หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "ปัญหามีไว้แก้" อย่าท้อแท้เมื่อประสบปัญหา เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยปัญหาอยู่แล้ว ในแต่ละวันต้องมีปัญหาให้ต้องคอยแก้ไขอยู่ตลอดเวลา บางคนแก้ปัญหาได้ บางคนแก้ไม่ได้หรือแก้ไม่ถูกวิธียิ่งแก้ยิ่งยุ่ง หรือบางคนหาทางแก้ปัญหาไม่ได้อาจถึงขั้นต้องฆ่าตัวตายไปเลยก็มี แต่หากคิดให้ดีปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางแก้ไข หากเราใช้สติปัญญาค่อยๆคิดหาทางในที่สุดย่อมจะหาทางออกได้ พระศรีวิสุทธิญาณ (อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยรูปแรก ได้เขียนเรื่องการใช้สติปัญญาและให้แก้ไขความทุกข์อย่างถูกต้อง ไว้ในบทที่เก้าแห่งหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ค่อยๆอ่าน ปัญหาที่กำลังประสบอยู่อาจมีทางแก้ไขได้
บทที่ 9
สอนให้ใช้สติปัญญาและให้แก้ไขความทุกข์อย่างถูกต้อง
โดย:อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อน ด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล” ในบทนี้ขอตั้งด้วยเหตุเป็น 2 ประการ คือ พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักแก้ไขความทุกข์อย่างถูกทาง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน คือเมื่อใช้สติปัญญาก็เป็นเหตุให้แก้ความทุกข์ความเดือดร้อนได้
ในประเด็นแรกที่ว่า พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญานั้น ผู้เขียนออกจะใช้คำบัญญัติตามภาษาไทยไปสักหน่อย คือในภาษาไทยเรามีคำบัญญัติคำหนึ่งได้แก่ “ สติปัญญา” แปลมาจากคำ “Intelligence” ในภาษาอังกฤษ เป็นคำที่เคยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษามาแล้ว โดยเฉพาะในทางจิตวิทยาได้ใช้คำนี้กันแพร่หลาย ตามคำบัญญัติของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ ถ้าพูดตามภาษาศาสนา สติกับปัญญามิได้ใช้คู่กัน แต่ใช้คำว่า สติ ( ความระลึกได้ ) สัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ) เป็นคู่กัน ซึ่งก็เท่ากับสติและปัญญา ( ดูคำอธิบายข้างหน้า )
คำว่า สติปัญญา ที่แปลมาจากคำ Intelligence นั้น ถ้าใช้ถ้อยคำตามภาษาศาสนาใช้ปัญญาคำเดียวก็พอ เพราะปัญญาที่ดีจะต้องมีสติกำกับด้วย ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ผู้เขียนใคร่เสนอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนานั้นไม่มีที่ไหนเลย เมื่อกล่าวถึงศรัทธาความเชื่อแล้วจะไม่กล่าวถึงปัญญากำกับไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ในที่ใดใช้ศรัทธาความเชื่อ ในที่นั้นจะต้องใช้ปัญญากำกับไว้ด้วยเสมอ
ความเชื่อที่มีปัญญากำกับ
เพื่อให้เป็นหลักฐาน ผู้เขียนจะเสนอหลักธรรมที่ศรัทธากับปัญญามาคู่กันไว้ เท่าที่ค้นได้ คือ :-
1.สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์อนาคตหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมเป็นเหตุให้สมหมายในสิ่งที่สมหมายได้ยาก 4 ประการ (สุตตันตปิฎก เล่ม 20 หน้า 84 และเล่ม 23 หน้า 297 )
(1) สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความเชื่อ
(2) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
(3) จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค
(4) ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
2. ธรรมที่ทำให้กล้าหาญ (เวสารัชชกรณธรรม) 5 ประการ (สุตตันตปิฎก เล่ม 22 หน้า 144)
(1) สัทธา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
(2) สีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
(3) พาหุสัจจะ การได้สดับตรับฟังมาก
(4) วิริยาภัมภะ ปรารภความเพียร
(5) ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
3. ธรรมที่เป็นกำลัง (พละ) และที่เป็นใหญ่ (อินทรีย์) 5 ประการ ( พระไตรปิฎก เล่ม 22 หน้า 11)
(1) สัทธา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
(2) วิริยะ ความเพียร
(3) สติ ความระลึกได้
(4) สมาธิ ความตั้งใจมั่น
(5) ปัญญา ความรอบรู้
4. ทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) 7 ประการ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 23 หน้า 5)
(1) สัทธา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
(2) สีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
(3) หิริ ละอายต่อบาปทุจริต
(4) โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
(5) พาหุสัจจะ ได้ยินได้ฟังมาก
(6) จาคะ สละให้ปัน
(7) ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
5. ธรรมของคนดี (สัปปุริสธรรม) 7 ประการ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 23 หน้า 147)
(1) สัทธา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
(2) หิริ ละอายต่อบาปทุจริต
(3) โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
(4) พาหุสัจจะ ได้ยินได้ฟังมาก
(5) วิริยะ เพียร
(6) สติ ระลึกได้
(7) ปัญญา รอบรู้
พึงสังเกตในที่นี้ว่า สติมาใกล้เคียงกับปัญญา และศรัทธาคงมีปัญญากำกับด้วยเช่นกัน การไม่ให้เชื่อในทางที่อาจผิดพลาด 10 ประการ ในทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนข้องใจกันมากถึงคำสอนในกาลามสูตร ที่สอนไม่ให้เชื่อในทางที่อาจผิดพลาดได้ 10 ประการ ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่ม 20 หน้า 241 คือ :-
1. อย่าถือโดยฟังตามกันมา
2. อย่าถือโดยนำสืบๆกันมา
3. อย่าถือโดยเชื่อข่าวลือ
4. อย่าถือโดยอ้างตำรา
5. อย่าถือโดยนึกเดาเอา
6. อย่าถือโดยคาดคะเน
7. อย่าถือโดยตรึกตามอาการ
8. อย่าถือโดยชอบว่าตรงกับความเห็นของตน
9. อย่าถือโดยเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้
10. อย่าถือโดยนับถือว่าท่านเป็นครูของเรา
ครั้นแล้วได้มีคำสอนว่า ควรจะเชื่ออย่างไรต่อไปอีกว่า “เมื่อใดท่านรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ นักปราชญ์ติเตียน เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดแต่ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และความทุกข์ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลไม่มีโทษ นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดประโยชน์ความสุข ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่”
หลักทำนองเดียวกันนี้มีตรัสไว้หลายแห่ง เช่น ในภัททิยสูตร (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21 หน้า 258 ) ก็ทรงสอนไว้เช่นเดียวกัน
คำสอนนี้ฝรั่งสนใจมาก และถือว่าเป็นวิธีค้นความจริงที่ต้องตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
เชื่อคนหรือเชื่อตัวเอง
มีปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อกล่าวตามกาลามสูตรแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระพุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อคนอื่นเลย หากสอนให้เชื่อตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นหลักฐานได้อย่างไร เพราะความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในโลก ก็เกิดเพราะคนเชื่อตนเอง ไม่ฟังเสียงผู้อื่นไม่ใช่หรือ ก็ไหนว่าพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยฟังเสียงข้างมากเป็นประมาณ แล้วทำไมจึงกลับมีหลักให้เชื่อตนเองอีกเล่า
ปัญหานี้ตอบง่าย โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทางพระพุทธศาสนาติดต่อกัน คือ ที่พระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างเป็นแบบอย่างทางประชาธิปไตยนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่า เป็นประชาธิปไตยชนิดที่อยู่ในกรอบของศีลธรรม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นประชาธิปไตยด้วย เป็นธรรมาธิปไตยด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าพวกมากลากไป ถ้าผิดธรรม ผิดวินัยแล้ว จะมากมายเท่าไร ก็ใช้ไม่ได้
คราวนี้มาถึงประเด็นความเชื่อ พระพุทธศาสนามีคำอยู่คำหนึ่งสรรเสริญคนที่ได้ประจักษ์แจ้งความจริงได้รับผลแห่งการปฏิบัติเสร็จแล้วว่า “อปรปฺปจฺจโย” แปลว่า “ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย” ถอดความว่า ไม่ต้องเชื่อตามเขาว่าเพราะได้ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง คนที่ไม่รู้อะไรด้วยตนเองเลย ต้องแล้วแต่เขาว่าเรื่อยไปนั้น นับได้ว่ายังเป็นผู้ห่างไกลจากความจริงต่อเมื่อใดได้ค้นคว้าทดลองจนประจักษ์แจ้งด้วยตนเองแล้ว เมื่อนั้น จึงนับว่าได้มีความเชื่อชนิดที่ไม่ต้องเดาหรือฟังเขาว่าต่อไป ขอยกตัวอย่างประกอบสัก 2-3 เรื่อง เพื่อให้ความชัดขึ้น
สมมุติว่า นาย ก. ไม่เคยรับประทานทุเรียนเลย ถ้าจะให้ นาย ก. อธิบายรสของทุเรียน นาย ก. ก็คงต้องอาศัยการเดา การฟังคำผู้อื่น แต่ถ้า นาย ข. ซึ่งเคยรับประทานทุเรียนอธิบายบ้าง แม้จะไม่ชัดเจนเท่ากับลองรับประทานเอง อย่างน้อย นาย ข. ก็คงชี้แจงได้บ้างในรสหลักๆ ของทุเรียน เช่น รสหวาน รสมัน เป็นต้น ตกลงถ้าจะให้คนอื่นเข้าใจรสของทุเรียนอย่างแท้จริง ก็ไม่มีวิธีอื่นดีกว่าให้เขาลิ้มรสด้วยตนเอง เขาจะเข้าใจประจักษ์แจ้งรสนั้นโดยไม่ต้องคอยฟังคนอธิบาย ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่ชัดเจนเท่าได้ลิ้มรสด้วยตนเอง
ตัวอย่างที่ 2. นาย ก. ไม่เคยไปประเทศอังกฤษเลย ฟังแต่เขาว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเทียบกับ นาย ข. ได้ไปเห็นประเทศอังกฤษด้วยตนเองแล้วจะต่างกันมาก อย่างนี้จะเชื่อตนเองดีหรือคนอื่นดีก็จงพิจารณาดู
ตัวอย่างที่ 3. นาย ก. อ่านหนังสือไม่ออกต้องมีคนสอนให้อ่าน กับ นาย ข. อ่านหนังสือออกด้วยตนเองไม่ต้องมีใครมาบอกให้อ่านอย่างนั้นอย่างนี้ ก็สามารถอ่านได้ ดังนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน
เป็นอันว่าการเชื่อตนเองภายหลังที่ได้ประจักษ์แจ้งความจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ดีที่สุด ไม่ต้องลังเลสงสัยอะไรอีกต่อไป ข้อสำคัญจะต้องทำความเข้าใจกันได้ดีกว่า คำว่า ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองนั้น จะต้องไม่สำคัญผิด จะต้องประจักษ์แจ้งชนิดได้รับผลหรือประจักษ์ผลนั้นๆ จริงๆ การสำคัญผิดที่ทางศาสนาเรียกว่า “อติมานะ” (สำคัญว่าได้บรรลุ) มิใช่ความเชื่อที่พึงประสงค์ในที่นี้
“เป็นอันสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า ความเชื่อในพระพุทธศาสนานั้น ต้องมีปัญญากำกับ และต้องการให้ได้ประจักษ์แจ้งในสิ่งนั้นๆ ด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อตามๆ เขาว่ากัน
ข้อควรรู้เรื่องปัญญา
ในพระพุทธศาสนาท่านจะสังเกตเห็นได้ว่า ปัญญาอยู่ในลำดับสูงสุดเสมอ เพราะถือว่า เป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริงหรือได้รับผลสมบูรณ์ใดๆ
เพื่อที่จะเห็นว่าปัญญาเมื่อมารวมกับธรรมอื่นๆ ที่ท่านถือว่า สำคัญกว่าข้ออื่นเสมอนั้นมีอย่างไร นอกจากขอให้ย้อนไปอ่านตอนที่เทียบให้เห็นศรัทธาที่มีปัญญารั้งท้ายกำ กับอยู่ด้วย แล้วขอเสนอธรรมหมวดอื่นๆ อีกดังนี้
1. ลำดับการปฏิบัติ 3 ขั้น (อนุบุพพปฏิปทา)
(1) ศีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
(2) สมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่น
(3) ปัญญา ทำความรอบรู้ให้เกิดขึ้น
2. การอบรม 2 ขั้น (ภาวนา)
(1) สมถภาวนา อบรมสมาธิ
(2) วิปัสสนาภาวนา อบรมปัญญา
3. ประมวลหลักฐานที่สดุดีปัญญา
(1) คนในโลกนี้ผู้ประกอบด้วยปัญญา ย่อมหาความสุขได้แม้ในทุกข์ทั้งหลาย (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 27 หน้า 50)
(2) ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 61)
(3) ปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 51)
(4) สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมรุ่งเรืองยิ่งด้วยปัญญา(พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า22)
(5) คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐสุด ดุจดวงจันทร์ประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย ศีลศรีสง่าธรรมของคนดี ย่อมเป็นของติดตามผู้มีปัญญา (คือ มีปัญญาแล้วความดีอื่นๆก็ตามมา) (พระสุตตันตปิฎก เล่ม27 หน้า 541)
(6) ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าชีวิตของผู้อยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตอันประเสริฐสุด (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 59)
(7) ปัญญาย่อมปกครองคน (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 52)
(8) ปัญญาที่เป็นเหตุให้ทำลายกิเลสได้ (นิพเพธคามินี) ประเสริฐสุดในโลก (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 29)
(9) ปัญญาย่อมเกิดจากการประกอบความเพียร (ไม่ใช่เกิดเองโดยบังเอิญ ในที่นี้คำว่า ปัญญา ใช้ศัพท์คำว่า ภูริ หมายถึงปัญญาที่กว้างขวาง รอบคอบไม่ใช่เพียงเชาว์หรือไหวพริบ) (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 52)
(10) เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตน เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 52)
จากอาคตสถาน (ที่มาหรือข้ออ้างอิง) ที่ยกมาพอเป็นสังเขปนี้ ย่อมแสดงว่า ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญมาก เพราะช่วยเป็นแสงสว่างส่องทางแห่งชีวิต ช่วยคุ้มครองหรือปกครองคน และข้อสำคัญคือ ช่วยให้พ้นทุกข์ หรือให้หาความสุขได้ในท่ามกลางแห่งความทุกข์ โดยเฉพาะในข้อที่ (10) แสดงว่าถ้ายังไม่รู้จริงด้วยปัญญาถึงสภาพ 3 อย่างแล้ว คนเราก็มักสำคัญทุกข์ว่าเป็นสุข แต่เมื่อเกิดปัญญาก็จะไม่หลงเข้าใจผิดต่อไป
การเผชิญปัญหาชีวิตโดยปราศจากปัญญานั้น เปรียบเหมือนการเดินคลำไปในที่มืด อาจตกหลุมตกบ่อหรือตกสะพานก็ได้ อาจสำคัญเชือกว่าเป็นงู หรือเห็นอะไรตะคุ่มๆ ก็ตกใจกลัวเข้าใจว่าเป็นโจรผู้ร้าย หรือผีหลอก แต่ถ้ามีไฟฟ้าเดินทางฉายไป ซึ่งเทียบด้วยมีปัญญา บางทีก็จะกลายเป็นนึกขันตัวเองที่หลงกลัวโน่นกลัวนี่โดยเข้าใจผิด
ประเภทของปัญญา
ในพระพุทธศาสนา จัดประเภทของปัญญาไว้หลายอย่าง ขอนำมากล่าวไว้พอสังเขป ดังนี้ :-
ปัญญา 2
(1) โลกิยปัญญา ปัญญาขั้นโลกีย์ (วนอยู่ในโลก)
(2) โลกุตตรปัญญา ปัญญาขั้นโลกุตร (ข้ามพ้นจากโลก)
วิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทศ หน้า4
ปัญญา 2
(1) เสขปัญญา ปัญญาของผู้ยังต้องศึกษา (คือผู้ยังไม่เป็นพระอรหันต์)
(2) อเสขปัญญา ปัญญาของผู้ไม่ต้องศึกษา (ผู้หมดกิเลสแล้ว) (20 / 283)
ปัญญา3
(1) จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด
(2) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง (หรือศึกษา)
(3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรม คือปฏิบัติ(11 /231)
ปัญญา 3
(1) อายโกศล ฉลาดรู้ในความเจริญ
(2) อปายโกศล ฉลาดในความเสื่อม
(3) อุปายโกศล ฉลาดรู้ในวิธีการ (อภิธัมมัตถวิภาวินี 408,309)
ปัญญา 4
(1) ความรู้ในทุกข์
(2) ความรู้เหตุให้ทุกข์เกิด
(3) ความรู้ในความดับทุกข์
(4) ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (11 /238)
มีข้อพึงสังเกตในเรื่องปัญญานี้ว่า ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่า ปัญญาที่มีติดตัวมา เช่น เชาว์ไว ไหวพริบ เป็นปัญญาขั้นสูงสุด แต่ถือว่าปัญญาที่เราทำให้เกิดขึ้นด้วยความคิด การศึกษา และการปฏิบัติ จึงเป็นปัญญาสูงสุดที่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ทั้งนี้ เพราะเชาว์ไวไหวพริบเป็นของมีได้ไม่เหมือนกัน ส่วนปัญญาประเภทที่อบรมให้เกิดได้นั้นทุกคนมีสิทธิเล่าเรียนศึกษาคิดค้นคว้า และปฏิบัติให้เกิดปัญญาได้แบบเดียวกับไฟธรรมชาติ เช่น ไฟป่าเราไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ มนุษย์จึงประดิษฐ์ ไม้ขีดไฟหรือเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ให้เกิดไฟได้ทุกโอกาสที่ต้องการ แม้พระพุทธเจ้าเองที่ตรัสรู้อย่างลอยๆ ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดขึ้น เพราะการลงมือปฏิบัติจึงตรัสรู้ได้ จึงเป็นอันเห็นได้อย่างหนึ่งว่า ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่คอยรอสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ หรือคอยโชคชะตา ให้ถึงวันดีคืนดีแล้วฉลาดขึ้นมาเองเลย พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือกระทำเหตุที่เหมาะสม จึงเป็นศาสนาที่ไม่สอนให้แขวนชีวิตไว้กับโชคชะตา หากให้รู้จักทำหรือสร้างสิ่งประสงค์ให้เกิดขึ้นแก่ตน