ในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชาที่พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมทั้งที่พุทธมณฑล นครปฐม และวัดทุกแห่งต่างก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในช่วงนี้ลองอ่านประสบการณ์การเที่ยวกรรมฐานของภิกษุสองรูปที่เคยเล่าให้ฟังมานานแล้ว เรื่องที่ควรจดจำแม้ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังฝังแน่นในความทรงจำตลอดมา
หลายปีมาแล้วได้พบสนทนาธรรมะกับท่านธัมมานันทะซึ่งได้พบกันโดยบังเอิญที่บ้านเกิด เพราะเราทั้งสองต่างเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในช่วงเวลาเดียวกัน ก่อนอุปสมบทเคยเป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินด้วยกัน อายุเท่ากัน แต่ท่านธัมมานันทะอุปสมบทก่อน ท่านได้เมตตาเล่าถึงประสบการณ์การเดินธุดงค์กรรมฐานเมื่อครั้งที่ยังเป็นพระหนุ่มให้ผู้เขียนฟัง เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงได้นำมาเผยแผ่ให้ผู้สนใจได้ศึกษา
ท่านธัมมานันทะได้เล่าให้ฟังว่าหลังจากออกพรรษาแล้ว ตอนนั้นท่าน(ธัมมานันโทภิกขุ)พึ่งอุปสมบทได้เพียงหนึ่งพรรษาได้ชวนพระเล็ก รักขิตตสีโล ซึ่งอุปสมบทในปีเดียวกันออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐาน เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งหน้าสู่จังหวัดเลย วัดป่าโคกมนขณะนั้นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ยังพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น หลวงปู่พักอยู่ที่กุฏิมุงหญ้าแฝก ทั้งๆที่มีโยมสร้างกุฏิหลังงามให้แต่หลวงปู่บอกไม่ถูกกับจริตซึ่งชอบอยู่ตามป่าไม้ จึงได้มาพักอยู่ที่กุฏิมุงหญ้าดังกล่าว ตอนนั้นหลวงปู่เดินไม่ได้แล้วต้องนั่งรถเข็ญตลอด โดยมีพระรูปหนึ่งเป็นผู้คอยเฝ้าอุปัฏฐากดูแลอย่างใกล้ชิด
ท่านธัมมานันทะพักนอนป่าช้าวัดโคกมนสามคืน เงินค่ารถหมดพอดี เราไม่มีเงินค่ารถกลับจึงออกเดินทางด้วยเท้าพักทีถ้ำแห่งหนึ่ง สังเกตเห็นว่าเหมือนมีพระพักอาศัย เพราะสมณบริขารต่างๆยังคงมีอยู่ครบ เพียงหาเจ้าของสิ่งของไม่พบ เราจึงตกลงกันว่าพรุ่งนี้ค่อยขอโอกาสพักอาศัยกับพระที่พักอยู่ก่อน เพราะวันนี้มืดค่ำแล้ว โดยปักกลดคนละมุมถ้ำ
ตกกลางคืนความเงียบสงบของธรรมชาติ น้ำค้างหยดลงบนใบหญ้า ท่านออกมาเดินจงกรม ณ ทางเดินบริเวณหน้าถ้ำ ค้างคาวบินแหวกอากาศเหมือนเสียงร้องของภูตผี น้ำค้างหยดเหมือนหยดน้ำตาของปีศาจร้าย ทางเดินชุ่มด้วยน้ำค้าง เสียงเท้าสัมผัสดินเหมือนเสียงคร่ำครวญของวิญญาณที่ถูกขัง คืนนั้นธัมมานันโทบำเพ็ญเพียรโดยการเดินสลับกับการนั่งภาวนา ในความสงบแห่งจิตได้ปรากฎเป็นพระรูปหนึ่งเดินเข้าเดินออกถ้ำตรวจนั่นดูนี่เหมือนกับกำลังสำรวจและค้นหาอะไรบางอย่าง เมื่อลืมตาส่องไฟดูกลับไม่มีอะไร มีแต่ความเงียบ นั่งลงกำหนดจิตอีกครั้งเสียงนั้นก็แทรกเข้ามาในจินตนาการ ธัมมานันโทนอนไม่หลับทั้งคืนอยากจะเดินไปหาพระเล็ก แต่กลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขี้ขลาด เพราะเราตกลงกันก่อนแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากฟ้ายังไม่สว่างจะไม่พบกันเด็ดขาด ธัมมานันโทจึงทำได้เพียงแผ่เมตตาจิตไปให้สรรพสัตว์และวิญญาณทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่ในป่าบริเวณนั้นให้อยู่ดีมีความสุข ภาพหลอนจึงได้หายไป
จนกระทั่งรุ่งเช้าเมื่อกลับจากบิณฑบาตจึงมีโอกาสสนทนากับชาวบ้านที่ตามมาส่งอาหารถึงถ้ำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า “ประมาณสองอาทิตย์พระเจ้าของถิ่นได้มรณภาพ เนื่องจากฉันอาหารแสลงคือแกงผักหวานป่าเป็นพิษจนถึงแก่ความตาย ศพพึ่งเผาไปได้ไม่นาน วิญญาณของพระรูปนั้นยังคงวนเวียนหลอกหลอนชาวบ้านแถบนี้อยู่ จนไม่มีใครกล้าเดินผ่านป่าและถ้ำนี้ในเวลากลางคืน เพราะเคยมีชาวบ้านเห็นพระภิกษุรูปนั้นเดินจงกรมที่ปากถ้ำอยู่บ่อยๆเหมือนกับว่าท่านยังมีชีวิตอยู่”
พระหนุ่มทั้งสองจึงตกลงว่าจะอยู่ที่ถ้ำนี้ต่อไป จนกว่าพระเจ้าของถ้ำจะยินยอม
เหตุการณ์แปลกๆยังคงเกิดขึ้นที่ถ้ำแห่งนี้ แต่กลับเป็นผลดีสำหรับการปฏิบัติ เมื่อมีสิ่งเร้าทำให้เกิดแรงกระตุ้นเพื่อเร่งให้การปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ธัมมานันโทได้พบกับความสงบแห่งจิต เกิดปีติอิ่มเอิบเพลิดเพลินกับการภาวนา ใจที่สงบนิ่งลึกมักจะเห็นอะไรที่สายตาธรรมดามองไม่เห็น แต่เป็นบทเรียนที่รับรู้ได้คนเดียวอธิบายให้ใครฟังไม่ได้ ธรรมะทั้งหลายเป็นปัจจัตตังรู้เห็นได้เฉพาะตน พระหนุ่มทั้งสองลาจากถ้ำเดินทางต่อไปโดยมีจุดหมายที่อุดรธานี
การเดินทางด้วยเท้าในสมัยที่มีรถยนต์โดยสารวิ่งผ่านในถนนแทบทุกสายอย่างนี้ กลับกลายเป็นความแปลกอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ธัมมานันโทจึงตัดสินใจแยกตัวออกจากถนนใหญ่ เดินลัดเลาะตามทุ่งนา ป่าเขา อาศัยหนทางที่ชาวบ้านเดินไปทำงานที่ไร่นาเป็นเกณฑ์ การเดินทางในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งคือคนที่พบเห็นคือชาวบ้านจริงๆ พวกเขาอยู่อาศัยตามป่าเขา ทำมาหากินจากธรรมชาติพืชผักผลไม้ก็เก็บเกี่ยวเอาจากธรรมชาติ ปลาหาได้จากลำธารและบึง หนอง คลอง บุ่ง ส่วนเนื้อสัตว์ก็ล่าเอาจากป่าเท่าที่จะหาได้เพื่อพออยู่พอกินเท่านั้น เอาเนื้อแลกปลา เอาปลาแลกพริก แบ่งกันกินเหมือนครอบครัวใหญ่จนมีคำกล่าวว่า “พริกอยู่เรือนเหนือ เกลืออยู่เรือนใต้” ขาดเหลืออะไรขอกันกินได้ ไม่มีการค้าขายเข้ามาเป็นเส้นแบ่งวิถีชีวิต ร้านค้าในหมู่บ้านส่วนมากจะขายสิ่งของใช้เท่าที่จะหาได้เท่านั้น
ความซื่อบริสุทธิ์และสมดุลแห่งธรรมชาติทำให้พระหนุ่มทั้งสองเดินทางอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ค่ำที่ไหนก็ขออาศัยนอนพักในป่าช้าประจำหมู่บ้านนั้นๆ รุ่งเช้าออกบิณฑบาต ฉันเสร็จออกเดินทางอย่างไม่รีบร้อนต่อไป
วันหนึ่งธัมมานันโทหลงเข้าไปในดงลึกหุบเขาสลับซับซ้อน แม้ว่าจะเป็นไร่ของชาวบ้าน แต่พอหมดฤดูทำไร่ชาวบ้านก็ทิ้งร้างเป็นป่ารก ภูเขาลูกเล็กๆ ลูกแล้วลูกเล่าที่พระหนุ่มทั้งสองเดินผ่านมีแต่ความเงียบไม่มีชาวบ้านให้ถามทาง เมื่อพระอาทิตย์ลับทิวเขาทุกอย่างจึงเหมือนถูกปล่อยให้หลงอยู่ในหุบเขาหิมพานต์ก็ไม่ปาน ทั้งสองหลับไหลใต้ร่มไม้ในหุบเขานั่นเอง
รุ่งเช้าจึงได้ออกเดินทางต่อไป พร้อมกับการตั้งความหวังว่าคงพบหมู่บ้านสักแห่งเพื่อออกบิณฑบาตรหาอาหารประทังความหิวต่อไป แต่ความหวังของทั้งสองล้มเหลว เพราะตั้งเช้ายันเที่ยงไม่ปรากฎว่ามีหมู่บ้านที่ไหนเลย แม้แต่ชาวบ้านสักคนก็ไม่มีปรากฎให้เห็น ทั้งสองเดินบ้างพักบ้างดื่มน้ำจากกระติกประทังความหิว แต่ไม่มีเสียงบ่น เสียงสนทนา เพราะต่างก็เงียบแม้ว่าจะเดินทางสายเดียวกัน แต่ก็เหมือนอยู่กันคนละโลก เพราะธัมมานันโทก็มีโลกแห่งการกำหนดจิตภาวนา พระเล็กก็มีโลกแห่งการบริกรรม ซึ่งเป็นความสุขภายในที่ทำให้ลืมความหิวไปได้อย่างน่าอัศจรรย์
จนกระทั่งตะวันลาฟ้า มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเห็นแสงสว่างเรื่อเรืองปรากฎขึ้น นั่นแสดงว่ามีหมู่บ้านอยู่ตรงนั้น เพราะแสงสว่างคงเกิดจากไฟหุงหาอาหารของชาวบ้าน พระหนุ่มทั้งสองจึงเปลี่ยนทิศทางจากตะวันออกเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ คืนนั้นกำหนดไม่ได้ว่าที่พักเป็นอะไร แต่จำได้เพียงว่าเป็นเพิงพักของชาวไร่ที่ทิ้งร้างข้างลำธารสายเล็กๆ ที่เสียงน้ำไหลเอื่อยอย่างอ่อนล้าแต่เย็นเฉียบเวลาสัมผัสเหมือนกับจะบาดลึกจรดเยื่อกระดูกก็ไม่ปาน เหมือนลมหายใจของพระหนุ่มทั้งสองที่อ่อนแรงเพราะการเดินทางในภาวะที่ท้องกำลังอุธรณ์เพราะความหิว และความหนาวแห่งจิตวิญญาณที่เย็นชืดเพราะความเหนื่อยอ่อน
เสียงไก่ขันแว่วมากับสายลมหนาวปลายเดือนเมษายน หนาวกลางฤดูร้อนอย่างนี้จะมีให้เห็นก็เฉพาะดินแดนที่เป็นภูเขา ทั้งสองรีบตื่นจากความหลับออกเดินทางไปตามเสียงไก่ขัน ด้วยความหวังว่าวันนี้คงมีอาหารพอประทังความหิวไปได้
ที่ใดมีการตั้งความหวัง ที่นั่นมักจะมีหวังรออยู่เสมอ เพียงแต่ว่าจะเป็นความสมหวังหรือผิดหวังนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
วันนั้นพระหนุ่มทั้งสองได้อาหารบิณฑบาตข้าวเหนียวคนละหนึ่งปั้นประมาณเท่ากำมือกับน้ำพริกปลาร้าแจ่วบอง(น้ำพริกปลาร้า)คนละถุงกับผักที่ไม่รู้จักชื่ออีกกำมือหนึ่ง แต่นั่นเป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดในชีวิต ค่าของอาหารคือแก้โรคความหิวเมื่อหมดหิวร่างกายก็เหมือนหมดโรค เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง (ชิฆัจฉา ปรมา โรคา) พระบรมศาสดาจารย์สอนไว้ไม่ผิดเลย
เมื่อร่างกายได้อาหารจึงลาญาติโยมผู้ใจบุญคนนั้นเดินทางต่อไป ทั้งสองถึงหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในเวลาเย็น ชาวบ้านประมาณสิบหลังคาเรือนทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์เดินทางมาต่างก็รีบมาชุมนุมนิมนต์ให้พระธุดงค์(ตามที่ชาวบ้านเรียกและเข้าใจในเวลานั้น)พักอาศัยเพื่อโปรดพวกเขา เมื่อพระหนุ่มรับปากก่อนที่จะพาไปสู่ที่พัก เวลาโพล้เพล้ตะวันจะตกดิน ฝุ่นที่เกิดจากการที่เด็กๆนำฝูงโคและกระบือเข้าคอก เมื่อปะทะกับแสงพระทิตย์ที่ไร้เมฆหมอกทำให้เกิดเป็นภาพสะท้อนฟุ้งขึ้นทั่วท้องฟ้าเหมือนมีใครเอาจีวรพระสีแดงห่มคลุมทั้งหมู่บ้าน
ชาวบ้านต่างนำหมากพลู บุหรี่ ข้าวปลาอาหาร เหล้าที่ชาวบ้านกลั่นเองมาวางตรงหน้าพระหนุ่มทั้งสองกล่าวคำอธิษฐานถวายทานและนำถวาย พระธุดงค์ยังงงกับเหตุการณ์แต่ก็รับทุกอย่างตามเจตนารมณ์ของชาวบ้าน เมื่อสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า
“ชาวบ้านที่นี่นับถือผีเจ้าพ่อผาเด่น ของที่นำมาถวายคือเครื่องเซ่นเจ้าพ่อ ขอให้ท่านทั้งสองสนองเจตนาเพื่อจะฝากส่งไปให้เจ้าพ่อด้วย”
การฝากส่งของชาวบ้านนั้นหมากต้องเคี้ยว บุหรี่ต้องสูบ ข้าวและเหล้าต้องกิน ถ้าปฏิบัติตามพระธุดงค์ทั้งสองต้องดื่มทั้งเหล้าและกินข้าว ซึ่งผิดวินัยสำหรับพระเป็นอาบัติ ถ้าไม่ทำตามชาวบ้านจะสูญเสียศรัทธา พระธุดงค์หนุ่มทั้งสองจะแก้ปัญหาอย่างไรดี
สมองมนุษย์มีไว้สำหรับคิด เมื่อค่อยๆ คิดความคิดย่อมถูกย่อยจนเกิดมโนภาพและเห็นแนวทาง พระเล็กนั่งพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อถ่วงเวลา ส่วนธัมมานันโทนั่งเงียบเคี้ยวหมากและสูบยาใบตองของชาวบ้านไปพลางๆ คิดหาทางออก ในที่สุดจึงเอ่ยขึ้นว่า
“เจ้าพ่อรับรู้แล้วกำลังเคี้ยวหมากและสูบบุหรี่ แต่ข้าวและเหล้ายังไม่อยากกินตอนนี้ เพราะรู้สึกง่วงแล้วอยากนอนหลับ ตื่นขึ้นมาค่อยกิน” แม้จะเป็นทางออกแบบน้ำขุ่นๆ แต่ก็ใช้ได้ในภาวะการณ์ที่พลังศรัทธามืดบอดของชาวบ้านมีต่อเจ้าพ่อ
ชาวบ้านหันมองหน้ากันด้วยสายตาประหลาดใจ ผู้นำชาวบ้านจึงบอกว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันเราจัดที่พักให้พวกท่านที่เชิงเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อผาเด่น นิมนต์ท่านทั้งสองไปพักผ่อนให้สบายเถิด”
คืนนั้นพระหนุ่มทั้งสองจึงได้ที่พักแรมเป็นเพื่อนกับเจ้าพ่อ ที่เชิงเขาผาเด่นนั่นเอง ดึกสงัดข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านถวายเจ้าพ่อเด่นยังคงตั้งวางหน้าศาล ธัมมานันโทลุกจากที่นอนเดินจงกรมข้างๆศาล สายตาชำเลืองดูที่พักเจ้าพ่อ ซึ่งเป็นศาลาไม้หลังเล็กๆ คะเนว่าคงพอเป็นที่นอนสำหรับคนๆเดียว ครุ่นคิดในใจเงียบๆว่า
“เจ้าพ่ออะไรจะไร้ศักดิ์ศรีปานนั้น ในขณะที่ชาวบ้านมีบ้านใหญ่โต ซึ่งก็ตัดจากป่าไม้ที่เจ้าพ่อเฝ้าอยู่นั่นแหละไปสร้างบ้าน ส่วนเรือนเจ้าพ่อเป็นเพียงเศษไม้ที่เหลือจากการสร้างบ้านของของชาวบ้าน เจ้าพ่ออะไรจะโง่เง่าปานนั้น ถูกชาวบ้านหลอกลวงด้วยการเคารพหลอกๆ ข้าวปลาอาหารรึก็ใส่ภาชนะคือใบตองซึ่งเป็นเศษขยะที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว เจ้าพ่อถูกหลอกด้วยศรัทธาจอมปลอม ช่างน่าอนาถใจนัก”
ก่อนสว่างคืนนั้นเจ้าพ่อได้คิดเห็นด้วยตามที่ธัมมานันโทคำนึง มาบอกลาสละถิ่นขอไปเกิดในภพชาติใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผีมีสำนึกดีกว่าคน ชาวบ้านไม่มีโอกาสรู้ว่าวิญญาณเจ้าพ่อไม่อยู่แล้ว ยังคงเคารพบูชาศาลเจ้าพ่อที่ไม่มีตัวตนต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เล่าเรื่อง
27/02/53