ในยุคที่โลกเจริญก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกำลังจะกลายเป็นแหล่งรวมของสรรพวิชาทั้งหลายนั้น ในขณะที่ศาสนาแม้จะมีมาก่อนวิทยาศาสตร์คำสอนบางอย่างดูเหมือนว่าจะล้าหลังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการของวิทยาศาสตร์ ทำให้บางศาสนาถึงกาลอวศานต์ค่อยๆถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา จนมีศาสนาโบราณหลายศาสนาที่หายสาบสูญไปจากสารบบของโลกในยุคปัจจุบัน พระพุทธศาสนาก็เกิดก่อนที่จะมีศาสตร์ใหม่อย่างวิทยาศาสตร์ แต่ยังคงดำรงอยู่แต่ก็กำลังจะค่อยถูกกลืนหายไปกับศาสตร์สมัยใหม่ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ(ป.ธ.9)อดีตเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยหรือเทียบได้กับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้เขียน "พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์" ไว้เป็นบทหนึ่งในหนังสือ "คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา"นานกว่าห้าสิบปีแล้ว ลองศึกษาดูอาจจะได้ข้อคิดบางอย่างที่บางทีเราอาจคาดคิดไม่ถึงก็ได้
บทที่ 12
พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
“พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอนตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น”
ก่อนที่จะกล่าวว่า พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอน ตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ผู้เขียนเห็นสมควรที่จะได้เข้าใจคำว่า “วิทยาศาสตร์” และขอบเขตแห่งความหมายเพื่อเข้าใจง่ายในการพิจารณาเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาเป็นลำดับไป
ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์
คำว่า “วิทยาศาสตร์” เราใช้ในภาษาไทยโดยแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Science คำอังกฤษคำนี้มาจากคำในภาษาลาตินว่า Scientia อีกต่อหนึ่งซึ่งแปลว่าความรู้ (Knowledge) ขอบเขตของวิชาวิทยาศาสตร์นั้นได้แก่บรรดาความรู้อันว่าด้วยเอกภพฝ่ายวัตถุ (physical universe) หรือรูปธรรมทั้งปวง กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือสิ่งทั้งปวงในโลกนี้และโลกอื่นที่มีรูปร่าง ขนาดหรือน้ำหนัก อันอาจกำหนดรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ข้อที่กล่าวว่าสิ่งทั้งปวงในโลกนี้และโลกอื่นที่มีรูปร่างนั้น คำว่า โลกอื่น หมายถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ทั้งในสุริยจักรวาลนี้ และในสุริยจักรวาลอื่น วิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาอย่างมีระเบียบกฎเกณฑ์ มีการทดลอง การสังเกต สอบสวนความจริงไม่ยอมใช้วิธีเชื่ออย่างงมงาย การแบ่งประเภทวิทยาศาสตร์มีหลายมติด้วยกัน บางมติแบ่งออกเป็น 2 บางมติแบ่งออกเป็น 3 คือ
วิทยาศาสตร์ 2 ประเภท
1.วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยวัตถุที่ไม่มีใจครองหรือไม่มีชีวิตทั้งปวง กล่าวตามภาษาวิทยาศาสตร์ ได้แก่การสอบสวนปรากฏการณ์อันเป็นมูลฐานแห่งสสาร คำว่าสสาร ได้แก่สิ่งที่มีขนาด น้ำหนัก หรือมีการกินที่
2.วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Sciences) เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งมีชีวิต ทั้งต้นไม้และสัตว์ทุกชนิด ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอินทรีย์ (Organism) กล่าวตามภาษาวิทยาศาสตร์ได้แก่การสอบสวนปรากฏการณ์อันซับซ้อนแห่งชีวิต
อนึ่งวิทยาศาสตร์ชีวภาพนี้ บางครั้งเรียกว่า (Natural Science) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในสมัยโบราณเรียกว่า Natural History ความรู้เรื่องธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยพืชและสัตว์ คือพฤกษาศาสตร์และสัตววิทยา ดังจะกล่าวในรายละเอียดข้างหน้า
วิทยาศาสตร์ 3 ประเภท
ในระยะหลัง ๆ นี้มนุษย์ได้จัดวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง จาก 2 ประเภทข้างต้น เรียกว่า วิทยาศาสตร์สังคม (Social Sciences) แต่ในเมืองไทยเรายังไม่สนิทใจจะเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ จึงใช้คำว่าสังคมศาสตร์ แทนคำว่าวิทยาศาสตร์สังคม อย่างไรก็ตามทั่วโลกได้ยอมรับวิทยาศาสตร์ประเภทนี้แล้ว โดยจัดให้วิชาต่าง ๆ เหล่านี้ คือ สังคมวิทยา มนุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ทัณฑวิทยา จริยศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น รวมอยู่ในวิชาวิทยาศาสตร์ฝ่ายสังคม แต่เฉพาะจิตวิทยาอาจคาบเส้นในระหว่างวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้ด้วย คือจิตวิทยาทั่วไปอยู่ในวิทยาศาสตร์ทางสังคม เหตุที่จะจัดวิชาต่าง ๆ ทางสังคมเข้าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เพราะต้องมีสถิติข้อเท็จจริง การทดสอบ การสังเกต การทดลอง อันเป็นวิธีการของวิทยาศาสตร์ มิใช่เรื่องของการพูดเอาเองตามชอบใจโดยไม่มีหลักเกณฑ์
คราวนี้มีปัญหาว่า วิชาคำนวณจะอยู่ในวิทยาศาสตร์ประเภทไหนถ้าจะพูดถึงวิชาคำนวณต้องพูดอีกแบบหนึ่ง คือ แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) คือเป็นการศึกษาเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์แท้ ๆ และซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏในตัวเอง วิชาคำนวณจึงอยู่ในประเภทนี้ อนึ่ง วิทยาศาสตร์ทุกประเภทที่เป็นไปตามเนื้อหาของวิชาการยังไม่กล่าวถึงการนำไปใช้ คงอยู่ในประเภทวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เมื่อใดเราใช้ประโยชน์จากวิชานั้น ก็เกิดวิทยาอีกประเภทหนึ่ง คือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) ถ้าจะเทียบให้ชัดการเรียนวิชาพฤกษศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ การเรียนทำป่าไม้ (คือการใช้พฤกษศาสตร์เป็นมูลฐานสร้างประโยชน์ต่อไปอีก) เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (ประยุกต์ แปลว่าใช้ประโยชน์) หรืออีกอย่างหนึ่งการเรียนวิชาเคมีเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ การเรียนปรุงยา ผลิตยารักษาโรคเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์
รายละเอียดแขนงวิชาวิทยาศาสตร์
เมื่อได้แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ (ว่าด้วยสิ่งไม่มีชีวิต) กับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ว่าด้วยสิ่งมีชีวิต) และวิทยาศาสตร์ทางสังคมเช่นนี้แล้ว จึงสมควรจะได้ทราบว่าแต่ละประเภทได้มีสาขาวิชาต่อไปอีกอย่างไร ทั้งนี้เพียงเพื่อรู้หน้าตาย่อ ๆ ของวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าใจขอบเขตอันจะเป็นประโยชน์ในการอธิบายเทียบเคียงกับพระพุทธศาสนาภายหลัง
ก. วิทยาศาสตร์กายภาพ
วิทยาศาสตร์ส่วนนี้ มีวิชาฟิสิกส์และเคมีเป็นวิชามูลฐาน แล้วเกิดวิชาเพิ่มขึ้นจากวิชามูลฐานนั้น คือ ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยาเป็นต้น ในที่นี้จะอธิบายถึงวิชาแขนงเหล่านั้นเพียงย่อ ๆ
1. ฟิสิกส์ (Physics)
แปลตามตัวอักษรวิชานี้ได้แก่กาย วัตถุ หรือรูปธรรม พูดง่าย ๆ คือ เป็นวิชาว่าด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิต แบ่งสาขาออกไปอีก 6 อย่าง คือ กลศาสตร์,ความร้อน,เสียง,แสง,แม่เหล็กและไฟฟ้า เดิมทีเดียววิชาฟิสิกส์เรียกว่า Natural Philosophy (ปรัชญาว่าด้วยธรรมชาติ) หมายถึงวิชาว่าด้วยวัตถุที่ไม่มีชีวิต เป็นคำคู่กับคำว่า Natural History (ความรู้ว่าด้วยธรรมชาติ) ซึ่งหมายถึง วิชาว่าด้วยสิ่งมีชีวิต เช่น พฤกษศาสตร์ และสัตววิทยา ต่อไปนี้จะอธิบายย่อ ๆ ว่า สาขาของวิชาฟิสิกส์ 6 อย่างนั้น คือ อะไร
(1) กลศาสตร์ (Mechanics) วิชา ว่าด้วยความเคลื่อนไหว และจักรกล แบ่งออกเป็นกลศาสตร์ของแข็ง กลศาสตร์ของเหลว และกลศาสตร์ก๊าซ กลศาสตร์ของแข็ง ว่าด้วยการศึกษาถึงกำลังและการเคลื่อนไหว ซึ่งเจริญขึ้นเป็นวิชาวิศวกรรมจักรกล กลศาสตร์ของเหลว ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปแห่งของเหลว กฎของการลอยเป็นต้น กลศาสตร์ก๊าซ ว่าด้วยการศึกษาคุณสมบัติของก๊าซภายใต้ความดันต่าง ๆ
(2) ความร้อน (Heat) ว่าด้วยความร้อนในด้านต่าง ๆ และความเป็นไปของโลหะทั้งหลายเมื่อถูกความร้อน วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยกำลังงานอันเกี่ยวกับความร้อนทุกชนิด อันเป็นเหตุให้เกิดการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำและรถยนต์ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับความร้อนเป็นรากฐาน
(3) เสียง (Sound) ว่าด้วยเรื่องเสียง คลื่นเสียง มูลเหตุให้เกิดเสียงซึ่งอาจศึกษาเพื่อประดิษฐ์เครื่องดนตรี จานเสียง เครื่องขยายเสียง วิทยุ ภาพยนต์พูดได้ และเครื่องบันทึกเสียงเป็นต้น
(4) แสง (Light) ว่าด้วยเรื่องแสงสว่างอันทำให้เกิดการศึกษาเรื่องทัศนศาสตร์ (Optics) ซึ่งให้ความรู้เรื่องเลนซ์ เป็นเหตุให้เกิดการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป,กล้องโทรทัศน์,กล้องจุลทรรศน์,เครื่องส่งและรับโทรทัศน์,แว่นตา และภาพยนตร์เป็นต้น
(5) แม่เหล็ก(Magnetism) ว่าด้วยคุณสมบัติที่ทำให้สสารอันหนึ่งดูดสารอีกอันหนึ่ง วิชานี้สัมพันธ์กับวิชาไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เมื่อศึกษาวิชานี้จะทำให้รู้เรื่องของโทรทัศน์, โทรเลข, วิทยุโทรเลข, และเครื่องจักรที่ทำให้เกิดกำลังงานต่าง ๆ
(6) ไฟฟ้า (Electricity) ว่าด้วยส่วนประกอบของสสารทั้งหลายอันอาจทอนให้ถึงที่สุดลงไปเป็นกำลังงาน ไฟฟ้าบวกและไฟฟ้าลบ ว่าด้วยกระแสไฟฟ้า คลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยุ และทำให้เกิดประดิษฐกรรมเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฟฟ้า พัดลม รถราง รถไฟที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้น
2. เคมี (Chemistry)
วิชานี้ว่าด้วยส่วนประกอบของสสารและความเปลี่ยนแปลงของสสารเมื่อรวมกันหรือแยกกัน (สสาร ได้แก่สิ่งที่มีขนาดน้ำหนักและกินที่จะเป็นของแข็งของเหลวหรือก๊าซก็ตาม)
วิชาฟิสิกส์กับเคมีใกล้กันมาก จึงควรทราบความต่างกันดังนี้ ฟิสิกส์ว่าด้วยกำลัง ความเคลื่อนไหว ความร้อน เสียง แสง แม่เหล็กและไฟฟ้า ถ้าจะศึกษาถึงสสารก็ศึกษาถึงคุณสมบัติสามัญทั่วไปของสสารทุกชนิดซึ่งแม้จะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนภาวะ แต่ก็ไม่เปลี่ยนชนิด เช่น ไม้เปลี่ยนรูปเป็นโต๊ะ เก้าอี้ แต่ก็คงเป็นไม้อยู่นั่นเอง ส่วนเคมีว่าด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของสสาร เมื่อรวมกันหรือแยกกันหรือเมื่อถูกความร้อนเป็นต้น เช่นไม้เปลี่ยนเป็นถ่านเมื่อถูกไฟไหม้ หรือเหล็กที่วางทิ้งอยู่ขึ้นสนิม และเนื้อเหล็กบางส่วนหายไปกลายเป็นขุยสนิมขึ้นแทน เพราะเหล็กทำปฏิกิริยากับอากาศออกซิเจน
3. ดาราศาสตร์ (Astronomy)
เป็นวิชาว่าด้วยเทหวัตถุ คือ สิ่งที่มีรูปร่างบนท้องฟ้า (Heavenly bodies) เช่น ดวงอาทิตย์ (Sun),ดาวเคราะห์ คือ ดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวต้องอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เช่น โลกเราและดาวเคราะห์อื่น ๆ เช่น อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า Planets, ดวงจันทร์ (Moons) ได้แก่บริวารของดาวเคราะห์ซึ่งโคจรรอบโลกเราในกำหนดเวลา 1 เดือน ส่วนดาวเคราะห์อื่น ๆ บางดวงก็มีดวงจันทร์เป็นบริวารมาก เช่น พฤหัสบดีและเสาร์ มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 9 ดวงถึง 11 ดวง, ดาวตกหรือผีพุ่งใต้ (meteors) และดาว คือ ดวงอาทิตย์อื่น ๆ อีกมากมาย แต่อยู่ไกลออกไปเราจึงเห็นเป็นเพียงดาวดวงหนึ่ง ๆ ซึ่งคล้ายไม่มีความหมายอะไร แต่บางดวงโตกว่าดวงอาทิตย์ของเราตั้งพันเท่า ล้านเท่าก็มี
4. ธรณีวิทยา (Geology)
วิชานี้ว่าด้วยโครงสร้างส่วนประกอบและประวัติของโลก แบ่งสาขาใหญ่ออกเป็น 2 คือ ธรณีวิทยาทั่วไป (General Geology) กับ ธรณีวิทยาประวัติศาสตร์ (Historical Geology) ซึ่งแต่ละสาขายังแบ่งเป็นอนุสาขาออกไปอีกมาก
5. อุตุนิยมวิทยา (Meteorology)
วิชานี้ว่าด้วย การศึกษาให้รู้ความเคลื่อนไหว และปรากฏการณ์ของบรรยากาศ (Atmosphere) คืออากาศรอบ ๆ โลกเราว่าในลักษณะเช่นไรจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศทั่วไปและภูมิอากาศ ในการนี้จะต้องศึกษาให้รู้อุณหภูมิ ความกดดันของอากาศ ทิศทางและความเร็วของลม ต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องบันทึกแสงอาทิตย์ เครื่องวัดน้ำฝนและหิมะ เครื่องวัดความกดของอากาศเป็นต้น เป็นอันได้เห็นเค้าโครงของวิทยาศาสตร์กายภาพย่อ ๆ ดังได้อธิบายมาแล้ว ต่อไปจะกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พอเป็นทางพิจารณา
ข.วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
วิทยาศาสตร์ประเภทนี้ว้าด้วยสิ่งที่มีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ จึงแบ่งสาขาใหญ่ออกเป็น 2 คือ
1. พฤกษศาสตร์ (Botany) ว่าด้วยพืชและต้นไม้ทุกชนิด
2. สัตววิทยา (Zoology) ว่าด้วยสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวจนถึงสัตว์หลายเซลล์
1.พฤกษศาสตร์ (Botany) เป็นวิชาว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้ทุกชนิด แบ่งออกไปอีกหลายสาขาเช่น :-
(1) Bacteriology วิทยาบักเตรี (แบคทีเรีย) เป็นวิชาว่าด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพืช ต้องมีเรื่องที่ศึกษา เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยีสท์ รา และพืชเซลล์เดียวต่าง ๆ
(2) ZMycology วิทยามีโก วิชาว่าด้วยเห็ดราต่าง ๆ ฯลฯ
2. สัตววิทยา (Zoology) เป็นวิชาว่าด้วยสัตว์ทุกชนิด แบ่งไปอีกหลายสาขา เช่น :-
(1) Protozoology วิทยาโปรโตโซ ว่าด้วยสัตว์ในขั้นปฐมภูมิหรือขั้นแรก อันได้แก่สัตว์เซลล์เดียวเป็นต้น
(2). General Zoology สัตววิทยาทั่วไป ซึ่งแบ่งออกเป็นวิชาว่าด้วย แมลงหรือกีฏวิทยา (Entomology) และวิชาว่าด้วยนก (Ornithology) วิทยาว่าด้วยปลา ซึ่งเรียกว่า มีนวิทยา (Ichthyology) วิทยาว่าด้วยหอย (Conchology) วิชาว่าด้วยไข่ (Oology) และอื่น ๆ ฯ ล ฯ
นอกจากนั้นในพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์นี้ยังมีวิชารวมเพื่อศึกษารายละเอียด ทั้ง 2 แขนงตามลำดับ ดังนี้ :-
1. วิทยาว่าด้วยโครงสร้าง หรือ สัณฐานวิทยา (Morphology)
2. วิทยาว่าด้วยการจัดประเภททั้งของพืชและสัตว์ ที่เรียกว่า Taxonomy
3. วิทยาว่าด้วยการทำงานของอวัยวะ ร่างกายทั้งของพืชและสัตว์หรือ สรีรวิทยา (Physiology)
4. วิทยาว่าด้วยความเคยชิน แหล่งที่อยู่ และความเกี่ยวข้องกันในระหว่างพืชต่อพืช และสัตว์ต่อสัตว์ ที่เรียกว่านิเวศวิทยาหรือ Ecology
5. วิทยาว่าด้วยการศึกษาพัฒนาการแห่งชีวิตของแต่ละชนิด ซึ่งเรียกว่า วิทยาเอมบริโอ (Embryology)
6. วิทยาว่าด้วยการศึกษาถึงอดีตประวัติ เพื่อจะได้รู้ว่าพืชหรือสัตว์ชนิดนี้อยู่ในประเภทไหน ซึ่งต้องการหลักฐานแม้จากซากเหลือในดินในหิน เพื่อให้อธิบายได้ถูกต้อง เรียกว่า Palaeontology
หมายเหตุ : การจัดประเภทวิทยาศาสตร์นี้ใช้หลักฐานในหนังสือทางวิทยาศาสตร์หลายเล่ม เฉพาะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพใช้บทความของศาสตราจารย์ J.Arthur Thomson การใช้คำบัญญัติทางวิทยาศาสตร์ ได้ใช้ตามที่รัฐบาลเคยประกาศในราชกิจจานุเบกษา การที่ได้รวบรวมประเภทวิทยาศาสตร์โดยแสดงหมวดหมู่เช่นนี้ เพื่อสะดวกในการเข้าใจวิชานี้ ซึ่งฝรั่งเองก็มิได้รวบรวมไว้โดยสิ้นเชิง เป็นแต่แต่งตำราว่าด้วยอะไรก็กล่าวเฉพาะวิชานั้น ๆ โดยส่วนเดียว
ค. วิทยาศาสตร์ทางสังคม
ถ้าจัดวิทยาศาสตร์เป็นเพียง 3 ประเภท วิทยาศาสตร์ทางสังคมทุกอย่างก็ต้องเอาไปรวมไว้ในวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ถ้าแยกออกเป็น 3 อย่าง วิทยาศาสตร์ทางสังคมก็มีหลายสาขาอยู่เหมือนกัน เช่น :-
(1) สังคมวิทยา (Sociology)
(2) มานุษยวิทยา (Anthropology)
(3) เศรษฐศาสตร์ (Economics)
(4) ทัณฑวิทยา (Penology) ว่าด้วยการลงโทษ
(5) ภาษาศาสตร์ (Linguistics)
(6) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology)
(7) จริยศาสตร์ (Ethics) ฯ ล ฯ
สรุปความฝ่ายวิทยาศาสตร์ เป็นอันว่าเราได้อ่านแผนที่สังเขปของวิทยาศาสตร์ทุกสาขาแล้ว ขอบเขตของวิทยาศาสตร์อาจแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ :-
1. ว่าด้วยอาณาจักรแห่งสิ่งที่ไม่มีชีวิตและพลังงานตั้งแต่หยดน้ำค้าง จนถึงดวงดาวตั้งแต่เรื่องของไฟฟ้าจนถึงกฎแห่งการถ่วง เรียกว่า สากลบริเวณ (Cosmosphere)
2. ว่าด้วยอาณาจักรแห่งพืชและสัตว์ เรียกว่า ชีวบริเวณ (Biosphere)
3.ว่าด้วยสังคมมนุษย์รวมทั้งสถาบัน ขนบประเพณี มรดกทางสังคม (วัฒนธรรม) ศิลปะ วรรณคดีและผลิตผลต่าง ๆ เรียกว่า สังคมบริเวณ (Sociosphere)
การแบ่งออกเป็น 3 บริเวณนี้ แบ่งตามข้อคิดของศาสตราจารย์ J. Arthur Thomson
ต่อไปนี้เราจะได้พิจารณาถึงขอบเขตแห่งพระพุทธศาสนาดูบ้าง จากนั้นจึงจะเริ่มวิจารณ์กันในภายหลังว่า พระพุทธศาสนาจะเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราย่อมบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญามีใจครองนี้เอง” โรหิตัสสสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 89
ถอดความแห่งพระพุทธภาษิตนี้ คงได้ความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมบัญญัติวินัยลงที่มนุษย์ ซึ่งมีกายประมาณวาหนึ่ง มีใจครองนี้โดยทรงย่อโลกทั้งโลกให้มาอยู่ที่ร่างกายและจิตใจ แม้เหตุให้เกิดโลกความดับโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ก็ทรงย่อมารวมที่ร่างกายจิตใจเช่นเดียวกัน
เป็นอันสรุปความไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า ขอบเขตแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนนั้น แม้จะมีหลักธรรมวิจิตรพิสดารอย่างไร ก็รวมเป็นข้อปฏิบัติที่ร่างกายจิตใจทั้งสิ้น แม้อุดมคติสูงสุดก็อยู่ที่พ้นไปจากร่างกายจิตใจไม่ต้องตกอยู่ในสภาพวนเวียนต่อไป เมื่อเป็นเรื่องขึ้นต้นลงท้ายด้วยร่างกายจิตใจ และพ้นจากร่างกายจิตใจเช่นนี้ เราจึงสังเกตได้ว่า หลักพระพุทธศาสนา 3 ประการ คือ :-
1.เว้นความชั่ว
2 .ทำความดี
3.ชำระจิตใจให้ผ่องแผ้ว
เป็นเรื่องอยู่ภายในขอบเขตของร่างกายและจิตใจดังกล่าวแล้ว แม้พระพุทธศาสนาจะสอนอยู่บนขอบเขตแห่งร่างกายและจิตใจแม้พระพุทธศาสนาจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจว่า มีส่วนกระทบถึงกัน คือ กายเดือดร้อนก็เป็นเหตุให้ใจผิดปกติได้ หรือเมื่อใจเดือดร้อนก็เป็นเหตุให้กายผิดปกติได้ ดังนี้ก็จริง แต่ถ้าจะพิจารณาดูว่าพระพุทธศาสนาสอนหนักเน้นไปในเรื่องอะไรแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาเรื่องจิตใจได้รับความสนใจจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นพิเศษ ดังข้อความในพระพุทธภาษิตที่ว่า :-
1.โลกอันจิตย่อมนำไป คือมีจิตเป็นผู้นำ (จิตฺเตน นียติ โลโก)
2. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า (มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา)
จากพระพุทธภาษิตนี้ เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาสอนเน้นว่า ไม่ว่าโลกหรือธรรมล้วนมีจิตใจเป็นผู้นำทั้งสิ้น เมื่อจิตใจเป็นผู้นำ การอบรมขัดเกลาจิตใจจึงเป็นเงื่อนสำคัญในการปฏิบัติ เมื่อรักษาจิตอย่างเดียวชื่อว่ารักษาอย่างอื่นด้วย ดังข้อความอันเป็นพระพุทธภาษิตว่า“ดูก่อนคฤหบดี ! เมื่อบุคคลรักษาจิตได้แล้วก็เป็นอันรักษาทั้งกายกรรม ทั้งวจีกรรม ทั้งมโนกรรม เปรียบเหมือนเรือนยอด เมื่อมุงหลังคาดีแล้ว ก็ชื่อว่ารักษาไว้ได้ทั้งยอดเรือน ทั้งกลอนเรือนทั้งฝาเรือน” (คำว่า กลอนเรือน หมายถึงโครงไม้อันเป็นที่รองรับสิ่งที่มุงเช่น หญ้าหรือจาก)