จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ผลงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือว่าจิตรกรรมแบบประเพณีไทยได้พัฒนามาถึงขันที่สมบูรณ์สูงสุด สอดคล้องกับความจริงว่าจิตรกรรมที่เขียนในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเหล้าเจ้าอยู่หัวมีตัวอย่างมากแห่ง จิตรกรรมที่วาดตามแบบอย่างประเพณีไทยมีสามแบบคือ (1) ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง วาดภาพพุทธประวัติเรียงกันไปจนรอบผนังทั้งสี่ด้าน เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไปแบ่งเป็นแถว ๆ วาดภาพเทพชุมนุม เหนือขึ้นไปเป็นภาพฤาษีหรือนักสิทธิ์เหาะลอยอยู่ในอากาศเสมือนมานมัสการพระพุทธรูปที่เป็นประธานของอุโบสถ หรือพระที่นั่ง การจัดวางภาพลักษณะนี้ปรากฎที่ผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ (2) ผนังช่องหน้าต่างวาดภาพเกี่ยวกับทศชาติชาดกได้แก่เตมิยราชชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภุริทัตชาดก จันทกุมารชาดก (3) การวางตำแหน่งภาพไม่เป็นระบบระเบียบตายตัวเหมือนสองแบบแรก แต่จะวาดตามผนังทั้งสี่ด้านและด้านเสาเป็นเรื่องต่างๆกันไปจนเต็มผนังเช่นผนังวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวนาราม
กรุงรัตนโกสินทร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2325 นับจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 200 กว่าปีแล้ว ผลงานจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจิตรกรรมอยุธยาคือการเขียนภาพลายรดน้ำซึ่งใช้สำหรับตกแต่งบานประตู หน้าต่างในวัดวาอาราม มีการสร้างสรรค์อย่างแพร่หลาย ในสมัยนี้ แต่คุณค่าทางด้านฝีมือยังด้อยกว่าสมัยอยุธยา ในเรื่องความรู้สึกพลิ้วไหวและความมีชีวิตชีวา
นอกจากนี้ งานประดับมุขก็เป็นงานประณีตศิลป์ ที่ได้รับอิทธิพลตกทอดมาจากสมัยอยุธยา เช่นเดียวกัน และฝีมือประณีตไม่แพ้กัน ซึ่งสามารถหาดูได้ที่บานประตูโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ทางด้านงานจิตรกรรมฝาผนังได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับจากสมัยอยุธยา จนถึงสมัย รัตนโกสินทร์ มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังกันมาก และมีการพัฒนาฝีมือถึงขั้นเรียกว่า เจริญสูงสุด (Classic) งานจิตรกรรมไทยที่รักษารูปแบบ และสีสันเป็นภาพสองมิติ และแสดงฝีมือการตัดเส้นที่งดงามแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “จิตรกรรมไทยประเพณี” ช่างเขียนฝีมือชั้นครูในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 คือ “พระอาจารย์นาค” ได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยประเพณีไว้มากมาย ในปัจจุบันนี้หาดูได้ที่หอไตรของวัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร และยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังของช่างเขียนแบบไทยประเพณีอีกหลายแห่ง เช่น ที่วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร วัดสุวรรณารามวรวิหาร วัดสระเกศาราชวรมหาวิหาร วัดทองธรรมชาติวรวิหาร และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นต้น
นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดให้จัดทำ “สมุดไทย” ซึ่งเป็นการเขียนภาพจิตรกรรมกระดาษสมุดไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ คือ สมุดไทยของวัดบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นภาพวาดตำราเจ็ดคัมภีร์ และประกอบวรรณกรรมเรื่องพระมาลัย และทศชาติชาดก และโดยเฉพาะ “สมุดตำรารำ” ที่ใช้ฝีมือช่างจิตรกรรมไทย ถ่ายทอดท่ารำนาฏศิลป์ไทยอันงดงามเป็นมรดกตกทอดทางศิลปวัฒนธรรมไทยมาจนถึงทุกวันนี้ จึงนับว่าศิลปะด้านทัศนศิลป์ไทย ได้บูรณาการเชื่อมโยงกับนาฏศิลป์ไทยมาช้านานแล้ว
ขรัวอินโข่งกับผลงานจิตรกรรมไทยสามมิติ
ในสมัยรัตนโกสินทร์นับเป็นยุคสมัยที่มีการปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความเจริญทัดเทียมกับอารยประเทศ ประเทศไทยได้ติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าอย่างเป็นทางการกับกลุ่มประเทศตะวันตกมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จึงได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านจิตรกรรมไทยจากศิลปะตะวันตกที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) มีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยในรูปแบบผสมผสานกับศิลปะสากลแบบตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะช่างเขียนไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้นคือ “ขรัวอินโข่ง” เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่เขียนภาพจิตรกรรมไทยที่มีแสงเงาและความตื้นลึกแบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนจริง และยังสะท้อนภาพชีวิตของชาวยุโรปอยู่งาน จิตรกรรมไทย นับว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ในงานจิตรกรรมไทยอีกด้วย ในสมัยรัชกาลที่สี่แนวคิดในการเขียนจิตรกรรมตามประเพณีได้เปลี่ยนไป โดยจิตรกรไม่นิยมวาดภาพตามประเพณีแต่หันมาวาดภาพที่เป็นปริศธรรมและวัฒนธรรมประเพณีแทนดังเช่นจิตรกรรมที่วัดบววรนิเวศวิหารโดยฝีมือการวาดของขรัวอินโข่ง
ขรัวอินโข่งมีชื่อเดิมว่า “อิน” เป็นชาวเพชรบุรี เมื่อท่านบวชเป็นพระที่วัดราชบูรณะ กรุงเทพมหานคร และครองเพศบรรพชิตตลอดชีวิต ประชาชนจึงเรียกท่านจนติดปากว่า “ขรัวอินโข่ง” ซึ่งหมายถึง “พระภิกษุผู้สูงอายุ” หรือ “ภิกษุผู้ยิ่งใหญ่” ส่วนนามที่เรียกท่านเป็นทางการคือ “พระอาจารย์เดิม”ซึ่งท่านได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยรับใช้เบื้องยุคคลบาทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มตั้งแต่พระองค์ยังทรงผนวช จวบจนเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นระยะเวลาอันยาวนาน
ในระยะแรกขรัวอินโข่งยังเขียนภาพจิตรกรรมไทยเป็นแบบดั้งเดิม คือนิยมเขียนภาพเกี่ยวกับชาดก และพระพุทธศาสนาเป็นภาพแบบ 2 มิติ เช่น ภาพยักษ์ หน้าลิง ภาพวาดที่วัดมหาสมณาราม และหอราชกรมานุสรเป็นต้น
ต่อมาท่านได้ศึกษารูปแบบงานจิตรกรรมตะวันตกจากงานภาพพิมพ์ที่แพร่หลายในหมู่มิชชันนารี และภาพที่ส่งมาจำหน่ายในเมืองไทยในสมัยนั้น แล้วนำมาประยุกต์ใช้พัฒนางานจิตรกรรมไทยเป็นภาพทิวทัศน์แบบตะวันตกโดยใช้ตัวละครและสถานที่แบบตะวันตก เช่น ภาพปริศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาสเป็นต้น
งานจิตรกรรมไทยของขรัวอินโข่ง ถึงแม้จะนำเอาแบบอย่างวิธีการเขียนภาพจากตะวันตกมาใช้ แต่ก็ยังแสดงความเป็นอัจฉริยภาพของจิตรกรไทยที่สร้างจินตนาการจากความคิดและความเชื่อของไทยที่เป็นอยู่เดิม โดยเฉพาะปรัชญาทางพระพุทธศาสนา เช่น ภาพปริศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร และภาพนมัสการพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นงานชิ้นเดียวที่เขียนในจังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนของท่านเอง
วิยะดา ทองมิตร กล่าวถึงคุณค่าของผลงานของขรัวอินโข่งไว้ว่า "ขรัวอินโข่ง วาดภาพเหมือนจริง และด้วยวิธีวาดแบบทัศนียวิสัย 3 มิติ ทำให้ภาพเกิดความลึก การใช้สีแบบ monochrome ที่ประสานกลมกลืนกัน ทำให้ภาพของขรัวอินโข่งมีบรรยากาศที่ชวนฝัน ทำให้ผู้ดูเกิดจินตนาการฝันเฟื่องตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นภาพวาดรูปต้นไม้ในป่า รูปต้นไม้และโขดเขาที่เพิงผาทางด้านผนังทิศเหนือ ด้านล่างที่มณฑป พระพุทธบาทวัด พระงามนั้นถึงจะไม่มีรูปบุคคลปรากฏอยู่ด้วยเลย แต่ภาพทั้งสองนี้ก็แลดูสวยด้วยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือภาพต้นสนที่เอนลู่ตามลมด้วยแรงพายุที่พัดอย่างแรงกล้านั้น ก็แลดูน่ากลัวสมจริงสมจังสัมพันธ์กับความน่ากลัวของภูตผีปีศาจที่มาขอส่วนบุญกับพระเจ้าพิมพิสาร
ภาพวาดทุกภาพของขรัวอินโข่งแสดงให้เห็นถึงความประสานกลมกลืนของสีและบรรยากาศที่สลัว ๆ เสมือนกับทำให้ความคิดฝันที่ค่อนข้างเลือนลางนั้น ค่อย ๆ กระจ่างชัดในอารมณ์ รวมทั้งบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้ที่ร่มครึ้ม ทำให้จิตใจเกิดจินตนาการคล้อยไปตามภาพที่ได้เห็น…เมื่อวาดภาพชีวิตทางยุโรป ขรัวอินโข่งจึงพยายามสร้างอารมณ์และบรรยากาศเป็นประเทศเมืองหนาวโดยใช้วิธีแบบทึมๆ
ขรัวอินโข่งจึงเป็นจิตรกรรมที่เขียนจิตรกรรมที่ต่างไปจากจิตรกรรมตามแบบประเพณี ภาพที่วาดขึ้นแม้จะมีวีแบบทึมๆแต่ก็ให้ความงามในอีกรูปแบบหนึ่ง ศิลปะแบบเดิมเสื่อมลง แต่กลับได้สร้างศิลปะแบบใหม่ขึ้นดังที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ให้ทัศนะไว้ว่า “หลังจากต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แล้ว จิตรกรรมฝาผนังไทยซึ่งเขียนขึ้นตามแบบดั้งเดิมก็เสื่อมลง จะคัดลอกกันไปตามตัวอย่างภาพที่สวยงามที่มีอยู่แต่ก่อน โดยผู้คัดลอกไม่มีความเข้าใจในความงาม รูปที่เขียนซ้ำแบบกันต่อๆมาก็ไม่มีชีวิตจิตใจอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ศิลปะตะวันตกก็ได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย และทุกคนก็ตื่นเต้นกับสิ่งแปลกๆนี้ เพราะเป็นของใหม่ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ว่าช่างเขียนก็ย่อมจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบตะวันตก ซึ่งค่อนข้างแข็งกระด้างและมีลักษณะคล้ายภาพถ่ายมากกว่าภาพเขียน ด้วยความปรารถนาที่จะฟื้นฟูจิตรกรรมของไทย และเพื่อจะดัดแปลงให้เป็นของทันสมัย ช่างของเราจึงพยายามที่จะเลียนแบบศิลปะตะวันตก โดยวาดภาพวัตถุทั้งหลายให้เป็นแบบสามมิติทั้งในแบบมีทัศนียวิสัย (perspective) และให้มีปริมาตร (volume) แต่เนื่องจากภาพเขียนของไทยเป็นแบบสองมิติ (คือแบนราบ) และมีทัศนียวิสัยเป็นแบบเส้นขนานกัน (ซึ่งมิใช่แบบวิทยาการ) เพราะฉะนั้นเมื่อช่างเขียนยอมรับเอาคติทางตะวันตกมาใช้ ภาพเขียนของเราก็เลยสูญเสียลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของตนเองกลายเป็นศิลปะครึ่งชาติไป ณ ที่นี้เห็นควรกล่าวไว้ด้วยว่า ภาพเขียนแบบดั้งเดิมของไทยนั้นเหมาะดีสำหรับใช้เขียนจิตรกรรม ฝาผนัง แต่แบบของตะวันตกนั้นเหมาะที่จะใช้เป็นภาพเขียนบนผืนผ้าใบ (ศิลป์ พีระศรี,ศิลปวิชาการ “วิวัฒนากาแห่งจิตรกรรมฝาผนังไทย”, กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,2546,หน้า 221)
จิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดบรมนิวาสเป็นจิตรกรรมสมจริงแนวตะวันตกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในกระแสใหม่ (สันติ เล็กสุขุม,จิตรกรรมไทย สมัยรัชการที่สาม: ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม,กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ,2548,หน้า 201)