พระสงฆ์ในโลกอินเทอร์เน็ต
เมื่อมีหลักในการเทียบเคียงแล้ว พระสงฆ์ก็ควรเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะโดยไม่ขัดกับพระธรรมวินัย เมื่อเทคโนโลยีมารวมเข้ากับสารเทศเทศ จึงทำให้กลายเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology), ไอที (IT) หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (information and communications technology), ไอซีที (ICT) หมายถึงเทคโนโลยีสำหรับการประมวลผลสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการรับ-ส่ง,แปลง,จัดเก็บ,ประมวลผล,และค้นคืนสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นการรับ การประมวลผล และการแจกจ่าย สารสนเทศในรูปแบบเสียง ภาพ เนื้อหาที่เป็นข้อความและ ตัวเลข โดยระบบพื้นฐานหลักการไมโครอิเล็กทรอนิคร่วมกับคอมพิวเตอร์และระบบโทรคมนาคม
ระบบสารสนเทศ (Information System หรือ IS) คือระบบที่ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์และโปรแกรมประยุกต์ที่สามารถรับข้อมูลต่างๆมาบันทึกไว้ แล้วนำข้อมูลนั้นมาจัดทำเป็นสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ (รศ.ยืน ภู่วรรณ(บรรณาธิการ),พจนานุกรมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต,(กรุงเทพฯ:ซีเอ็ดยูเคชั่น,2546),หน้า 207.)
เทคโนโลยีสารสนเทศมีองค์ประกอบ 6 ส่วน ด้วยกัน คือ 1. คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ 2. โปรแกรม หรือซอฟต์แวร์ (Software) หมายถึง ชุดคำสั่งที่ใช้สำหรับสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ผู้ใช้ต้องการ 3. ข้อมูล (Data) หมายถึงข้อเท็จจริง ข้อความ ภาพ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกเก็บไว้ เพื่อใช้วิเคราะห์ให้ทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน 4. ระบบการสื่อสารข้อมูล (Data communication System) หมายถึง อุปกรณ์ระบบโทรคมนาคม และข้อตกลงที่ทำให้หน่วยงานสามารถส่งข้อมูลและรายงานข้ามไปยังผู้รับที่อยู่ห่างไกลได้ 5.บุคลากร (Peopleware) หมายถึงผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ดำเนินงาน และจัดการ ให้เกิดระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เช่นผู้ใช้(User) นักพัฒนาโปรแกรม(Programmer) และนักวิเคราะห์ระบบ(System Analyst) เป็นต้น 6.ระเบียบปฏิบัติและคู่มือ (Procedures) หมายถึง ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และคู่มือการใช้ระบบสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ระบบสารสนเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเชื่อถือได้ และระบบมีความปลอดภัย (ศักดา ศักดิ์ศรีพาณิชย์,การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สารสนเทศ)
หากจะว่าโดยสรุปเทคโนโลยีสารสนเทศคือคอมพิวเตอร์ โปรแกรม คน ข้อมูลข่าวสารและระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถ้าหากมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่เมื่อพระต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตจึงมีประเด็นที่ปลีกย่อยอีกมาก เพราะทางด่วนสายนี้มีทั้งสิ่งที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อการประพฤติผิดธรรมวินัย
พระสงฆ์เมื่ออยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ตควรใช้อย่างไร เรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาที่พระสงฆ์ถูกโจมตีมาก เพราะมีบางรูปเข้าไปดูเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสมกับสมณภาวะ องค์กรสงฆ์จะมีวิธีการในการแก้ปัญหาอย่างไร
ในส่วนที่เป็นประโยชน์เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีวัด องค์กรสงฆ์จำนวนมากที่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิธีแก้ปัญหาที่เรียบง่ายและได้ผลที่สุดคือให้วางเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ในสถานที่เปิดเผย ไม่เปิดโอกาสให้อยู่ผู้เดียว เพราะอาจพลั้งเผลอเข้าไปดูเว็บที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย
หลักธรรมสำหรับนักเสพอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลในโลกไซเบอร์มีทั้งคุณและโทษ ในการกำหนดรู้โลกแห่งเทคโนโลยีนั้น พระพรหมคุณาภรณ์(ธรรมกับการพัฒนาชีวิต)ได้เสนอแนวทางในการปฏิบัติเมื่อต้องสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลในยุคปัจจุบัน โดยใช้หลักปฏิสัมภิทา ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(31/268/96)
1.อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ปรีชาแจ้งในความหมาย เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่งก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่ออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แม้จะมีเนื้อหาเพียงน้อยนิดก็รู้ความหมาหมายและสามารถขยายความออกไปได้
2. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก เห็นอรรถาธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่งก็สามารถสืบสาวไปหาเหตุได้ การเสพเทคโนโลยีแม้จะมีเนื้อหามาก แต่ก็สามารถจับสาระสำคัญได้
3.นิรุตติปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา รู้ศัพท์ถ้อยคำบัญญัติและภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ เมื่อรับรู้แล้วพูดสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้
4.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้าสร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณ์เข้ากับเหตุการณ์ เมื่อเสพแล้วสามารถเชื่อมโยงกับความรู้เก่าสังเคราะห์จนเป็นองค์ความรู้ใหม่ นำไปใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ได้
สรุป
ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศหากถือตามปฏิสัมภิทาคือรู้ความหมายขยายความได้ จับประเด็นสำคัญได้ สื่อสารถ่ายทอดเป็น และใช้ความรู้ได้ถูกเรื่องทันการณ์ ข้อมูลข่าสารในโลกไซเบอร์บางครั้งมีเพียงน้อยนิดและกระจัดกระจาย เราต้องำนมาอธิบายขยายความให้ได้ บางครั้งมีข้อมูลมหาศาลก็ต้องย่อความจับประเด็นให้ได้ จากนั้นนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์จนกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่และนำเสนอออกไปให้สังคมได้รับรู้ได้ หลักปฏิสัมภิทานั้นพระสารรีบุตรได้อธิบายไว้ในสัญเจตนิยวรรค อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/172/154) ความว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ก็ได้กระทำให้แจ้งอรรถปฏิสัมภิทาโดยเป็นส่วน โดยจำแนก เราย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้งเปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายซึ่งอรรถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา โดยอเนกปริยาย โดยเป็นส่วน โดยจำแนกเราย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายซึ่งปฏิภาณปฏิสัมภิทานั้นโดยอเนกปริยาย ก็ผู้ใดแลพึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงผู้นั้น พึงถามเรา เราพึงพยากรณ์” หากพระสารีบุตรยังอยู่ท่านคงให้คำตอบได้ แต่เมื่อท่านไม่อยู่เราก็สามารถศึกษาจากพระไตรปิฎกและนำมาอธิบายเชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้พบเห็นได้ นั่นจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่ “ไม่ตาย”ไปตามกาลเวลา
เคนิชิ โอมาเอะชาวญี่ปุ่น(Kenichi Ohmae,The next global Stage)ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของประเทศต่างๆไว้อย่างน่าคิดว่า “ในภูมิภาคที่หวังจะก้าวหน้าประชาชนต้องรู้อย่างน้อยสามภาษาคือภาษาของตนเอง ภาษาอังกฤษ และภาษาเทคโนโลยี ซึ่งในสมัยนี้คือภาษาคอมพิวเตอร์ประกอบกับระบบอินเตทอร์เน็ต” หากพระสงฆ์ศึกษาภาษาของตนเองคือพระไตรปิฎก ศึกษาภาษาโลกคือภาษาอังกฤษ และภาษาเทคโนโลยีให้เข้าใจ ก็จะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการศึกษาและเผยผ่พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันได้อย่างทันการ
ดังนั้นหากพระสงฆ์เข้าใจสภาวะของตนเองแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศก็คือวิชาการอย่างหนึ่งที่พระควรศึกษาและคณะสงฆ์ควรส่งเสริมให้พระได้มีโอกาสศึกษาให้มากขึ้น โดยใช้หลักปฏิสัมภิทาคือรู้จักความหมาย รู้จักหลักการ รู้จักภาษาหรือศัพท์เฉพาะต่างๆและสามารถคิดต่อได้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรู้เท่าทันและนำไปอธิบายหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้กับคนร่วมสมัยเข้าใจได้ พระสงฆ์ก็จะอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปอีกนาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
หมายเหตุ:นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการของนักศึกษาสาขาวิขาเทคโนโลยสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร
ลงพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ www.mbu.ac.th (17/05/51) แก้ไขปรับปรุงครั้งล่าสุด (20/02/53)
คำแนะนำเพิ่มเติม: กรุณาอย่าเครียดกับการอ่าน อันไหนไม่จำเป็นโปรดคลิ๊กผ่านไป
เอกสารอ้างอิง
ประเวศ วสี(บรรณาธิการ). ธรรมชาติของสรรพสิ่ง: การเข้าถึงความจริงทั้งหมด.กรุงเทพฯ:มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์2547.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต). ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา.พิมพ์ครั้งที่ 7,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,2540.
พระพรหมคุณาภรณ์.ธรรมะกับการพัฒนาชีวิต (พิมพ์ครั้งที่สาม).กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม 2541.
พระพรหมคุณาภรณ์. ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี(พิมพ์ครั้งที่สี่) กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม 2540.
รศ.ยืน ภู่วรรณ(บรรณาธิการ).พจนานุกรมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต.กรุงเทพฯ:ซีเอ็ดยูเคชั่น,2546.
ศักดา ศักดิ์ศรีพาณิชย์,การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สารสนเทศ, <http://www.phcpl.com/article/applycomp.htm
อนุช อาภาภิรม.เทคโนโลยีกับสวรรค์.กรุงเทพฯ:มติชน,2547.
แอนโทนี จี.วิลเฮม(ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน แปล),ประชาชาติยุคดิจิตอล,กรุงเทพฯ: เอ็กซเปอร์เน็ท,2549.
Thomas L. Friedman. The World is Flat. London,Penguin Books,2006.
Kenichi Ohmae.The next global Stage:Challenges and Opportunityties in our Borderless World.Penguin Books ,2005.
Richard Layard,Happiness, London,Penguin Books,2005.