ในยุคที่โลกเจริญก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกำลังจะกลายเป็นแหล่งรวมของสรรพวิชาทั้งหลายนั้น ในขณะที่ศาสนาแม้จะมีมาก่อนวิทยาศาสตร์คำสอนบางอย่างดูเหมือนว่าจะล้าหลังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการของวิทยาศาสตร์ ทำให้บางศาสนาถึงกาลอวศานต์ค่อยๆถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา จนมีศาสนาโบราณหลายศาสนาที่หายสาบสูญไปจากสารบบของโลกในยุคปัจจุบัน พระพุทธศาสนาก็เกิดก่อนที่จะมีศาสตร์ใหม่อย่างวิทยาศาสตร์ แต่ยังคงดำรงอยู่แต่ก็กำลังจะค่อยถูกกลืนหายไปกับศาสตร์สมัยใหม่ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ(ป.ธ.9)อดีตเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยหรือเทียบได้กับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้เขียน "พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์" ไว้เป็นบทหนึ่งในหนังสือ "คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา"นานกว่าห้าสิบปีแล้ว ลองศึกษาดูอาจจะได้ข้อคิดบางอย่างที่บางทีเราอาจคาดคิดไม่ถึงก็ได้
บทที่ 12
พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
“พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอนตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น”
ก่อนที่จะกล่าวว่า พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอน ตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ผู้เขียนเห็นสมควรที่จะได้เข้าใจคำว่า “วิทยาศาสตร์” และขอบเขตแห่งความหมายเพื่อเข้าใจง่ายในการพิจารณาเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาเป็นลำดับไป
ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์
คำว่า “วิทยาศาสตร์” เราใช้ในภาษาไทยโดยแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Science คำอังกฤษคำนี้มาจากคำในภาษาลาตินว่า Scientia อีกต่อหนึ่งซึ่งแปลว่าความรู้ (Knowledge) ขอบเขตของวิชาวิทยาศาสตร์นั้นได้แก่บรรดาความรู้อันว่าด้วยเอกภพฝ่ายวัตถุ (physical universe) หรือรูปธรรมทั้งปวง กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือสิ่งทั้งปวงในโลกนี้และโลกอื่นที่มีรูปร่าง ขนาดหรือน้ำหนัก อันอาจกำหนดรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ข้อที่กล่าวว่าสิ่งทั้งปวงในโลกนี้และโลกอื่นที่มีรูปร่างนั้น คำว่า โลกอื่น หมายถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ทั้งในสุริยจักรวาลนี้ และในสุริยจักรวาลอื่น วิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาอย่างมีระเบียบกฎเกณฑ์ มีการทดลอง การสังเกต สอบสวนความจริงไม่ยอมใช้วิธีเชื่ออย่างงมงาย การแบ่งประเภทวิทยาศาสตร์มีหลายมติด้วยกัน บางมติแบ่งออกเป็น 2 บางมติแบ่งออกเป็น 3 คือ
วิทยาศาสตร์ 2 ประเภท
1.วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยวัตถุที่ไม่มีใจครองหรือไม่มีชีวิตทั้งปวง กล่าวตามภาษาวิทยาศาสตร์ ได้แก่การสอบสวนปรากฏการณ์อันเป็นมูลฐานแห่งสสาร คำว่าสสาร ได้แก่สิ่งที่มีขนาด น้ำหนัก หรือมีการกินที่
2.วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Sciences) เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งมีชีวิต ทั้งต้นไม้และสัตว์ทุกชนิด ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอินทรีย์ (Organism) กล่าวตามภาษาวิทยาศาสตร์ได้แก่การสอบสวนปรากฏการณ์อันซับซ้อนแห่งชีวิต
อนึ่งวิทยาศาสตร์ชีวภาพนี้ บางครั้งเรียกว่า (Natural Science) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในสมัยโบราณเรียกว่า Natural History ความรู้เรื่องธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยพืชและสัตว์ คือพฤกษาศาสตร์และสัตววิทยา ดังจะกล่าวในรายละเอียดข้างหน้า
วิทยาศาสตร์ 3 ประเภท
ในระยะหลัง ๆ นี้มนุษย์ได้จัดวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง จาก 2 ประเภทข้างต้น เรียกว่า วิทยาศาสตร์สังคม (Social Sciences) แต่ในเมืองไทยเรายังไม่สนิทใจจะเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ จึงใช้คำว่าสังคมศาสตร์ แทนคำว่าวิทยาศาสตร์สังคม อย่างไรก็ตามทั่วโลกได้ยอมรับวิทยาศาสตร์ประเภทนี้แล้ว โดยจัดให้วิชาต่าง ๆ เหล่านี้ คือ สังคมวิทยา มนุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ทัณฑวิทยา จริยศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น รวมอยู่ในวิชาวิทยาศาสตร์ฝ่ายสังคม แต่เฉพาะจิตวิทยาอาจคาบเส้นในระหว่างวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้ด้วย คือจิตวิทยาทั่วไปอยู่ในวิทยาศาสตร์ทางสังคม เหตุที่จะจัดวิชาต่าง ๆ ทางสังคมเข้าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เพราะต้องมีสถิติข้อเท็จจริง การทดสอบ การสังเกต การทดลอง อันเป็นวิธีการของวิทยาศาสตร์ มิใช่เรื่องของการพูดเอาเองตามชอบใจโดยไม่มีหลักเกณฑ์
คราวนี้มีปัญหาว่า วิชาคำนวณจะอยู่ในวิทยาศาสตร์ประเภทไหนถ้าจะพูดถึงวิชาคำนวณต้องพูดอีกแบบหนึ่ง คือ แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) คือเป็นการศึกษาเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์แท้ ๆ และซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏในตัวเอง วิชาคำนวณจึงอยู่ในประเภทนี้ อนึ่ง วิทยาศาสตร์ทุกประเภทที่เป็นไปตามเนื้อหาของวิชาการยังไม่กล่าวถึงการนำไปใช้ คงอยู่ในประเภทวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เมื่อใดเราใช้ประโยชน์จากวิชานั้น ก็เกิดวิทยาอีกประเภทหนึ่ง คือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) ถ้าจะเทียบให้ชัดการเรียนวิชาพฤกษศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ การเรียนทำป่าไม้ (คือการใช้พฤกษศาสตร์เป็นมูลฐานสร้างประโยชน์ต่อไปอีก) เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (ประยุกต์ แปลว่าใช้ประโยชน์) หรืออีกอย่างหนึ่งการเรียนวิชาเคมีเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ การเรียนปรุงยา ผลิตยารักษาโรคเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์
รายละเอียดแขนงวิชาวิทยาศาสตร์
เมื่อได้แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ (ว่าด้วยสิ่งไม่มีชีวิต) กับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ว่าด้วยสิ่งมีชีวิต) และวิทยาศาสตร์ทางสังคมเช่นนี้แล้ว จึงสมควรจะได้ทราบว่าแต่ละประเภทได้มีสาขาวิชาต่อไปอีกอย่างไร ทั้งนี้เพียงเพื่อรู้หน้าตาย่อ ๆ ของวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าใจขอบเขตอันจะเป็นประโยชน์ในการอธิบายเทียบเคียงกับพระพุทธศาสนาภายหลัง
ก. วิทยาศาสตร์กายภาพ
วิทยาศาสตร์ส่วนนี้ มีวิชาฟิสิกส์และเคมีเป็นวิชามูลฐาน แล้วเกิดวิชาเพิ่มขึ้นจากวิชามูลฐานนั้น คือ ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยาเป็นต้น ในที่นี้จะอธิบายถึงวิชาแขนงเหล่านั้นเพียงย่อ ๆ
1. ฟิสิกส์ (Physics)
แปลตามตัวอักษรวิชานี้ได้แก่กาย วัตถุ หรือรูปธรรม พูดง่าย ๆ คือ เป็นวิชาว่าด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิต แบ่งสาขาออกไปอีก 6 อย่าง คือ กลศาสตร์,ความร้อน,เสียง,แสง,แม่เหล็กและไฟฟ้า เดิมทีเดียววิชาฟิสิกส์เรียกว่า Natural Philosophy (ปรัชญาว่าด้วยธรรมชาติ) หมายถึงวิชาว่าด้วยวัตถุที่ไม่มีชีวิต เป็นคำคู่กับคำว่า Natural History (ความรู้ว่าด้วยธรรมชาติ) ซึ่งหมายถึง วิชาว่าด้วยสิ่งมีชีวิต เช่น พฤกษศาสตร์ และสัตววิทยา ต่อไปนี้จะอธิบายย่อ ๆ ว่า สาขาของวิชาฟิสิกส์ 6 อย่างนั้น คือ อะไร
(1) กลศาสตร์ (Mechanics) วิชา ว่าด้วยความเคลื่อนไหว และจักรกล แบ่งออกเป็นกลศาสตร์ของแข็ง กลศาสตร์ของเหลว และกลศาสตร์ก๊าซ กลศาสตร์ของแข็ง ว่าด้วยการศึกษาถึงกำลังและการเคลื่อนไหว ซึ่งเจริญขึ้นเป็นวิชาวิศวกรรมจักรกล กลศาสตร์ของเหลว ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปแห่งของเหลว กฎของการลอยเป็นต้น กลศาสตร์ก๊าซ ว่าด้วยการศึกษาคุณสมบัติของก๊าซภายใต้ความดันต่าง ๆ
(2) ความร้อน (Heat) ว่าด้วยความร้อนในด้านต่าง ๆ และความเป็นไปของโลหะทั้งหลายเมื่อถูกความร้อน วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยกำลังงานอันเกี่ยวกับความร้อนทุกชนิด อันเป็นเหตุให้เกิดการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำและรถยนต์ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับความร้อนเป็นรากฐาน
(3) เสียง (Sound) ว่าด้วยเรื่องเสียง คลื่นเสียง มูลเหตุให้เกิดเสียงซึ่งอาจศึกษาเพื่อประดิษฐ์เครื่องดนตรี จานเสียง เครื่องขยายเสียง วิทยุ ภาพยนต์พูดได้ และเครื่องบันทึกเสียงเป็นต้น
(4) แสง (Light) ว่าด้วยเรื่องแสงสว่างอันทำให้เกิดการศึกษาเรื่องทัศนศาสตร์ (Optics) ซึ่งให้ความรู้เรื่องเลนซ์ เป็นเหตุให้เกิดการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป,กล้องโทรทัศน์,กล้องจุลทรรศน์,เครื่องส่งและรับโทรทัศน์,แว่นตา และภาพยนตร์เป็นต้น
(5) แม่เหล็ก(Magnetism) ว่าด้วยคุณสมบัติที่ทำให้สสารอันหนึ่งดูดสารอีกอันหนึ่ง วิชานี้สัมพันธ์กับวิชาไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เมื่อศึกษาวิชานี้จะทำให้รู้เรื่องของโทรทัศน์, โทรเลข, วิทยุโทรเลข, และเครื่องจักรที่ทำให้เกิดกำลังงานต่าง ๆ
(6) ไฟฟ้า (Electricity) ว่าด้วยส่วนประกอบของสสารทั้งหลายอันอาจทอนให้ถึงที่สุดลงไปเป็นกำลังงาน ไฟฟ้าบวกและไฟฟ้าลบ ว่าด้วยกระแสไฟฟ้า คลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยุ และทำให้เกิดประดิษฐกรรมเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฟฟ้า พัดลม รถราง รถไฟที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้น
2. เคมี (Chemistry)
วิชานี้ว่าด้วยส่วนประกอบของสสารและความเปลี่ยนแปลงของสสารเมื่อรวมกันหรือแยกกัน (สสาร ได้แก่สิ่งที่มีขนาดน้ำหนักและกินที่จะเป็นของแข็งของเหลวหรือก๊าซก็ตาม)
วิชาฟิสิกส์กับเคมีใกล้กันมาก จึงควรทราบความต่างกันดังนี้ ฟิสิกส์ว่าด้วยกำลัง ความเคลื่อนไหว ความร้อน เสียง แสง แม่เหล็กและไฟฟ้า ถ้าจะศึกษาถึงสสารก็ศึกษาถึงคุณสมบัติสามัญทั่วไปของสสารทุกชนิดซึ่งแม้จะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนภาวะ แต่ก็ไม่เปลี่ยนชนิด เช่น ไม้เปลี่ยนรูปเป็นโต๊ะ เก้าอี้ แต่ก็คงเป็นไม้อยู่นั่นเอง ส่วนเคมีว่าด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของสสาร เมื่อรวมกันหรือแยกกันหรือเมื่อถูกความร้อนเป็นต้น เช่นไม้เปลี่ยนเป็นถ่านเมื่อถูกไฟไหม้ หรือเหล็กที่วางทิ้งอยู่ขึ้นสนิม และเนื้อเหล็กบางส่วนหายไปกลายเป็นขุยสนิมขึ้นแทน เพราะเหล็กทำปฏิกิริยากับอากาศออกซิเจน
3. ดาราศาสตร์ (Astronomy)
เป็นวิชาว่าด้วยเทหวัตถุ คือ สิ่งที่มีรูปร่างบนท้องฟ้า (Heavenly bodies) เช่น ดวงอาทิตย์ (Sun),ดาวเคราะห์ คือ ดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวต้องอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เช่น โลกเราและดาวเคราะห์อื่น ๆ เช่น อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า Planets, ดวงจันทร์ (Moons) ได้แก่บริวารของดาวเคราะห์ซึ่งโคจรรอบโลกเราในกำหนดเวลา 1 เดือน ส่วนดาวเคราะห์อื่น ๆ บางดวงก็มีดวงจันทร์เป็นบริวารมาก เช่น พฤหัสบดีและเสาร์ มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 9 ดวงถึง 11 ดวง, ดาวตกหรือผีพุ่งใต้ (meteors) และดาว คือ ดวงอาทิตย์อื่น ๆ อีกมากมาย แต่อยู่ไกลออกไปเราจึงเห็นเป็นเพียงดาวดวงหนึ่ง ๆ ซึ่งคล้ายไม่มีความหมายอะไร แต่บางดวงโตกว่าดวงอาทิตย์ของเราตั้งพันเท่า ล้านเท่าก็มี
4. ธรณีวิทยา (Geology)
วิชานี้ว่าด้วยโครงสร้างส่วนประกอบและประวัติของโลก แบ่งสาขาใหญ่ออกเป็น 2 คือ ธรณีวิทยาทั่วไป (General Geology) กับ ธรณีวิทยาประวัติศาสตร์ (Historical Geology) ซึ่งแต่ละสาขายังแบ่งเป็นอนุสาขาออกไปอีกมาก
5. อุตุนิยมวิทยา (Meteorology)
วิชานี้ว่าด้วย การศึกษาให้รู้ความเคลื่อนไหว และปรากฏการณ์ของบรรยากาศ (Atmosphere) คืออากาศรอบ ๆ โลกเราว่าในลักษณะเช่นไรจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศทั่วไปและภูมิอากาศ ในการนี้จะต้องศึกษาให้รู้อุณหภูมิ ความกดดันของอากาศ ทิศทางและความเร็วของลม ต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องบันทึกแสงอาทิตย์ เครื่องวัดน้ำฝนและหิมะ เครื่องวัดความกดของอากาศเป็นต้น เป็นอันได้เห็นเค้าโครงของวิทยาศาสตร์กายภาพย่อ ๆ ดังได้อธิบายมาแล้ว ต่อไปจะกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พอเป็นทางพิจารณา
ข.วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
วิทยาศาสตร์ประเภทนี้ว้าด้วยสิ่งที่มีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ จึงแบ่งสาขาใหญ่ออกเป็น 2 คือ
1. พฤกษศาสตร์ (Botany) ว่าด้วยพืชและต้นไม้ทุกชนิด
2. สัตววิทยา (Zoology) ว่าด้วยสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวจนถึงสัตว์หลายเซลล์
1.พฤกษศาสตร์ (Botany) เป็นวิชาว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้ทุกชนิด แบ่งออกไปอีกหลายสาขาเช่น :-
(1) Bacteriology วิทยาบักเตรี (แบคทีเรีย) เป็นวิชาว่าด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพืช ต้องมีเรื่องที่ศึกษา เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยีสท์ รา และพืชเซลล์เดียวต่าง ๆ
(2) ZMycology วิทยามีโก วิชาว่าด้วยเห็ดราต่าง ๆ ฯลฯ
2. สัตววิทยา (Zoology) เป็นวิชาว่าด้วยสัตว์ทุกชนิด แบ่งไปอีกหลายสาขา เช่น :-
(1) Protozoology วิทยาโปรโตโซ ว่าด้วยสัตว์ในขั้นปฐมภูมิหรือขั้นแรก อันได้แก่สัตว์เซลล์เดียวเป็นต้น
(2). General Zoology สัตววิทยาทั่วไป ซึ่งแบ่งออกเป็นวิชาว่าด้วย แมลงหรือกีฏวิทยา (Entomology) และวิชาว่าด้วยนก (Ornithology) วิทยาว่าด้วยปลา ซึ่งเรียกว่า มีนวิทยา (Ichthyology) วิทยาว่าด้วยหอย (Conchology) วิชาว่าด้วยไข่ (Oology) และอื่น ๆ ฯ ล ฯ
นอกจากนั้นในพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์นี้ยังมีวิชารวมเพื่อศึกษารายละเอียด ทั้ง 2 แขนงตามลำดับ ดังนี้ :-
1. วิทยาว่าด้วยโครงสร้าง หรือ สัณฐานวิทยา (Morphology)
2. วิทยาว่าด้วยการจัดประเภททั้งของพืชและสัตว์ ที่เรียกว่า Taxonomy
3. วิทยาว่าด้วยการทำงานของอวัยวะ ร่างกายทั้งของพืชและสัตว์หรือ สรีรวิทยา (Physiology)
4. วิทยาว่าด้วยความเคยชิน แหล่งที่อยู่ และความเกี่ยวข้องกันในระหว่างพืชต่อพืช และสัตว์ต่อสัตว์ ที่เรียกว่านิเวศวิทยาหรือ Ecology
5. วิทยาว่าด้วยการศึกษาพัฒนาการแห่งชีวิตของแต่ละชนิด ซึ่งเรียกว่า วิทยาเอมบริโอ (Embryology)
6. วิทยาว่าด้วยการศึกษาถึงอดีตประวัติ เพื่อจะได้รู้ว่าพืชหรือสัตว์ชนิดนี้อยู่ในประเภทไหน ซึ่งต้องการหลักฐานแม้จากซากเหลือในดินในหิน เพื่อให้อธิบายได้ถูกต้อง เรียกว่า Palaeontology
หมายเหตุ : การจัดประเภทวิทยาศาสตร์นี้ใช้หลักฐานในหนังสือทางวิทยาศาสตร์หลายเล่ม เฉพาะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพใช้บทความของศาสตราจารย์ J.Arthur Thomson การใช้คำบัญญัติทางวิทยาศาสตร์ ได้ใช้ตามที่รัฐบาลเคยประกาศในราชกิจจานุเบกษา การที่ได้รวบรวมประเภทวิทยาศาสตร์โดยแสดงหมวดหมู่เช่นนี้ เพื่อสะดวกในการเข้าใจวิชานี้ ซึ่งฝรั่งเองก็มิได้รวบรวมไว้โดยสิ้นเชิง เป็นแต่แต่งตำราว่าด้วยอะไรก็กล่าวเฉพาะวิชานั้น ๆ โดยส่วนเดียว
ค. วิทยาศาสตร์ทางสังคม
ถ้าจัดวิทยาศาสตร์เป็นเพียง 3 ประเภท วิทยาศาสตร์ทางสังคมทุกอย่างก็ต้องเอาไปรวมไว้ในวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ถ้าแยกออกเป็น 3 อย่าง วิทยาศาสตร์ทางสังคมก็มีหลายสาขาอยู่เหมือนกัน เช่น :-
(1) สังคมวิทยา (Sociology)
(2) มานุษยวิทยา (Anthropology)
(3) เศรษฐศาสตร์ (Economics)
(4) ทัณฑวิทยา (Penology) ว่าด้วยการลงโทษ
(5) ภาษาศาสตร์ (Linguistics)
(6) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology)
(7) จริยศาสตร์ (Ethics) ฯ ล ฯ
สรุปความฝ่ายวิทยาศาสตร์ เป็นอันว่าเราได้อ่านแผนที่สังเขปของวิทยาศาสตร์ทุกสาขาแล้ว ขอบเขตของวิทยาศาสตร์อาจแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ :-
1. ว่าด้วยอาณาจักรแห่งสิ่งที่ไม่มีชีวิตและพลังงานตั้งแต่หยดน้ำค้าง จนถึงดวงดาวตั้งแต่เรื่องของไฟฟ้าจนถึงกฎแห่งการถ่วง เรียกว่า สากลบริเวณ (Cosmosphere)
2. ว่าด้วยอาณาจักรแห่งพืชและสัตว์ เรียกว่า ชีวบริเวณ (Biosphere)
3.ว่าด้วยสังคมมนุษย์รวมทั้งสถาบัน ขนบประเพณี มรดกทางสังคม (วัฒนธรรม) ศิลปะ วรรณคดีและผลิตผลต่าง ๆ เรียกว่า สังคมบริเวณ (Sociosphere)
การแบ่งออกเป็น 3 บริเวณนี้ แบ่งตามข้อคิดของศาสตราจารย์ J. Arthur Thomson
ต่อไปนี้เราจะได้พิจารณาถึงขอบเขตแห่งพระพุทธศาสนาดูบ้าง จากนั้นจึงจะเริ่มวิจารณ์กันในภายหลังว่า พระพุทธศาสนาจะเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราย่อมบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญามีใจครองนี้เอง” โรหิตัสสสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 89
ถอดความแห่งพระพุทธภาษิตนี้ คงได้ความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมบัญญัติวินัยลงที่มนุษย์ ซึ่งมีกายประมาณวาหนึ่ง มีใจครองนี้โดยทรงย่อโลกทั้งโลกให้มาอยู่ที่ร่างกายและจิตใจ แม้เหตุให้เกิดโลกความดับโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ก็ทรงย่อมารวมที่ร่างกายจิตใจเช่นเดียวกัน
เป็นอันสรุปความไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า ขอบเขตแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนนั้น แม้จะมีหลักธรรมวิจิตรพิสดารอย่างไร ก็รวมเป็นข้อปฏิบัติที่ร่างกายจิตใจทั้งสิ้น แม้อุดมคติสูงสุดก็อยู่ที่พ้นไปจากร่างกายจิตใจไม่ต้องตกอยู่ในสภาพวนเวียนต่อไป เมื่อเป็นเรื่องขึ้นต้นลงท้ายด้วยร่างกายจิตใจ และพ้นจากร่างกายจิตใจเช่นนี้ เราจึงสังเกตได้ว่า หลักพระพุทธศาสนา 3 ประการ คือ :-
1.เว้นความชั่ว
2 .ทำความดี
3.ชำระจิตใจให้ผ่องแผ้ว
เป็นเรื่องอยู่ภายในขอบเขตของร่างกายและจิตใจดังกล่าวแล้ว แม้พระพุทธศาสนาจะสอนอยู่บนขอบเขตแห่งร่างกายและจิตใจแม้พระพุทธศาสนาจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจว่า มีส่วนกระทบถึงกัน คือ กายเดือดร้อนก็เป็นเหตุให้ใจผิดปกติได้ หรือเมื่อใจเดือดร้อนก็เป็นเหตุให้กายผิดปกติได้ ดังนี้ก็จริง แต่ถ้าจะพิจารณาดูว่าพระพุทธศาสนาสอนหนักเน้นไปในเรื่องอะไรแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาเรื่องจิตใจได้รับความสนใจจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นพิเศษ ดังข้อความในพระพุทธภาษิตที่ว่า :-
1.โลกอันจิตย่อมนำไป คือมีจิตเป็นผู้นำ (จิตฺเตน นียติ โลโก)
2. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า (มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา)
จากพระพุทธภาษิตนี้ เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาสอนเน้นว่า ไม่ว่าโลกหรือธรรมล้วนมีจิตใจเป็นผู้นำทั้งสิ้น เมื่อจิตใจเป็นผู้นำ การอบรมขัดเกลาจิตใจจึงเป็นเงื่อนสำคัญในการปฏิบัติ เมื่อรักษาจิตอย่างเดียวชื่อว่ารักษาอย่างอื่นด้วย ดังข้อความอันเป็นพระพุทธภาษิตว่า“ดูก่อนคฤหบดี ! เมื่อบุคคลรักษาจิตได้แล้วก็เป็นอันรักษาทั้งกายกรรม ทั้งวจีกรรม ทั้งมโนกรรม เปรียบเหมือนเรือนยอด เมื่อมุงหลังคาดีแล้ว ก็ชื่อว่ารักษาไว้ได้ทั้งยอดเรือน ทั้งกลอนเรือนทั้งฝาเรือน” (คำว่า กลอนเรือน หมายถึงโครงไม้อันเป็นที่รองรับสิ่งที่มุงเช่น หญ้าหรือจาก)
ความมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวโดยทั่วไป ความมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนาก็คือ ประโยชน์ ซึ่งอาจแบ่งประโยชน์ดังกล่าวได้เป็น 3 ประการ คือ :-
1. ประโยชน์ปัจจุบัน ได้แก่การตั้งตัวได้ทางโลกเป็นหลักฐาน
2. ประโยชน์อนาคต ได้แก่การตั้งตัวได้ทางศีลธรรม เป็นเหตุช่วยให้การตั้งตัวทางโลกเป็นไปโดย ราบรื่นไม่ล่มจม ทำให้อนาคตแจ่มใสและได้หลักศีลธรรมเข้าค้ำจุน
3. ประโยชน์อย่างยิ่ง หรืออย่างสูงสุดได้แก่การสามารถดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้โดยเด็ดขาด ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ อำนาจของความชั่วทางจิตใจ และความทุกข์ร้อนกลัดกลุ้มต่อไป
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาเมื่อย่อให้สั้นที่สุด หรือกล่าวแต่แก่นแท้ ๆ ก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง ข้อที่ 3 เป็นข้อสำคัญที่สุด แต่เรียกชื่ออีกสำนวนหนึ่งว่า วิมุติ (ความหลุดพ้น) ดังพระพุทธภาษิตว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาสมุทรย่อมมีรสเดียว คือรสเค็มฉันใด ธรรมวินัยก็มีรสเดียว คือวิมุติ ความหลุดพ้นฉันนั้น”
ความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนา หมายถึงหลุดพ้นจากกิเลส (ความชั่วในจิตใจ ทำจิตใจให้เศร้าหมอง) อย่างหนึ่ง หลุดพ้นจากความทุกข์ อันแบ่งออกเป็นทุกข์ประจำ กับทุกข์จรอย่างหนึ่ง ความหลุดพ้นอาจมีได้ชั่วขณะหรือด้วยคุณธรรมบางอย่าง อาจเป็นความหลุดพ้นชนิดเด็ดขาดก็ได้ จะบรรลุความหลุดพ้นขั้นไหนย่อมขึ้นอยู่กับความประพฤติปฏิบัติที่จะเป็นเหตุละความชั่วในจิตใจได้มากน้อยเพียงไร ผู้เขียนขอตั้งหลักไว้สั้น ๆ อย่างนี้ก่อน เมื่อถึงคราวอธิบายเปรียบเทียบจะได้ชี้ให้เห็นเป็นข้อ ๆ ไป
สรุปความ
พระพุทธศาสนาสอนข้อปฏิบัติรวมที่ร่างกายและจิตใจ แต่ในส่วนสำคัญเน้นในเรื่องจิตใจเป็นพิเศษ ความมุ่งหมายในการสอนนั้นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รับประโยชน์ 3 ชั้น และชั้นสูงคือประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ความหลุดพ้นทุกข์โดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นอุดมคติสูงสุด เพราะเหตุที่พระพุทธศาสนาสอนให้จัดการกับจิตใจเป็นพิเศษจึงมีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจอยู่เป็นอันมาก ทั้งเป็นข้อปฏิบัติประกอบด้วยเหตุผลซึ่งผู้ฟังอาจตรองตามและพิสูจน์ทดลองให้เห็นจริงได้ ชาวตะวันตก ผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนา จึงขนานนามให้ว่าเป็น วิทยาศาสตร์ทาง จิตใจ (Spiritual and Mental Science)
แนวขนานระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
จากการแยกพูดถึงวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยรายละเอียดและขอบเขตก่อน แล้วจึงพูดถึงพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยขอบเขตตลอดจนจุดมุ่งหมายเพื่อให้เห็นว่าทางไหนมุ่งไปในทิศทางของตนอย่างไร เช่นนี้แล้ว เวลาเปรียบเทียบเราจะได้ไม่หลง จะได้ไม่เกณฑ์ให้พระพุทธศาสนาต้องคล้อยตามวิทยาศาสตร์ไปทุกอย่าง หรือเกณฑ์ให้วิทยาศาสตร์ต้องอนุโลมตามพระพุทธศาสนาไปทุกฝีก้าว แต่ละอย่างก็มีทิศทางและความมุ่งหมายของตนเองความลงรอยกันจึงอยู่ที่วิธีการและหลักการ ไม่ใช่ในเนื้อหาของแต่ละอย่างเมื่อเราเข้าใจเช่นนี้ก็อาจเข้าใจพระพุทธศาสนา และวิทยาศาสตร์ได้ทั้ง 2 อย่าง ไม่ลำเอียง หรือไม่เอาความรู้ด้านเดียวมาพูดข่มอีกฝ่ายหนึ่งให้หมดความสำคัญลงไป การรู้ด้านเดียวนี้เสียประโยชน์มาก อาจทำให้เข้าใจผิดอะไรต่ออะไรไปได้อย่างสำคัญ ดังจะกล่าวชี้ให้เห็นข้างหน้า
เท่าที่ชาวตะวันตกได้พิจารณากันแล้ว ได้ลงความเห็นว่า วิชาวิทยาศาสตร์ทางโลก เป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ ส่วนพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ
ผู้เขียนขอนำข้อความในหนังสือ What is Buddhism ? (พระพุทธศาสนาคืออะไร ?) ฉบับของพุทธสมาคมลอนดอน หน้า 191 ถึง 192 มาแปลเสนอท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้ :-
พระพุทธเจ้าทรงอธิบายหลักทั่วไปแห่งจิตใจในฐานะเป็นมูลฐานแห่งคำสอนของพระองค์ ส่วนโลกทางวัตถุเป็นเขตแดนของนักวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างโลกทางจิตใจกับทางวัตถุทั้ง 2 เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหากับสิ่งที่สะท้อนไปจากเนื้อหา ผู้ศึกษาสิ่งหนึ่งโดยอุปมาน (analogy เปรียบเทียบ) และโดยอนุมาน (inference คาดจากเหตุผล) ย่อมได้รับความรู้ถึงอีกสิ่งหนึ่งด้วย เพราะทั้งพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ มีรากฐานอยู่บนการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ (ในแนวทาง) ของตนเองโดยลำดับ ในการสรุปผลจึงมีสภาพอันเข้ากันได้ วิทยาศาสตร์แปลว่า “ความรู้” และพระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนว่า ความรู้ธรรมต้องได้มาโดยการวิเคราะห์, ทดลอง, และหาเหตุผล เช่นเดียวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาทุกวันนี้, ไม่ใช่ความเชื่ออย่างงมงายในลัทธิศาสนาหรือโดยความเชื่อที่ไม่ใช้เหตุผล กล่าวโดยย่อ พุทธศาสนิกชนจึงชื่อว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางวิญญาณหรือทางจิตใจ”
เมื่อฝรั่งที่นับถือพระพุทธศาสนาภาคภูมิใจตนเอง ถึงกับกล่าวว่าพุทธศาสนิกชน ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตใจเช่นนี้ เราจึงควรจะได้พิจารณากันต่อไปอีกในรายละเอียดว่า พระพุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์อย่างไร เป็นอันขอสรุปไว้ในขั้นนี้ก่อนว่า แนวขนานระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ก็คือ พระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ต่างต้องการพิสูจน์ความจริงโดยมีเหตุผล โดยการสังเกตทดลอง โดยไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงาย พระพุทธศาสนามีแนวเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจส่วนวิทยาศาสตร์มีแนวทางวัตถุ จึงต่างเป็นแนวขนานของกันและกันด้วยประการฉะนี้
ความรู้สองด้านทำให้เข้าใจดี
เมื่อเราเข้าใจว่าพระพุทธศาสนา เป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตใจ คู่กับวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นฝ่ายวัตถุแล้ว ในบางกรณีควรเข้าใจความหมายในการใช้ถ้อยคำของแต่ละฝ่ายด้วย มิฉะนั้นจะเข้าใจสับสนกันไป
ขอยกตัวอย่างแห่งคำว่า ธาตุ (elements) มีนักวิทยาศาสตร์บางคนซึ่งไม่เข้าใจหรือไม่เคยศึกษาพระพุทธศาสนาเคยกล่าวว่า ธาตุตามที่เข้าใจกันในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นความเข้าใจผิดและเป็นการไม่รู้จักธาตุที่แท้จริง ธาตุที่แท้จริงนั้นจะต้องวิเคราะห์ลงไปถึงที่สุดได้โดยมีปรมาณูเป็นแบบเดียวกัน จะวิเคราะห์อีกสักเท่าไรก็คงส่วนประกอบหรือโครงสร้างปรมาณู (atomic structure) อยู่เท่านั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ธาตุแต่ละชนิดในทางวิทยาศาสตร์ย่อมมีกำหนดของมันตายตัวแล้ว ตามที่นักวิทยาศาสตร์ค้นได้คือมีน้ำหนักของแต่ละปรมาณูเท่ากัน โดยใช้น้ำหนักปรมาณูของธาตุไฮโดรเจนซึ่งเบาที่สุดเป็นหลัก จะแยกหรือทำการวิเคราะห์ทางเคมีให้มากไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว เมื่อปรมาณูของแต่ละธาตุเป็นสิ่งมีน้ำหนัก (atomic weight) สิ่งซึ่งชั่งไม่ได้ตวงไม่ได้จึงไม่จัดเป็นธาตุ การที่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นธาตุแต่ละอย่าง ๆ นั้นนับว่าเข้าใจธาตุผิดเพราะดินก็ไม่ใช่ธาตุแท้ เมื่อแยกธาตุแล้วอาจพบว่าเป็นธาตุผสม คือมีธาตุต่าง ๆ หลายอย่างผสมกันเป็นดิน น้ำก็ไม่ใช่ธาตุแท้เป็นสิ่งผสมระหว่างธาตุไฮโดรเจน 2 ส่วน กับออกซิเจน 1 ส่วน ไฟยิ่งไม่ใช่ธาตุเลย เพราะไฟไม่มีน้ำหนัก ไม่มีขนาด ชั่งไม่ได้ตวงไม่ได้ แยกหาปรมาณูไม่ได้, ลมก็เป็นธาตุผสม ระหว่าอ๊อกซิเจน ไนโตรเจน และธาตุอื่น ๆ อีก ตกลงทางพระพุทธศาสนาจึงเข้าใจผิดเรื่องธาตุ โดยประการทั้งปวง เหตุผลของผู้รู้ด้านเดียวนั้น ฟัง ๆ ดูก็ทำให้เห็นจริงไปบ้าง แต่เมื่อได้ศึกษาให้รู้ความมุ่งหมายในการบัญญัติคำขึ้นใช้ในทางศาสนาแล้วก็จะหายเข้าใจผิด คือเราจะต้องรู้จักว่าคำจำกัดความหรือคำนิยาม (definition) ในแต่ละทางหรือแต่ละวิชานั้นย่อมมีความมุ่งหมายต่างกัน บางครั้งใช้ศัพท์พ้องกัน แต่ความหมายไปคนละอย่าง เช่นคำว่า อารมณ์ ในความหมายทางพระพุทธศาสนา มิได้หมายอย่างที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย ที่ตรงกับคำว่า ความสะเทือนใจ หรือคำว่า emotion ในภาษาอังกฤษเลย ในภาษาไทยเรามีคำพูดว่า อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี แต่ในทางพระพุทธศาสนา คำว่า อารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ผ่านมาทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ซึ่งได้แก่รูป (สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา), เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย), ธรรม (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) เมื่อไทยเรานำคำนี้มาใช้จนเข้าใจกันว่า หมายถึงความสะเทือนใจไปแล้วก็ใช้ไป แต่ต้องรู้ไว้ว่า นี้หมายความตามภาษาไทย ไม่ใช่ความหมายในทางพระพุทธศาสนา ทางพระพุทธศาสนาหมายไปอีกอย่างหนึ่ง จะว่าใครผิดก็ไม่เชิงต้องศึกษาให้รู้ความหมายไว้ 2 ทางนั่นแหละจึงจะไม่ยุ่ง หรือคำอื่นอีก เช่น สงสาร ไทยเราใช้หมายว่าเอ็นดู ไหวใจไปตาม หรือใจอ่อนคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ถ้าจะแปลคำนี้ตามความหมายทางศาสนาแล้ว ก็ไม่ตรงกันเลย เพราะในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด ตามศัพท์แท้ ๆ แปลว่าท่องเที่ยว คือ ท่องเที่ยวไปสู่ชาติกำเนิดต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางศาสนาจะติคนที่ใช้ศัพท์นี้โดยไม่รู้ความหมาย หรือคนไทยจะโทษว่าทางศาสนาทำไมไม่ใช้ศัพท์ให้ตรงกับภาษาไทย ดังนี้ก็ไม่ถูกด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ที่ถูกควรจะรู้ความหมายของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วใช้ให้ถูกในทางของแต่ละฝ่ายนั่นแหละจึงจะเรียกว่า มีความรู้ไม่เป็นพิษแก่ตนเอง
คำว่า “ธาตุ” ในทางศาสนาก็เช่นเดียวกัน มิได้หมายถึงสิ่งที่จะแยกออกไปอีกไม่ได้ทางเคมี อย่างที่ทางวิทยาศาสตร์หมาย หากหมายถึงลักษณะที่เห็นได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย แยกประเภทได้ง่าย ของสิ่งทั้งหลายในโลกซึ่งตาสีตาสาก็อาจเข้าใจได้ กล่าวคือสิ่งใดมีลักษณะแข้นแข็ง สิ่งนั้นจัดเป็นธาตุดิน สิ่งใดมีลักษณะเหลวหรือเอิบอาบ สิ่งนั้นจัดเป็นธาตุน้ำ สิ่งใดมีลักษณะร้อน สิ่งนั้นจัดเป็นธาตุไฟ และสิ่งใดมีลักษณะพัดไปมา สิ่งนั้นจัดเป็นธาตุลม เมื่อจัดประเภทอย่างง่าย ๆ เช่นนี้ เวลาสอนคนให้พิจารณาสิ่งต่าง ๆ เพื่อสอนใจตนเอง คนเหล่านั้นก็แยกประเภทแห่งสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวพบเห็นให้เป็นส่วน ๆ ได้ตามลักษณะง่าย ๆ นั้น คงได้ผลดีในการสอนเพื่อไม่ให้ยึดถือในสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เพราะมองเห็นลักษณะเพียงแข็งบ้าง เหลวบ้าง ร้อนบ้าง พัดไปมาบ้าง อย่างนี้ก็เห็นได้ว่าคำจำกัดความของศาสนามีประโยชน์และใช้การได้ดีในทางของตนอย่างไร ทางศาสนาไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปชั่งตวงวัดปรมาณูของธาตุต่าง ๆ แบบวิทยาศาสตร์และถ้าศาสนาจะสอนแบบวิทยาศาสตร์ก็จะเสียผล ในการที่คนไม่สามารถจะแยกธาตุได้ง่าย ๆ เลย เพราะจะต้องมีเครื่องมือแยกธาตุทางเคมี ซึ่งจะยุ่งยากไม่น้อย ไม่เหมือนกับที่เข้าใจตามคำจำกัดความทางศาสนาอันอาจมองเห็นอะไรก็แยกธาตุได้ทันที นอกจากนั้นทางศาสนายังมีการกล่าวถึงธาตุทางจิตใจหรือนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้น การรู้ทั้ง 2 ทาง คือ ทั้งความหมายทางวิทยาศาสตร์ และความหมายทางศาสนา จึงดีกว่าเอาความหมายอย่างหนึ่งไปข่มอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยความรู้เพียงด้านเดียว การชี้แจงเรื่องนี้จึงเป็นการซ้อมความเข้าใจไว้ก่อน ในเมื่อเราจะเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ต่อไป
ข้อที่พระพุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์
ผู้เขียนขอประมวลหลักการที่ตรงกันระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นข้อ ๆ เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ :-
1.ทางพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงาย แต่ให้เชื่ออย่างมีเหตุผลมีการพิสูจน์ทดลองแล้งจึงเชื่อ วิทยาศาสตร์ก็สอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงาย ต้องมีการพิสูจน์ สังเกตทดลองเช่นเดียวกัน
2. ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ผลทุกอย่างย่อมมาจากเหตุ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ หรือบังเอิญ การที่โทษว่าบังเอิญนั้นเพราะยังหาเหตุไม่พบต่างหาก พระพุทธศาสนาจึงไม่สอนซัดไปที่เทวดาหรือพระเจ้าว่าเป็นผู้ดลบันดาล แต่ชี้ไปที่การกระทำของแต่ละบุคคล ว่าเป็นเครื่องทำให้ดีให้ชั่ว ทางวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าผลทุกอย่างย่อมมาจากเหตุ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ หรือบังเอิญ หรือเพราะอำนาจดลบันดาลทั้งหลาย การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เป็นการค้นผลโดยสาวไปหาเหตุบ้าง ค้นเหตุแล้วสาวไปหาผลบ้าง
3. ทางพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่อหรือติดในโชคลางต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งบูชาความจริงก็สอนไม่ให้เชื่อถือหรือติดในโชคลางต่าง ๆ เช่นกัน คือต่างฝ่ายต่างสอนอย่างตรงไปตรงมา
4. ทางพระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจลักษณะ 3 ประการแห่งสิ่งทั้งหลาย คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นแก่นสารตัวตน เพื่อไม่ติดไม่ยึด ทางวิทยาศาสตร์ทั้งกายภาพและชีวภาพก็สอนให้เข้าใจถึงกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย และเมื่อวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ลงไปแล้วไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตก็ไม่มีแก่นสารตัวตนอะไร ประกอบขึ้นหรือรวมขึ้นจากปรมาณูของธาตุต่าง ๆ นั้น อนึ่ง เมื่อจะวิเคราะห์ไปให้ถึงที่สุดแล้ว ลงท้ายก็เป็นพลังงานซึ่งไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย การทำระเบิดปรมาณูก็คือ การแยกปรมาณูเพื่อให้เกิดพลังงาน
5. ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ผลซึ่งเกิดมาจากเหตุอันหนึ่งแล้วอาจจะเป็นเหตุของผลอันอื่นต่อไปอีกได้ เช่น การแสดงเรื่องวัฏฏะคือวน 3 ได้แก่ กิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรม ๆ เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ๆ เป็นเหตุให้เกิดกิเลส ๆ เป็นเหตุให้ทำกรรม ฯ ล ฯ หรือทฤษฎีปัจจยาการที่ว่าอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารซึ่งเป็นผลนั้นเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ วิญญาณซึ่งเป็นผลเป็นเหตุให้เกิดนามรูปต่อไปอีกเป็นต้น ทางวิทยาศาสตร์ก็สอนถึงความที่เหตุผลเกี่ยวโยงกัน เช่นเมล็ดพืชเป็นเหตุให้เกิดต้นไม้ ต้นไม้เป็นเหตุให้เกิดเมล็ดพืช หรือในการหาเหตุผลทางตรรกวิทยาที่เรียกว่า Sorites คือกระบวนการหาเหตุผลแบบลูกโซ่ยืดยาวเป็นทอด ๆ ซึ่งเข้า
ลักษณะปัจจยาการทางพระพุทธศาสนา
6. พระพุทธศาสนาสอนว่าร่างกายของมนุษย์ที่รวมกันเป็นก้อนเป็นกองนั้น อาจแยกออกได้เป็นธาตุ 4 คือมีลักษณะที่เห็นได้ง่าย ๆ 4 อย่าง คือ แข้นแข็งเป็นดิน เอิบอาบเป็นน้ำ อบอุ่นหรือร้อนเป็นไฟ พัดไปมาเป็นลม เพื่อสอนใจไม่ให้ยึดถืออะไรมากนัก ทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่าง ๆ มากมายหลายชนิด เป็นแต่วิธีกำหนดธาตุในทางวิทยาศาสตร์ กำหนดประเภทด้วยจำนวนของปรมาณู ไฟฟ้าคือโปรตรอน อีเลคตรอน และนิวตรอน ใน 1 ปรมาณูของธาตุอันมีส่วนประกอบไม่เหมือนกัน มีน้ำหนักต่างกัน เช่น ระหว่างธาตุตะกั่ว ทองแดง กับทองคำ ตะกั่ว 1 ปรมาณูมีจำนวนปรมาณูไฟฟ้า 82 มีน้ำหนัก 207.21 (เท่าของไฮโดรเจน) ทองแดง 1 ปรมาณูมีจำนวนปรมาณูไฟฟ้า 29 ปรมาณู มีน้ำหนัก 63.54 (เท่าของไฮโดรเจน) ทองคำ 1 ปรมาณู มีจำนวน ปรมาณูไฟฟ้า 79 มีน้ำหนัก 197.2 (เท่าของไฮโดรเจน)
7. พระพุทธศาสนากล่าวถึงดวงอาทิตย์ดวงจันทร์และโลกที่มีมนุษย์อยู่ว่า มิใช่มีเพียงเท่าที่มองเห็นด้วยตาจากโลกของเรา แต่ยังมีอีกมากมาย ดาราศาสตร์ก็กล่าวว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์แบบโลกเราที่อาจมองเห็นได้จากกล้องโทรทัศน์นั้นมีจำนวนมาก หลักฐานของพระพุทธศาสนาเรื่องนี้ ปรากฏในสังขารรูปปัตติสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม 14 หน้า 221 และพระสุตตันตปิฎก เล่ม 20 หน้า 292-293
8. พระพุทธศาสนากล่าวถึงกฎธรรมดาของการดึงดูดว่า น้ำตกจากที่สูงย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ (อุนฺนโต อุทกํ วุฏฺฐํ ยถา นินฺนํ ปวตฺตติ) คราวนี้กล่าวถึงเรื่องของจิตใจ พระพุทธศาสนาแสดงว่ามีจิตที่ถูกกระแสโลกดึงดูดให้ไหลไปตามโลก ซึ่งเรียกว่า โลกิยจิต และจิตที่สูงเหนือโลกหรือข้ามพ้นโลก แต่ไม่ใช่สูงขึ้นได้เอง ต้องมีวิธีการอบรมฝึกหัด จิตที่สูงข้ามพ้นจากกระแสโลกนี้ เรียกโลกุตตรจิต ในวิทยาศาสตร์กายภาพแสดงว่าน้ำย่อมไหลลงที่ต่ำ แต่น้ำอาจไหลขึ้นที่สูงได้ถ้ามีแรงดูดหรือแรงผลักดัน ยิ่งกว่านั้นโดยอาศัยความร้อน น้ำกลายเป็นไอ ลอยขึ้นสู่ที่สูงกลายเป็นเมฆได้ในวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เฉพาะวิชาจิตวิทยามีการแสดงถึงการยกไลเมน (Limen) ให้สูงกว่าสิ่งเร้า (Stimulus) ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ ยกระดับจิตให้สูงกว่าอำนาจฝ่ายต่ำ
ลีลาแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์
การกล่าวถึงลีลาแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เราได้มีโอกาสพิจารณาถึงการสอนอย่างมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวของพระพุทธศาสนาเป็นข้อ ๆ ไป :-
(1) ทฤษฎีเรื่องทำอย่างไร จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งใช้ศัพท์ว่าของจริงอย่างประเสริฐ “อริยสัจ” ของพระพุทธศาสนา มีลักษณะหรือลีลาเป็นวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์ คือ :-
1. แสดงผล คือ ความทุกข์ว่าได้แก่อะไร
2. แสดงเหตุ คือ ความทะยานอยากว่า ทำให้ทุกข์เกิด
3. แสดงผล คือ ความดับทุกข์ว่าได้แก่ดับความทะยานอยากได้
4. แสดงเหตุ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่เรียกว่า อริยมรรค หรือมรรคมีองค์ 8
คุณลักษณะพิเศษ ในการแสดงเรื่องอริยสัจ ที่มีลีลาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ก็คือคำสรุปที่ว่า ตราบใดพระองค์ก็ยังมิได้ปฏิบัติได้ผลเห็นจริงในอริยสัจ 4 ประการนี้ ตราบนั้นพระองค์ก็ยังไม่ประกาศพระองค์ว่าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันแสดงว่าทฤษฎีอริยสัจไม่ใช่ทฤษฎีเฉย ๆ แต่เป็นภาคปฏิบัติที่ได้ลงมือกระทำจนประจักษ์ผลมาแล้วด้วย ฉะนั้น การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจในพระธรรมเทศนาครั้งแรกของพระองค์จึงเป็นการเริ่มต้นศักราชวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ
(2) คำสอนเรื่องทางสายกลาง (The Middle Way) ซึ่งไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป เป็นการไม่ตกอยู่ในฝ่ายสุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (Extremes) ก็ดี คำสอนเรื่องมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ (Moderation) คือ ความพอเหมาะพอควรก็ดี มีลีลาเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เพราะในทางวิทยาศาสตร์เองถึงกับมีเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเป็นมาตรวัดความพอเหมาะพอดี เช่นวัดอุณหภูมิ วัดความเร็ว วัดความชื้น วัดกระแสไฟฟ้า และวัดความดันของไอน้ำเป็นต้น เพราะความพอเหมาะพอดี ย่อมเป็นเครื่องกันความผิดพลาดทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
(3) คำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแบ่งเป็นเหตุผลสายเกิดส่วนหนึ่ง เหตุผลสายดับส่วนหนึ่ง มองในแง่เกิดก็เป็นเหตุผลส่งต่อ ๆ กันให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ตลอดสาย มองในแง่ดับ ก็เป็นเหตุผลส่งต่อ ๆ กันให้ดับสิ่งต่าง ๆ ตลอดสาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงอวิชชา (ไม่รู้ความจริงที่จะเป็นเหตุพ้นทุกข์ได้) ว่าเป็นรากเหง้าฝ่ายเวียนว่ายตายเกิด และแสดงถึงอวิชชาตัวเดียวกันนั้นแหละว่าถ้าดับเสียได้ คือแก้ให้เป็นรู้ความจริงที่จะเป็นเหตุพ้นทุกข์ได้ ก็เป็นต้นเหตุให้ดับเครื่องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเป็นทอด ๆ การแสดงอย่างนี้มีลีลาเป็นวิทยาศาสตร์ดังได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 5 ของการเปรียบเทียบข้อที่พระพุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ แต่ในที่นี้ได้กล่าวถึงลีลาแห่งคำสอนว่าได้ให้เหตุผลติดต่อกันอย่างน่าสนใจ
จากการที่พระพุทธศาสนามีคุณลักษณะพิเศษ ที่มีคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย นิยมให้มีการค้นคว้าพิสูจน์ทดลองนั้นย่อมแสดงว่า พระพุทธศาสนาได้ให้แนวทางวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นอย่างไร
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ย่อมจะทราบดีว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ถูกทางการศาสนาจับฆ่าเผาไฟ เพราะความเชื่อไม่ลงรอยกันมากต่อมาก แต่ประวัติศาสตร์การบีบคั้นความเชื่อเช่นนั้นไม่มีในพระพุทธศาสนา
แม้ความคิดเห็นเรื่องสร้างโลก ทางพระพุทธศาสนาจะมิได้สอนไว้ให้เชื่ออย่างที่บางศาสนาถือเป็นหัวใจของศาสนาที่จะต้องให้มนุษย์เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกก็ตาม แต่ในทางพระพุทธศาสนาก็สอนไว้เป็นกลาง ๆ ว่า สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย คำว่า เหตุปัจจัยในที่นี้เป็นคำกลาง ๆ นักวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์เชื่อว่าหมอกเพลิง (Nebula) เป็นต้นเหตุให้เกิดดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นเหตุให้เกิดโลก โลกหรือดาวเคราะห์ (Planets) เป็นเหตุให้เกิดดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการขัดกับบางศาสนา แต่ก็ไม่ขัดกับหลักเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะทำให้ศึกษาเปรียบเทียบได้ดียิ่งขึ้น
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เขียน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน รวบรวม
06/01/54