ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

     งานวิจัยเรื่องนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้นำตีพิมพ์เผยแแพร่ในวารสารที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากผู้เขียนเป้นหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องนี้จึงได้ปรับปรุงนำมาเขียนเป็นบทความวิจัย เรื่อง "การบูรณาการพุทธธรรมในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข" ชื่อภาษาอังกฤษคือ The Integration Buddha Teaching in the Restoration of Don Hoi Lod (Razor Clam Mound) for Supporting the Tourism and Happy Life" น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความต้องการจะเขียนบทความวิจัย
 
การบูรณาการพุทธธรรมในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  
The Integration Buddha Teaching in the Restoration of Don Hoi Lod (Razor Clam Mound) for Supporting the Tourism and Happy Life                      
บทคัดย่อ
          บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอดเพื่อวิเคราะห์สังเคราะห์การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพื่อศึกษาหลักธรรมที่มีความสอดคล้องในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนำมาบูรณาการเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้แนวการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า ดอนหอยหลอดเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ หากในช่วงใดที่มีปริมาณของหอยมากก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ประชาชนก็จะมีรายได้ดีจากการขายผลผลิตต่างๆ ชุมชนจึงช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกครั้ง ดังนั้นความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรจึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว หากช่วงใดมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาก ประชาชนในชุมชนก็จะมีรายได้ดีและทำให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข การฟื้นฟูประสพความสำเร็จได้ เพราะประชาชนใช้ความซื่อสัตย์และความจริงใจต่อกัน 
 
คำสำคัญ : 1. การบูรณาการพุทธธรรม  2. การฟื้นฟู 3.ดอนหอยหลอด 4.การท่องเที่ยว 4.การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
 
Abstract
       The Objectives of the research article were to explain the benefit of tourism at Don Hoi Lod, to analyze the public participation of community restoration to support the tourism and to study the religion principles in restoration Don Hoi Lod bring to integrate to support  the happy Life.  This research was the Qualitative Research. The tools used to collect the data were the in- dept- interview, focus group and observation form. The results of the research were found that Don Hoi Lod used to be the important tourist place of Sumudsongkram but at the present less popular. The amount of the tourists increasing or reducing depends on the plenty of the nature and environment. When the amount the shell increased, the place became popular and the people also had high income from selling the sea products. So the people in the community had to cooperate to restoration Don Hoi Lod to be the plenty place. The plenty of the nature and environment was a factor to support the tourism. When more tourists came to this place, the people had high income and lived happily. The people used the honesty and sincerity to support the success of the conservation and revitalization in Don Hoi Lod .
Keywords: 1. The Integration Buddha Teaching 2. the Restoration 3. Don Hoi Lod (Razor Clam Mound)   4.Tourism   5. Happy Life
 
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
 
       พื้นที่บริเวณชายฝั่งสมุทรสงครามมีลักษณะเป็นทะเลตม ทั้งยังเป็นดินดอนชายฝั่งทั่วทั้งบริเวณปากอ่าวหรือ “ดอนหอยหลอด” แห่งเดียวของประเทศไทย โดยมีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าสองหมื่นไร่ นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งสัตว์น้ำมากมาย นับตั้งแต่หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยหลอด หอยกระปุก หอยตลับ ปูแสม เป็นต้น ชาวบ้านจึงสามารถดำรงชีวิตด้วยการจับสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กได้อย่างหลากหลายตามแต่ความชำนาญเฉพาะตัว (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม : มปพ,68) พื้นที่ดอนหอยหลอดควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสมุทรสงคราม การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเป็นนโยบายที่สำคัญของประเทศทั้งนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ยุทธศาสตร์ที่ 8 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ข้อ 5.1.1 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าคุ้มครอง ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูพื้นที่ป่าและเขตอนุรักษ์พื้นที่ที่เปราะบางมีความสำคัญเชิงนิเวศ สร้างพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างป่า วางระบบเพื่อแก้ปัญหาการรุกถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าไม้  ส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์และป้องกันการบุกรุกป่าไม้โดยภาคประชาชนและชุมชน (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนานาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: 2554,107)
        ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญระดับนานาชาติ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) เมื่อปี พ.ศ. 2544 ตามอนุสัญญาแรมซาร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันและยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งเสริมและมีการสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด เนื่องจากดอนหอยหลอดมีความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันดับ 3 ของประเทศ และลำดับที่ 1099 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตามอนุสนธิแรมซาร์ มาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งจากระดับน้ำต่ำสุดลงไปในทะเลระยะทาง 300 เมตร ในพื้นที่ 4 ตำบล คือ บางแก้ว บางจะเกร็ง แหลมใหญ่ และคลองโคน รวม 546,875 ไร่ ดอนหอยหลอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับแรกที่สร้างชื่อให้จังหวัดสมุทรสงคราม  ในอดีตคนทั้งประเทศรู้จักดอนหอยหลอด  โดยที่ไม่รู้จักสมุทรสงครามด้วยซ้ำไป ชื่อเสียงของดอนหอยหลอดเกิดจากเอกลักษณ์ทางภูมิประเทศที่ไม่เหมือนใคร เพราะเมื่อน้ำทะเลลดระดับจะเกิดดอนเลนเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ นักท่องเที่ยวสมัยก่อนนิยมลงไปเดินเล่นและหยอดหอยกันเป็นที่สนุกสนาน (วารสารมนต์รักแม่กลอง :2553,49) อาชีพสำคัญของชุมชนดอนหอยหลอด นอกจากจะหาหอยซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิด หาหอยมาเพื่อรับประทานและขาย  ในอดีตชาวบ้านหาหอยได้วันละจำนวนมากจากการสำรวจมีสถิติน่าสนใจดังนี้ ในปีพุทธศักราช 2542 มีหอยหลอด 20  ตัวต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ปี 2549 เหลือ 4 ตัว ในปี 2553 เหลือเพียง 0.5 ตัวเท่านั้น (แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา: 2553,12) จากการสัมภาษณ์นายภานุวัฒน์ คงรักษา ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดตอนหนึ่งว่า “ในอดีตชาวบ้านเคยหาหอยได้วันละ 10 กิโลกรัม เพราะมีหอยมาก แต่ปัจจุบันวันละกิโลกรัมก็ยังหาได้ยาก เพราะหอยมีปริมาณลดน้อยลง เมื่อก่อนหนึ่งตารางเมตรมีหอยมากถึง 10 ตัว แต่พอเกิดแพงตอนบูม (Pangton Boom) ทะเลก็สูญเสียภาวะสมดุล หอยก็แทบจะหาไม่ได้ สองตารางเมตรหาหอยได้เพียง 1 ตัว ชาวบ้านจึงเริ่มตระหนักถึงการฟื้นฟูดอนหอยหลอด(สัมภาษณ์นายภานุวัฒน์ คงรักษา  ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอด : สัมภาษณ์วันที่ 7 พฤษภาคม 2557)
       ดอยหอยหลอดจึงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต เมื่อชาวบ้านเก็บหอยได้น้อยลง ก็มีรายได้ลดลง แม้ว่าดอยหอยหลอดจะได้รับการประกาศให้เป็นแรมซาร์ไชต์ (Ramsar Site) แต่ก็ไม่ได้มีการวางแผนที่จะจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืน  ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวก่อตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอดขึ้นที่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็งเพื่อทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอด  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพื่อการดำเนินชีวิตที่ดี  
    ในการวิจัยครั้งนี้ต้องการศึกษาวิธีดำเนินงานของกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูแห่งดอนหอยหลอดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใด มีการนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการใช้ในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขอย่างไร
 
วัตถุประสงค์ของการวิจัย 
            1. เพื่ออธิบายประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอด
            2. เพื่อวิเคราะห์สังเคราะห์การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดอนหอย
หลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
           3. เพื่อศึกษาหลักธรรมที่มีความสอดคล้องในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนำมาบูรณา
การเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
 
ขอบเขตการวิจัย
 
      กาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนดอนหอยหลอดที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง จนมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร่วมกันฟื้นฟูดอนหอยหลอดให้พลิกฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง 
  ขอบเขตด้านพื้นที่คือหมู่บ้านฉู่ฉี่  หมู่ที่ 4  ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัด สมุทรสงคราม
  ขอบเขตด้านประชากรคือชาวบ้าน นักวิชาการ พระภิกษุ  ผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านหมู่บ้านฉู่ฉี่  หมู่ที่ 4  ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
 
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย
          1. ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอด
          2.  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
      3. ได้แนวทางการบูรณาการหลักธรรมในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
 
วิธีดำเนินการวิจัย
  ศึกษาแนวความคิด  ทฤษฎี  และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากเอกสารทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ จากนั้นจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยคณะผู้วิจัยสำรวจสภาพพื้นที่โดยทั่วไปในหมู่บ้านฉู่ฉี่  หมู่ที่ 4  ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม สัมภาษณ์แบบเจาะลึกจำนวน 21 คน จากนั้นจึงมีการสนทนากลุ่ม(Focus group) กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกจำนวน 9 คน รวมทั้งหมดเป็น 30 คนเมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว จึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
 
ผลการวิจัย
      ดอนหอยหลอดเคยมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผลประกอบคือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เพราะในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกอย่างพ่อค้าแม่ค้าก็ได้ประโยชน์คือขายสินค้า เช่น อาหาร ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เกิดขึ้นแก่ชุมชน ทุกคนที่เดินทางมาดอนหอยหลอด มีวัตถุประสงค์จะมาชมหอยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทำกิจกรรมในดอนหอยหลอด การหยอดหอย นั่งเรือชมคลองบางจะเกร็ง ได้เที่ยวชมสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองตามปกติ และมีการประกอบอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเช่นการดักปูชาวบ้านเรียกว่าการลงปู การหยอดหอยหลอด การเก็บหอยนางรม เป็นต้น จุดสำคัญที่สุดของดอนหอยหลอดที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวนั้นคือการได้ร่วมกิจกรรมของการหยอดหอย การได้รับประทานอาหารที่ใช้หอยหลอดในการปรุงอาหาร ในช่วงที่ชายทะเลดอนหอยหลอดไม่ค่อยมีหอยหลอดเพราะสภาพแวดล้อมทางทะเล เช่น ในปี 2552 ที่เกิดแพงตอนบูม (Pangton Boom) ชายทะเลได้รับผลกระทบทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลได้รับผลกระทบเพราะหน้าดินได้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ หอยหลอดที่เคยมีบริเวณท้องทะเลก็แทบจะสูญพันธ์ไปด้วย ตามข้อมูลของชาวบ้านบอกว่าที่เคยหาได้ตารางเมตรละ 10 ตัว ก็ลดลงเหลือเพียง 1 ตัวหรือแทบจะหาไม่ได้เลย สองสามตารางเมตรจึงจะได้หอยสักตัว เมื่อไม่มีหอยชาวบ้านก็ขาดอาชีพหลัก มีผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอดเลย ดังนั้นปริมาณของหอย ความสมบูรณ์ของชายทะเลจึงมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของดอนหอยหลอดด้วย โดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นสุภาพบุรุษคนหนึ่งได้กล่าวอย่างประทับใจว่า “ดอนหอยหลอดมีความสำคัญในฐานะของสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยือน พ่อค้าแม่ค้าก็ขายสินค้าได้ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านที่มีอาชีพในการหาหอยก็ขายหอยได้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การเป็นอยู่ก็ดีขึ้น หากในช่วงใดดอนหอยหลอดมีหอยมากก็จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากและเข้าร่วมกิจกรรมในการหยอดหอย ชาวเรือก็ได้รับประโยชน์มีคนเช่าเรือออกไปยังดอนหอยหลอด รายได้ก็เพิ่มขึ้น ” (สัมภาษณ์ วันที่ 7 พค.57 ) ส่วนอีก 3 คนกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว โดยให้เหตุผลประกอบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวกับอาชีพที่ตนเองดำเนินชีวิตอยู่เลย นักท่องเที่ยวจะเดินทางหรือไม่ก็ไม่มีผลกระทบกับอาชีพที่ตนปฏิบัติเลย  ส่วนที่เหลืออีก 1 คน ไม่แสดงความคิดเห็น  
      ดังนั้นจึงสามารถสรุปเป็นความจริงขั้นพื้นฐาน (Grounded Theory) ได้ว่า ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเพราะการที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยว
        การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ  โดยให้เหตุผลประกอบว่า เนื่องจากจำนวนของสัตว์ทะเลโดยเฉพาะหอยหลอดเหลือน้อยมากและใกล้จะสูญพันธุ์ ชาวประมงใช้วิธีหยอดหอยที่ผิดวิธี เช่น ใช้ปูนขาวผสมโซดาไฟไปเทราดลงบนผิวดิน หรือใช้เฉพาะโซดาไฟราดลงบนผิวดิน ดอนหอยหลอดเป็นเขตอนุรักษ์แรมซาร์ ไซท์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ  ประชาชนในชุมชนจึงเกิดแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูเพื่อให้ดอนหอยหลอดเพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ และทำให้หอยหลอดและสัตว์น้ำอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในหมู่บ้านฉู่ฉี่จึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดขึ้นมา  หลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยผ่านพิธีกรรมคือพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด มีส่วนที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ได้ปฏิญาณตนรักษาสัจจะผ่านผู้นำทางศาสนา ประชาชนจะมารวมกันเพื่อร่วมประกอบพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณพื้นที่ดอนหอยหลอดนั่นเอง จัดขึ้นในวันที่  22 เมษายน  ของทุกๆปี  ได้เริ่มจัดพิธีสืบชะตาครั้งแรกตั้งแต่  พ.ศ.  2552 เป็นต้นมา  จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรมกล่าวว่า “ช่วงนั้นดอนหอยหลอดกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ปริมาณหอยลดน้อยลง ชาวบ้านที่หาหอยเป็นอาชีพหลัก บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพ แม้จะมีกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอยหอยหลอดขึ้น แต่ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ชาวบ้านจึงมีมติตกลงให้จัดพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นกำลังใจให้กับชุมชน แต่หลังพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่หอยในบริเวณดอนหอยหลอดกลับมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำทุกคนแปลกใจมาก การที่หอยมากขึ้นหลังพิธีสืบชะตานั้น จะมาจากเหตุผลไม่ทราบ แต่ทว่าความเชื่อของชาวบ้านได้เกิดแรงบันดาลใจในการรักษา “สัจจะ”จะไม่หาหอยในวันประกอบพิธีสืบชะตา จากนั้นมาจึงได้มีพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดทุกปีกำหนดจัดในวันคุ้มครองโลกคือวันที่ 22 เมษายนของทุกปี” (สัมภาษณ์วันที่ 7 พค.57 ) สอดคล้องกับสุภาพสตรีท่านหนึ่งกล่าว่า “ตอนแรกดิฉันไม่ค่อยเชื่อว่าพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสัตว์น้ำในดอนหอยหลอด แต่ก็ยินดีเข้าร่วมกิจกรรม แต่พอพิธีเสร็จสิ้นไป เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ปริมาณหอยในดอนหอยหลอเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะชาวบ้านได้ทำการอนุรักษ์กั้นเขตไม่ให้มีการหาหอยมาหลายวัน อีกอย่างวันนั้นก็ขอร้องให้ชาวบ้านหยุดหาหอยหนึ่งวัน หอยเลยมีโอกาสฟื้นตัว หรืออาจจะเป็นเพราะพลังของพุทธธรรมก็ได้” (สัมภาษณ์ วันที่ 7 พค.57)
    ในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนั้น คนในชุมชนดอนหอยหลอดเฝ้าระวังและป้องกันดอนหอยหลอดตลอดวัน เช่น ห้ามไม่ให้ชาวประมงใช้เรือคราดที่มีขนาดใหญ่ลากสัตว์น้ำในเขตดอนหอยหลอด  ห้ามเปิดระบายน้ำปริมาณที่มากจากเขื่อนเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติมโตของหอยหลอด   ชุมชนดอนหอยหลอดจะร่วมมือกันเฝ้าระวังให้คนในชุมชนหยอดหอยหลอดอย่างถูกวิธี โดยไม่ใช้โซดาไฟผสมปูนขาวเทราดบนพื้นผิวดิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้หอยตัวเล็กๆ ตายไปด้วย มีการปักหลักไม้ไผ่เพื่อป้องกันคลื่นทะเลที่จะทำลายชายฝั่งและสภาพแวดล้อม มีการกั้นเขตห้ามหยอดหอยโดยการปักธงสีเพื่อพักฟื้นให้หอยได้มีโอกาสเจริญพันธุ์มากขึ้นเนื่องจากมีประชาชนที่มาหยอดหอยหลอดมาจากจังหวัดอื่นๆด้วยซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น เช่น คนที่มาจากจังหวัดราชบุรี เป็นต้น  นอกจากนั้นชุมชนดอนหอยหลอดจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เยาวชนได้รู้จักรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนการช่วยกันรักษาความสะอาดในดอนหอยหลอดและสามารถให้หอยหลอดเจริญเติบโตได้ดีและไม่สูญพันธ์ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดมาแล้วสามครั้ง เช่น ค่ายเด็กรักษ์ดอน เป็นต้น สุภาพบุรุษท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “จากการจัดค่ายเด็กอนุรักษ์ดอนหอยหลอดนั้น เด็กๆทั้งหลายต่างตื่นเต้นพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรม เขาอยากลงมือหยอดหอยด้วยตนเอง ปรุงอาหารจากหอยที่เขาหามาได้ การปลูกความรักถิ่นฐานบ้านเกิดตั้งแต่เด็กทำให้เด็กเกิดความสำนึกในการอนุรักษ์ดอนหอยหลอดไว้เป็นสมบัติและวิถีดั่งเดิมของชุมชนต่อไป”
       อุปสรรคปัญหาของการฟื้นดอนหอยหลอดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจของคนในชุมชน เพราะประชาชนส่วนหนึ่งมองว่ากลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำการปักกั้นเขตแดนในการหาหอยนั้นจะกันพื้นที่ไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า “เมื่อปักกั้นเขตแดนห้ามหาหอยในช่วงแรกจำนวน 22 ไร่ วันหนึ่งได้ออกสำรวจแนวเขตแดนพร้อมเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอ ระหว่างสำรวจแต่กลับกลายเป็นว่าเราถูกเรือประมงมากกว่าหนึ่งร้อยลำเข้ามาล้อมด้วยวัตถุประสงค์ร้าย จึงต้องชี้แจงให้คนตำบลอื่นเข้าใจว่าเราอนุรักษ์ไว้มิใช่เพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ขอเวลาสักหนึ่งเดือน หากหอยไม่เพิ่มขึ้นก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป คนจากตำบลอื่นจึงเริ่มจะเข้าใจวัตถุประสงค์ของการปักกั้นเขตุแดน” (สัมภาษณ์ วันที่ 7 พค.57 )
         นอกจากนี้แล้วในบริเวณดอนหอยหลอดยังมีคลังเก็บน้ำมัน  2 แห่ง  มีคลังเก็บแก๊ส 1 แห่ง และมีสถานที่ขึ้นกัลปาหนึ่งแห่งจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาของดอนหอยหลอด  เช่น  กัลปา  ถ้าจมในน้ำจะทำให้น้ำมีรสขม  ซึ่งมีผลกระทบต่อหอยและสิ่งมีชีวิตอื่น เช่นทำให้หอยมีรสขม  เป็นต้น  
         ผลการวิจัยจากการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกจากสมาชิก  7  คน  พบว่าสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดทุกคนใช้หลักธรรมในการทำงานในข้อ “สัจจะ” คือความจริงใจและความซื่อสัตย์ต่อกัน  ทั้งในกลุ่มสมาชิกและนักท่องเที่ยว หลักธรรมข้อหนึ่งในการทำงานคือ “ทมะ” การฝึกตนในการทำงาน การข่มใจเมื่อยามที่มีผู้กล่าวหา การฝึกนิสัยแห่งความเสียสละจนเกิดความเคยชิน นอกจากนั้นยังต้องมี  “ขันติธรรม”  คือความอดทนต่อการที่ไม่เข้าใจในการทำงานของชุมชนต่างๆ ที่เข้ามาทำการประมง การหยอดหอยหลอดบริเวณสันดอน  หลักธรรมอีกข้อ คือ “จาคะ” การเสียสละความสุขส่วนตัว  ด้วยการเข้าไปปักแนวเขตในการอนุรักษ์หอยหลอดให้มีความสมบูรณ์  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่เข้ามาประกอบอาชีพในการหยอดหอย  หลักธรรมทั้งสี่ประการเรียกว่า “ฆราวาสธรรม” ซึ่งพระพุทธองค์แสดงไว้ในอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (สํ ส.15/845/298) ความว่า “บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม 4 ประการละโลกนี้ไปย่อมไม่เศร้าโศก ในโลกนี้มีอะไรยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ จาคะและขันติ” เมื่ออธิบายตามความหมายพอสรุปได้ดังนี้ 1) สัจจะ คือ ความจริงซื่อตรง ซื่อสัตย์  จริงใจ พูดจริงทำจริง 2) ทมะ คือ การฝึกตน การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว 3) ขันติ คือ ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข็มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ย่อท้อ และ 4) จาคะ คือ ความเสียสละ สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตัว 
         สมาชิกทั้งหมดมีหลักธรรมคือความซื่อสัตย์จริงใจ ข่มใจ อดทนอดกลั้น และความเสียสละ จึงทำให้กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี ผลการวิจัยสรุปได้ว่า
        1. ด้านการท่องเที่ยว ดอนหอยหลอดมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยว เพราะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลิตผลที่หาได้จากทะเล อีกอย่างหนึ่งการที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยวประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่ดอนหอยหลอด ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างยิ่งโดยให้เหตุผลประกอบว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เพราะในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกอย่างพ่อค้าแม่ค้าก็ได้ประโยชน์คือขายสินค้า เช่น อาหาร ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เกิดขึ้นแก่ชุมชน ทุกคนที่เดินทางมาดอนหอยหลอดมีวัตถุประสงค์จะมาดูหอย ทำกิจกรรมในดอนหอยหลอด  การหยอดหอย นั่งเรือชมคลองบางจะเกร็ง ได้เที่ยวชมสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองตามปกติ และมีการประกอบอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น การดักปูชาวบ้านเรียกว่าการลงปู การหยอดหอยหลอด การเก็บหอยนางรม เป็นต้น จุดสำคัญที่สุดของดอนหอยหลอดที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวนั้นคือการได้ร่วมกิจกรรมของการหยอดหอย การได้รับประทานอาหารที่ใช้หอยหลอดในการปรุงอาหาร ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว เพราะการที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ผูกพันอยู่กับการขึ้นลงของน้ำทะเลซึ่งแต่ละช่วงเวลาขึ้นลงไม่เหมือนกัน จนมีคำเรียกติดปากชาวบ้านว่า “อัศจอรอหัน การัณย์ ยอ 7 ตะวัน พระจันทร์ 5” หมายถึงในช่วงของปีหนึ่งน้ำจะขึ้นตอนกลางวัน 7 เดือน และขึ้นตอนกลางคืน 5 เดือน ดังนั้นช่วงเวลาของการท่องเที่ยวจึงมีไม่มาก นักท่องเที่ยวจะต้องมาในช่วงที่น้ำลงจึงจะได้เห็นชาวบ้านหยอดหอย เพราะหอยจะขึ้นในช่วงน้ำลง นักท่องเที่ยวบางคนไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติเดินทางมาในช่วงน้ำขึ้นจึงไม่ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่แท้จริง
        2. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทุกคนต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ  โดยให้เหตุผลประกอบว่า เนื่องจากจำนวนของสัตว์ทะเลโดยเฉพาะหอยหลอดเหลือน้อยมากและใกล้จะสูญพันธุ์ ชาวประมงใช้วิธีหยอดหอยที่ผิดวิธี เช่น ใช้ปูนขาวผสมโซดาไฟไปเทราดลงบนผิวดิน หรือใช้เฉพาะโซดาไฟราดลงบนผิวดิน ดอนหอยหลอดเป็นเขตอนุรักษ์แรมซาร์ไซท์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยเหตุผลดังกล่าวประชาชนในชุมชนจึงเกิดแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูเพื่อดอนหอยหลอดเพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ และทำให้หอยและสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในหมู่บ้านฉู่ฉี่จึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดขึ้นมา ในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนั้น คนในชุมชนดอนหอยหลอดรู้จักเฝ้าระวังและป้องกันดอนหอยหลอดตลอดเวลา  เช่น ห้ามไม่ให้ชาวประมงใช้เรือคราดที่มีขนาดใหญ่ลากสัตว์น้ำในเขตดอนหอยหลอด  ห้ามเปิดระบายน้ำปริมาณที่มากจากเขื่อนเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติมโตของหอยหลอด   ชุมชนดอนหอยหลอดจะร่วมมือกันเฝ้าระวังให้คนในชุมชนหยอดหอยหลอดอย่างถูกวิธี โดยไม่ใช้โซดาไฟผสมปูนขาวเทราดบนพื้นผิวดิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้หอยตัวเล็กๆ ตายไปด้วย มีการปักหลักไม้ไผ่เพื่อป้องกันคลื่นทะเลที่จะทำลายชายฝั่งและสภาพแวดล้อม มีการกั้นเขตห้ามหยอดหอยโดยการปักธงสีเพื่อพักฟื้นให้หอยได้มีโอกาสเจริญพันธุ์มากขึ้นเนื่องจากมีประชาชนที่มาหยอดหอยหลอดมาจากจังหวัดอื่นๆด้วยซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น เช่น คนที่มาจากจังหวัดราชบุรี เป็นต้น  นอกจากนั้นชุมชนดอนหอยหลอดจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เยาวชนได้รู้จักรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนการช่วยกันรักษาความสะอาดในดอนหอยหลอดและสามารถให้หอยหลอดเจริญเติบโตได้ดีและไม่สูญพันธ์ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดมาแล้วสามครั้ง เช่น ค่ายเด็กรักษ์ดอน เป็นต้น
       3. การนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับวิถีชีวิตชุมชน โดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนาคือ “พิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้ร่วมชุมนุมกัน ได้มาร่วมรับทราบกติกาและร่วมปฏิญาณตนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมนั่นคือการรักษาสัจจะความจริงว่าจะไม่กระทำการใดๆที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ดอนหอยหลอด จะไม่หาหอยในวันที่มีพิธีสืบชะตา เป็นการร่วมกันทำบุญในพระพุทธศาสนาเพื่อการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  หลักธรรมในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อการการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข คือ ความจริงใจต่อกัน ความข่มใจ ความอดทนอดกลั้นและความเสียสละ ประชาชนในตำบลบางจะเกร็งจะเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอด โดยจะต้องเสียสละทั้งเวลาและความสุขส่วนตนในการทำงาน จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตความจริงใจในการประกอบอาชีพ และจะต้องรักษาสัจจะไม่ละเมิดกฎกติกาที่ชุมชนร่วมกันตั้งขึ้น จะต้องใช้วิธีหาหอยโดยการหยอดปูนขาวซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิม แม้จะได้ปริมาณหอยที่น้อยแต่หอยเจริญเติบโตทัน เลิกใช้วิธีการสาดปูนขาวผสมโซดาไฟซึ่งจะได้ปริมาณหอยมากกว่า แต่สภาพธรรมชาติถูกทำลาย หอยเจริญเติบโตไม่ทัน สัจจะ ทมะ ขันติและจาคะเป็นหลักธรรมในหมวดธรรมที่เรียกว่า “ฆราวาสธรรม”  ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หากนำมาบูรณาการใช้กับชุมชน แม้จะไม่ได้ทุกข้อ แต่หากประชาชนทุกคนมีกติกาที่จะรักษาความจริงใจต่อกัน และมีความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว การดำเนินชีวิตของชุมชนก็จะเป็นไปด้วยความสุข พิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดนับเป็นการบูรณาการพุทธธรรมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการจัดงานทุกปีโดยมีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของดอนหอยหลอดได้อีกวิธีหนึ่ง
 
สรุปผลการวิจัย
       1.ผลการวิจัยพบว่า ดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว เพราะการที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และปริมาณความสมบูรณ์ของหอยหลอด หากช่วงใดที่ปริมาณหอยที่ดอนหอยหลอดมีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวก็มักจะไม่เดินทางมาเที่ยว ปริมาณของหอยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของชุมชนดีขึ้น อีกทั้งเป็นแหล่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ นิคม จารุมณี (2536:54) ที่กล่าวถึงประโยชน์การท่องเที่ยวที่สำคัญ คือการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านวัฒนธรรมและสังคม ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และได้สัมผัสโดยตรงกับผลสัมฤทธิ์จากจิตใจของมนุษย์ และทำให้ได้รับความรู้แล้วยังทำให้เกิดความเพลิดเพลินเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต อีกทั้งการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อประเทศหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นที่ยอมรับกันว่าการท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้และนำเงินตราเข้าประเทศ การท่องเที่ยวจึงมีผลต่อรายได้ประชาชาติ ลดภาวการณ์ขาดดุลชำระเงิน การท่องเที่ยวยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในหลายสาขาสร้างงานรายได้ให้กับประชาชน เป็นการกระจายรายได้และสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนั้นการท่องเที่ยวทำให้บุคคลในท้องถิ่นมีรายได้จาการขายสินค้าเช่นผลิตภัณฑ์จากหอยหลอด เมื่อรายได้สังคมอยู่กันอย่างสันติ เพราะมีเศรษฐกิจดีประชาชนในชุมชนก็อยู่กันอย่างมีความสุข การท่องเที่ยวจึงมีประโยชน์และความสำคัญต่อบุคคล ต่อสังคมและเศรษฐกิจยังสอดคล้องกับแนวคิดของ ปวีณา โทนแก้ว(2542:54) ที่กล่าวถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวว่า การท่องเที่ยวจัดเป็นกิจกรรมนันทนาการประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์คือ 1) ความสำคัญต่อบุคคล การท่องเที่ยวเป็นสื่อสร้างสรรค์ความสำราญ เพลิดเพลินใจแก่มนุษย์ อันเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้มีทัศนคติกว้างไกล สามารถรับและเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ตลอดจนสถาปนาความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษยชาติ เนื่องจากการท่องเที่ยวนำมาซึ่งโอกาสแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนในชาติและนานาชาติ 2) ความสำคัญต่อสังคม การท่องเที่ยวก่อให้เกิดการสืบทอดทางวัฒนธรรม ตลอดจนการรักษาเอกลักษณ์ของชาติ นอกจากนั้นการท่องเที่ยวยังมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาและนำความเจริญไปสู้ท้องถิ่นช่วยพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค มาตรฐานการครองชีพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดี และ 3) ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญในรูปเงินตราต่างประเทศช่วยสร้างเสถียรภาพให้กำดุลการชำระเงินของประเทศ กระตุ้นการสร้างงานและรายได้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตรา และการกระจายรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งกระตุ้นการผลิตและธุรกิจบริการต่างๆ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวดอนหอยหลอดส่วนมากต้องการชมความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ได้ลงไปหยอดหอยหลอดด้วยตนเองดังนั้นการจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต้องอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ให้มากที่สุดและจะต้องพัฒนาด้านอื่นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวก
     2. ผลการวิจัยพบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนให้กลับมามีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมมือของประชาชนจึงจะสำเร็จได้ สอดคล้องกับแนวคิดของทะนงศักดิ์  คุ้มไข่น้ำ(2540:93) ได้อธิบายความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ดังนี้การมีส่วนร่วมของประชาชน  หมายถึง กระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา  ร่วมคิด  ร่วมตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตนเอง  ร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์  ความรู้  ความชำนาญ  ร่วมกับการใช้วิทยากรที่เหมาะสม  และสนับสนุนติดตามผลการปฏิบัติงานขององค์กรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
       3. ผลการวิจัยพบว่า การบูรณาการหลักธรรมในการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขนั้น สมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดทั้งหมดมีหลักธรรม คือ สัจจะ ความจริงใจ  การข่มใจ การอดทนอดกลั้นและการเสียสละ ซึ่งกลุ่มสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดได้นำหลักธรรมในฆราวาสธรรมมาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต จึงทำให้กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี จนทำให้ดอนหอยหลอดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งมีองค์ประกอบตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(2539:13) ได้กำหนดองค์ประกอบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไว้ว่ามีองค์ประกอบ  3 ประการ  คือ  1) ต้องเป็นการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2) ต้องสนองตอบความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว  3) ต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ 
        การนำหลักธรรมทางศาสนามาบูรณาการกับวิถีชีวิตของชุมชนตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อของชาวบ้านนั้น ส่วนหนึ่งอาศัยพิธีกรรมทางศาสนาคือพิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนคือวันที่ 22 เมษายน ของทุกปีซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลกได้นำมาใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดอนหอยหลอด ประชาชนในชุมชนดอนหอยหลอดทุกหมู่เหล่าทั้งผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน ชาวบ้านต่างก็พร้อมใจกันมาร่วมงาน เป็นการแสดงออกของความสามัคคี และยังพร้อมใจกันรักษาสัจจะว่าจะไม่ทำการหยอดหอยในวันนั้น การกระทำดังกล่าวยังเป็นการเสียสละทั้งเวลาและรายได้อันจะพึงได้ ทั้งสัจจะและการเสียสละเป็นหลักธรรมที่เรียกว่าฆราวาสธรรมซึ่งประกอบด้วยธรรมสี่ประการคือ 1) สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริงทำจริง ซื่อตรง ประชนชนในชุมชนต้องรักษาสัจจะที่ให้ไว้แก่กันว่าจะเคารพกฎกติกาที่ชุมชนร่วมกันกำหนดไว้  2) ทมะ คือ การฝึกตน ต้องฝึกฝนตนเอง ควบคุมจิตใจ ปรับตัวฝึกนิสัยไม่หยอดหอยด้วยวิธีที่ผิดแม้จะได้ผลตอบแทนมากกว่า ต้องหยอดหอยตามที่กลุ่มกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่กับชุมชนต่อไปนานๆ  3) ขันติ คือ ความอดทน  ต้องอดทนต่ออำนาจแห่งความอยาก ซึ่งหากอยากได้มากจนเกินไปก็จะทำผิดกฎระเบียบ ดังนั้นจึงต้องมีจิตใจเข็มแข็ง ทนทานไม่หวั่นไหว  4) จาคะ คือ ความเสียสละ ประชาชนในชุมชนต้องเสียสละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อทำการฟื้นฟูดอนหอยหลอดให้กลับพลิกฟื้นคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง พิธีสืบชะตาดอนหอยหลอดซึ่งทุกคนจะต้องเสียสละเวลามาร่วมงานและหยุดประกอบอาชีพในการหยอดหอยอย่างน้อยหนึ่งวัน แม้ว่าการฟื้นฟูดอนหอยหลอดเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะไม่ใช้หลักธรรมข้อใดข้อหนึ่งโดยตรง แต่ก็แฝงอยู่ในจิตใจแห่งความจริงใจและเสียสละตลอดจนต้องอาศัยความอดทนในการรอคอยให้สภาพแวดล้อมกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ จะต้องข่มใจไม่ละเมิดกฎกติกาที่ชุมชนร่วมกันบัญญัติไว้อันเป็นหลักธรรมในฆราวาสธรรม เมื่อชุมชนรักษากติกาของสังคมก็จะทำให้การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ
ข้อเสนอแนะ
       ผลการวิจัยพบว่าดอนหอยหลอดมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวจึงข้อเสนอแนะไว้เป็นสามระดับดังนี้
       1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายผลการวิจัยพบว่าการฟื้นฟูดอนหอยหลอดนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถาบันหลักทั้งสามสถาบันคือสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่บ้าน จึงมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารว่าทุกหน่วยงานต้องให้ความร่วมมือกัน
        2. ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ปฏิบัติ
         2.1 ผลการวิจัยพบว่าความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งนิเวศน์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณของหอยในดอนหอยหลอดมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อดอนหอยหลอด จึงมีข้อเสนอแนะสำหรับคณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูและองค์การบริหารเทศบาลดอนหอยหลอดว่า ควรจะต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดให้คงสภาพแห่งความสมบูรณ์ไว้
              2.2 ผลการวิจัยพบว่าการฟื้นฟูดอนหอยหลอด ควรได้รับการขยายไปยังสัตว์น้ำและพืชพันธุ์อื่นๆ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ประชาชนในตำบลอื่น ๆ ควรเข้าร่วมกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอดหรือจัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์พืช สัตว์ต่างๆขึ้นในชุมชน
             2.3 ผลการวิจัยพบว่าสภาพความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต บางครั้งแม้จะไม่ได้สอนตรงๆ แต่ก็นำไปบูรณาการกับเรื่องอื่นๆ โดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา มีส่วนทำให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข จึงมีข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานทางราชการ องค์กรเอกชน องค์กรทางศาสนา ควรเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น 
          3. ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาวิจัยครั้งต่อไป
                3.1  ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูพันธุ์พืช สัตว์น้ำต่างๆในบริเวณดอนหอยหลอด
               3.2  ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี เช่น พิธีสืบชะตาดอนหอยหลอด เป็นต้น
            3.3  ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการดำเนินชีวิตที่มีความสุข
บรรณานุกรม
  กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.พระไตรปิฎกไทยฉบับหลวง เล่มที่ 15. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2514.
  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สรุปนโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เล่มที่ 10. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , 2539.
ทะนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ. หลักการพัฒนาชุมชน. ขอนแก่น: ภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2540.
  นิคม จารุมณี.การท่องเที่ยวและการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมการศาสนา,2536.
วารสารมนต์รักแม่กลอง ปีที่ 3  ฉบับที่ 8 ออกเดือนพฤษภาคม 2553  หน้า 49.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม.สมุทรสงคราม.หัวหินสาร, มปพ.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนานาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน.กรุงเทพฯ: 2554.
สัมภาษณ์นายภานุวัฒน์ คงรักษา ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูดอนหอยหลอด (สัมภาษณ์วันที่ 7 พฤษภาคม 2557)
 
 
 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน,ดร. 
ประธานสาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 
Phramaha Boonthai  Punnamano, Dr.
President of Program in Buddhism and Philosophy
Graduate School of Mahamakut Buddhist University
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก