ภาษาบาลีเป็นภาษาใช้บันทึกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในนิกายเถรวาท ดังนั้นประเทศที่ใช้ภาษาบาลีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงได้แก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่สำคัญๆได้แก่บางส่วนของประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ศรีลังกา ไทย กัมพูชา ลาว ครั้นจะนำคัมภีร์ที่แต่งในทุกประเทศ ก็จะเป็นภาระหนักเกินไปสำหรับผู้เริ่มศึกษา ในประเทศอินเดียลังกาได้ยกตัวอย่างคัมภีร์ภาษาบาลีที่แต่งในพม่าและลังกาบางส่วนแล้ว(ในบทที่หนึ่ง) ในบทนี้จึงจะนำเสนอคัมภีร์บาลีที่แต่งในประเทศไทยโดยสังเขป
วรรณคดีภาษาบาลีในประเทศไทย
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจะมีวรรณกรรมมากกว่าประเทศที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะว่าประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามีประชากรที่รู้หนังสือมากกว่า โดยเฉพาะพวกผู้ชายได้มีโอกาสบวชเรียน จึงมีความรู้ด้านนิทานชาดกต่าง ๆ และมีความรู้ทางด้านภาษาดีกว่าผู้ที่ไม่ได้บวชด้วย สำหรับวรรณกรรมที่ถือว่ามีค่านั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ(1)จารึกภาษาบาลีและ(2)วรรณกรรมภาษาบาลี
1.วรรณกรรมประเภทจารึก
จารึกที่มีข้อความภาษาบาลีอักษรปัลลวะที่พบในประเทศไทยตามภูมิภาคต่างๆ มีเนื้อหาแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ 1. จารึกเนื้อความแสดงธรรม 2. จารึกเนื้อความแสดงเหตุการณ์ 3. จารึกแสดงเนื้อความนมัสการพระรัตนตรัย 4. จารึกแสดงเนื้อความปรารถนา 5. จารึกเนื้อความปกิณณกะ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย: จารึก ตำนาน พงศาวดาร สาส์น ประกาศ,(กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2529),หน้า 15. )
1. จารึกเนื้อความแสดงธรรม จารึกภาษาบาลีในกลุ่มนี้เท่าที่สำรวจพบมี 50 หลัก แบ่งเป็นกลุ่มตามเนื้อหาคือ
1.1.กลุ่มจารึกคาถาเย ธมฺมา ที่ค้นพบมีประมาณ 20 หลักเช่นที่ระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์ บนสถูปศิลา บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ หน้าศาลเจ้าข้างองค์พระปฐมเจดีย์ นครปฐม โดยใช้อักษรอินเดียใต้ที่เรียกว่าปัลลวะ ข้อความเป็นคาถาคัดมาจากคัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎกมีข้อความว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต (อาห)
เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํวาที มหาสมโณติ ฯ (วิ.มหา 4/65/74.)
นอกจากนั้นยังพบบนแผ่นอิฐหลักที่ 30 บ้านท่ามะม่วง ตำบลจระเข้สามพัน อำแภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบที่บ้านพรหมทิน ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น แสดงว่าจารึกคาถาเย ธมฺมา มีกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนประเทศไทย
1.2. กลุ่มจารึกสารธรรมเอกเทศ คือแต่ละหลักมีเนื้อหาตามความสนใจหรือตามที่เห็นคุณค่าเฉพาะหลัก ที่รวบรวมได้มี 18 หลัก เป็นจารึกสมัยก่อนสุโขทัย 5 หลัก จารึกสมัยสุโขทัย 8 หลัก จารึกอยุธยา 4 หลัก และสมัยรัตนโกสินทร์ 1 หลัก (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย: จารึก ตำนาน พงศาวดาร สาส์น ประกาศ,(กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย)2529,หน้า 34.)
1.3. กลุ่มจารึกคาถาย่ออริยสัจ 4 เมื่อจารึกคาถาเย ธมฺมา สิ้นสุดลงในสมัยสุโขทัย และได้เกิดจารึกกลุ่มสาระธรรมขึ้นแทนสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา ทางอาณาจักรล้านนาได้เกิดนิยมสร้างจารึกแสดงคาถาย่ออริยสัจ 4 ขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากลังกา เท่าที่ค้นพบมี 9 จารึก เช่น จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดเกศศรี จังหวัดเชียงราย จารึกด้วยอักษรสิงหล ประมาณปี พ.ศ. 2000 มีความว่า
ปฐมํ สกลกฺขณเมกปทํ ทุติยาทิปทสฺส นิทสฺสนํ นิทสฺสนฺโต
สมณิ ทุนิมา สมทู สนิทู วิภเช กมโต ปฐเมน วินา ฯ
แปลได้ใจความว่า “บทแรกเป็นบทที่หนึ่งแสดงลักษณะแห่งตน เว้นแล้วจากบทแรก แสดงบทมีบทที่สองเป็นต้น พึงจำแนก (สาระแห่งอริยสัจ) โดยลำดับแก่งอักษรย่อคือ ส.ม.นิ. ท.นิ.ม. ส.ม.ทุ ส.นิ.ทุ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย: จารึก ตำนาน พงศาวดาร สาส์น ประกาศ,หน้า 75.)
1.4. กลุ่มจารึกสาระนิพพาน มีเนื้อความกล่าวถึงนิพพานหรือความสงบว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง เท่าที่ค้นพบมีเพียงสามหลักสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น
2. จารึกเนื้อความแสดงเหตุการณ์ เป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เช่นจารึกวัดดอน จังหวัดลำพูน โดยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ แห่งนครหริภุญชัย ประมาณปีพุทธศักราช 1610-1641 ข้อความในจารึกว่า
สพฺพาธิสิทฺธฺยาขฺยรถฺสเรน
ฉพฺพีสวสฺสสีน ปโยชิเตน
อุโปสถาคารวรํ มโนรมํ
มยา กตญฺเชตวนาลยํลยํ.
ติเสกวสฺสีน มยา จ ตสฺมึ
กโต หิโตทฺธารณโกว อาวโส
อาวาสิกํ ภิกฺขวรํ สุสีลํ
สทา จ อุปฏฺฐหนํ อกํ เว.
สาปายิกํ เหมมยญฺจ เจติยํ
กตํ พหุนฺเตปิฏกํ อเลกฺขํ
มุจฺจนฺตุ ทุกฺขา สุขิตา จ สตฺตา
รติพฺพเลน รตนฺตยสมึ. (สุภาพรรณ ณ บางช้าง,อ้างแล้ว,2529,หน้า 92.)
ไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยให้ผู้ศึกษาฝึกแปลไปด้วย
นอกจากนั้นยังมีจารึกวัดกุดดู่หรือวัดจามเทวี ลำพูน จารึกปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา จารึกแม่นาเมือง นครสวรรค์ จารึกเมืองไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นต้น
3. จารึกแสดงเนื้อความภาษาบาลีกล่าวนมัสการหรือสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
จารึกเนินสระบัว เป็นศิลาจารึกทำด้วยหินทรายสีขาว ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 177 เซนติเมตร หนา 28 เซนติเมตร ลักษณะตัวอักษร จารึกเนินสระบัว จารึกเป็นตัวอักษรอินเดียใต้ สมัยหลังปาลวะ เป็นภาษา ขอมและภาษาบาลี ในตอนที่เป็นภาษาบาลีเขียนเป็น วสันต์ดิลกฉันท์ กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
ศิลาจารึกเนินสระบัว จังหวัดปราจีนบุรี แต่งเมื่อ พ.ศ. 1304 แต่งโดย กมรเตงพุทธสิระ ผู้อยู่ในตระกูลปาทวะ ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหินทรายสีเขียว เดิมอยู่ที่เนินสระบัว ในบริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ภายหลังได้เคลื่อนย้ายมาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิใหญ่ในวัดศรีมหาโพธิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เดิม นายชิน อยู่ดี ครั้งยังเป็นหัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร กองโบราณคดีกรมศิลปากร ได้สำรวจและจัดทำสำเนาครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 ศิลาจารึกนี้ จารึกด้วยรูปอักษรหลังปัลลวะ เป็นคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย มี 27 บรรทัด บรรทัดที่ 1-3 เป็นภาษาเขมร บรรทัดที่ 4-16 เป็นภาษาบาลีแต่งเป็นฉันท์ 14ทำนองจะใช้เป็นวสันตดิลกฉันท์ และบรรทัดทื่ 17-27เป็นภาษาเขมร ในระหว่างปี พ.ศ.2522ศาสตราจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทอง ได้รวบรวมวรรณคดีบาลีที่นักปราชญ์ในอดีตได้รจนาขึ้นด้วยสติปัญญาของตนโดยตรง มิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์พระบาลี หรืออรรถกถาใด ๆ เท่าที่ปรากฏในแผ่นดินไทยปัจจุบัน หลักฐานดังกล่าวส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในศิลาจารึก วรรณคดีบาลีในประเทศไทยที่มีอายุเก่าที่สุด คือ ฯลาจารึกเนินสระบัว ถึงแม้ว่าศิลาจารึกหลักนี้ ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ จะได้อ่านแปล และพิมพ์เผยแพร่แล้วก็ตามแต่เนื่องจากศาสตราจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทอง ได้พิจารณาเห็นว่า คำประพันธ์ภาษาบาลีของท่านพุทธสิริ ในศิลาจารึกเนินสระบัวนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นวรรณคดีบาลีที่เก่าที่สุดของไทยในปัจจุบันเท่านั้น ยังเป็นคำประพันธ์ที่ประกาศความรู้ความสามารถอันยอดเยี่ยมของผู้รจนา ซึ่งไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญในทางปริยัติธรรมเท่านั้น ยังเป็นนักปฏิบัติที่เข้าถึงธรรโมชะ เป็นพระมหาเถระที่ทรงปรีชาญาณในพระพุทธศาสนาครั้งนั้นอีกด้วย และเพื่อเผยแพร่คำประพันธ์ดังกล่าว คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือจารึกในประเทศไทย ศาสตราจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทอง เฉพาะคำอ่านแปล ศิลาจารึกเนินสระบัวตอนที่เป็นภาษาบาลี ระหว่างบรรทัดที่ 4-16 รวมพิมพ์ไว้ในลำดับต่อไปด้วย (เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี, < http://www.prachinburi-
museum.go.th/inscript/his.asp?id=39>(17/03/2551)
จารึกประเภทนี้ยังพบอีกมาในประเทศไทย
4. จารึกเนื้อความภาษาบาลีแสดงความปรารถนา พบหลายแห่งเช่นจารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามณี (พ.ศ. 1919) มีเนื้อความว่า “อิมินา ปุญฺญกมฺเมน พุทโธโหมิ อนาคเต
สงฺสารา โมจนตฺถาย สพฺเพ สตฺเต อเสสโต (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ “จารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุพามณี” (ศิลปากร 27 กรกฎาคม 2526), หน้า 81.)
นอกจากนี้ยังมีจารึกทองคำ (1927) จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดผาบ่อง จังหวัดเชียงใหม่ จารึกที่ฐานพระพุทธรูปพระธาตุพนม จาตึกบนฐานปราสาทโลหะ จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
5. จารึกเนื้อความปกิณณกะ จารึกในกลุ่มนี้มีข้อความภาษาบาลีแทรกเป็นบางส่วนสั้นๆเช่นจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ จารึกที่ฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
2. วรรณกรรมภาษาบาลี
เป็นผลงานที่พระนักปราชญ์ล้านนาแต่งตั้งแต่สมัยเมื่อ 400 – 500 ปีมาแล้ว ถ้าจะแยกวรรณกรรมประเภทนี้ออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ตามเนื้อหาของเรื่องก็อาจจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายความในคัมภีร์ต่าง ๆ มีทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมเป็นเรื่องที่พระสงฆ์สามเณรจะต้องเรียนรู้ และบางเรื่องก็ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาแผนกบาลีด้วย ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นตันว่า จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่ว่าด้วยยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนา ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติ
ยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนา
นักศึกษาภาษาบาลีในปัจจุบันต่างก็คงคุ้นเคยกับมังคลัตถทีปนีอันเป็นหลักสูตรเปรียญธรรมสี่และห้าประโยค หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ นักปราชญ์ในยุคล้านนา ในสมัยที่ยังไม่รวมเป็นประเทศไทยนั้น ดินแดนแหลมทองมีหลายอาณาจักร เช่นล้านนา ล้านช้าง ศรีวิชัย แต่อาณาจักรที่มีผลงานทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากจนกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาคืออาณาจักรล้านนา มีผู้วิจัยไว้ว่า “ยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนาตกอยู่ในระหว่าง 3 รัชกาล คือพระญาติโลกราช พระยอดเชียงรายและพระเมืองแก้ว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วซึ่งเริมตั้งแต่ปี พ.ศ. 1985 – 2068 รวมเป็นเวลา 84 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่มีการศึกษาพระธรรมวินัยและรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก พอพ้นจากสามรัชกาลนี้ไปแล้วก็ไม่มีผลงานภาษาบาลีที่ดีเด่นอีก และหลังจากการทำสังคายนาที่วัดมหาโพธารามมาแล้วเกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ในล้านนาไทยได้แผ่กระจายไปถึงประเทศใกล้เคียง และในปี พ.ศ. 2066 กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ทรงส่งราชทูตมายังราชสำนักเชียงใหม่ เพื่อขอคณะสงฆ์และพระไตรปิฎกไปสืบสานศาสนาในอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้านครเชียงใหม่จึงให้พระเทพมงคลกับภิกษุพาคณะสงฆ์ นำพระไตรปิฎกบาลี 60 คัมภีร์ ไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุตในปีเดียวกันนั้น
ในรัชการพระเมืองแก้ว ได้มีพระเถระจำนวนหลายท่านที่เป็นนักปราชญ์และเชี่ยวชาญในภาษาบาลี จนสามารถแต่งคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นภาษาบาลี สมควรจะกล่าวนามไว้ ณ ที่นั้น คือ พระโพธิรังสี พระธรรมเสนาบดี พระญาณกิตติ พระสัทธัมมกิตติมหาผุสสเทวะ พระญาณวิลาส พระสิริมังคลาจารย์และพระรัตนปัญญาเถระ เป็นต้น โดยแต่ละท่านได้แต่งวรรณกรรมบาลีไว้มาก และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เช่น พระโพธิรังสีเถระ ชาวเมืองใหม่แต่ง จามเทีวงศ์ และ สิหิงคนิทาน หรือตำนานพระพุทธสิหิงค์ พระธรรมเสนาบดีเถระแต่งคัมภีร์เกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาบาลีชื่อว่า สัททัตถเภทจินตา ปทักกมโยชนา พระญาณกิตติชาวเชียงใหม่รจนาคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้ถึง 12 เรื่อง โดยเฉพาะพระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่ เป็นพระที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เพราะผลงานคือ มังคลัตถทีปนี งานนิพนธ์ของท่านมีอยู่ 4 เรื่องซึ่งมีขนาดยาวทั้งสิ้นคือ เวสสันดรทีปนี จักกวาลทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา และ มังคลัตถทีปนี ส่วนพระรัตนปัญญาเถระ ซึ่งนัยว่าท่านเป็นชาวเชียงรายหรือไม่ก็ลำปาง มีผลงานอยู่ 3 เรื่อง คือ ชินกาลมาลี วชิรสารัตถสังคหะ และ มาติกัตถสรุปธัมมสังคิณี เป็นต้น
นอกจากพระคัมภีร์ที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีงานนิพนธ์ภาษาบาลีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่มีหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่าเป็นผลงานพระล้านนาแต่งขึ้นในยุคเดียวกันนี้ เช่น ปัญญาสชาดก หรือชาดก 50 ชาติ (ความจริงมีมากกว่า 50 เรื่อง) อันเป็นบ่อเกิดแห่งวรรณคดีสำคัญของไทยอีกหลายเรื่อง เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ สังข์ทอง พระสุธนมโนห์รา นอกจากนั้นก็เป็นบทสวดมนต์ คือ อุปปาตสันติ เป็นฉันท์ภาษาบาลี ซึ่งนิยมใช้สวดในการทำบุญสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาเมือง งานนิพนธ์เป็นภาษาบาลีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่แต่งขึ้นหลังรัชสมัยของพระญาติโลกราชทั้งสิ้น และมากที่สุดในรัชการของพระเมืองแก้ว ต่อแต่นั้นมางานนิพนธ์ภาษาบาลีที่แสดงความเป็นปราชญ์ของพระชาวล้านนาก็เสื่อมถอยไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการสิ้นสุดลงแห่งยุคทองของล้านนา โดยเฉพาะหลังจากเสียเอกราชแก่พม่าใน พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาก็ถูกพม่ายึดครองอยู่เป็นเวลานานกว่า 216 ปี แต่พม่าก็มิได้รุกรานพระพุทธศาสนา เพราะนับถือศาสนาเดียวกัน ทั้งนี้ในภายหลังได้สำรวจพบว่ามีชาดกนอกนิบาตที่แต่งในล้านนาอีกประมาณ 250 เรื่อง (ลิขิต ลิขิตานนท์,ยุคทองแห่งวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนาไทย:ล้านนาไทย,อนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์, (เชียงใหม่:ทิพย์เนตรการพิมพ์,2523), หน้า 103.)
ยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านาไทยมีเผยแพร่โดยละเอียดที่ เวปไชด์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (กองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้,ยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนา http://lanna.mju.ac.th/lannareligion_detail.php?recordID=5 (16/02/51)
ในช่วงนี้มีงานวรรณกรรมที่แต่งเป็นภาษาบาลีโดยใช้ตัวอักษรล้านนาเป็นจำนวนมาก วรรณกรรมเหล่านี้บางเล่มได้รับการปริวรรตเป็นอักษรไทย บางเล่มที่บันทึกบนใบลานยังพอสืบค้นได้บ้าง หรือบางเล่มอาจสูญหายไปแล้ว อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง วรรณกรรมพระพุทธศาสนาก็พลอยรุ่งเรืองไปด้วย ต่อไปนี้จะนำเสนอหนังสือที่แต่งเป็นภาษาบาลีบางเล่มพอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา