ใครที่เคยเข้าไปภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร หากสังเกตให้ดีจะพบว่านอกจากพระประธานที่โดดเด่นเป็นสง่าแล้ว ตามผนังพระอุโบสถจะประดับประดาไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ผ่านความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก วัดบวรมีความสำคัญหลายด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่งคือจิตรกรรมฝาผนัง
คำว่า “จิตรกรรม” พจนานุกรมศัพท์ศิลปะได้ให้คำนิยามไว้ว่า จิตรกรรมหมายถึงภาพที่แต่ละบุคคลสร้างขึ้น ด้วยประสบการณ์ทางสุนทรียภาพและความชำนาญ โดยใช้สีชนิดต่างๆ เช่นสีน้ำ สีน้ำมัน สีฝุ่น เป็นสื่อกลางในการแสดงออกถึงเจตนาในการสร้างสรรค์ การสร้างงานจิตรกรรม จะสร้างงานบนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ (ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย,กรุงเทพ ฯ : เพื่อนพิมพ์,2530, หน้า 134)
จิตรกรรมไทยเป็นวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง ซึ่งมักแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย การแสดงการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ และสาระอื่นๆ ของแต่ละยุคให้ปรากฏ ซึ่งนอกจากจะส่งผลสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติแล้ว ยังมีคุณค่าทางศิลป์ที่ช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษย์ได้ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆได้เป็นอย่างดี (ประเสริฐ ศีลรัตนา, สุนทรียะทางทัศนศิลป์,กรุงเทพ ฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2542,หน้า 119)
จิตรกรรมฝาผนัง เป็นศิลปะที่มีค่ายิ่งประเภทหนึ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งนิยมเขียนกันตามผนังภายพระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป พระปรางค์ พระระเบียง พระสถูปเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และปราสาท พระราชวัง ตลอดจนผนังถ้ำ และเผิงผา ซึ่งเรียกว่า จิตรกรรมฝาผนัง (Mural Painting)
ความมุ่งหมายในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ความหมายและมูลเหตุในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น เกิดจากแนวความคิดที่ว่า เมื่อมีกิจพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ฝาผนังเหล่านั้นมักจะได้รับการตกแต่งโดยมีผ้าปิดทับ ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงเป็นที่มาของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ลักษณะของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยสมัยโบราณ ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาดก เรื่องพระพุทธประวัติ ที่ล้วนเกี่ยวพันกับรพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนเรื่องวรรณคดีนั้น มีอยู่น้อย
การเขียนภาพในพระอุโบสถหรือวิหาร นอกจากจะเขียนขึ้นเพื่อประดับตกแต่งแล้ว จิตรกรหรือผู้ที่ให้เขียนภาพนั้น ต้องการจะให้ภาพที่เขียนเป็นเครื่องโน้มน้าวจิตใจของผู้ชม ให้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้ประกอบแต่คุณงามความดี จิตรกรเองจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากภาพเขียนเหล่านั้น
ลักษณะของภาพจิตรกรรมของไทย
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของไทย มีลักษณะเฉพาะของไทยเอง ซึ่งไม่เหมือนกับของประเทศในเอเซียอาคเนย์ หรือประเทศใด ๆ เลย จิตรกรรมฝาผนังจะเป็นลักษณะแบนราบ ไม่มีส่วนลึกของภาพที่เราเรียกว่า “Perpective” เช่น ภาพที่อยู่ไกลจะมีลักษณะที่เล็กกว่า ภาพเขียนจึงมีเพียง 2 ลักษณะ คือ กว้างและยาวเท่านั้นเอง แต่เป็นภาพเขียนที่จิตรกรได้พยายามใช้ความสามารถที่จะเขียนให้รู้ว่าบุคคลไหนเป็นตัวเอกของเรื่อง นอกจากนั้นภาพเขียนยังแสดงออกหรือสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น ๆ
คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง
คุณค่าของภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่จะศึกษาหาความรู้จากภาพเหล่านั้น การศึกษาอาจแบ่งได้หลายแง่หลายมุม อาทิ การศึกษาถึงศิลปความงาม สภาพความเป็นอยู่ การสร้างบ้านแปลงเรือน ชีวิตของสังคมประจำวันของกษัตริย์ของคนในราชสำนักรวมไปถึงบุคคลธรรมดา ตลอดจนจารีตประเพณีของคนในสมัยโบราณ ฯลฯ ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยที่ตนยังมีชีวิตอยู่ จิตรกรเองใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายชีวิตทุกแง่ทุกมุม ตลอดจนภาพธรรมชาติแวดล้อมลงไปในภาพจิตรกรรมนั้นด้วย
ลักษณะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ลักษณะในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยในสมัยโบราณ มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
1. การเขียนแบบสีฝุ่น (Tempera) ซึ่งมีวิธีการที่ซับซ้อนมาก ผนังที่ใช้เขียนจะต้องไม่มีความเค็มของปูน ในสมัยโบราณใช้ใบขี้เหล็กตำ ผสมน้ำราด จนกว่าจะหมดความเค็มของปูน ซึ่งจะทราบได้โดยการใช้ขมิ้นทา ถ้าขมิ้นเป็นสีแดงอยู่ ก็ต้องใช้น้ำใบขี้เหล็กราดต่อไป เมื่อผนังหมดความเค็มก็ต้องรอให้ผนังนั้นแห้งสนิท จึงจะลงมือเขียนภาพได้
2. วิธีเขียนแบบปูนเปียก (Fresco) การเขียนแบบปูนเปียกนี้ คือ การเขียนภาพลงบนปูนที่ยังไม่แห้ง ซึ่งจะทำให้สีอยู่ทนถาวร ซึ่งชาวไทยรู้จักการเขียนภาพแบบนี้มาจากชาวจีน
การเขียนภาพแบบนี้ คนไทยในสมัยโบราณไม่นิยม เพราะลักษณะภาพเขียนหรือจิตรกรรมฝาผนังของไทยต้องใช้ความประณีตมากและต้องใช้เวลา จึงไม่เหมาะกับการเขียนแบบนี้ การเขียนภาพบนปูนเปียกเหมาะที่จะเขียนภาพขนาดใหญ่ รายละเอียดน้อย
การใช้สีในสมัยโบราณคนไทยรู้จักการทำสีขึ้นใช้เอง โดยได้มาจากธรรมชาติ เช่น รากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ และดิน