ผลการวิจัย
ดอนหอยหลอดเคยมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผลประกอบคือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เพราะในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกอย่างพ่อค้าแม่ค้าก็ได้ประโยชน์คือขายสินค้า เช่น อาหาร ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เกิดขึ้นแก่ชุมชน ทุกคนที่เดินทางมาดอนหอยหลอด มีวัตถุประสงค์จะมาชมหอยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทำกิจกรรมในดอนหอยหลอด การหยอดหอย นั่งเรือชมคลองบางจะเกร็ง ได้เที่ยวชมสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองตามปกติ และมีการประกอบอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเช่นการดักปูชาวบ้านเรียกว่าการลงปู การหยอดหอยหลอด การเก็บหอยนางรม เป็นต้น จุดสำคัญที่สุดของดอนหอยหลอดที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวนั้นคือการได้ร่วมกิจกรรมของการหยอดหอย การได้รับประทานอาหารที่ใช้หอยหลอดในการปรุงอาหาร ในช่วงที่ชายทะเลดอนหอยหลอดไม่ค่อยมีหอยหลอดเพราะสภาพแวดล้อมทางทะเล เช่น ในปี 2552 ที่เกิดแพงตอนบูม (Pangton Boom) ชายทะเลได้รับผลกระทบทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลได้รับผลกระทบเพราะหน้าดินได้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ หอยหลอดที่เคยมีบริเวณท้องทะเลก็แทบจะสูญพันธ์ไปด้วย ตามข้อมูลของชาวบ้านบอกว่าที่เคยหาได้ตารางเมตรละ 10 ตัว ก็ลดลงเหลือเพียง 1 ตัวหรือแทบจะหาไม่ได้เลย สองสามตารางเมตรจึงจะได้หอยสักตัว เมื่อไม่มีหอยชาวบ้านก็ขาดอาชีพหลัก มีผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอดเลย ดังนั้นปริมาณของหอย ความสมบูรณ์ของชายทะเลจึงมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของดอนหอยหลอดด้วย โดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นสุภาพบุรุษคนหนึ่งได้กล่าวอย่างประทับใจว่า “ดอนหอยหลอดมีความสำคัญในฐานะของสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยือน พ่อค้าแม่ค้าก็ขายสินค้าได้ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านที่มีอาชีพในการหาหอยก็ขายหอยได้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การเป็นอยู่ก็ดีขึ้น หากในช่วงใดดอนหอยหลอดมีหอยมากก็จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากและเข้าร่วมกิจกรรมในการหยอดหอย ชาวเรือก็ได้รับประโยชน์มีคนเช่าเรือออกไปยังดอนหอยหลอด รายได้ก็เพิ่มขึ้น ” (สัมภาษณ์ วันที่ 7 พค.57 ) ส่วนอีก 3 คนกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว โดยให้เหตุผลประกอบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวกับอาชีพที่ตนเองดำเนินชีวิตอยู่เลย นักท่องเที่ยวจะเดินทางหรือไม่ก็ไม่มีผลกระทบกับอาชีพที่ตนปฏิบัติเลย ส่วนที่เหลืออีก 1 คน ไม่แสดงความคิดเห็น
ดังนั้นจึงสามารถสรุปเป็นความจริงขั้นพื้นฐาน (Grounded Theory) ได้ว่า ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเพราะการที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยว
การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยให้เหตุผลประกอบว่า เนื่องจากจำนวนของสัตว์ทะเลโดยเฉพาะหอยหลอดเหลือน้อยมากและใกล้จะสูญพันธุ์ ชาวประมงใช้วิธีหยอดหอยที่ผิดวิธี เช่น ใช้ปูนขาวผสมโซดาไฟไปเทราดลงบนผิวดิน หรือใช้เฉพาะโซดาไฟราดลงบนผิวดิน ดอนหอยหลอดเป็นเขตอนุรักษ์แรมซาร์ ไซท์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ประชาชนในชุมชนจึงเกิดแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูเพื่อให้ดอนหอยหลอดเพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ และทำให้หอยหลอดและสัตว์น้ำอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในหมู่บ้านฉู่ฉี่จึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดขึ้นมา หลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยผ่านพิธีกรรมคือพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด มีส่วนที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ได้ปฏิญาณตนรักษาสัจจะผ่านผู้นำทางศาสนา ประชาชนจะมารวมกันเพื่อร่วมประกอบพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณพื้นที่ดอนหอยหลอดนั่นเอง จัดขึ้นในวันที่ 22 เมษายน ของทุกๆปี ได้เริ่มจัดพิธีสืบชะตาครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรมกล่าวว่า “ช่วงนั้นดอนหอยหลอดกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ปริมาณหอยลดน้อยลง ชาวบ้านที่หาหอยเป็นอาชีพหลัก บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพ แม้จะมีกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอยหอยหลอดขึ้น แต่ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ชาวบ้านจึงมีมติตกลงให้จัดพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นกำลังใจให้กับชุมชน แต่หลังพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่หอยในบริเวณดอนหอยหลอดกลับมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำทุกคนแปลกใจมาก การที่หอยมากขึ้นหลังพิธีสืบชะตานั้น จะมาจากเหตุผลไม่ทราบ แต่ทว่าความเชื่อของชาวบ้านได้เกิดแรงบันดาลใจในการรักษา “สัจจะ”จะไม่หาหอยในวันประกอบพิธีสืบชะตา จากนั้นมาจึงได้มีพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดทุกปีกำหนดจัดในวันคุ้มครองโลกคือวันที่ 22 เมษายนของทุกปี” (สัมภาษณ์วันที่ 7 พค.57 ) สอดคล้องกับสุภาพสตรีท่านหนึ่งกล่าว่า “ตอนแรกดิฉันไม่ค่อยเชื่อว่าพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสัตว์น้ำในดอนหอยหลอด แต่ก็ยินดีเข้าร่วมกิจกรรม แต่พอพิธีเสร็จสิ้นไป เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ปริมาณหอยในดอนหอยหลอเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะชาวบ้านได้ทำการอนุรักษ์กั้นเขตไม่ให้มีการหาหอยมาหลายวัน อีกอย่างวันนั้นก็ขอร้องให้ชาวบ้านหยุดหาหอยหนึ่งวัน หอยเลยมีโอกาสฟื้นตัว หรืออาจจะเป็นเพราะพลังของพุทธธรรมก็ได้” (สัมภาษณ์ วันที่ 7 พค.57)
ในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนั้น คนในชุมชนดอนหอยหลอดเฝ้าระวังและป้องกันดอนหอยหลอดตลอดวัน เช่น ห้ามไม่ให้ชาวประมงใช้เรือคราดที่มีขนาดใหญ่ลากสัตว์น้ำในเขตดอนหอยหลอด ห้ามเปิดระบายน้ำปริมาณที่มากจากเขื่อนเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติมโตของหอยหลอด ชุมชนดอนหอยหลอดจะร่วมมือกันเฝ้าระวังให้คนในชุมชนหยอดหอยหลอดอย่างถูกวิธี โดยไม่ใช้โซดาไฟผสมปูนขาวเทราดบนพื้นผิวดิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้หอยตัวเล็กๆ ตายไปด้วย มีการปักหลักไม้ไผ่เพื่อป้องกันคลื่นทะเลที่จะทำลายชายฝั่งและสภาพแวดล้อม มีการกั้นเขตห้ามหยอดหอยโดยการปักธงสีเพื่อพักฟื้นให้หอยได้มีโอกาสเจริญพันธุ์มากขึ้นเนื่องจากมีประชาชนที่มาหยอดหอยหลอดมาจากจังหวัดอื่นๆด้วยซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น เช่น คนที่มาจากจังหวัดราชบุรี เป็นต้น นอกจากนั้นชุมชนดอนหอยหลอดจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เยาวชนได้รู้จักรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนการช่วยกันรักษาความสะอาดในดอนหอยหลอดและสามารถให้หอยหลอดเจริญเติบโตได้ดีและไม่สูญพันธ์ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดมาแล้วสามครั้ง เช่น ค่ายเด็กรักษ์ดอน เป็นต้น สุภาพบุรุษท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “จากการจัดค่ายเด็กอนุรักษ์ดอนหอยหลอดนั้น เด็กๆทั้งหลายต่างตื่นเต้นพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรม เขาอยากลงมือหยอดหอยด้วยตนเอง ปรุงอาหารจากหอยที่เขาหามาได้ การปลูกความรักถิ่นฐานบ้านเกิดตั้งแต่เด็กทำให้เด็กเกิดความสำนึกในการอนุรักษ์ดอนหอยหลอดไว้เป็นสมบัติและวิถีดั่งเดิมของชุมชนต่อไป”
อุปสรรคปัญหาของการฟื้นดอนหอยหลอดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจของคนในชุมชน เพราะประชาชนส่วนหนึ่งมองว่ากลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำการปักกั้นเขตแดนในการหาหอยนั้นจะกันพื้นที่ไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า “เมื่อปักกั้นเขตแดนห้ามหาหอยในช่วงแรกจำนวน 22 ไร่ วันหนึ่งได้ออกสำรวจแนวเขตแดนพร้อมเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอ ระหว่างสำรวจแต่กลับกลายเป็นว่าเราถูกเรือประมงมากกว่าหนึ่งร้อยลำเข้ามาล้อมด้วยวัตถุประสงค์ร้าย จึงต้องชี้แจงให้คนตำบลอื่นเข้าใจว่าเราอนุรักษ์ไว้มิใช่เพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ขอเวลาสักหนึ่งเดือน หากหอยไม่เพิ่มขึ้นก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป คนจากตำบลอื่นจึงเริ่มจะเข้าใจวัตถุประสงค์ของการปักกั้นเขตุแดน” (สัมภาษณ์ วันที่ 7 พค.57 )
นอกจากนี้แล้วในบริเวณดอนหอยหลอดยังมีคลังเก็บน้ำมัน 2 แห่ง มีคลังเก็บแก๊ส 1 แห่ง และมีสถานที่ขึ้นกัลปาหนึ่งแห่งจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาของดอนหอยหลอด เช่น กัลปา ถ้าจมในน้ำจะทำให้น้ำมีรสขม ซึ่งมีผลกระทบต่อหอยและสิ่งมีชีวิตอื่น เช่นทำให้หอยมีรสขม เป็นต้น
ผลการวิจัยจากการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกจากสมาชิก 7 คน พบว่าสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดทุกคนใช้หลักธรรมในการทำงานในข้อ “สัจจะ” คือความจริงใจและความซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งในกลุ่มสมาชิกและนักท่องเที่ยว หลักธรรมข้อหนึ่งในการทำงานคือ “ทมะ” การฝึกตนในการทำงาน การข่มใจเมื่อยามที่มีผู้กล่าวหา การฝึกนิสัยแห่งความเสียสละจนเกิดความเคยชิน นอกจากนั้นยังต้องมี “ขันติธรรม” คือความอดทนต่อการที่ไม่เข้าใจในการทำงานของชุมชนต่างๆ ที่เข้ามาทำการประมง การหยอดหอยหลอดบริเวณสันดอน หลักธรรมอีกข้อ คือ “จาคะ” การเสียสละความสุขส่วนตัว ด้วยการเข้าไปปักแนวเขตในการอนุรักษ์หอยหลอดให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่เข้ามาประกอบอาชีพในการหยอดหอย หลักธรรมทั้งสี่ประการเรียกว่า “ฆราวาสธรรม” ซึ่งพระพุทธองค์แสดงไว้ในอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (สํ ส.15/845/298) ความว่า “บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม 4 ประการละโลกนี้ไปย่อมไม่เศร้าโศก ในโลกนี้มีอะไรยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ จาคะและขันติ” เมื่ออธิบายตามความหมายพอสรุปได้ดังนี้ 1) สัจจะ คือ ความจริงซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริงทำจริง 2) ทมะ คือ การฝึกตน การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว 3) ขันติ คือ ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข็มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ย่อท้อ และ 4) จาคะ คือ ความเสียสละ สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตัว
สมาชิกทั้งหมดมีหลักธรรมคือความซื่อสัตย์จริงใจ ข่มใจ อดทนอดกลั้น และความเสียสละ จึงทำให้กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี ผลการวิจัยสรุปได้ว่า
1. ด้านการท่องเที่ยว ดอนหอยหลอดมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยว เพราะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลิตผลที่หาได้จากทะเล อีกอย่างหนึ่งการที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยวประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอด ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างยิ่งโดยให้เหตุผลประกอบว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เพราะในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกอย่างพ่อค้าแม่ค้าก็ได้ประโยชน์คือขายสินค้า เช่น อาหาร ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เกิดขึ้นแก่ชุมชน ทุกคนที่เดินทางมาดอนหอยหลอดมีวัตถุประสงค์จะมาดูหอย ทำกิจกรรมในดอนหอยหลอด การหยอดหอย นั่งเรือชมคลองบางจะเกร็ง ได้เที่ยวชมสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองตามปกติ และมีการประกอบอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น การดักปูชาวบ้านเรียกว่าการลงปู การหยอดหอยหลอด การเก็บหอยนางรม เป็นต้น จุดสำคัญที่สุดของดอนหอยหลอดที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวนั้นคือการได้ร่วมกิจกรรมของการหยอดหอย การได้รับประทานอาหารที่ใช้หอยหลอดในการปรุงอาหาร ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว เพราะการที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ผูกพันอยู่กับการขึ้นลงของน้ำทะเลซึ่งแต่ละช่วงเวลาขึ้นลงไม่เหมือนกัน จนมีคำเรียกติดปากชาวบ้านว่า “อัศจอรอหัน การัณย์ ยอ 7 ตะวัน พระจันทร์ 5” หมายถึงในช่วงของปีหนึ่งน้ำจะขึ้นตอนกลางวัน 7 เดือน และขึ้นตอนกลางคืน 5 เดือน ดังนั้นช่วงเวลาของการท่องเที่ยวจึงมีไม่มาก นักท่องเที่ยวจะต้องมาในช่วงที่น้ำลงจึงจะได้เห็นชาวบ้านหยอดหอย เพราะหอยจะขึ้นในช่วงน้ำลง นักท่องเที่ยวบางคนไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติเดินทางมาในช่วงน้ำขึ้นจึงไม่ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่แท้จริง
2. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทุกคนต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยให้เหตุผลประกอบว่า เนื่องจากจำนวนของสัตว์ทะเลโดยเฉพาะหอยหลอดเหลือน้อยมากและใกล้จะสูญพันธุ์ ชาวประมงใช้วิธีหยอดหอยที่ผิดวิธี เช่น ใช้ปูนขาวผสมโซดาไฟไปเทราดลงบนผิวดิน หรือใช้เฉพาะโซดาไฟราดลงบนผิวดิน ดอนหอยหลอดเป็นเขตอนุรักษ์แรมซาร์ไซท์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยเหตุผลดังกล่าวประชาชนในชุมชนจึงเกิดแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูเพื่อดอนหอยหลอดเพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ และทำให้หอยและสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในหมู่บ้านฉู่ฉี่จึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดขึ้นมา ในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนั้น คนในชุมชนดอนหอยหลอดรู้จักเฝ้าระวังและป้องกันดอนหอยหลอดตลอดเวลา เช่น ห้ามไม่ให้ชาวประมงใช้เรือคราดที่มีขนาดใหญ่ลากสัตว์น้ำในเขตดอนหอยหลอด ห้ามเปิดระบายน้ำปริมาณที่มากจากเขื่อนเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติมโตของหอยหลอด ชุมชนดอนหอยหลอดจะร่วมมือกันเฝ้าระวังให้คนในชุมชนหยอดหอยหลอดอย่างถูกวิธี โดยไม่ใช้โซดาไฟผสมปูนขาวเทราดบนพื้นผิวดิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้หอยตัวเล็กๆ ตายไปด้วย มีการปักหลักไม้ไผ่เพื่อป้องกันคลื่นทะเลที่จะทำลายชายฝั่งและสภาพแวดล้อม มีการกั้นเขตห้ามหยอดหอยโดยการปักธงสีเพื่อพักฟื้นให้หอยได้มีโอกาสเจริญพันธุ์มากขึ้นเนื่องจากมีประชาชนที่มาหยอดหอยหลอดมาจากจังหวัดอื่นๆด้วยซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น เช่น คนที่มาจากจังหวัดราชบุรี เป็นต้น นอกจากนั้นชุมชนดอนหอยหลอดจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เยาวชนได้รู้จักรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนการช่วยกันรักษาความสะอาดในดอนหอยหลอดและสามารถให้หอยหลอดเจริญเติบโตได้ดีและไม่สูญพันธ์ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดมาแล้วสามครั้ง เช่น ค่ายเด็กรักษ์ดอน เป็นต้น
3. การนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับวิถีชีวิตชุมชน โดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนาคือ “พิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้ร่วมชุมนุมกัน ได้มาร่วมรับทราบกติกาและร่วมปฏิญาณตนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมนั่นคือการรักษาสัจจะความจริงว่าจะไม่กระทำการใดๆที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ดอนหอยหลอด จะไม่หาหอยในวันที่มีพิธีสืบชะตา เป็นการร่วมกันทำบุญในพระพุทธศาสนาเพื่อการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หลักธรรมในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อการการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข คือ ความจริงใจต่อกัน ความข่มใจ ความอดทนอดกลั้นและความเสียสละ ประชาชนในตำบลบางจะเกร็งจะเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอด โดยจะต้องเสียสละทั้งเวลาและความสุขส่วนตนในการทำงาน จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตความจริงใจในการประกอบอาชีพ และจะต้องรักษาสัจจะไม่ละเมิดกฎกติกาที่ชุมชนร่วมกันตั้งขึ้น จะต้องใช้วิธีหาหอยโดยการหยอดปูนขาวซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิม แม้จะได้ปริมาณหอยที่น้อยแต่หอยเจริญเติบโตทัน เลิกใช้วิธีการสาดปูนขาวผสมโซดาไฟซึ่งจะได้ปริมาณหอยมากกว่า แต่สภาพธรรมชาติถูกทำลาย หอยเจริญเติบโตไม่ทัน สัจจะ ทมะ ขันติและจาคะเป็นหลักธรรมในหมวดธรรมที่เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หากนำมาบูรณาการใช้กับชุมชน แม้จะไม่ได้ทุกข้อ แต่หากประชาชนทุกคนมีกติกาที่จะรักษาความจริงใจต่อกัน และมีความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว การดำเนินชีวิตของชุมชนก็จะเป็นไปด้วยความสุข พิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดนับเป็นการบูรณาการพุทธธรรมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการจัดงานทุกปีโดยมีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของดอนหอยหลอดได้อีกวิธีหนึ่ง