอย่างสมดุลย์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก หลักใหญ่อยู่ที่ทางสายกลาง มีองค์ประกอบสำคัญคือยึดหลักสันโดษหรือความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ดังพระดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” ถ้ารากฐานมั่นคงแข็งแร็ง ชีวิตย่อมจะมั่นคงไปด้วย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/12/53
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2514.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับอรรถกถา.กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2533.
คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.มงคลัตถทีปนีแปล.กรุงเทพฯ:
มหามกุฏราชวิทยาลัย,2538.
พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ 14, (กรุงเทพฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์, 2548.
พระไพศาล วิสาโล.พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและ ทางออกจากวิกฤต.กรุงเทพฯ:
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546.
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19 กรกฎาคม 2517.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2517.
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
28 สิงหาคม 2518.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541.
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง,เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร, กรุงเทพฯ:
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2545 – 2549.
สุนัย แศรษฐ์บุญสร้าง. แนวทางปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ:,มูลนิธิวิถีสุข,2549.
ราชบัณฑิตยสภา.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ:นานมีบุคส์จำกัด,2546.
วิชัย ธรรมเจริญ.คู่มือนักธรรมชั้นตรี.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2545.
อภิชัย พันธเสน บรรณาธิการ.สังเคราะห์องค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ:สำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการวิจัย,2546.
อภิชัย พันธเสน.พุทธเศรษฐศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ: อมรินทร์,2547.