ในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชาที่พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมทั้งที่พุทธมณฑล นครปฐม และวัดทุกแห่งต่างก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในช่วงนี้ลองอ่านประสบการณ์การเที่ยวกรรมฐานของภิกษุสองรูปที่เคยเล่าให้ฟังมานานแล้ว เรื่องที่ควรจดจำแม้ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังฝังแน่นในความทรงจำตลอดมา
หลายปีมาแล้วได้พบสนทนาธรรมะกับท่านธัมมานันทะซึ่งได้พบกันโดยบังเอิญที่บ้านเกิด เพราะเราทั้งสองต่างเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในช่วงเวลาเดียวกัน ก่อนอุปสมบทเคยเป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินด้วยกัน อายุเท่ากัน แต่ท่านธัมมานันทะอุปสมบทก่อน ท่านได้เมตตาเล่าถึงประสบการณ์การเดินธุดงค์กรรมฐานเมื่อครั้งที่ยังเป็นพระหนุ่มให้ผู้เขียนฟัง เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงได้นำมาเผยแผ่ให้ผู้สนใจได้ศึกษา
ท่านธัมมานันทะได้เล่าให้ฟังว่าหลังจากออกพรรษาแล้ว ตอนนั้นท่าน(ธัมมานันโทภิกขุ)พึ่งอุปสมบทได้เพียงหนึ่งพรรษาได้ชวนพระเล็ก รักขิตตสีโล ซึ่งอุปสมบทในปีเดียวกันออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐาน เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งหน้าสู่จังหวัดเลย วัดป่าโคกมนขณะนั้นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ยังพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น หลวงปู่พักอยู่ที่กุฏิมุงหญ้าแฝก ทั้งๆที่มีโยมสร้างกุฏิหลังงามให้แต่หลวงปู่บอกไม่ถูกกับจริตซึ่งชอบอยู่ตามป่าไม้ จึงได้มาพักอยู่ที่กุฏิมุงหญ้าดังกล่าว ตอนนั้นหลวงปู่เดินไม่ได้แล้วต้องนั่งรถเข็ญตลอด โดยมีพระรูปหนึ่งเป็นผู้คอยเฝ้าอุปัฏฐากดูแลอย่างใกล้ชิด
ท่านธัมมานันทะพักนอนป่าช้าวัดโคกมนสามคืน เงินค่ารถหมดพอดี เราไม่มีเงินค่ารถกลับจึงออกเดินทางด้วยเท้าพักทีถ้ำแห่งหนึ่ง สังเกตเห็นว่าเหมือนมีพระพักอาศัย เพราะสมณบริขารต่างๆยังคงมีอยู่ครบ เพียงหาเจ้าของสิ่งของไม่พบ เราจึงตกลงกันว่าพรุ่งนี้ค่อยขอโอกาสพักอาศัยกับพระที่พักอยู่ก่อน เพราะวันนี้มืดค่ำแล้ว โดยปักกลดคนละมุมถ้ำ
ตกกลางคืนความเงียบสงบของธรรมชาติ น้ำค้างหยดลงบนใบหญ้า ท่านออกมาเดินจงกรม ณ ทางเดินบริเวณหน้าถ้ำ ค้างคาวบินแหวกอากาศเหมือนเสียงร้องของภูตผี น้ำค้างหยดเหมือนหยดน้ำตาของปีศาจร้าย ทางเดินชุ่มด้วยน้ำค้าง เสียงเท้าสัมผัสดินเหมือนเสียงคร่ำครวญของวิญญาณที่ถูกขัง คืนนั้นธัมมานันโทบำเพ็ญเพียรโดยการเดินสลับกับการนั่งภาวนา ในความสงบแห่งจิตได้ปรากฎเป็นพระรูปหนึ่งเดินเข้าเดินออกถ้ำตรวจนั่นดูนี่เหมือนกับกำลังสำรวจและค้นหาอะไรบางอย่าง เมื่อลืมตาส่องไฟดูกลับไม่มีอะไร มีแต่ความเงียบ นั่งลงกำหนดจิตอีกครั้งเสียงนั้นก็แทรกเข้ามาในจินตนาการ ธัมมานันโทนอนไม่หลับทั้งคืนอยากจะเดินไปหาพระเล็ก แต่กลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขี้ขลาด เพราะเราตกลงกันก่อนแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากฟ้ายังไม่สว่างจะไม่พบกันเด็ดขาด ธัมมานันโทจึงทำได้เพียงแผ่เมตตาจิตไปให้สรรพสัตว์และวิญญาณทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่ในป่าบริเวณนั้นให้อยู่ดีมีความสุข ภาพหลอนจึงได้หายไป
จนกระทั่งรุ่งเช้าเมื่อกลับจากบิณฑบาตจึงมีโอกาสสนทนากับชาวบ้านที่ตามมาส่งอาหารถึงถ้ำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า “ประมาณสองอาทิตย์พระเจ้าของถิ่นได้มรณภาพ เนื่องจากฉันอาหารแสลงคือแกงผักหวานป่าเป็นพิษจนถึงแก่ความตาย ศพพึ่งเผาไปได้ไม่นาน วิญญาณของพระรูปนั้นยังคงวนเวียนหลอกหลอนชาวบ้านแถบนี้อยู่ จนไม่มีใครกล้าเดินผ่านป่าและถ้ำนี้ในเวลากลางคืน เพราะเคยมีชาวบ้านเห็นพระภิกษุรูปนั้นเดินจงกรมที่ปากถ้ำอยู่บ่อยๆเหมือนกับว่าท่านยังมีชีวิตอยู่”
พระหนุ่มทั้งสองจึงตกลงว่าจะอยู่ที่ถ้ำนี้ต่อไป จนกว่าพระเจ้าของถ้ำจะยินยอม
เหตุการณ์แปลกๆยังคงเกิดขึ้นที่ถ้ำแห่งนี้ แต่กลับเป็นผลดีสำหรับการปฏิบัติ เมื่อมีสิ่งเร้าทำให้เกิดแรงกระตุ้นเพื่อเร่งให้การปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ธัมมานันโทได้พบกับความสงบแห่งจิต เกิดปีติอิ่มเอิบเพลิดเพลินกับการภาวนา ใจที่สงบนิ่งลึกมักจะเห็นอะไรที่สายตาธรรมดามองไม่เห็น แต่เป็นบทเรียนที่รับรู้ได้คนเดียวอธิบายให้ใครฟังไม่ได้ ธรรมะทั้งหลายเป็นปัจจัตตังรู้เห็นได้เฉพาะตน พระหนุ่มทั้งสองลาจากถ้ำเดินทางต่อไปโดยมีจุดหมายที่อุดรธานี
การเดินทางด้วยเท้าในสมัยที่มีรถยนต์โดยสารวิ่งผ่านในถนนแทบทุกสายอย่างนี้ กลับกลายเป็นความแปลกอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ธัมมานันโทจึงตัดสินใจแยกตัวออกจากถนนใหญ่ เดินลัดเลาะตามทุ่งนา ป่าเขา อาศัยหนทางที่ชาวบ้านเดินไปทำงานที่ไร่นาเป็นเกณฑ์ การเดินทางในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งคือคนที่พบเห็นคือชาวบ้านจริงๆ พวกเขาอยู่อาศัยตามป่าเขา ทำมาหากินจากธรรมชาติพืชผักผลไม้ก็เก็บเกี่ยวเอาจากธรรมชาติ ปลาหาได้จากลำธารและบึง หนอง คลอง บุ่ง ส่วนเนื้อสัตว์ก็ล่าเอาจากป่าเท่าที่จะหาได้เพื่อพออยู่พอกินเท่านั้น เอาเนื้อแลกปลา เอาปลาแลกพริก แบ่งกันกินเหมือนครอบครัวใหญ่จนมีคำกล่าวว่า “พริกอยู่เรือนเหนือ เกลืออยู่เรือนใต้” ขาดเหลืออะไรขอกันกินได้ ไม่มีการค้าขายเข้ามาเป็นเส้นแบ่งวิถีชีวิต ร้านค้าในหมู่บ้านส่วนมากจะขายสิ่งของใช้เท่าที่จะหาได้เท่านั้น
ความซื่อบริสุทธิ์และสมดุลแห่งธรรมชาติทำให้พระหนุ่มทั้งสองเดินทางอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ค่ำที่ไหนก็ขออาศัยนอนพักในป่าช้าประจำหมู่บ้านนั้นๆ รุ่งเช้าออกบิณฑบาต ฉันเสร็จออกเดินทางอย่างไม่รีบร้อนต่อไป
วันหนึ่งธัมมานันโทหลงเข้าไปในดงลึกหุบเขาสลับซับซ้อน แม้ว่าจะเป็นไร่ของชาวบ้าน แต่พอหมดฤดูทำไร่ชาวบ้านก็ทิ้งร้างเป็นป่ารก ภูเขาลูกเล็กๆ ลูกแล้วลูกเล่าที่พระหนุ่มทั้งสองเดินผ่านมีแต่ความเงียบไม่มีชาวบ้านให้ถามทาง เมื่อพระอาทิตย์ลับทิวเขาทุกอย่างจึงเหมือนถูกปล่อยให้หลงอยู่ในหุบเขาหิมพานต์ก็ไม่ปาน ทั้งสองหลับไหลใต้ร่มไม้ในหุบเขานั่นเอง