ความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ทำให้จิตรกรรมเปลี่ยนไปด้วยดังเหตุผลที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้สรุปไว้ว่า “ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ในสมัยพระบาทสมเด้จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453) ประเทศไทยได้นำเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศหลายประการคือการสร้างทางรถไฟ ถนนหนทาง โรงพยาบาล โรงเรียน การประปา การไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่ารายได้ของประเทศได้นำไปใช้เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ การสร้างวัดวาอารามจึงสดุดหยุดลง เป็นเหตุให้ศิลป์ตามประเพณีมิได้เป็นไปอย่างปกติเช่นสมัยก่อน (ศิลป์ พีระศรี,ศิลปวิชาการ “วิวัฒนากาแห่งจิตรกรรมฝาผนังไทย”, กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,2546,หน้า 390)
จิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหารจึงมิได้เขียนตามแบบประเพณีแต่ได้ประยุกต์รูปแบบของชาวตะวันตกเข้ามาโดยแทรกอยู่ในงานจิตรกรรมบางครั้งจึงเห็นมีการแต่งกายแบบชาวตะวันตกในภาพด้วย จิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหารมีปรากฎอยู่ที่ พระอุโบสถตอนบน พระอุโบสถตอนล่าง เสาพระอุโบสถ ภายในศาลาการเปรียญ หอไตร และภายในวิหารเก๋ง ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไปจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศ
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถตอนบนเขียนเป็นภาพปริศนาธรรมมีจำนวน 16 ภาพเช่น ปริศนาธรรมช่องที่ 1 เป็นรูปหมอยากำลังเยียวยาหมู่ชนผู้มีพยาธิให้หายจากพยาธิด้วยยาที่ได้ประกอบไว้แล้ว ณ ภายในตึกโรงพยาบาล เบื้องหน้าตึกมีหมู่ชนผู้มีพยาธิเดินเข้าสู่ตึกเองบ้าง มีผู้อื่นช่วยนำเข้าไปบ้าง ปริศนาธรรมข้อนี้มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังหมอยาผู้ฉลาด เพราะพระองค์เป็นผู้สามารถ ในการที่จะกำจัดพยาธิคือกิเลสกับทั้งอนุสัยเสียได้ พระธรรมเปรียบดังยาที่หมอได้ประกอบไว้โดยชอบแล้ว พระสงฆ์ผู้มีอนุสัยแห่งพยาธิคือกิเลสสงบแล้ว เปรียบดังหมู่ชนมีพยาธิสงบด้วยดีเพราะประกอบยาแล้ว
จิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่สี่ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงจากจิตรกรรมแบบเดิมคงต้องอาศัยบทสรุปของปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูลว่า “ในบริบทของสังคมไทยต้นรัตนโกสินทร์โดยรวมนั้น จิตรกรรมเป็นสื่อทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีภาษาเฉพาะ และเป็นภาษาที่เอื้อและสนับสนุนการกล่าวถึงความคิดในการจัดระเบียบทางสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในกลุ่มต่างๆ ความคิดพื้นฐานนี้อาจจะปรากฏในสื่อทางวัฒนธรรมอื่นๆ เช่นการแสดงหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายในนาฏกรรม ดนตรี และศิลปกรรมแขนงต่างๆที่อยู่ในจารีตของราชสำนัก โดยเฉพาะสื่อทาง ศิลปกรรมต่างๆที่เกิดในโครงสร้างของสังคมเช่นเดียวกับจิตรกรรมนั้น น่าจะมีภาษาที่มีลักษณะร่วมกับจิตรกรรมอยู่ไม่น้อย หากแต่การเปรียบเทียบสื่อต่างๆเหล่านี้อย่างสมบูรณ์เป็นเรื่องที่เรายังจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีก (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, ภาษาของจิตรกรรมไทย: การศึกษารหัสของภาพ และความหมายของสังคมวัฒนธรรมของจิตรกรรมพุทธศาสนาต้นรัตนโกสินทร์,รายงานการวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.หน้า 14)
เมื่อแนวคิดในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่สี่เปลี่ยนไป จิตรกรที่เคยทำงานในสมัยรัชกาลที่สามจะทำอะไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าจะศึกษาค้นคว้าต่อไป จิตรกรเหล่านี้เมื่อไม่อาจเขียนภาพตามที่เคยเขียนได้ น่าจะออกมาเขียนภาพตามต่างจังหวัดนับเป็นจุดเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังไทย
วัดบวรนิเวศวิหารมีจิตรกรรมร่วมสมัยที่เปลี่ยนจากรูปแบบงานจิตรกรรมในอดีต ภาพบางอย่างมีการสอดแทรกแนวคิดสมัยเข้าไป โดยมิได้ยึดติดกับธรรมเนียมในการเขียนภาพแบบดั้งเดิม เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในงานจิตรกรรม สมัยปัจจุบันงานจิตรกรรมมีราคาอาจขายได้ภาพละหลายแสนบาทบาท งานจิตรกรรมฝาผนังตามพระอุโบสถต่างๆเป็นงานที่ทรงคุณค่าแม้จะเป็นงานที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ เพราะจิตรกรมีชื่อเสียงเช่นที่วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงรายเป็นต้น
หากใครอยู่ใกล้วัดบวรนิเวศวิหารอยากสัมผัสความงามและสุนทรียทัศน์กับงานจิตรกรรมฝาผนัง ก็เชิญแวะชมได้ ส่วนพระอุโบสถท่านจะเปิดให้ชมวันไหนนั้นต้องติดต่อสอบถามเอาเอง เพราะปัจจุบันวัดบวรนิเวศวิหารกำลังมีการซ่อมแซมปรับปรุงหลายอย่าง อาจไม่สะดวกนัก แต่ถ้ามีโอกาสควรเข้ามาเสพสุนทรียรสแห่งงานจิตรกรรมที่สื่อถึงยุคสมัยได้อย่างยอดเยี่ยม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.mbu.ac.th 12/09/50
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 01/05/53
บรรณานุกรม
คณะกรรมการอำนวยการฯ.ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา.2548.
ประเสริฐ ศีลรัตนา. สุนทรียะทางทัศนศิลป์.กรุงเทพ ฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2542.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล. ภาษาของจิตรกรรมไทย: การศึกษารหัสของภาพ และความหมายของสังคมวัฒนธรรมของจิตรกรรมพุทธศาสนาต้นรัตนโกสินทร์.รายงานการวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
พระมหาอำพล บุดดาสาร.การศึกษาวิเคราะห์พุทธปรัชญาและพุทธศิลป์จากภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องบาลีชาดกวัดเครือวัลย์วรวิหาร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546.
มัย ตติยะ.สุนทรียภาพทางทัศนศิลป.กรุงเทพฯ:วาดศิลป์,2547.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย.กรุงเทพ ฯ : เพื่อนพิมพ์,2530.
สันติ เล็กสุขุม.จิตรกรรมไทย สมัยรัชการที่สาม: ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม.กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ,2548.
ศิลป์ พีระศรี.ศิลปวิชาการ “วิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังไทย”. กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,2546.