ปัจจุบันเราปฏิเสธกันไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ จนมนุษย์แทบจะขาดเทคโนโลยีไม่ได้ ลองนึกดูเริ่มจากตื่นจนหลับ นั่งรถไปทำงาน ติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ ทำงานในห้องแอร์ นั่งหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ดื่มน้ำจากตู้เย็น เป็นต้น เมื่อสังคมมนุษย์ต้องสัมพันธ์กับเทคโนโลยีทำให้โลกต้องมีสภาวะที่แปรเปลี่ยนไป จากสังคมเกษตรอุตสหกรรมมาเป็นสังคมแห่งข้อมูลสารสนเทศ ทำให้คนทั่วโลกติดต่อกันได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น แม้แต่พระสงฆ์ที่เคยอยู่ในป่าก็ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีไปด้วย จึงเกิดเป็นคำถามว่าพระสงฆ์ควรใช้เทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน
สังคมเทคโนโลยี
ในหนังสือที่ขายดีระดับโลกติดต่อกันหลายปีเล่มหนึ่งโทมัส แอล ฟรีดแมนพูดถึงคนในยุคนี้ไว้ว่า “ในโลกยุคโลกาภิวัตน์จะทำให้คนจำนวนมากสามารถเสียบปลั๊กและใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ทันที และคุณจะได้เห็นผู้คนทุกสีผิวมีส่วนร่วมในการผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์” (Thomas L. Friedman, The World is Flat, London,Penguin Books,2006, p.11.) สิ่งที่จะเปลี่ยนโลกแม้เขาจะนำเสนอไว้ถึงสิบประการแต่สรุปได้จริงๆเพียงสามอย่างคือ เทคโนโลยีดิจิตอล เทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเตอร์เน็ต ทั้งสามอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนทั่วโลกจึงมีสิทธิ์ในการรับรู้ข่าวสารและการศึกษาค้นคว้าก็ง่ายรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น ข่าวสารข้อมูลทำให้สังคมมนุษย์ในโลกไร้ทั้งพรมแดนและกาลเวลา เพราะสื่อสารถึงกันได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ ดาวเทียมและอื่นๆนั้นสามารถสื่อถึงกันได้จากขั้วโลกหนึ่งมายังอีกขั้วโลกหนึ่งโดยเกือบจะไม่ต้องใช้เวลาเลย (ประเวศ วสี(บรรณาธิการ), ธรรมชาติของสรรพสิ่ง: การเข้าถึงความจริงทั้งหมด,กรุงเทพฯ:มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์2547,หน้า 270.)
การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างระมัดระวัง อาจจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในอนาคตได้ วิลเฮลม์นำเสนอทางแยกของสังคมในอนาคตไว้ว่า “หากมองไปในอนคตในปี 2020 เราอาจเผชิญหน้ากับสังคมแห่งการเฝ้าระวังภัยหรือสถานการณ์ไม่เท่าเทียมกันอย่างรุนแรงในสังคมโลก หรือในทางตรงกันข้ามเราอาจได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีและสิ่งประดิษย์ต่างๆซึ่งนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและวัฒนธรรม” (แอนโทนี จี.วิลเฮม(ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน แปล),ประชาชาติยุคดิจิตอล,กรุงเทพฯ: เอ็กซเปอร์เน็ท,2549,หน้า 16)
การไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติโดยอาศัยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้ค่านิยมของสังคมไทยเปลี่ยนไปด้วย โดยอดีตคนนับถือคุณค่าทางจริยธรรมไว้สูง แต่ปัจจุบันคุณค่าทางจริยธรรมถูกมองว่าเป็นที่สองรองจากวัตถุ หากศาสนาไม่สอดแทรกคุณค่าทางจริยธรรมให้กับคนในยุคนี้โดยใช้เครื่องมือคือเทคโนโลยีที่สื่อกับคนร่วมสมัยได้ง่ายกว่า คุณค่าทางจริยธรรมของคนก็จะลดลงเรื่อยๆ
ในโลกยุคนี้เทคโนโลยี สารสนเทศและระบบอินเทอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยสำคัญของการศึกษาในอนาคต มนุษย์ในโลกปัจจุบันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีในการดำเนินชีวิต ในการทำงาน และสนองความต้องการเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข แม้คำสอนทางศาสนาบางอย่างก็พยายามตีความและอธิบายด้วยเทคโนโลยี มีนักคิดบางท่านพยายามอธิบายหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเพื่อให้เชื่อมโยงกับโลกแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการตีความให้เข้ายุคสมัยว่า “ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถสร้างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สำหรับผู้คนในโลกได้แล้วเช่น อานุภาพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้แก่อาวุธสายฟ้าซึ่งเป็นอาวุธประจำตัว มีอานุภาพทำลายล้างสูงและมีรัศมีทำการไกล อาจเทียบได้กับปืนไฟ เครื่องบินรบ ขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ สวรรค์อันสวยงามทั้งหลายดูได้จากสตรีที่แต่งกายด้วยพัสตราภรณ์อันหรูหรา ซึ่งพบได้ในงานสังสรรค์และสามารถเห็นตัวอย่างได้จากแฟชั่นโชว์เป็นต้น" (อนุช อาภาภิรม,เทคโนโลยีกับสวรรค์,กรุงเทพฯ:มติชน,2547,หน้า 104.)
มนุษย์กับเทคโนโลยี
การอธิบายและตีความเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยอาจเป็นอันตรายต่อหลักคำสอนดั้งเดิม แต่ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมีแนวโน้มจะเชื่อได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลดีที่คนจะได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในวงกว้างขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นผลเสียคือคนรับรู้ ข่าวสารได้เร็วหากไม่มีภูมิคุ้มกันก็อาจจะหลงเชื่อคำสอนที่ผิดได้ง่ายเช่นกัน
พระพรหมคุณาภรณ์ได้สรุปสังคมไทยมีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล หรือตัวข่าวสารข้อมูลได้เป็น 4 ประเภทคือ
1.พวกตื่นเต้น คนกลุ่มนี้คิดว่าเรานี้ทันสมัยได้เสพข่าวสารที่ใหม่ๆแปลกๆมีของใหม่ๆ เข้ามาเราได้บริโภค แต่สัมผัสกับข่าวสารและเรื่องราวต่างๆอย่างผิวเผิน เรียกว่าตกอยู่ในกระแส ถูกกระแสพัดพาไหลไปเรื่อยๆ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
2.พวกตามทัน คนพวกนี้ก็ภูมิใจว่าเรานี่เก่ง ข่าวเกิดที่ไหนๆรู้หมดแผ่นดินไหว เกิดอีโบล่าอะไรที่ไหนรู้ทันหมด ตามทันแต่ไม่รู้ทันพวกนี้เยอะ รู้ตามข่าว แต่ไม่เข้าถึงความจริงของมัน
3.พวกรู้ทัน ในกลุ่มนี้นอกจากตามทันแล้ว ยังรู้เข้าใจ เท่าทันมันด้วย ว่ามันเป็นมาอย่างไร มีคุณมีโทษ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร ให้ได้ประโยชน์โดยไม่ถูกครอบงำ
4.พวกอยู่เหนือมัน เป็นกลุ่มคนที่อยู่เหนือกระแส จึงจะสามารถจัดการกับกระแสได้ เป็นผู้สามารถใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลแบบเป็นนาย เป็นผู้จัดการ เป็นผู้ใช้มันอย่างแท้จริง(พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา,พิมพ์ครั้งที่ 7,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,2540,หน้า44)
พระสงฆ์ก็หลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการเสพเทคโนโลยีไม่ได้ แต่เมื่อต้องเป็นผู้เสพจะเสพอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะรู้เท่าทันและอยู่เหนือเทคโนโลยีได้ สาระสำคัญจึงอยู่ที่การศึกษาค้นคว้าเพื่อให้รู้เท่าทันเพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้และนำเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับรู้ คำสอนของพระพุทธศาสนาที่ใกล้เคียงกับเรื่องของเทคโนโลยีน่าจะเทียบได้กับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์