เทคโนโลยีกับอิทธิปาฏิหาริย์
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเรื่องเทคโนโลยีคงยังไม่เจริญมากนัก เพราะยังอยู่ในสังคมเกษตรกรรม เครื่องมือที่ใช้ก็เพียงเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนและครอบครัว มิได้ผลิตเพื่อการค้า คำสอนของพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีโดยตรง แต่หากจะเทียบเคียงน่าจะเป็นเรื่องของอิทธิปาฏิหารย์ซึ่งพระพุทธองค์แสดงไว้สามประการดังที่ปรากฎในสังคารวสูตร ติกนิบาต อังคุตรนิกายว่า (20/500/164) "ดูกรพราหมณ์ ปาฏิหาริย์สามอย่างคือ(1)อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ (2) อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ (3)อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์" ในปาฏิหาริย์ทั้งสามประการนั้นมีคำอธิบายไว้ดังนี้
1. อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมากคือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในไปอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
2. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัย นี้ พูดดักใจได้โดยนิมิตว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ว่า ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่ดูกรพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ก็แตว่าพอได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่าใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไม่ ดูกรพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้เลย แต่ว่าพอได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่ ดูกรพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ถึงได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้วก็พูดดักใจไม่ได้ ก็แต่ว่า กำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจาร ด้วยใจ ของตนว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้น ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้น
ก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่
3.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ ดูกรพราหมณ์นี้เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์
เทคโนโลยีน่าจะเทียบเคียงได้กับอิทธิปาฏิหารย์ ซึ่งในพระพุทธศาสนาจัดเข้าเป็นข้อหนึ่งในอภิญญาคืออิทธิวิธี ซึ่งอภิญญาจัเป็นสามัญยผลที่ภิกษุควรจะได้รับหากปฏิบัติตามขั้นตอน ดังที่ได้ตอบคำถามของพระเจ้าอชาตศรัตรูทูลที่ถามถึงผลที่ภิกษุควรจะได้รับ พระพุทธองค์จึงได้แสดงไว้ในสามัญญผลสูตร ตอนหนึ่งว่า(9/100/57)ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันขอทูลถามพระผู้มีพระภาคบ้างว่า ศิลปศาสตร์เป็นอันมาก คนเหล่านั้น ย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์เลี้ยงชีพในปัจจุบันด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตรอำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่ พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ได้แสดงผลที่ภิกษุจะได้รับในการอุปสมบทคือภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปย่อมได้บรรลุ(1)อิทธิวิธญาณ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆได้ (2)ทิพยโสตญาณ ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (3) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (4) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (5) จุตูปปาตญาณ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ และ(6)อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าอภิญญาเป็นความรู้ที่ยิ่งยวด
เมื่อโลกเจริญด้วยเทคโนโลยีทำให้มีบางคนคิดว่าอภิญญานั้นบางอย่างสามารถเข้าถึงได้โดยใช้เครื่องมือที่มนุษย์ผลิตขึ้นมา ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือทิพยโสตญาณ ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ เพราะมีเครื่องมือหลายอย่างที่ใกล้เคียงกับการมีหูทิพย์เช่นสามารถสำรวจโลกได้แทบทุกตารางนิ้ว ฟังเสียงได้ไกลแม้จะอยู่คนละขั้วโลกโดยใช้โทรศัพท์เป็นต้น
ในความหมายที่พระพุทธเจ้าแสดงอธิบายไว้นั้นลองอ่านโดยละเอียดแล้วลองเทียบเคียงดูว่ามีส่วนใกล้เคียงกันกับโทรศัพท์จริงหรือไม่
ทิพยโสตญาณนั้นพระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า(9/100/74) ภิกษุเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาจะพึงเข้าใจว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิดคือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรมหาบพิตรนี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
เสียงที่ได้ยินด้วยทิพยโสตญาณตามที่อธิบายไว้ในพระไตรปิฎกหมายถึงเสียงสองชนิดคือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ที่เราได้ยินและติดต่อกันได้ด้วยเทคโนโลยีนั้นคือเสียงมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ไม่สามารถใช้โทรศัพท์สื่อสารกับเทวดาหรือร่างที่เป็นทิพย์ได้ซึ่งหมายถึงเทวดาและพรหมที่มีร่างเป็นทิพย์หรือเหล่าสัตว์บางพวกที่ไม่ปรากฎรูปร่าง เมื่อใดที่มนุษย์สามารถโทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกับหมู่เทวดาได้ เมื่อนั้นความเจริญด้วยเทคโนโลยีก็จะตอบคำถามเรื่องทิพโสตญาณได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีใครใช้เครื่องมือที่มนุษย์ผลิตขึ้นติดต่อหรืออธิบายหมู่เทพอันเป็นทิพย์ได้ เคยมีคนบางคนอ้างว่าสามารถถ่ายภาพเทวดาได้ แต่นั่นเป็นเพียงข้ออ้างยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เรื่องของโทรศัพท์ กล้องถ่ายรูปจึงยังไม่เข้าข่ายของทิพโสตญาณตามทัศนะของพระพุทธศาสนา
อภิญญากับเทคโนโลยีมีส่วนที่สามารถอธิบายได้ เพียงแต่เทคโนโลยีอธิบายด้วยกายภาพหรือโลกแห่งวัตถุ ส่วนอภิญญาเป็นเรื่องของจิต ต้องอธิบายและตีความแยกออกจากกัน โลกตะวันตกอาจเข้าใจคำว่าจิตแตกต่างจากโลกตะวันออก การนำเรื่องของสภาวจิตมาอธิบายตามกรอบแห่งวัตถุจึงมีความแตกต่างกัน แม้แต่ทัศนะแห่งความสุขก็แตกต่างกันไปด้วย
ความสุขของนักคิดจากตะวันตก
Richard Layard ได้สรุปปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุขทั้งภายนอกและภายในไว้ในหนังสือ Happiness พิมพ์เมื่อปี 2548 ไว้น่าคิดว่าปัจจัยภายนอกได้แก่ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว หน้าที่การงาน และสภาพของสังคม
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขภายในมาจากพันธุกรรมและประสบการณ์จากการเลี้ยงดู ปรัชญาในการดำเนินชีวิต และความรู้สึกมั่นคง(รายได้ การงาน ครอบครัว ชุมชน สุขภาพ)
การที่จะทำให้มนุษย์ในสังคมปัจจุบันได้มาซึ่งความสุขนั้นเลยาร์ดเสนอว่า ควรดำเนินชีวิต
ตามหลักศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา หลักธรรมะที่ควรนำมาใช้ประจำคือความมีสติสัมปชัญญะพอใจในสภาวะที่ตนมี สรุปแล้วก็คือสติและสันโดษ (2) คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง (เมตตา)และ(3) ทำในสิ่งที่ดีงาม (พอดี พอเพียง)สอดคล้องกับที่องค์กรสหประชาชาติเคยสรุปไว้ว่า “วิกฤตทางจิต วิกฤตทางสังคม วิกฤตทางจิตวิญญาณที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พอรุนแรงขึ้นสิ่งที่จะช่วยโลกได้คือพุทธธรรม”
ยังมีหนังสือจากนักคิดทางตะวันตกที่เสนอทางปัญหาของสังคมและทางออกอีกมากมาย หนังสือบางเล่มนำคำสอนของพระพุทธศาสนาไปใช้ในการอธิบาย บางครั้งนำไปประยุกต์กับศาสตร์อื่นๆเช่นด้านเศรษฐศาสตร์มีหนังสือชื่อ Small is Beautiful โดยใช้หลักการในอริยมรรคมีองค์แปดไปอธิบายการแก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์เป็นต้น
สาระสำคัญของโลกตะวันตกจึงอยู่ที่เมื่อเทคโนโลยีเจริญมากขึ้น ตามหลักตรรกศาสตร์คนน่าจะมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย แต่ผลที่ตามมากลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามคือโลกเจริญขึ้น แต่คนมีความสุขน้อยลง ประเด็นปัญหาน่าจะเป็นการตีความคำว่า “ความสุข” ผิดพลาดเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจคนละบริบท
ความสุขจากคำสอนของพระพุทธศาสนา
ในเรื่องของความสุขนั้นแม้เลยาร์ดจะนำเสนอว่าให้หันหน้าเข้าหาศาสนาโดยเฉพาะเน้นที่พระพุทธศาสนา เกี่ยวกับทัศนะเรื่องความสุขพระพุทธเจ้าแสดงไว้หลายประการ ดังที่ปรากฏในสุขวรรค อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต (20/309-301/74-75) ก็ได้จำแนกเรื่องของความสุขไว้หลายประการดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างคือสุขของคฤหัสถ์ และสุขเกิดแต่บรรพชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุขสองอย่างนี้ สุขเกิดแต่บรรพชาเป็นเลิศ
กามสุข และเนกขัมมสุข ดูกรภิกษุทั้งหลายสุขสองอย่างนี้เนกขัมมสุขเป็นเลิศ
สุขเจือกิเลสและสุขไม่เจือกิเลส ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขไม่เจือกิเลสเป็นเลิศ
สุขมีอาสวะและสุขไม่มีอาสวะดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขไม่มีอาสวะเป็นเลิศ
สุขอิงอามิสและสุขไม่อิงอามิส ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้สุขไม่อิงอามิสเป็นเลิศ
สุขของพระอริยเจ้า และสุขของปุถุชน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้สุขของพระอริยเจ้าเป็นเลิศ
กายิกสุข และเจตสิกสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ เจตสิกสุขเป็นเลิศ
สุขอันเกิดแต่ฌานที่ยังมีปีติ และสุขอันเกิดแต่ฌานที่ไม่มีปีติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขอันเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นเลิศ
สุขเกิดแต่ความยินดี และสุขเกิดแต่ความวางเฉย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขเกิดจากการวางเฉยเป็นเลิศ
สุขที่ถึงสมาธิ และสุขที่ไม่ถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขที่ถึงสมาธิเป็นเลิศ
สุขเกิดแต่ฌานมีปีติเป็นอารมณ์ และสุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์เป็นเลิศ
สุขที่มีความยินดีเป็นอารมณ์ และสุขที่มีความวางเฉยเป็นอารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ สุขที่มีความวางเฉยเป็นอารมณ์เป็นเลิศ
สุขที่มีรูปเป็นอารมณ์ และสุขที่ไม่มีรูปเป็น ดูกรภิกษุทั้งหลายสุขสองอย่างนี้ สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์เป็นเลิศ
ความสุขที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในวรรคนี้พระพุทธองค์ได้แสดงกำกับไว้ด้วยว่าสุขประเภทดีกว่าเลิศกว่าและควรเสพมากกว่า
เวลาที่พระสงฆ์ให้พรก็จะมีคำว่า “อายุ วัณโณ สุขัง พลัง” ซึ่งหมายถึงให้มีอายุ ผิวพรรณ ความสุข และพลังในการดำเนินชีวิต คำว่า “สุข” ในที่นี้หมายถึงความสุขของภิกษุในองค์ฌานดังที่แสดงไว้ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่า (ที.ปา.11/50/59) ดูกรภิกษุทั้งหลายในเรื่องสุขของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแก่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มี สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องสุขของภิกษุ
ส่วนสุขของคฤหัสถ์มีแสดงไว้ในอันนนาถสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาตว่า (21/62/68) ดูกรคฤหบดีสุข 4 ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัยคือ
1.สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ หมายถึงโภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขนมีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมเขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของเรามีอยู่
2.สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วยโภคทรัพย์
3.สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ อธิบายว่ากุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไรๆของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม
4.สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมมโนกรรม อันหาโทษมิได้ ดูกรคฤหบดี สุข 4 ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย
โปรดสังเกตว่าสุขประการสุดท้ายหมายเอาอริยสาวกแต่ยังบริโภคกาม ยังทำงานเหมือนคนทั่วไป แต่งานที่ทำมิได้มีโทษ นั่นคือทัศนะเรื่องความสุขจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนา และการที่จะได้มาซึ่งความสุขนั้นมีคำอธิบายไว้ตามสมควรแก่ความสุขแล้ว