ทำงานวิจัยสำเร็จเสร็จสิ้นไปงานหนึ่ง เรื่อง "รูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) เป็นการศึกษาการฝึกอบรมพระธรรมธรรทูตไปต่างประเทศ สภาพปัญหา แนวทางในการพัฒนา ใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี ส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการแล้ว เห็นว่าผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงนำมาเสนอทางเว็บไซต์ เพื่อการศึกษาวิชาการต่อไป มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
The Model of Training the Missionary Monks Going Abroad (Dhammayutta)
พระมหาบุญไทย ปุญฺญมโน (ด้วงวงศ์),ดร.
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานภาพและปัญหาการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เพื่อหาแนวทางในการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และเพื่อสร้างรูปแบบศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า สถานภาพและปัญหาของการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) สรุปได้ดังนี้ (1) การฝึกอบรมด้านวิชาการ การฝึกอบรมไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของวิทยากรผู้บรรยายถวายความรู้เป็นหลัก ซึ่งแต่ละท่านก็บรรยายในเนื้อหาตามที่ตนถนัด ทำให้ขาดเอกภาพ บางวิชาอาจารย์บรรยายไปคนละทาง ผู้เข้าศึกษาอบรมก็ไม่สามารถสรุปเนื้อหาสำคัญได้ ไม่มีระบบการสอบวัดผล ไม่มีระบบการประเมินในแต่ละรายวิชา (2) การฝึกอบรมด้านจิตภาวนา ยังไม่มีหลักสูตรในการฝึกที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของวิทยากรที่มาบรรยายถวายความรู้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนา จึงเรียงลำดับหัวข้อในการบรรยายที่ชัดเจนไม่ได้ วิทยากรมีความชำนาญการปฏิบัติแนวไหนก็บรรยายไปตามแนวที่ตนถนัด (3) ภาคศึกษาดูงานในต่างประเทศ ยังไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ส่วนหนึ่งอาศัยพระธรรมทูตรุ่นพี่ที่เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดียเป็นหลัก ด้านงบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ ต้องขอรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป (4) ด้านการสร้างจิตวิญญาณของพระธรรมทูต ยังไม่ชัดเจนว่าจะสร้างอย่างไร ไปทำงานอะไรในต่างประเทศ ต้องฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความเสียสละทำงานเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยจิตวิญญาณของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
แนวทางการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) ควรมีให้ครบทั้งสองด้านคือ(1)ด้านวิชาการต้องมีความรู้ดีทั้งวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เทคนิควิธีการเผยแผ่ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา (2) ด้านการปฏิบัติต้องยึดมั่นตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดต้องฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ดีทั้งวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและวิชาการที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ได้ต้องให้การศึกษาอบรมพระธรรมทูตให้เป็นผู้ปฏิบัติดีตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา และสามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีความอดทน อดกลั้นได้ในทุกสถานการณ์ ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีอุดมการณ์ มีหลักการ มีวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและต้องสร้างจิตวิญญาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พระธรรมทูต
องค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) เป็นการสังเคราะห์จากการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกจึงได้รูปแบบที่เหมาะสมในการการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) คือ“KPTIS : Model”
K= ย่อมาจากคำว่า Good Knowledge แปลว่า “ความรู้ดี” ต้องฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ดีทั้งวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและวิชาการที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ได้
P= ย่อมาจากคำว่า Good Practice แปลว่า “ปฏิบัติดี” ต้องให้การศึกษาอบรมพระธรรมทูตให้เป็นผู้ปฏิบัติดีตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา และสามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติได้ในชีวิตจริง
T= ย่อมาจากคำว่า Tolerance แปลว่า “ความอดทน” ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีความอดทน อดกลั้นได้ในทุกสถานการณ์
I= ย่อมาจากคำว่า Ideology แปลว่า “อุดมการณ์” ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีอุดมการณ์ มีหลักการ มีวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
S= ย่อมาจากจากคำว่า Spirit of Propaganda แปลว่า “จิตวิญญาณในการเผยแผ่” ต้องสร้างจิตวิญญาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พระธรรมทูต
คำสำคัญ :1.รูปแบบ 2.การศึกษาอบรม 3.พระธรรมทูตไปต่างประเทศธรรมยุต
ABSTRACT
The aims this research were; (1) to study the states and problems of training the missionary monks going abroad (Dhammayutta), (2) to find a guideline in training the missionary monks going abroad (Dhammayutta), and (3) to create a model for training the missionary monks going abroad(Dhammayutta). The data of this qualitative research were obtained by in-depth interviews.
The research results found that the states and problems of training the missionary monks going abroad (Dhammayutta) as follows; (1) In the academic training, there was no specific course of training.The course contents were depended on guest speakers and teachers. It was difficult for the trainees to focus the course contents. And again, there were also no specific evaluation criteria for each subject. (2) In the meditation training, there also were no specific course contents, depending on knowledge and experience of the meditation masters. (3) In study and training abroad, there was no particular one responsible for the work, depending on the former missionary seniors studying or working in India. The budget was limited and could not cover the actual expenditure; donations were raised from the public. (4) In building missionary spirit, how to build, how to devote for Buddhist propagation, and what work to do abroad were waiting to be set up.
The guideline in the training missionary monks going abroad (Dhammayutta) should cover 2 dimensions; (1) In academic, the trainees must be accomplished with good knowledge of Buddhism, propaganda techniques and cultures or traditions of the target countries where they would go and work. (2) In practical training, the trainees must strictly adhere to the codes of Discipline, could apply the Buddhist teachings to modern science and daily life practice, have patience and tolerance in situations, and have heart and mind in Buddhist propagation.
The synthesis of the study the training of missionary monks going abroad (Dhammayutta) could be concluded in a model for training the missionary monks going abroad (Dhammayutta) in “KPTIS : Model”. K was for good knowledge, P for good practice, T for tolerance, I for ideology, and S for spirit in propagation.
Keywords : 1. Model 2. Training 3. Dhammayutta missionary monks
ที่มาและความสำคัญของปัญหาที่ทำการวิจัย
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พระภิกษุในยุคแรกก่อนที่จะส่งไปประกาศศาสนาความว่า “พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย[1] นโยบายในการส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้นทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักของประชาชน พระสงฆ์สาวกผู้ไปปฏิบัติหน้าที่ในการประกาศพระศาสนาในกาลต่อมาเรียกว่า “พระศาสนทูต พระสมณทูต” ปัจจุบันเรียกว่า “พระธรรมทูต” ซึ่งหมายถึงพระภิกษุผู้ทำหน้าที่จาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งในและต่างประเทศ บทบาทด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาโดยการใช้สื่อที่แตกต่างกัน ยุคแรกใช้วิธีมุขปาฐะ ต่อมาพัฒนาเป็นจารึกตามผนังถ้ำ เป็นคัมภีร์ เป็นเอกสาร เป็นหนังสือ ตำรา เผยแผ่ทางวิทยุโทรทัศน์ และปัจจุบันได้พัฒนาวิธีการเผยแผ่โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ บทบาทด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตก็ได้รับการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละยุคสมัย
งานพระธรรมทูตในประเทศไทย หรือโครงการพระธรรมทูตที่ต้องการศึกษานี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 เนื่องจากกรมการศาสนามีความประสงค์ที่จะฟื้นฟูงานพระธรรมทูต โดยการนำเอารูปแบบการปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้าเริ่มส่งพระสาวกออกเผยแผ่พระพุทธศาสนามาใช้ ตามความมุ่งหวังที่ปรากฏในคำกราบบังคับทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่อธิบดีกรมการศาสนา (พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์) ไปปฏิบัติงานพระศาสนาที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีข้อความบางตอนว่า “เนื่องด้วยกรมการศาสนา ได้ประมวลข้อสังเกตของบุคคลหลายฝ่ายซึ่งมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติศาสนาได้สอดคล้องต้องกันว่าทุกวันนี้ประชาชนพลเมืองจำนวนมาก มีความอุตสาหะวิริยะที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาลดน้อยลง ความเลื่อมใสศรัทธาในพระสงฆ์พุทธสาวกก็ลดถอย ทั้งยังมีผู้นำเอาลัทธิอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของประเทศชาติศาสนา และต่อความสงบสุขของประชาชนมาเผยแพร่ชักจูงใจอีกด้วย เพื่อป้องกันความเสื่อมทางด้านจิตใจของประชาชนพลเมืองในอนาคต กรมการศาสนาจึงวางแผนที่จะฟื้นฟูสัมมาปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน...โดยส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่พระศาสนาแบ่งเป็น 9 สาย ตามแบบอย่างการส่งพระธรรมทูตออกประกาศพระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช...[2]
ในการจัดทำโครงการนี้ กรมการศาสนาปรารถนาจะให้เป็นงานของพระสงฆ์ในความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหม่และต้องการจะทดลองทำเพื่อศึกษาให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นก่อน จึงไม่ได้แต่งตั้งเจ้าคณะตามรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นรับผิดชอบทั่วประเทศ ได้ใช้วิธีการอาราธนาพระเถระผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าสายจัดพระธรรมทูตออกแยกย้ายจาริกเป็น 7 สายไปก่อน[3]
จนกระทั้งสองปีผ่านไปปรากฏว่า การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยดี และได้ผลเกินคาด กรมการศาสนาพิจารณาเห็นว่าควรจะได้จัดองค์กรการบริหารแต่ละระดับให้สมบูรณ์ มีเจ้าคณะรับผิดชอบแต่ละระดับอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้อาราธนาพระเถระหัวหน้าพระธรรมทูต ทุกสายมาประชุมปรึกษาหารือในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2508 ที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สถานการณ์ของโลกปัจจุบันยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นจะต้องดำเนินงานพระธรรมทูตให้ได้ผลดียิ่งขึ้น และควรให้รับโครงการนี้เป็นงานของคณะสงฆ์ โดยเสนอให้คณะกรรมการมหาเถรสมาคมพิจารณาลงมติรับรองและมอบหมายให้พระเถระรูปใดรูปหนึ่งเป็นแม่กองดำเนินการ กรมการศาสนาจึงได้ร่างแผนงานโดยสังเขปของ “โครงการเผยแพร่ศีลธรรมโดยพระธรรมทูต” ขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาและกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ในที่สุดคณะกรรมการมหาเถรสมาคมได้มีมติรับไว้เป็นโครงการถาวรและเป็นงานของพระสงฆ์ทั้งสองนิกายและมอบให้ สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นแม่กองงานพระธรรมทูตมหาเถรสมาคมได้มีมติให้ใช้ตำหนักล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ตั้งของสำนักฝึกอบรมธรรมทูตไปต่างประเทศ และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2509 จึงได้ประกอบพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นที่ 1 ขึ้น ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธี
ในส่วนของคณะกรรมการอำนวยการฝึกอบรม ได้ประชุมกันพิจารณากำหนดหลักการและวิธีการฝึกอบรมหลายครั้ง และตั้งได้อนุกรรมการขึ้นพิจารณาหลักสูตรการอบรมขึ้นคณะหนึ่ง ได้ตกลงกำหนดสรุปเป็นหลักใหญ่ ๆ เพื่อบริหารงานคือ
1. การฝึกอบรม ให้มีทั้งในขั้นปริยัติและขั้นปฏิบัติ และโดยเฉพาะให้มีการฝึกให้สามารถใช้ภาษาได้ดี และให้มีความรู้ทางศาสนาและทางอื่นที่ควรรู้เป็นวิชาประกอบพอเพียง และฝึกทางปฏิบัติให้ถึงระดับที่สมควร
2.ในขั้นปริยัติที่จะเปิดสถานฝึกอบรม ให้เลือกพระภิกษุผู้สำเร็จชั้นปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่ง คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยแห่งละ 10 รูป ด้วยมอบให้เลขาธิการมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งนั้นเป็นผู้เลือกเสนอ กับให้กรรมการฝึกอบรมฝ่ายบรรพชิตซึ่งมีอยู่ (ในระยะแรก) 6 รูปเลือกพระภิกษุอีกท่านละ1 รูป โดยให้เลือกพระภิกษุผู้มีระดับความรู้ชั้นปริญญาสงฆ์หรือเทียบเท่า จึงรวมพระภิกษุผู้เข้ารับการฝึก 26 รูป ส่วนในขั้นปฏิบัติ นอกจากจะมีการฝึกพระภิกษุทั้ง 26 รูปในทางปฏิบัติด้วยแล้ว ได้ตกลงขอให้กรรมการฝ่ายบรรพชิตเลือกพระภิกษุผู้เป็นนักปฏิบัติโดยเฉพาะไว้อีกด้วย จะได้มีกำหนดการอาราธนามาร่วมปฏิบัติอบรมเพื่อให้อยู่ในแนวที่รับรองต้องกันในโอกาสต่อไปเพราะในการออกไปปฏิบัติศาสนกิจนั้น ควรจะมีพระภิกษุผู้มีความรู้สามารถทั้งทางปริยัติและปฏิบัติคู่กันไป ทั้งควรจะปฏิบัติด้วยตนเองและแสดงแก่ผู้อื่นในแนวเดียวกัน ตามแบบพระสงฆ์ไทยสายเถรวาททั้งหมด
3.หลักสูตรที่กำหนดในการฝึกอบรม ได้กำหนดวิชาต่าง ๆ หลายแขนงในระดับที่สูงกว่าขั้นปริญญาตามที่ได้ศึกษามาแล้วในมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนั้น แต่สรุปว่าให้อยู่ในหลักการฝึกดังนี้คือ ฝึกการถ่ายทอด การวางตัว และการวางโครงการดำเนินงาน เพราะการถ่ายทอดเป็นเรื่องสำคัญของการปฏิบัติงาน ทั้งในด้านภาษาทั้งในด้านวิชาจะต้องมีความสามารถที่จะถ่ายทอดจะต้องมีการวางตัวดี อันหมายถึงการปฏิบัติธรรมวินัยดี ตลอดถึงการปฏิบัติวางตัวดีโดยประการอื่น และจะต้องมีโครงการปฏิบัติอันเหมาะสม ในการนี้ได้กำหนดเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศหลายท่านมาร่วมเป็นวิทยาทายก ซึ่งก็ได้รับความร่วมศรัทธาเป็นอันดี
4. สถานที่ฝึกอบรม ตกลงให้ใช้ที่ชั้นบนแห่งตำหนักเดิมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่เรียกว่า “ตำหนักล่าง” ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานและที่ประชุมมานานแล้ว และมีที่ว่างพอเป็นที่ใช้ฝึกอบรมได้ ทั้งนี้เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงฟื้นฟูส่งเสริมการศึกษาและการปกครองคณะสงฆ์ให้มีระดับสูงขึ้นเป็นอันมาก ดังที่ได้ปรากฏเป็นที่รับรองยกย่องนับถือกันทั่วไป การที่พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันเจริญขึ้นด้วย การศึกษาและการปฏิบัติย่อมกล่าวได้ว่า เนื่องจากพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น แม้งานเกี่ยวกับพระธรรมทูตในบัดนี้ ย่อมเนื่องมาจากพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการเปิดฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นสถาบันครั้งแรก ณ ตำหนักที่พระองค์ท่านเคยประทับ ย่อมจะเป็นอนุสติถึงพระกรุณาธิคุณ ซึ่งยังปกแผ่อยู่เป็นที่พึ่งต้านทานอุปสรรคทั้งปวง ทางวัดบวรนิเวศวิหารได้อนุญาตให้ใช้ได้ตามต้องการ
5. ระยะการฝึกอบรม กำหนดหนึ่งปีกับหกเดือน และจะมีการฝึกปฏิบัติงานเหมือนอย่างไปปฏิบัติงานในต่างประเทศจริง กับการฝึกปฏิบัติทางจิตใจในอรัญญิกาวาสในระยะต่าง ๆ อีกด้วย”[4]
การฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศได้จัดขึ้นร่วมกันทั้งสองนิกายในระหว่างปี พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ.2510 และได้หยุดลงด้วยเหตุปัจจัยจำเป็นบางประการ แต่ยังมีพระสงฆ์ไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่างประเทศมากขึ้น
ดังนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม จึงให้มีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ โดยถวายให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์มหานิกาย และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์ธรรมยุต พระมหาเถระทั้งสองได้มอบภาระงานนี้ แก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยโดยลำดับเป็นหน่วยงานดำเนินการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) นั้น หลังจากที่มหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์แล้วนั้น ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรม ฯ ประกอบด้วยพระเถรานุเถระจากคณะธรรมยุตและผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและคฤหัสถ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และในส่วนการฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น ก็ได้มอบมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยพิจารณาดำเนินการเรื่อยมา
ในส่วนของการบริหารงานของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) นั้นหลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารแล้ว ก็ได้มีการออกระเบียบสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ว่าด้วยการไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศสำหรับพระธรรมทูต พ.ศ. 2543 ซึ่งในระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตในต่างประเทศของคณะสงฆ์ธรรมยุต กรอบการบริหารงาน ภาระงาน จริยาพระธรรมทูต และให้มีสำนักงานเลขานุการ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เพื่อเป็นศูนย์ประสานการดำเนินงานด้านการฝึกอบรม การบริหารและการเผยแผ่อย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ
ในส่วนของหน่วยงานภายในของสำนักฝึกอบรมนั้น จากการที่ระเบียบสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ ระบุให้มีสำนักงานเลขานุการ และให้มีตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร และให้มีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นเลขานุการสำนักงานพร้อมมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำ ซึ่งนอกจากจะเป็นพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการปฏิบัติงานจากต่างประเทศมาร่วมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ยังมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยร่วมดำเนินการด้วย นอกจากนั้นยังจัดตั้งและขยายหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเช่น มีการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ขึ้น ณ วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขนเมื่อ พ.ศ.2547 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมพระธรรมทูตในภาควิชาการ และมีวัดที่ร่วมดำเนินการในการฝึกอบรมด้วยคือวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคจิตภาวนา และวัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ในพระองค์ ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนคสวรรค์ เป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคนวกรรม
จากข้อมูลทางสถิติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ในปี พ.ศ.2556 มีพระธรรมทูตในประเทศ 4,892 พระธรรมทูตที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศ 1,390 รูป มีพระสงฆ์ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม 714 รูป พระสงฆ์ไทยเดินทางออกนอกประเทศ 8,606 รูป มีวัดไทยในต่างประเทศ 445 วัด[5] จากอดีตที่ผ่านมาพระธรรมทูตไทยทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนสามารถสร้างวัดขึ้นในต่างประเทศได้หลายแห่ง
จากสถานภาพและปัญหาของพระธรรมทูตไทยที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศในปัจจุบัน การศึกษาอบรมพระภิกษุเพื่อทำหน้าที่พระธรรมทูตยังไม่ตอบสนองความต้องการของการเผยแผ่พระพุทธในต่างประเทศ ดังนั้นต้องมีแนวทางในศึกษาอบรมที่เหมาะสม มีการการพัฒนาหลักสูตร มีรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศมราเหมาะสมกับความเจริญของโลกในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
1. เพื่อศึกษาสถานภาพและปัญหาการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
2. เพื่อหาแนวทางในการการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
3. เพื่อสร้างรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
ขอบเขตของโครงการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้วางขอบเขตไว้ดังต่อไปนี้
1. ด้านเนื้อหาศึกษาจากเอกสารขั้นปฐมภูมิจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา และศึกษาจากเอกสารขั้นทุติยภูมิคือเอกาสารทางวิชากรอื่น ๆ สัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มประชากรที่คัดเลือก
2. ด้านประชากร กรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)และพระธรรมทูตไทยที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในประเทศและในประเทศ
3. ขอบเขตด้านสถานที่ เป็นการวิจัยเฉพาะกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และกลุ่มพระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในประเทศและในประเทศ
4. ขอบเขตด้านเวลา คือระยะเวลา 1 ปี (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2561- 30 กันยายน 2562)
คำนิยามศัพท์
การศึกษาอบรม หมายถึง การฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
พระธรรมทูต หมายถึง พระภิกษุที่ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระธรรมทูตไปต่างประเทศ หมายถึง พระภิกษุที่ผ่านการอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ทราบถึงสถานภาพและปัญหาการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
2. ได้แนวทางในการการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
3. ได้รูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการวิจัย เพื่อตอบวัตถุประสงค์ให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ ดังนี้
ประชากรที่ศึกษา ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ได้แก่กรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
เทคนิคและวิธีเลือกกลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยครั้งนี้ ได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีเปิดตารางสำเร็จของเกรจซี่ และมอร์แกน จำนวนประชากรมีจำนวนมาก จึงสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงดังนี้ กรรมการที่ปรึกษา 2 รูป กรรมการบริหาร 3 รูป คณาจารย์ 5 รูป/คน เจ้าหน้าที่สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) จำนวน 5 รูป/คน และพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)จำนวน 20 รูปได้กลุ่มประชากรตัวอย่างทั้งหมด 35 รูป/คน จากนั้นจึงลงพื้นที่สัมภาษณ์ ในการวิจัยครั้งนี้ยังมีการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกับกลุ่มประชากรที่คัดเลือกจำนวน 24 รูป/คน
3. ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการแบ่งข้อมูลที่ใช้ได้ดังนี้ดังนี้
1) สำรวจข้อมูลจากเอกสารปฐมภูมิคือคัมภีร์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งข้อมูลจากเอกสารทุติยภูมิ คือทฤษฎี แนวคิด งานวิจัย วิทยานิพนธ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องเช่น ตำรา หนังสือ วารสาร บทความ งานเขียน เป็นต้น
2) นำข้อมูลที่ได้มาจัดประเภท วิเคราะห์ อธิบายความ ตีความแล้วนำมาสังเคราะห์เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย
3) ขอคำแนะปรึกษา และความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย
4) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก
4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
5. การสร้างและทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยสร้างขึ้นโดยผู้วิจัยเองภายใต้กรอบแนวคิด ทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หรือนิยามศัพท์ปฏิบัติการ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย สมมุติฐานการวิจัย โดยใช้คำถามแบบปลายเปิด เมื่อสร้างแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเนื้อหา โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน คือ (1) รศ.ดร.สุกิจ ชัยมุสิก (2) ดร.จักรวาล สุขไมตรี และ (3) ดร.สุมานพ ศิวารัตน์ เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ เพื่อหาความตรงของเนื้อหา (Content Validity) ได้ค่า IOC = 1.0 จากนั้นจึงได้นำแบบสอบสัมภาษณ์ มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และแล้วจึงนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มประชากรคือกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
6. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีในการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้
1.สำรวจจำนวนประชากรที่ศึกษาคือกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เพื่อให้รู้จำนวนที่แน่ชัด คัดเลือกกลุ่มประชากรเพื่อสัมภาษณ์ เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้กลุ่มประชากรอยู่ในสภาพพื้นที่ห่างไกล หลายท่านปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ผู้วิจัยไม่สามารถเดินทางไปสัมภาษณ์ด้วยตนเองได้ จึงได้ส่งแบบสัมภาษณ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์คืออีเมล์ เฟสบุ๊ค และไลน์ เมื่อตอบกลับมาจึงเก็บข้อมูลไว้
1) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัย
2) เมื่อได้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกลับคืนมานำมาตรวจสอบความสมบูรณ์และจัดระเบียบข้อมูล
7. การตรวจสอบข้อมูล
ขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล ความเป็นไปได้ คณะผู้วิจัยมีการตรวจสอบความแม่นตรง (Validity) และความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของข้อคำถามภาคสนามทุกครั้งที่เก็บข้อมูล ด้วยการดูว่าข้อคำถามได้สื่อความหมายตรงตามที่ต้องการหรือไม่ ทดสอบกับสภาพแวดล้อม และข้อมูลอื่นที่มีอยู่เดิมจากแหล่งอื่น ๆ ในลักษณะทดสอบตามวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อจะได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด จากการสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ของข้อมูลประชากร ด้วยการตรวจสอบข้อมูลในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ตรวจสอบข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้ให้ข้อมูลหรือหลักฐานต่าง ๆ จากภาคสนามที่วิจัยตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานข้อมูล
2. ตรวจสอบด้วยกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเพื่อนนักวิจัย (Peer Examination) โดยให้ข้อมูลและรายละเอียด แสดงความคิดเห็น วิจารณ์ ตลอดถึงการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักฐานและข้อมูล แบบแผนที่เป็นแก่นสารที่ทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้จากข้อมูลหลักฐานที่เก็บไว้ รวบรวมได้จากสนามการวิจัย
3. ทำการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องด้วยวิธีสามเส้า (Triangulation Method) คือ (1) ความแตกต่างของผู้ให้ข้อมูล (2) ความแตกต่างด้านพื้นที่ให้ข้อมูล (3) ความแตกต่างของเวลาที่ให้ข้อมูล ซึ่งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ข้อมูลตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันจำเป็นต้องหาข้อมูลจนได้ข้อยุติในลักษณะเดิมในทุกประเด็นของคำถาม
8. การวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล
หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าจากเอกสาร การสัมภาษณ์ มาทำการสังเคราะห์เชิงเนื้อหาด้วยการจัดเรียงโดยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ หรือเป็นประเภทให้อยู่ในหมวดเดียวกัน ซึ่งจำแนกเป็นข้อมูลเพื่อตอบโจทย์วิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัยตามลักษณะข้อมูล หลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลความหมาย ผู้วิจัยได้สังเคราะห์และวิเคราะห์จากบุคคลที่ได้ทำการสัมภาษณ์ จากนั้นจึงนำสาระสำคัญที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ โดยการวิเคราะห์ดังนี้
วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดโดยมีบทบาททั้งหมดเป็น Input แบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็น Process การจัดการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ Output และองค์ความรู้ใหม่เป็น Outcome
9. สถานที่ทำการทดลองและเก็บข้อมูล
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยและคณะได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศคือกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
10. การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสาร ตำรา งานเขียน การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อสร้างรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) โดยมีกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) และพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึก จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อสร้างรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ต่อไป
ผลการวิจัย/สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
การสรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามลำดับดังนี้
วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1.เพื่อศึกษาสถานภาพและปัญหาการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) 2.เพื่อหาแนวทางในการการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) 3.เพื่อสร้างรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
วิธีดำเนินการวิจัย 1.ข้อมูลเชิงคุณภาพได้แก่แบบสัมภาษณ์เชิงลึกจากกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศจำนวน 35 รูป/คน มีการจัดกระทำและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis) โดยศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดหลายรอบ แล้วหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้นเพื่อกำหนดทิศทาง จัดข้อมูลเป็นหมวดหมู่ และสร้างข้อสรุปตามกรอบการศึกษาค้นคว้าแล้วรายงานผลโดยการพรรณนาวิเคราะห์
ขอบเขตของโครงการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้วางขอบเขตไว้ดังต่อไปนี้ 1. ด้านเนื้อหาศึกษาจากเอกสาร ตำรา งานเขียนขั้นปฐมภูมิ จากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) จากนั้นจึงศึกษาจากเอกสารขั้นทุติยภูมิคือเอกสารทางวิชาการอื่น ๆ การสัมภาษณ์เชิงลึก 2. ด้านประชากร กรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ 3.ขอบเขตด้านสถานที่ เป็นการวิจัยจากพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ทั้งที่ปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย และปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ 4.ขอบเขตด้านเวลา คือระยะเวลา 1 ปี (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2561)
ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย การวิจัยเรื่องนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ข้อมูลในการวิจัยมี 2 ประเภทคือ ข้อมูลชั้นต้น (Primary Data) ได้แก่ข้อมูลที่เขียนบันทึกคัดลอกจากเอกสารชั้นต้นได้แก่หนังสือ งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลชั้นรอง (Secondary Data) ได้แก่การสัมภาษณ์เชิงลึกกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศจำนวน 35 รูป/คน ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระธรรมทูต โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบเครื่องมือจากผู้เชียวชาญ จากนั้นนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาทำการวิเคราะห์เนื้อหา
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่แบบสัมภาษณ์เชิงลึก โดยผู้วิจัยดำเนินการเองออกเก็บข้อมูลจากกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร เจ้าหน้าที่ คณาจารย์สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศตามที่กำหนด เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์หารูปแบบการศึกษาออบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ต่อไป
วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลคือ 1. รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร หนังสือ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2. นักวิจัยพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ 3. เก็บรวบรวมเครื่องมือและข้อมูลทั้งหลาย นำมาตรวจสอบความสมบูรณ์ และจัดระเบียบข้อมูลตามเนื้อหา
การตรวจสอบข้อมูล ผู้วิจัยมีการตรวจสอบความแม่นตรง (Validity) และความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของข้อคำถามภาคสนามทุกครั้งที่เก็บข้อมูล ด้วยการดูว่าข้อคำถามได้สื่อความหมายตรงตามที่ต้องการหรือไม่ ทดสอบกับสภาพแวดล้อม และข้อมูลอื่นที่มีอยู่เดิมจากแหล่งอื่น ๆ ในลักษณะทดสอบตามวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อจะได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด จากการสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มของข้อมูลประชากร ด้วยการตรวจสอบข้อมูลในด้านต่าง ๆ คือ (1) ตรวจสอบข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้ให้ข้อมูลหรือหลักฐานต่าง ๆ จากภาคสนามที่วิจัยตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานข้อมูล (2) ตรวจสอบด้วยกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเพื่อนักวิจัย (Peer Examination) โดยให้ข้อมูลและรายละเอียด แสดงความคิดเห็น วิจารณ์ ตลอดถึงการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักฐานและข้อมูล แบบแผนที่เป็นแก่นสารที่ทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้จากข้อมูลหลักฐานที่เก็บไว้ รวบรวมได้จากสนามการวิจัย (3) ทำการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องด้วยวิธีสามเส้า (Triangulation Method) คือ (1) ความแตกต่างของผู้ให้ข้อมูล (2) ความแตกต่างด้านพื้นที่ให้ข้อมูล (3) ความแตกต่างของเวลาที่ให้ข้อมูล ซึ่งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ข้อมูลตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันจำเป็นต้องหาข้อมูลจนได้ข้อยุติในลักษณะเดิมในทุกประเด็นของคำถาม
การวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม มาทำการสังเคราะห์เชิงเนื้อหาด้วยการจัดเรียงโดยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ หรือเป็นประเภทให้อยู่ในหมวดเดียวกัน ซึ่งจำแนกเป็นข้อมูลเพื่อตอบโจทย์วิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัยตามลักษณะข้อมูล หลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลความหมาย ผู้วิจัยได้สังเคราะห์และวิเคราะห์จากบุคคลที่ได้ทำการสัมภาษณ์ แล้วนำสาระสำคัญที่เหมาะสมกับการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) โดยการวิเคราะห์ดังนี้
วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดโดยมีบทบาททั้งหมดเป็น Input แบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็น Process การศึกษาออบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็น Output และองค์ความรู้ใหม่เป็น Outcome
ผลการวิจัย
สถานภาพของการศึกษาออบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) จากการสัมภาษณ์ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดกลุ่มบุคคลไว้คือกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร เจ้าหน้าที่ คณาจารย์สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
สถานภาพของการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) พอสรุปได้ 3 ยุคคือ ยุคแรกการศึกษาอบรมพระธรรมทูตเกิดจากแนวคิดของการที่จะฝึกอบรมพระภิกษุเพื่อให้เป็นพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ในยุคแรกฝึกอบรมทั้งสองนิกาย มีจำนวนพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตเข้าฝึกอบรมเพียง 9 รูป ระยะเวลาในการศึกษาอบรม 2 ปี จึงสามารถศึกษาได้รอบด้านทั้งด้านวิชาการ ด้านการปฏิบัติ และด้านการสร้างวิญญาณของนักเผยแผ่ พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมในยุคแรกจึงสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศอย่างได้ผล แต่ปัญหาคือระยะเวลาในการฝึกอบรมมากเกินไป ทำให้กระบวนการในการฝึกอบรมไม่มีความต่อเนื่อง บางช่วงต้องหยุดไปเนื่องจากติดเทศกาลเข้าพรรษา บางช่วงผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีภาระหน้าที่ในการปฏิบัติศาสนากิจในวัดที่ตนสังกัด ด้านสถานที่ก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน เพราะต้องอาศัยความพร้อมของวัดและคณาจารย์ในต่างจังหวัด
ยุคที่สองด้านสถานที่ได้ระบุไว้ที่มหาวิทยาลัยมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม และวัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการ เพราะสถานที่แต่ละแห่งเป็นวิทยาเขตในสังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งจะต้องจัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณรในระดับปริญญาตรี ด้านจำนวนผู้เข้าศึกษาอบรมไม่จำกัดทั้งอายุและคุณวุฒิ ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ ทั้งด้านสถานที่ฝึกอบรมบางแห่งคับแคบเกินไป สถานที่พักก็ไม่เพียงพอ ด้านอาหารก็ลำบาก งบประมาณสนับสนุนก็ไม่เพียงพอ ต้องขอรับบริจาคจากคณะศรัทธาทั่วไป บางปีไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ด้านระยะเวลากำหนดไว้เพียงหนึ่งเดือนเดือน ซึ่งทำให้ไม่สามารถศึกษาอบรมได้ครบตามหลักสูตร เพราะเงื่อนไขของเวลา
ยุคที่สามได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง โดยได้ก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ขึ้นที่พระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร และได้ออกระเบียบ ข้อบังคับในการศึกษาอบรม ระเบียบในการเดินทางไปต่างประเทศขึ้นอีกหลายฉบับ ในด้านจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาอบรมก็ได้ระบุจำนวนไว้ชัดเจนปีละไม่เกิน 60 รูป ด้านคุณวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกคือเมื่อผ่านการศึกษาอบรมไปประมาณ 10 รุ่น จำนวนพระภิกษุที่ระบุคุณสมบัติไว้มีจำนวนไม่เพียงพอ จึงได้แก้ไขระเบียบ เพื่อลดคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาอบรมลงเป็นนักธรรมชั้นเอก และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และหากจะมีพระภิกษุที่มีคุณสมบัติต่อกว่านั้นก็ให้เป็นดุลยพินิจของกรรมการการฝึกอบรม บางรุ่นผู้เข้าฝึกอบรมจึงมีระดับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น(ที่คณะกรรมการอนุมัติให้เข้าศึกษาอบรม) จนถึงปริญญาเอกด้านระยะเวลาในการศึกษาอบรมได้กำหนดไว้สามเดือน ปัญหาที่ตามมาคือพระภิกษุที่เข้ารับการฝึกอบรมมีระดับความรู้แตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการศึกษา ในบางรายวิชาเช่นภาษาอังกฤษ บางรูปแทบจะไม่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลยก็มี สถานที่การฝึกอบรมภาควิชาการให้ใช้สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) วัดพระศรีมหาธาตุ ส่วนสถานที่ฝึกอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานใช้วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม จังหวัดนครราชสีมา และได้เพิ่มภาคศึกษาดูงานในประเทศอินเดีย-เนปาลเข้ามาอีก
ปัญหาของการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) จากการศึกษาเอสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกพระธรรมทูตที่ผ่านการศึกษาอบรมทั้งยุคแรก ยุคที่สอง และยุคที่สาม ได้ข้อสรุปดังนี้ (1) ด้านวิชาการ การฝึกอบรมไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของวิทยากรผู้บรรยายถวายความรู้เป็นหลัก ซึ่งแต่ละท่านก็บรรยายในเนื้อหาตามที่ตนถนัด ทำให้ขาดเอกภาพ บางวิชาอาจารย์บรรยายไปคนละทาง ผู้เข้าศึกษาอบรมก็ไม่สามารถสรุปเนื้อหาสำคัญได้ ที่สำคัญไม่มีระบบการสอบวัดผล ไม่มีระบบการประเมินในแต่ละรายวิชา (2) ด้านการฝึกอบรมจิตภาวนา ยังไม่มีหลักสูตรในการฝึกที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของวิทยากรที่มาบรรยายถวายความรู้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนา จึงเรียงลำดับหัวข้อในการบรรยายที่ชัดเจนไม่ได้ วิทยากรมีความชำนาญการปฏิบัติแนวไหนก็บรรยายไปตามแนวที่ตนถนัด (3) ภาคศึกษาดูงานในต่างประเทศ ยังไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ส่วนหนึ่งอาศัยพระธรรมทูตรุ่นพี่ที่เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดียเป็นหลัก ด้านงบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ ต้องขอรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป (4) การฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีความอดทนอดกลั้น ยังไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน แต่แทรกอยู่ในการฝึกทั้งสามภาคคือภาควิชาการ ภาคจิตภาวนาและภาคศึกษาดูงาน ถ้าจะมีหลักสูตรในการฝึกฝนความอดทนต้องส่งพระธรรมทูตไปอบรมในวัดฝ่ายวิปัสสนาที่มีการฝึกด้วยการปฏิบัติจริง ๆ (5) ส่วนด้านการสร้างอุดมการณ์ หลักการ วิธีการนั้นได้แทรกอยู่ในภาควิชาการ ด้วยการศึกษาจากปฏิปทาของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกในสมัยพุทธกาล และครูอาจารย์ที่ได้ดำเนินการด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ (6) ด้านการสร้างจิตวิญญาณของพระธรรมทูตก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสร้างอย่างไร เพราะผู้เข้าอบรมบางรูปต้องการมาศึกษาอบรมเพียงเพื่อต้องการหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น ไม่ได้ใส่ใจศึกษาอบรมเพื่อที่จะเป็นพระธรรมทูตจริง ๆ อาศัยการฝึกอบรมเป็นช่องทางในการเดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น
แนวทางการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ควรมีให้ครบรอบด้าน คือด้านปริยัติธรรมต้องมีความรู้ดีทั้งวิชาด้านพระพุทธศาสนา เทคนิควิธีการเผยแผ่ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการปฏิบัติต้องยึดมั่นตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แม้ว่าสภาพของบางประเทศจะมีสภาพหนาวเย็นก็ต้องอนุวัตรตามได้ แต่อย่างทิ้งหลักธรรมวินัยอันเป็นแบบแผนในการปฏิบัติตนของพระภิกษุ ส่วนความรู้ด้านอื่น ๆ ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มาก หากมีปัญหาให้ปรึกษากับครูอาจารย์จะได้หาทางช่วยกันแก้ไข
อีกอย่างหนึ่งพระธรรมทูตต้องศึกษาอบรมให้มีความอดทนอดกลั้นให้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากความเคยชินในประเทศไทย บางครั้งต้องเผชิญกับลัทธิศาสนาอื่นที่มีหลักคำสอนแตกต่าง มีแนวปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน พระธรรมทูตต้องอดทนให้ได้ โดยยึดมั่นในอุดมการณ์ หลักการและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้คืออย่าไปกล่าวร้าย อย่าไปประทุษร้าย ต้องยึดมั่นในหลักปฏิบัติคือพระธรรมทวินัยอย่างเคร่งครัดไม่หวั่นไหวไปกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องฝึกฝนอบรมตนให้มีความมั่นคง นอกจากนั้นต้องมีจิตวิญญาณของพระธรรมทูตเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความเสียสละเป็นพื้นฐานอย่าได้หลงระเริงไปกับลาภสักการะและอามิสต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาเป็นหลักสูตรในการฝึกอบรมคือภาคนวกรรมเบื้องต้น เพราะพระธรรมทูตที่ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศบางครั้งก็ต้องดูแลซ่อมแซมเสนสนะเอง
สรุปผลการวิจัย
รูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นผู้ดำเนินการโดยมีรูปแบบการบริหารคือมีกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร เจ้าหน้าที่ คณาจารย์สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) มีการประชุมสามัญประจำปีจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับทราบสรุปผลของการดำเนินงาน ปรึกษาหารือหาแนวทางในการพัฒนาและ กำหนดนโยบายในการศึกษาอบรม ผู้ที่ดำเนินการจริง ๆ จึงอยู่ที่เจ้าหน้าที่สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) มีสำนักงานอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร
รูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ได้กำหนดไว้ 3 ภาค คือภาควิชาการ ภาคจิตภาวนาและภาคศึกษาดูงานในประเทศอินเดี-เนปาล แม้จะมีหลักสูตรในการฝึกอบรมแต่ยังขาดการกำหนดเนื้อหา ขาดเอกสารประกอบการสอน ขาดตำราที่เป็นมาตรฐานในการศึกษาอบรม ส่วนการสร้างจิตวิญญาณ การยึดมั่นในอุดมการณ์ การฝึกฝนความอดทน แม้จะไม่มีหลักสูตรโยตรงแต่ก็ต้องสอดแทรกอยู่ในการศึกษาอบรมทั้งสามภาค พระธรรมทูตที่มีอุดมการณ์ มีความอดทน มีจิตวิญญาณของพระธรรมทูต จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศใดก็จะเป็นการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา
เมื่อประมวลผลจากผลการวิจัยแล้ว สามารถนำมาสร้างเป็นรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) โดยสรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยดังนี้ “KPTIS : Model” มีที่มาและคำอธิบายดังต่อไปนี้
KPTIS : MODEL
GOOD KNOWLEDGE
GOOD PRACTICE
TOLALENCE
SPIRIT OF PROPAGANDA
IDEOLOGY
รูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) “KPTIS : Model” มีคำอธิบายดังต่อไปนี้
1. Good knowledge ต้องฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ดีทั้งวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและวิชาการที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ได้
2. Good Practice ต้องให้การศึกษาอบรมพระธรรมทูตให้เป็นผู้ปฏิบัติดีตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา และสามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติได้ในชีวิตจริง
3. Tolalence ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีความอดทน อดกลั้นได้ในทุกสถานการณ์
4. Ideology ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีอุดมการณ์ มีหลักการ มีวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
5. Spirit of Propaganda ต้องสร้างจิตวิญญาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พระธรรมทูต
1. Good knowledge ต้องฝึกอบรมพระธรรมทุตให้มีความรู้ดีทั้งวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและวิชาการที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ได้
Good knowledge มีความรู้ดี หมายถึงพระธรรมทูตจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ต้องสามารถอธิบายขยายความหลักธรรมต่าง ๆ ให้ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ได้รู้และเข้าใจในหลักคำสอนที่ถูกต้อง จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษาในการที่จะสื่อสารกับคนในประเทศที่เดินทางไปด้วย ต้องอธิบายหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาให้คนในศาสนาอื่นเข้าใจได้ด้วย ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาอบรมเพื่อที่จะเป็นพระธรรมทูตต้องเน้นที่วิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา หลักการเผยแผ่ หลักการประชาสัมพันธ์ และต้องศึกษาภาษาสากลที่สามารถสื่อสารกับคนในชาติอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญที่สุดอย่างน้อยภาษาอังกฤษต้องพูดได้ อ่านได้สื่อสารได้
หลักสูตรการศึกษาอบรมต้องยึดวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นหลักเช่นพระไตรปิฎก ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พุทธศิลป์ เป็นต้น ต้องนำบรรจุเข้าในหลักสูตร
2. Good practice มีการปฏิบัติดี หมายถึง พระธรรมทูตที่จะไปปฏิบัติศาสนากิจฝ่ายต่างประเทศต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป บางแห่งอากาศหนาวเย็นมาก ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่อย่าละทิ้งหลักการปฏิบัติตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากจะมีความรู้ดีแล้ว ก็ต้องมีการปฏิบัติดีด้วยจึงจะเป็นพระธรรมทูตที่สมบูรณ์ได้ การที่จะทำให้พระธรรมทูตเป็นผู้ปฏิบัติดีนั้น หลักสูตรที่ควรจะนำมาศึกษาอบรมควรเป็นการปฏิบัติจริง ๆ เช่นวิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการฝึกอบรมนานอาจจะหลายเดือนหรืออาจจะใช้เวลาเป็นปีก็ได้ เท่าที่สำนักฝึกอบรมนำมาใช้ในปัจจุบันเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง 15 วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมเพื่อให้พระธรรมทูตเป็นผู้ปฏิบัติดี อาจจะต้องส่งพระธรรมทูตไปฝึกในสำนักครูอาจารย์เป็นกรณีพิเศษ ส่วนหนึ่งพระภิกษุที่มาศึกษาอบรมมักจะเป็นพระภิกษุฝ่ายปริยัติ ศึกษาเฉพาะภาคทฤษฎีมาอย่างเดียว แต่ไม่เคยฝึกภาคปฏิบัติเลย จึงควรมีหลักสูตรการฝึกอบนมในสถานที่จริงตามแนวครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานในวัดป่าต่าง ๆ พระที่เรียนมาทางด้านปริยัติให้แยกฝึกภาคปฏิบัติ ส่วนพระที่มาจากสายกรรมฐานไม่ได้เรียนภาคปริยัติมาก่อนก็ต้องฝึกอบรมทางด้านวิชาการ น่าจะแยกกันเป็นสองฝ่าย ก็จะได้พระธรรมทูตที่มีทั้งความรู้ดีและปฏิบัติดี สมตามปณิธานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือวิชาจรณสัมปันโน คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและการปฏิบัตินั่นเอง
3. Tolalence พระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะต้องมีความอดทน อดกลั้นได้ในทุกสถานการณ์ หน้าที่หลักในการที่จะเป็นพระธรรมทูตคือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางแบบอย่างไว้คือต้องมีหลักการ มีวิธีการ และมีอุดมการณ์ในการเผยแผ่ซึ่งแสดงไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ ทั้งหมดนั้นพระธรรมทูตต้องมีไว้ประจำใจ แต่สิ่งที่จะเน้นเป็นพิเศษคือความอดทนอดกลั้นซึ่งจะต้องประสบพบเห็นในการปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ ที่มีวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกัน มีศาสนาต่างกัน ต้องพยายามอธิบายและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะทุกข์ยากลำบากสักปานใดก็ต้องอดทนให้ได้ แม้แต่การปฏิบัติศาสนากิจในวัดก็ต้องอาศัยความอดทน เพราะพระธรรมทูตที่อยู่ร่วมกันนั้นมาจากสำนักต่างกัน ครูบาอาจารย์ต่างกัน แนวปฏิบัติบางอย่างก็ต่างกัน บางแห่งมีทั้งพระฝ่ายปฏิบัติมาจากวัดป่า และพระธรรมทูตที่มาจากฝ่ายปริยัติซึ่งมีแนวปฏิบัติต่างกัน ต้องปรับตัวให้ได้ ต้องอดทนให้ได้ ดังนั้นรายวิชาที่จะฝึกให้พระธรรมทูตมีความอดทน วิชาหนึ่งการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้สองประเทศคืออินเดียและเนปาล หากจะขยายออกไปเป็นประเทศอื่นได้ก็น่าจะได้แนวทางแห่งการสร้างความอดทนให้แก่พระธรรมทูตได้
4. Ideology ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีอุดมการณ์ มีหลักการ มีวิธีการในการเผยแผ่ จิตวิญญาณของพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ยึดถือตามอุดมการณ์ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์คือ “ความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องพบเห็นในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน”
ให้ยึดมั่นในหลักการคือ “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์” อย่าทำผิดกฎหมาย อย่าทำผิดขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้น ๆ แม้ว่าบางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับสิ่งที่เราคุ้นเคย จงพยายามทำคุณงามความดีทั้งส่วนตนและเพื่อประโยชน์เพื่ออื่น อาจจะเข้าร่วมงานในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นนั้น ๆ จัดขึ้น เมื่อมีส่วนร่วมก็ได้มวลชน และพยายามรักษาจิตพัฒนาจิตให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือนิพพาน
พระธรรมทูตต้องยึดมั่นในวิธีการคือ “การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค นั่งนอนในที่อันสงัด ความเพียรในอธิจิต” การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ หรือการรักษาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไทยไม่ให้เสื่อมนั้นต้องยึดมั่นในวิธีการอย่ากล่าวร้ายหาเรื่องกับใคร อย่าไปเบียดเบียนทำร้ายใคร ต้องยึดมั่นในหลักปฏิบัติตามธรรมวินัย อย่ามักมากในการใช้สอย อยู่ในที่สงัดและประกอบความเพียรในการอบรมจิตของตนเสมอ
จากนั้นจึงปฏิบัติตามเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ “ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม” แม้จะยังไปไม่ถึงจุดหมายแต่การดำเนินตามเส้นทางสายนี้ก็ถือได้ว่าเดินตามแนวของพระพุทธเจ้าผู้ประกาศพระพุทธศาสนา ถ้าการฝึกอบรมพระธรรมได้อย่างนี้ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว รายวิชาที่จะนำมาประกอบการสอนคือหลักการประชาสัมพันธ์ หลักการพูดในที่ชุมชน หลักการของนักเทศน์ เป็นต้น
5. Spirit of Propaganda ต้องสร้างจิตวิญญาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พระธรรมทูต การฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น รายวิชาที่อาจจะไม่สามารถระบุเป็นสังเขปรายวิชาได้คือการสร้างจิตวิญญาณในการเป็นพระธรรมทูต นอกจากจะต้องมีอุดมการณ์ มีหลักการ และมีวิธีการตามที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว การสร้างจิตวิญญาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาจจะมาจากองค์รวมของการศึกษาอบรมทั้งสามภาคคือภาควิชาการได้ความรู้ มีความรู้อันจะเป็นพื้นฐานในการทำงาน ด้านจิตภาวนาจะเป็นองค์คุณในการปกป้องคุ้มครองตนเองและยังสอนผู้อื่นให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้ อีกอย่างการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศก็เป็นการสร้างจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อได้เห็นการเป็นอยู่ การดำเนินงานของพระธรรมทูตในแต่ละประเทศ ก็สามารถนำมาประยุกต์ปรับปรุงแก้ไขในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ พระธรรมทูตต้องยึดมั่นในหลักการคือพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มีแนวแห่งการปฏิบัติและมีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคสมัยให้เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
สรุปรูปแบบการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) ได้องค์ความรู้ใหม่ในการศึกษาอบรมคือ “KPTIS : Model” ประกอบด้วย (1) Good knowledge ต้องฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ดีทั้งวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและวิชาการที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ได้ (2) Good Practice ต้องให้การศึกษาอบรมพระธรรมทูตให้เป็นผู้ปฏิบัติดีตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา และสามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติได้ในชีวิตจริง (3) Tolerance ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีความอดทน อดกลั้นได้ในทุกสถานการณ์ (4) Ideology ต้องฝึกอบรมให้พระธรรมทูตมีอุดมการณ์ มีหลักการ มีวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ (5) Spirit of Propaganda ต้องสร้างจิตวิญญาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พระธรรมทูต
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทย.กรุงเทพฯ:โรงพิพม์การศาสนา,2514.
พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์. ข้อแนะนำพระธรรมทูตพุทธศาสนา. พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2507.
รายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2508 วันที่ 13 ธันวาคม 2508.
รายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 2/2509 วันที่ 28 กันยายน 2509.
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ปี 2556.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2556.
[1]วิ.มหา.4/32/40.
[2]พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์, ข้อแนะนำพระธรรมทูตพุทธศาสนา, (พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2507), หน้า 5-6.
[3]รายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2508 วันที่ 13 ธันวาคม 2508.
[4]รายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 2/2509 วันที่ 28 กันยายน 2509.
[5]ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ปี 2556, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2556), หน้า 28.