การจะเป็นผู้นำบริหารบ้านเมืองได้จะต้องเป็นคนมีบารมี บางคนมีเงินแต่ไม่มีบารมี บางคนมีบารมีแต่ไม่ค่อยมีเงิน คนที่มีทั้งบารมีและมีเงินจึงหายาก ครั้งหนึ่งมีการกล่าวถึง ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เลยทำให้การพัฒนาบ้านเมืองมีปัญหา เพราะคนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็มีการวิเคราะห์ตีความของคำว่า “ผู้มีบารมี” ปัจจุบันมีคนตีความคำว่า “บารมี” ไปในหลายความหมาย ใครคือผู้มีบารมีอย่างแท้จริง ในพระพุทธศาสนาได้แสดงบารมีและผู้มีบารมีไว้อย่างไร
คงเคยได้ยินมาว่าพระพุทธเจ้านั้นได้บำเพ็ญบารมีสี่อสงไขยแสนกัปจึงสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศาสดาของพระพุทธศาสนา “สี่แสนอสงไขยแสนกัปป์” นี่มันนานเท่าไหร่กันแน่ อสังข แปลว่าไม่ได้กำหนด ไม่ได้นัดหมาย อสังเขยย แปลว่านับหรือคำนวณไม่ได้ ส่วนคำว่า “กัป” หมายถึงอายุของโลก ยุค สรุปว่าหนึ่งกัปป์คือโลกแตกสลายหนึ่งครั้ง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงบำเพ็ญบารมียาวนานนับไม่ได้สี่ครั้ง เวียนว่ายตายเกิดในโลกจนโลกแตกไปสี่ครั้ง ลองนึกดูว่าจะยาวนานขนาดไหน เท่าที่พุทธศาสนิกชนจำได้ก็มีบารมี 10 ทัศน์ เป็นการบำเพ็ญบารมีครั้งสำคัญๆ ชาติสุดท้ายเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บารมีจึงมิใช่เรื่องที่ได้มาโดยง่าย
ในพระพุทธศาสนา “บารมี” หมายถึงปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวดคือความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษเพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่นความเป็นพระพุทธเจ้าและความเป็นมหาสาวกเป็นต้น (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต, พจนานุกรมพุทธศาสตร์, (พิมพ์ครั้งที่ 10) กรุงเทพ ฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2548, หน้า 239)
การเริ่มบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้ามีปรากฎในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยปิฎก (เล่ม 33)และปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททนิกาย จริยาปิฎก ภายหลังจากเริ่มตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนขุททกนิกาย พุทธาปทานและวิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธาปทาน ได้พรรณาประวัติของพระโคตมพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังถือกำเนิดเป็นสุเมธดาบสและเริ่มตั้งความปรารถนาต่อพระพักตร์ของพระทีปังกรพุทธเจ้า พอสรุปความได้ว่า
ในที่สุดสี่อสงไขยยิ่งด้วยกำไรแสนกัปนับแต่ภัทรกัปนี้ไป ได้มีนครหนึ่งนามว่าอมรวดี ในนครนั้น มีพราหมณ์ชื่อสุเมธ อาศัยอยู่เขาศึกษาศิลปะของพราหมณ์ จนเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนต์ได้เรียนจบไตรเพท ถึงความสำเร็จในลักขณศาสตร์ อิติหาสศาสตร์และธรรมเนียมพราหมณ์
ต่อมามารดาบิดาของเขาได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่เขายังรุ่นหนุ่ม ต่อมาอำมาตย์ผู้จัดการผลประโยชน์ของเขานำเอาบัญชีทรัพย์สินมา เปิดห้องอันเต็ม ด้วยทอง เงิน แก้วมณี และแก้วมุกดาเป็นต้นแล้วบอกให้ทราบถึงทรัพย์ตลอดเจ็ดชั่วตระกูลสุเมธบัณฑิตคิดว่า บิดาและปู่เป็นต้นของเราสะสมทรัพย์นี้ไว้แล้ว เมื่อไปสู่ปรโลกจะถือเอาแม้ทรัพย์ กหาปณะหนึ่งไปด้วยก็หามิได้ แต่เราควรจะทำเหตุที่จะถือเอาทรัพย์ไปให้ได้ ครั้นคิดแล้วเขาจึงกราบทูลแด่พระราชาให้ตีกลองป่าวร้องไปในพระนคร ให้ทานแก่มหาชนแล้วบวชเป็นดาบส เพราะเกิดความคิดขึ้นว่า “การเกิดในภพใหม่ และการแตกทำลายของสรีระเป็นทุกข์. เรานั้นมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จักแสวงหาพระนิพพาน อันไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม ไฉนหนอ เราพึงไม่เยื่อใย ไร้ความต้องการ ละทิ้งร่างกายเน่า ซึ่งเต็มด้วยซากศพนานาชนิดนี้แล้วไปเสีย ทางนั้นมีอยู่และจักมี ทางนั้นไม่อาจเป็นเหตุหามิได้ เราจักแสวงหาทางนั้น เพื่อหลุดพ้นจากภพให้ได้”
สุเมธดาบสมองเห็นความสุขของสมณะที่เรียกว่าสมณสุข 8 ประการจึงได้บวชคือ “ไม่มีการหวงแหนทรัพย์และข้าวเปลือก แสวงหาบิณฑบาตที่ไม่มีโทษ บริโภคบิณฑบาตที่เย็น ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุบีบคั้นชาวรัฐในเมื่อราชสกุลบีบคั้นชาวรัฐถือเอาทรัพย์ที่มีค่าหรือดีบุกและกหาปณะเป็นต้น ปราศจากความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย ไม่กลัวโจรปล้น ไม่ต้องคลุกคลีกับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา ไม่ถูกขัดขวางในทิศทั้งสี่”
วันหนึ่งสุเมธดาบสได้ พิจารณาเห็นเหตุที่เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จะสำเร็จได้เพราะประชุมธรรม 8 ประการไว้ได้คือความเป็นมนุษย์ ความถึงพร้อมด้วยเพศ เหตุ การได้เห็นพระศาสดา การได้บรรพชา ความสมบูรณ์ด้วยคุณ การกระทำอันยิ่งใหญ่ ความเป็นผู้ มีฉันทะ เมื่อดำริว่าตนเองมีความพร้อมในการตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเพราะมีความพร้อมด้วยธรรม 8 ประการ จึงกระทำความปรารถนาอันยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจึงนอนลงทอดกายเป็นสะพานเพื่อพระพุทธเจ้าจะได้ก้าวพระบาทผ่านไปโดยเท้าไม่เปื้อนโคลนตม ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรเสด็จมาแล้วทรงยืนที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงลืมพระเนตรทั้งสองอันสมบูรณ์ด้วยประสาทมีวรรณะ 5 ประการ ประหนึ่งว่าเปิดสีหบัญชรแก้วมณี ทรงเห็นสุเมธดาบสนอนอยู่เหนือหลังเปือกตม จึงทรงดำริว่าดาบสนี้กระทำความปรารถนาอันยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าจึงได้นอนอยู่ ความปรารถนาของดาบสนี้จะสำเร็จหรือไม่หนอ จึงทรงส่งอนาคตังสญาณ ใคร่ครวญอยู่ ทรงทราบว่าล่วงสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแต่กัปนี้ไป ดาบสนี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ทั้งที่ทรงประทับยืนอยู่นั่นแหละ
ทรงพยากรณ์ในท่ามกลางบริษัทว่า “ท่านทั้งหลายเห็นดาบสผู้มีตบะสูงผู้นี้ซึ่งนอนอยู่บนหลังเปือกตมหรือไม่ ดาบสนี้กระทำความปรารถนาอันยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้นอนอยู่ ความปรารถนาของดาบสนี้จักสำเร็จ ด้วยว่า ในที่สุดสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแต่กัปนี้ไปดาบสนี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม, ก็ในอัตภาพนั้น พระนครนามว่ากบิลพัสดุ์จักเป็นที่อยู่อาศัยของเขา พระเทวีพระนามว่ามายาจักเป็นพระมารดา พระราชาพระนามว่าสุทโธทนะจักเป็นพระบิดา พระเถระนามว่าอุปติสสะจักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าโกลิตะจักเป็นทุติยสาวก พระเถระนามว่าอานนท์จักเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระเถรีนามว่าเขมาจักเป็นอัครสาวิกา พระเถรีนามว่าอุบลวรรณาจักเป็นทุติยสาวิกา ดาบสนี้มีญาณแก่กล้าแล้วจักออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรใหญ่ รับข้าวปายาสที่ควงไม้นิโครธแล้ว บริโภคที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้วขึ้นสู่โพธิมัณฑ์ จักตรัสรู้พร้อมเฉพาะที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์”
การจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแสดงว่าได้รับการพยากรณ์ไว้ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศ บิดามารดาได้ถูกกำหนดไว้แล้ว การพยากรณ์อย่างนี้มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะทำได้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากอนาคตังสญาณหรือญาณมองเห็นอนาคต ท่านแสดงไว้ในขุททกนิกาย อปทานว่า “ก้อนดินที่ขว้างไปในท้องฟ้า ย่อมตกลงในแผ่นดินแน่นอนฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมืนกัน ย่อมแน่นอนและเที่ยงตรง พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสอันไม่เป็นจริง”
สุเมธดาบสคิดค้นพุทธการกธรรม
สุเมธดาบสเมื่อได้ฟังพยากรณ์ว่าจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงใคร่ครวญถึงธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า ธรรมอันกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนหนอ อยู่เบื้องบนหรือเบื้องล่าง หรืออยู่ในทิศใหญ่และทิศน้อย เมื่อคิดค้นธรรมธาตุทั้งสิ้นไปโดยลำดับ ก็ได้เห็นทานบารมีข้อที่ 1 ที่พระโพธิสัตว์แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำ จึงกล่าวสอนตนอย่างนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญทานบารมีข้อแรกให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า หม้อน้ำที่คว่ำไว้ย่อมคายน้ำออกหมด ไม่นำกลับเข้าไปฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่เหลียวแลทรัพย์ ยศ บุตรและภรรยาหรืออวัยวะน้อยใหญ่ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมด แก่ยาจกผู้มาถึงกระทำมิให้มีส่วนเหลือจักได้นั่งที่โคนต้นโพธิ์เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นกล่าวสอนตนแล้ว จึงอธิษฐานทานบารมีข้อแรกกระทำให้มั่นแล้วท่านจึงกล่าวว่า
เอาเถอะ เราจะเลือกเฟ้นธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งทางโน้นและทางนี้ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ทั้งสิบทิศตลอดถึงธรรมธาตุ
ครั้นเมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่อย่างนั้น จึงได้เห็นทานบารมีข้อที่ 1 เป็นเส้นทางใหญ่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนประพฤติตามคลองธรรมสืบกันมาแล้ว.
ท่านจงสมาทานบารมีข้อที่ 1 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นทานบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ เปรียบเหมือนหม้อน้ำเต็มเปี่ยม ใครผู้ใดผู้หนึ่งคว่ำปากลง น้ำย่อมไหลออกหมด น้ำย่อมไม่ขังอยู่ในหม้อนั้น แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นยาจกไม่ว่าจะต่ำทราม สูงส่งและปานกลาง จงให้ทานให้หมด เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปากลงไว้ฉะนั้น.
ลำดับนั้นเมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็น พระพุทธเจ้า จะไม่พึงมีประมาณเท่านี้เลย จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นศีลบารมี จึงสอนตนว่า “ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ 2 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นศีลบารมี หากท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ เปรียบเหมือนจามรีหางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ปลดขนหางออกไม่ได้ ก็ยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้ง 4 จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหางฉันนั้นเถิด
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ 3 ว่า “ท่านจงสมาทานเนกขัมมบารมีข้อที่ 3 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นเนกขัมมบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ เปรียบเหมือนบุรุษอยู่มานานในเรือนจำ ลำบากเพราะความทุกข์ มิได้ทำความยินดีให้เกิดในเรือนจำนั้น แสวงหาความพ้นออกไปอย่างเดียวฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ เป็นผู้มุ่งหน้าออกบวช เพื่อพ้นจากภพนั้นเถิด.
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ 4 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานปัญญาบารมีข้อที่ 4 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นปัญญาบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ เหมือนภิกษุเมื่อขออยู่ ไม่เว้นตระกูลต่ำ สูง และปานกลาง ย่อมได้อาหารเป็นเครื่องยังชีพ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ท่านเมื่อไต่ถามชนผู้รู้อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ถึงความเป็นปัญญาบารมี จักได้บรรลุพระสัมโพธิญาณฉะนั้นเหมือนกัน.
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ 5 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานวิริยบารมีข้อที่ 5 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นวิริยบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ เหมือนพญาราชสีห์มฤคราช เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในการนั่ง การยืน และการเดิน ประคองใจไว้ในกาลทุกเมื่อแม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงประคองความเพียรไว้ให้มั่นตลอดทุกภพ ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นขันติบารมีข้อที่ 6 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ 6 นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ เหมือนอย่างว่าธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวง ที่เขาทิ้งลงสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคือง เพราะการกระทำนั้นแม้ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ 7 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานสัจจบารมีข้อที่ 7 นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีคำพูดไม่เป็นสองในข้อนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณเหมือนดาวประกายพรึกเป็นดุจคันชั่ง คือเที่ยงตรงในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่ว่าในสมัย ฤดู หรือปีก็ตาม ย่อมไม่โคจรและเวียนออกนอกวิถีโคจร แม้ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ออกไปนอกทางสัจจะทั้งหลาย ถึงความเป็นสัจจบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ 8 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีข้อที่ 8 นี้กระทำให้มั่นก่อน ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ เหมือนภูเขาหินไม่หวั่นไหว คงตั้งอยู่ตามเดิม ไม่สะเทือนเพราะลมแรงกล้า คงตั้งอยู่ในที่ของตนเอง แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐาน ในกาลทั้งปวง ถึงความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ 9 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานเมตตาบารมีข้อที่ 9 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยเมตตา ถ้าท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ เหมือนน้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกัน ชะล้างมลทินคือธุลีออกได้ แม้ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้สม่ำเสมอในชนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล ท่านถึงความเป็นเมตตาบารมีแล้วจักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
สุเมธดาบสใคร่ครวญต่อไปจึงได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ 10 และอธิษฐานว่า “ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมีข้อที่ 10 นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านเป็นผู้มั่นคงประดุจตราชู จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ เหมือนแผ่นดินย่อมวางเฉย ในของไม่สะอาดและของสะอาดที่คนทิ้งลง เว้นจากความโกรธและความยินดีทั้งสองนั้นฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นประดุจตราชั่งในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
เมื่อเริ่มบำเพ็ญบารมีก็เริ่มเป็นพระโพธิสัตว์
เมื่อสุเมธดาบสคิดค้นหาวิธีการที่จะเป็นพระพุทธเจ้า และได้เห็นบารมีธรรม 10 ประการที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จากนั้นได้เกิดอีกหลายแสนชาติเพื่อบำเพ็ญบารมี ช่วงนั้นเรียกว่าพระโพธิสัตว์
ในอรรถกถาวิสุทธชนวิลาสินี ได้พรรณาความต่อไปว่าพระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย ได้กระทำอธิการไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้า 24 พระองค์ มีพระทีปังกรเป็นต้นมาตลอดสื่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป. จากนั้นจึงทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรมมีความเป็นผู้มีทานบารมีเป็นต้น ที่พระโพธิสัตว์นี้ประมวลธรรม 8 ประการนี้ที่ว่า
อภินิหารคือความปรารถนาอย่างจริงจัง ย่อมสำเร็จเพราะประมวลธรรม 8 ประการเข้าไว้คือ “ความเป็นมนุษย์ ความสมบูรณ์ด้วยเพศ ( ชาย) เหตุ (ที่จะได้บรรลุพระอรหัต) ได้พบเห็นพระศาสดา ได้บรรพชา สมบูรณ์ด้วยคุณ(คือได้อภิญญาและสมาบัติ) การกระทำอันยิ่ง (สละชีวิตถวายพระพุทธเจ้า) ความเป็นผู้มีฉันทะ (อุตสาหะพากเพียรมาก)”
จากนั้นได้กระทำอภินิหารไว้ที่บาทมูลของพระทีปังกร แล้วกระทำความอุตสาหะว่า เอาเถอะ เราจะค้นหาธรรม อันกระทำความเป็นพระพุทธเจ้าทั่วทุกด้าน ซึ่งได้เห็นแล้วว่า ครั้งนั้นเราค้นหาอยู่ ก็ได้พบเห็นทานบารมีข้อแรกบำเพ็ญมาจนกระทั่งอัตภาพเป็นพระเวสสันดร และเมื่อดำเนินมา ก็ดำเนินมาเพราะได้ประสบอานิสงส์ของพระโพธิสัตว์ผู้ที่ได้กระทำอภินิหารไว้ ซึ่งท่านพรรณนาไว้ว่า
นรชนผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทุกประการ ผู้เที่ยงต่อพระโพธิญาณอย่างนี้ ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนานแท้ด้วยร้อยโกฏิกัปจะไม่เกิดในอเวจีมหานรก และในโลกันตรนรกก็เช่นกัน
แม้เมื่อเกิดในทุคติ จะไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต ขุปปิปาสาเปรต และกาลกัญชิการ ไม่เป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ เมื่อเกิดในมนุษย์ก็จะไม่เป็นคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เป็นคนหูหนวก ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เกิดเป็นสตรี ไม่เป็นอุภโตพยัญชนกะและกะเทย
นรชนผู้เที่ยงต่อพระโพธิญาณ จะไม่ติดพันในสิ่งใด พ้นจากอนันตริยกรรม เป็นผู้มีโคจรสะอาดในที่ทุกสถาน
การบำเพ็ญบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ให้บริบูรณ์นั้นใช้เวลานานมาก เฉพาะแต่ทานบารมีอย่างเดียวก็หลายชาติเช่นเมื่อครั้งถือกำเนิดเป็นพราหมณ์ชื่อว่าอกิตติ เป็นพราหมณ์ชื่อ สังขะ เป็นพระเจ้าธนัญชัย เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นมหาโควินทะ เป็นพระเจ้านิมิมหาราช เป็นพระจันทกุมาร เป็นวิสัยหเศรษฐี เป็นพระเจ้าสีวิราช กาลเป็นพระเวสสันดรราชา เป็นสสบัณฑิต เรื่องทั้งหมดมีปรากฎในขุททกนิกาย จริยาปิฎก (เล่มที่ 33) ส่วนบารมีอื่นๆยังมีอีกมากแทรกอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
สรุปว่าการจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้หรือไม่อยู่ที่ธรรมสโมธาน 8 ประการบริบูรณ์คือความเป็นมนุษย์ ความสมบูรณ์ด้วยเพศ ( ชาย) เหตุ (ที่จะได้บรรลุพระอรหัต) ได้พบเห็นพระศาสดา ได้บรรพชา สมบูรณ์ด้วยคุณ(คือได้อภิญญาและสมาบัติ) การกระทำอันยิ่ง (สละชีวิตถวายพระพุทธเจ้า) ความเป็นผู้มีฉันทะ (อุตสาหะพากเพียรมาก) และบำเพ็ญพุทธการกธรรม 10 คือ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอเบกขาบารมี
การบำเพ็ญพุทธการกธรรมหรือบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า จึงมิใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการตั้งอธิษฐานจิตแล้วสมาทานเพื่อจะดำเนินไปสู่ความสำเร็จให้ได้ แม้จะเกิดตายหลายแสนชาติ ก็ดำเนินไปเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือความเป็นพระพุทธเจ้า การที่เราชาวพุทธได้ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เพราะการสั่งสมบารมีอันยาวนานของพระพุทธองค์ที่ไม่เคยละทิ้งความพยายาม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
แก้ไขปรับปรุง 09/06/53