ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

              หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "ปัญหามีไว้แก้" อย่าท้อแท้เมื่อประสบปัญหา เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยปัญหาอยู่แล้ว ในแต่ละวันต้องมีปัญหาให้ต้องคอยแก้ไขอยู่ตลอดเวลา บางคนแก้ปัญหาได้ บางคนแก้ไม่ได้หรือแก้ไม่ถูกวิธียิ่งแก้ยิ่งยุ่ง หรือบางคนหาทางแก้ปัญหาไม่ได้อาจถึงขั้นต้องฆ่าตัวตายไปเลยก็มี แต่หากคิดให้ดีปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางแก้ไข หากเราใช้สติปัญญาค่อยๆคิดหาทางในที่สุดย่อมจะหาทางออกได้ พระศรีวิสุทธิญาณ (อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยรูปแรก ได้เขียนเรื่องการใช้สติปัญญาและให้แก้ไขความทุกข์อย่างถูกต้อง ไว้ในบทที่เก้าแห่งหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ค่อยๆอ่าน ปัญหาที่กำลังประสบอยู่อาจมีทางแก้ไขได้  

บทที่ 9
สอนให้ใช้สติปัญญาและให้แก้ไขความทุกข์อย่างถูกต้อง
โดย:อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ


              “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อน ด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล”  ในบทนี้ขอตั้งด้วยเหตุเป็น 2 ประการ คือ พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักแก้ไขความทุกข์อย่างถูกทาง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน คือเมื่อใช้สติปัญญาก็เป็นเหตุให้แก้ความทุกข์ความเดือดร้อนได้
ในประเด็นแรกที่ว่า พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญานั้น ผู้เขียนออกจะใช้คำบัญญัติตามภาษาไทยไปสักหน่อย คือในภาษาไทยเรามีคำบัญญัติคำหนึ่งได้แก่ “ สติปัญญา” แปลมาจากคำ “Intelligence” ในภาษาอังกฤษ เป็นคำที่เคยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษามาแล้ว โดยเฉพาะในทางจิตวิทยาได้ใช้คำนี้กันแพร่หลาย ตามคำบัญญัติของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์  ถ้าพูดตามภาษาศาสนา สติกับปัญญามิได้ใช้คู่กัน แต่ใช้คำว่า สติ  ( ความระลึกได้ ) สัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ) เป็นคู่กัน ซึ่งก็เท่ากับสติและปัญญา ( ดูคำอธิบายข้างหน้า )
              คำว่า สติปัญญา ที่แปลมาจากคำ Intelligence นั้น ถ้าใช้ถ้อยคำตามภาษาศาสนาใช้ปัญญาคำเดียวก็พอ เพราะปัญญาที่ดีจะต้องมีสติกำกับด้วย ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า  ผู้เขียนใคร่เสนอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนานั้นไม่มีที่ไหนเลย เมื่อกล่าวถึงศรัทธาความเชื่อแล้วจะไม่กล่าวถึงปัญญากำกับไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ในที่ใดใช้ศรัทธาความเชื่อ ในที่นั้นจะต้องใช้ปัญญากำกับไว้ด้วยเสมอ

ความเชื่อที่มีปัญญากำกับ
              เพื่อให้เป็นหลักฐาน ผู้เขียนจะเสนอหลักธรรมที่ศรัทธากับปัญญามาคู่กันไว้ เท่าที่ค้นได้ คือ :-
              1.สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์อนาคตหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมเป็นเหตุให้สมหมายในสิ่งที่สมหมายได้ยาก 4 ประการ (สุตตันตปิฎก เล่ม 20 หน้า 84 และเล่ม 23 หน้า 297 )
                            (1) สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความเชื่อ
                            (2) สีลสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยศีล
                            (3) จาคสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยการบริจาค
                            (4) ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
              2. ธรรมที่ทำให้กล้าหาญ (เวสารัชชกรณธรรม) 5 ประการ (สุตตันตปิฎก เล่ม 22 หน้า 144)
                            (1) สัทธา  เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
                            (2) สีล   รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
                            (3) พาหุสัจจะ  การได้สดับตรับฟังมาก
                            (4) วิริยาภัมภะ  ปรารภความเพียร
                            (5) ปัญญา  รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
              3. ธรรมที่เป็นกำลัง (พละ) และที่เป็นใหญ่ (อินทรีย์) 5 ประการ ( พระไตรปิฎก เล่ม 22 หน้า 11)
                            (1) สัทธา   เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
                            (2) วิริยะ  ความเพียร
                            (3) สติ   ความระลึกได้
                            (4) สมาธิ  ความตั้งใจมั่น
                            (5) ปัญญา  ความรอบรู้
              4. ทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) 7 ประการ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 23 หน้า 5)
                            (1) สัทธา  เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
                            (2) สีล   รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
                            (3) หิริ   ละอายต่อบาปทุจริต
                            (4) โอตตัปปะ  สะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
                            (5) พาหุสัจจะ  ได้ยินได้ฟังมาก
                            (6) จาคะ  สละให้ปัน
                            (7) ปัญญา   รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
              5. ธรรมของคนดี  (สัปปุริสธรรม) 7 ประการ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 23 หน้า 147)
                            (1) สัทธา  เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
                            (2) หิริ   ละอายต่อบาปทุจริต
                            (3) โอตตัปปะ   สะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
                            (4) พาหุสัจจะ  ได้ยินได้ฟังมาก
                            (5) วิริยะ  เพียร
                            (6) สติ    ระลึกได้
                            (7) ปัญญา   รอบรู้
              พึงสังเกตในที่นี้ว่า สติมาใกล้เคียงกับปัญญา และศรัทธาคงมีปัญญากำกับด้วยเช่นกัน การไม่ให้เชื่อในทางที่อาจผิดพลาด 10 ประการ  ในทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนข้องใจกันมากถึงคำสอนในกาลามสูตร ที่สอนไม่ให้เชื่อในทางที่อาจผิดพลาดได้ 10 ประการ ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่ม 20 หน้า 241 คือ :-
                            1. อย่าถือโดยฟังตามกันมา
                            2. อย่าถือโดยนำสืบๆกันมา
                            3. อย่าถือโดยเชื่อข่าวลือ
                            4. อย่าถือโดยอ้างตำรา
                            5. อย่าถือโดยนึกเดาเอา
                            6. อย่าถือโดยคาดคะเน
                            7. อย่าถือโดยตรึกตามอาการ
                            8. อย่าถือโดยชอบว่าตรงกับความเห็นของตน
                            9. อย่าถือโดยเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้
                            10. อย่าถือโดยนับถือว่าท่านเป็นครูของเรา
              ครั้นแล้วได้มีคำสอนว่า ควรจะเชื่ออย่างไรต่อไปอีกว่า “เมื่อใดท่านรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ นักปราชญ์ติเตียน เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดแต่ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และความทุกข์ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลไม่มีโทษ นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดประโยชน์ความสุข ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่”
              หลักทำนองเดียวกันนี้มีตรัสไว้หลายแห่ง เช่น ในภัททิยสูตร  (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21 หน้า 258 )  ก็ทรงสอนไว้เช่นเดียวกัน
              คำสอนนี้ฝรั่งสนใจมาก และถือว่าเป็นวิธีค้นความจริงที่ต้องตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง

เชื่อคนหรือเชื่อตัวเอง
              มีปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อกล่าวตามกาลามสูตรแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระพุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อคนอื่นเลย หากสอนให้เชื่อตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นหลักฐานได้อย่างไร เพราะความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในโลก ก็เกิดเพราะคนเชื่อตนเอง ไม่ฟังเสียงผู้อื่นไม่ใช่หรือ ก็ไหนว่าพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยฟังเสียงข้างมากเป็นประมาณ แล้วทำไมจึงกลับมีหลักให้เชื่อตนเองอีกเล่า
ปัญหานี้ตอบง่าย โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทางพระพุทธศาสนาติดต่อกัน คือ ที่พระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างเป็นแบบอย่างทางประชาธิปไตยนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่า เป็นประชาธิปไตยชนิดที่อยู่ในกรอบของศีลธรรม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นประชาธิปไตยด้วย เป็นธรรมาธิปไตยด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าพวกมากลากไป ถ้าผิดธรรม ผิดวินัยแล้ว จะมากมายเท่าไร ก็ใช้ไม่ได้
              คราวนี้มาถึงประเด็นความเชื่อ พระพุทธศาสนามีคำอยู่คำหนึ่งสรรเสริญคนที่ได้ประจักษ์แจ้งความจริงได้รับผลแห่งการปฏิบัติเสร็จแล้วว่า “อปรปฺปจฺจโย”  แปลว่า “ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย” ถอดความว่า ไม่ต้องเชื่อตามเขาว่าเพราะได้ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง คนที่ไม่รู้อะไรด้วยตนเองเลย ต้องแล้วแต่เขาว่าเรื่อยไปนั้น นับได้ว่ายังเป็นผู้ห่างไกลจากความจริงต่อเมื่อใดได้ค้นคว้าทดลองจนประจักษ์แจ้งด้วยตนเองแล้ว เมื่อนั้น จึงนับว่าได้มีความเชื่อชนิดที่ไม่ต้องเดาหรือฟังเขาว่าต่อไป ขอยกตัวอย่างประกอบสัก 2-3 เรื่อง เพื่อให้ความชัดขึ้น
              สมมุติว่า นาย ก. ไม่เคยรับประทานทุเรียนเลย ถ้าจะให้ นาย ก. อธิบายรสของทุเรียน นาย ก. ก็คงต้องอาศัยการเดา การฟังคำผู้อื่น แต่ถ้า นาย ข. ซึ่งเคยรับประทานทุเรียนอธิบายบ้าง  แม้จะไม่ชัดเจนเท่ากับลองรับประทานเอง อย่างน้อย นาย ข. ก็คงชี้แจงได้บ้างในรสหลักๆ ของทุเรียน เช่น รสหวาน รสมัน เป็นต้น ตกลงถ้าจะให้คนอื่นเข้าใจรสของทุเรียนอย่างแท้จริง ก็ไม่มีวิธีอื่นดีกว่าให้เขาลิ้มรสด้วยตนเอง เขาจะเข้าใจประจักษ์แจ้งรสนั้นโดยไม่ต้องคอยฟังคนอธิบาย ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่ชัดเจนเท่าได้ลิ้มรสด้วยตนเอง
              ตัวอย่างที่ 2. นาย ก. ไม่เคยไปประเทศอังกฤษเลย ฟังแต่เขาว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเทียบกับ นาย ข. ได้ไปเห็นประเทศอังกฤษด้วยตนเองแล้วจะต่างกันมาก อย่างนี้จะเชื่อตนเองดีหรือคนอื่นดีก็จงพิจารณาดู
ตัวอย่างที่ 3. นาย ก. อ่านหนังสือไม่ออกต้องมีคนสอนให้อ่าน กับ นาย ข. อ่านหนังสือออกด้วยตนเองไม่ต้องมีใครมาบอกให้อ่านอย่างนั้นอย่างนี้ ก็สามารถอ่านได้ ดังนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน
              เป็นอันว่าการเชื่อตนเองภายหลังที่ได้ประจักษ์แจ้งความจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ดีที่สุด ไม่ต้องลังเลสงสัยอะไรอีกต่อไป ข้อสำคัญจะต้องทำความเข้าใจกันได้ดีกว่า คำว่า ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองนั้น จะต้องไม่สำคัญผิด จะต้องประจักษ์แจ้งชนิดได้รับผลหรือประจักษ์ผลนั้นๆ จริงๆ การสำคัญผิดที่ทางศาสนาเรียกว่า “อติมานะ” (สำคัญว่าได้บรรลุ) มิใช่ความเชื่อที่พึงประสงค์ในที่นี้
“เป็นอันสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า ความเชื่อในพระพุทธศาสนานั้น ต้องมีปัญญากำกับ และต้องการให้ได้ประจักษ์แจ้งในสิ่งนั้นๆ ด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อตามๆ เขาว่ากัน

ข้อควรรู้เรื่องปัญญา
              ในพระพุทธศาสนาท่านจะสังเกตเห็นได้ว่า ปัญญาอยู่ในลำดับสูงสุดเสมอ เพราะถือว่า เป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริงหรือได้รับผลสมบูรณ์ใดๆ
              เพื่อที่จะเห็นว่าปัญญาเมื่อมารวมกับธรรมอื่นๆ ที่ท่านถือว่า สำคัญกว่าข้ออื่นเสมอนั้นมีอย่างไร นอกจากขอให้ย้อนไปอ่านตอนที่เทียบให้เห็นศรัทธาที่มีปัญญารั้งท้ายกำ กับอยู่ด้วย แล้วขอเสนอธรรมหมวดอื่นๆ อีกดังนี้
              1. ลำดับการปฏิบัติ 3 ขั้น (อนุบุพพปฏิปทา)
                            (1) ศีล  รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
                            (2) สมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่น
                            (3) ปัญญา ทำความรอบรู้ให้เกิดขึ้น
              2. การอบรม 2 ขั้น (ภาวนา)
                            (1) สมถภาวนา  อบรมสมาธิ
                            (2) วิปัสสนาภาวนา อบรมปัญญา
              3. ประมวลหลักฐานที่สดุดีปัญญา
                            (1) คนในโลกนี้ผู้ประกอบด้วยปัญญา ย่อมหาความสุขได้แม้ในทุกข์ทั้งหลาย (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 27 หน้า 50)
                            (2) ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 61)
                            (3) ปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 51)
                            (4) สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมรุ่งเรืองยิ่งด้วยปัญญา(พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า22)
                            (5) คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐสุด ดุจดวงจันทร์ประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย ศีลศรีสง่าธรรมของคนดี ย่อมเป็นของติดตามผู้มีปัญญา (คือ มีปัญญาแล้วความดีอื่นๆก็ตามมา) (พระสุตตันตปิฎก เล่ม27 หน้า 541)
                            (6) ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าชีวิตของผู้อยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตอันประเสริฐสุด (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 59)
                            (7) ปัญญาย่อมปกครองคน (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 15 หน้า 52)
                            (8) ปัญญาที่เป็นเหตุให้ทำลายกิเลสได้ (นิพเพธคามินี) ประเสริฐสุดในโลก (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 29)
                            (9) ปัญญาย่อมเกิดจากการประกอบความเพียร (ไม่ใช่เกิดเองโดยบังเอิญ ในที่นี้คำว่า ปัญญา ใช้ศัพท์คำว่า ภูริ หมายถึงปัญญาที่กว้างขวาง รอบคอบไม่ใช่เพียงเชาว์หรือไหวพริบ) (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 52)
                            (10) เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตน เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 52)
                            จากอาคตสถาน (ที่มาหรือข้ออ้างอิง) ที่ยกมาพอเป็นสังเขปนี้ ย่อมแสดงว่า ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญมาก เพราะช่วยเป็นแสงสว่างส่องทางแห่งชีวิต ช่วยคุ้มครองหรือปกครองคน และข้อสำคัญคือ ช่วยให้พ้นทุกข์ หรือให้หาความสุขได้ในท่ามกลางแห่งความทุกข์  โดยเฉพาะในข้อที่ (10) แสดงว่าถ้ายังไม่รู้จริงด้วยปัญญาถึงสภาพ 3 อย่างแล้ว คนเราก็มักสำคัญทุกข์ว่าเป็นสุข แต่เมื่อเกิดปัญญาก็จะไม่หลงเข้าใจผิดต่อไป
                            การเผชิญปัญหาชีวิตโดยปราศจากปัญญานั้น เปรียบเหมือนการเดินคลำไปในที่มืด อาจตกหลุมตกบ่อหรือตกสะพานก็ได้ อาจสำคัญเชือกว่าเป็นงู หรือเห็นอะไรตะคุ่มๆ ก็ตกใจกลัวเข้าใจว่าเป็นโจรผู้ร้าย หรือผีหลอก แต่ถ้ามีไฟฟ้าเดินทางฉายไป ซึ่งเทียบด้วยมีปัญญา บางทีก็จะกลายเป็นนึกขันตัวเองที่หลงกลัวโน่นกลัวนี่โดยเข้าใจผิด


ประเภทของปัญญา
              ในพระพุทธศาสนา จัดประเภทของปัญญาไว้หลายอย่าง ขอนำมากล่าวไว้พอสังเขป ดังนี้ :-
              ปัญญา 2
                            (1) โลกิยปัญญา ปัญญาขั้นโลกีย์ (วนอยู่ในโลก)
                            (2) โลกุตตรปัญญา ปัญญาขั้นโลกุตร (ข้ามพ้นจากโลก)
วิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทศ หน้า4
              ปัญญา 2 
                            (1) เสขปัญญา ปัญญาของผู้ยังต้องศึกษา (คือผู้ยังไม่เป็นพระอรหันต์)
                            (2) อเสขปัญญา ปัญญาของผู้ไม่ต้องศึกษา (ผู้หมดกิเลสแล้ว) (20 / 283)
              ปัญญา3
                            (1) จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด
                            (2) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง (หรือศึกษา)
                            (3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรม คือปฏิบัติ(11 /231)
              ปัญญา 3
                            (1) อายโกศล  ฉลาดรู้ในความเจริญ
                            (2) อปายโกศล  ฉลาดในความเสื่อม
                            (3) อุปายโกศล  ฉลาดรู้ในวิธีการ (อภิธัมมัตถวิภาวินี 408,309)
              ปัญญา 4
                            (1) ความรู้ในทุกข์
                            (2) ความรู้เหตุให้ทุกข์เกิด
                            (3) ความรู้ในความดับทุกข์
                            (4) ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (11 /238)
              มีข้อพึงสังเกตในเรื่องปัญญานี้ว่า ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่า ปัญญาที่มีติดตัวมา เช่น เชาว์ไว ไหวพริบ เป็นปัญญาขั้นสูงสุด แต่ถือว่าปัญญาที่เราทำให้เกิดขึ้นด้วยความคิด การศึกษา และการปฏิบัติ จึงเป็นปัญญาสูงสุดที่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ทั้งนี้ เพราะเชาว์ไวไหวพริบเป็นของมีได้ไม่เหมือนกัน ส่วนปัญญาประเภทที่อบรมให้เกิดได้นั้นทุกคนมีสิทธิเล่าเรียนศึกษาคิดค้นคว้า และปฏิบัติให้เกิดปัญญาได้แบบเดียวกับไฟธรรมชาติ เช่น ไฟป่าเราไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ มนุษย์จึงประดิษฐ์ ไม้ขีดไฟหรือเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ให้เกิดไฟได้ทุกโอกาสที่ต้องการ แม้พระพุทธเจ้าเองที่ตรัสรู้อย่างลอยๆ ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดขึ้น เพราะการลงมือปฏิบัติจึงตรัสรู้ได้ จึงเป็นอันเห็นได้อย่างหนึ่งว่า ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่คอยรอสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ หรือคอยโชคชะตา ให้ถึงวันดีคืนดีแล้วฉลาดขึ้นมาเองเลย พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือกระทำเหตุที่เหมาะสม จึงเป็นศาสนาที่ไม่สอนให้แขวนชีวิตไว้กับโชคชะตา หากให้รู้จักทำหรือสร้างสิ่งประสงค์ให้เกิดขึ้นแก่ตน




สติที่มาคู่กับปัญญา
              ได้กล่าวแล้วในธรรมของคนดี (สัปปุริสธรรม 7 ประการ) ว่า สติที่มาใกล้ชิดกับปัญญามีอยู่เหมือนกัน คนไทยเราเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า การที่มีสติ ก็มีแต่เฉลียว แต่ไม่มีฉลาด การมีแต่ปัญญา ก็คือมีแต่ฉลาด โดยขาดเฉลียว ใครที่ฟุ้งเกินไป เขาจึงล้อกันว่าปัญญาเกินสติ
              บางท่านจึงอธิบายว่า สติสัมปชัญญะนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือ สติที่มาคู่กับปัญญานั้นเอง ดังจะเห็นได้จากอรรถกถา ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ภาค 2 หน้า 80 ว่า การขาดสัมปชัญญะก็คือไม่มีญาณหรือปัญญา 
              ผู้เขียนเคยอธิบายเรื่องสติกับปัญญา ซึ่งต้องอาศัยกันไว้ว่า เปรียบเหมือนดินกับน้ำ ดินเปรียบเหมือนปัญญา ถ้าไม่มีธาตุน้ำผสมอยู่ด้วยเลยก็กลายเป็นดินฝุ่น และไม่จับกัน ทำให้ฟุ้งง่าย ต้องมีน้ำผสมอยู่บ้างจึงจะช่วยให้ไม่ฟุ้ง
เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า ปัญญาในพระพุทธศาสนาต้องเป็นปัญญาที่มีสติกำกับอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้ว่า เรายกย่องพระอรหันต์ว่า ท่านมีปัญญาสูงสุดเป็นเหตุทำลายกิเลสได้ ก็มีคำยกย่องพระอรหันต์ต่อไปอีกว่า เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ
ในพระวินัยมีการยกประโยชน์ให้พระอรหันต์ เมื่อมีใครโจทก์ท้วง เมื่อยกสติวินัยขึ้นมาชี้แจงว่า พระอรหันต์เป็นผู้มีสติอยู่เสมอ ก็เป็นอันยกฟ้องโจทก์ได้เลย
              เพราะฉะนั้น คำพูดที่พูดติดปากคนไทย เมื่อพูดถึงปัญญาก็มักจะพูดว่าสติปัญญานั้นนับว่าเหมาะและถูกต้องตามหลักธรรมอยู่มาก ผู้เขียนจึงใช้คำนี้ในหัวข้อเรื่องด้วย

การใช้ปัญญาแก้ทุกข์
              ในพระพุทธศาสนาถือว่า การแก้ไขความทุกข์ได้เป็นจุดประสงค์อย่างสูงสุด ดังจะเห็นได้ว่าทฤษฎีเรื่องอริยสัจ (ของจริงอย่างประเสริฐ) 4 ประการนั้น คือ ทฤษฎีแก้ความทุกข์โดยตรง แต่เป็นทฤษฎีแปลกกว่าธรรมดาก็คือ ทฤษฎีธรรมดานั้นเป็นเรื่องคิดเอาหรือลองตั้งหลักขึ้นไว้ ก่อนจะได้ผลจริงจังหรือไม่ค่อยพิสูจน์กันที่หลัง แต่ทฤษฎีอริยสัจของพระพุทธเจ้ามิใช่ความคิดฝันหรือคาดคะเนเอา หากเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ใช้ชีวิตของพระองค์เองเป็นเดิมพันในการค้นคว้าทดลองจนได้ผลแล้ว ได้พ้นทุกข์จริงแล้ว จึงได้ประกาศทฤษฎีนี้ออกมา พร้อมทั้งทรงชี้แจงว่า ตราบใดที่ยังมิได้ทรงรู้แจ้งเห็นจริงหรือปฏิบัติได้ผลมาเองในเรื่องนี้แล้วพระองค์ก็ไม่ปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
              เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาเรื่องการแก้ความทุกข์ของพระพุทธศาสนา เราจึงพิจารณาได้โดยตรงจากเรื่องอริยสัจประการหนึ่ง กับการใช้หลักอริยสัจเป็นแนว แล้วใช้ปัญญาสอนใจตนให้หายทุกข์หายกลุ้มอีกประการหนึ่ง

 

การแก้ทุกข์ตามหลักอริยสัจ
              1. ให้รู้จักตัวความทุกข์ก่อนว่าได้แก่อะไร บางครั้งอาจเข้าใจสับสนเห็นสุขเป็นทุกข์ หรือเห็นทุกข์เป็นสุข ฉะนั้น จะต้องถือหลักว่า ทุกข์มี 3 ชนิด คือ ทุกข์ประจำ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย  ทุกข์จร ได้แก่ ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้น ประจวบกันอารมณ์ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ทุกข์รวบยอด ได้แก่ขันธ์ 5 คือ ร่างกายจิตใจที่เรายึดถือ ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ 5 ส่วน เป็นเรื่องของกายหนึ่งส่วน เป็นเรื่องของจิตใจ 4 ส่วน
              2. ให้รู้จักต้นเหตุของความทุกข์ว่าได้แก่อะไร คนโดยมากอยากจะดับทุกข์หรือแก้ทุกข์ แต่แทนที่จะแก้ที่ต้นเหตุกลับไปวุ่นวายที่ตัวความทุกข์อันเป็นผล จึงแก้ไม่ได้ ทางพระพุทธศาสนาจึงชี้ไปที่ความทะยานอยาก 3 ประการ ว่าเป็นต้นเหตุให้ทุกข์เกิด คือ ความทะยานอยากในกาม เรียกกามตัณหา 1  ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกภวตัณหา 1  ความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่คือ จากให้พ้นไปให้สูญไป เรียกวิภวตัณหา 1
              3. ให้รู้จักดับทุกข์ว่าได้แก่ความดับอะไร ซึ่งทางพระพุทธศาสนาชี้แจงว่าการดับทุกข์นั่นไม่ใช่ดับผล ต้องดับเหตุ ผลจึงจะดับไปด้วย ถ้าดับแต่ผลเหตุยังอยู่ทุกข์ก็จะต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น การดับความทุกข์ในที่นี้จึงได้แก่ ดับความทะยานอยากทั้ง 3 นั้นได้โดยเด็ดขาด ที่ว่าต้องดับได้โดยเด็ดขาดนั้น หมายถึงความดับโดยสมบูรณ์  ถ้าดับได้น้อยทุกข์ก็ยังเหลืออยู่ตามความมากน้อยของความทะยานอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น
              4. ให้รู้จักว่าความดับทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ จะต้องมีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ข้อปฏิบัตินั้น เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง) บ้าง เรียกอริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) บ้าง มีองค์ประกอบ 8 ประการ ซึ่งอาจย่อสั้นๆ ลง เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแต่ว่า ในชั้นแรกได้เรียงข้อปฏิบัติฝ่ายปัญญาไว้ก่อน เป็นการแสดงว่าการเข้าสู่พระพุทธศาสนาในแบบพ้นทุกข์ให้ใช้หลักปัญญาเป็นหัวหน้าดังนี้ :-
                            1. สัมมาทิฏฐิ  เห็นชอบ         ......     จัดเข้าในปัญญา
                            2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ   
                            3. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ  
                            4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ   ........... จัดเข้าในศีล  
                            5. สัมมาอาชีวะ  เลี้ยงชีวิตชอบ 
                            6. สัมมาวายามะ  เพียรชอบ
                            7. สัมมาสติ  ระลึกชอบ  ................... จัดเข้าในสมาธิ
                            8. สัมมาสมาธิ  ตั้งใจมั่น
              รายละเอียดเรื่องอริยสัจนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเขียนขึ้นเล่มหนึ่งต่างหากแล้ว ใช้ชื่อว่าอริยสัจคืออะไร ผู้สนใจจะหาอ่านได้ไนเรื่องนั้น ในที่นี้จะแสดงตัวอย่างว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะความทะยานอยากอย่างไร และมรรค 8  หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น เมื่อรวมกันแล้วกลายเป็นปัญญาข้อเดียวทำหน้าที่ดับทุกข์ได้ คือทั้ง 8 ข้อนั้น เมื่อปฏิบัติไปก็จะกลมกลืนกันหรือหลอมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมกันทำหน้าที่เป็นแสงสว่าง คือ ปัญญา กำจัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือ ความทะยานอยาก
              เราลองสอบดูก็ได้ ทุกเรื่องที่เรารู้สึกทุกข์ร้อนกระวนกระวายนั้น ถ้าเรามีความทะยานอยากปนอยู่มากเท่าใดเราก็เพิ่มความทุกข์ร้อนมากขึ้นเท่านั้น  คนที่คอยรถประจำทาง รถยังไม่มา ถ้ายิ่งอยากจะไปเร็วยิ่งรู้สึกว่ารถวิ่งช้า ทั้งๆ ที่เวลาหรือนาฬิกามิได้ช้าไปกว่าปกติเลย หรือคนที่นั่งบนรถราง รถรอหลีกเสียเวลาก็แสดงอาการฮึดฮัด ไม่รู้ว่าจะบ่นเอาแก่ใคร ก็กับคนขายตั๋วผู้ไม่มีหน้าที่ทำให้รถอีกคันหนึ่งมาได้เร็ว ตามที่เราต้องการได้เลย เราจะฮึดฮัดหรือบ่นสักเท่าไร ถ้ายังมาไม่ถึงมันก็ยังไม่มาเข้าหลีก การบ่นหรือการที่เราร้อนรุ่มกลุ้มใจไม่ได้ทำให้รถมาเร็วขึ้นได้เลย แต่เราก็สมัครจะบ่นจะแสดงอาการหงุดหงิด ก็เพราะว่าเราอยากจะไปเร็วๆ นั่นเอง
              คราวนี้ตรงกันข้าม เราอยากจะนั่งรถรางฆ่าเวลา เพราะมีธุระจริงถึง 16.00น. แต่นี่เพิ่งจะ 14.00น. ไม่รู้จะไปไหนก็ขึ้นรถรางดู เรายิ่งอยากจะให้ช้า คราวนี้ ดูเหมือนรถรางเกิดจะวิ่งเร็วเสียอีกแล้ว อะไรต่ออะไรในโลกนี้ คล้ายจะคอยแกล้งฝืนความปรารถนาของเราทั้งสิ้น แต่ถ้าเราไม่ส่งความอยากของเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เราจะไม่รู้สึกกระวนกระวายใจเลย
              หรือในเรื่องอื่นเช่นการสอบไล่ เด็กนักเรียนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวของเรา บางคนแทนที่จะคิดแก้ไขให้ถูกเรื่องด้วยการขยันหมั่นเพียรไว้แต่ต้นปี มัวประมาทเสียบ้าง คิดว่ายังมีเวลาบ้าง เลยเตรียมตัวไม่พร้อม หรือบางคนเตรียมตัวมากเกินไป จนในเวลาสอบมองเห็นตัวหนังสือเป็น 2 บรรทัด ตาพร่าไปหมด เพราะดูหนังสือมากจนไม่หลับไม่นอน บางคนก็คิดหาวิธีลัด โดยไปบนบานศาลกล่าว ขอเจ้าพ่อหลักเมืองบ้าง พระแก้วมรกตบ้าง บางคนเป็นทุกข์เป็นร้อนในเรื่องสอบ จนไม่เป็นอันกินอันนอน ทั้งนี้เพราะความทะยานอยากเรื่องจะสอบไล่ให้ได้นั้นรุนแรงมาก เมื่อประกาศผล ถ้าสอบตก ก็เลยเสียใจถึงกับคิดฆ่าตัวตายก็มีกันบ่อยๆ
              ที่พูดอย่างนี้คล้ายไม่เห็นอกเห็นใจคนสอบตก ใครสอบก็อยากได้ทั้งนั้น สอบตกจะไม่ให้เสียใจได้อย่างไร ขอตอบว่า ถ้าจะเสียใจบ้างก็ขอให้เป็นไปในลักษณะปกติธรรมดา อย่าให้ถึงคิดฆ่าตัวตายหรือตีโพยตีพายอะไรมากเกินไป จนถึงกับตีราคาชั้นที่จะสอบไล่ขึ้นไปนั้นสูงกว่าชีวิตทั้งชีวิต การเสียเวลาไปเพียง 1 ปี จะถึงกับต้องฆ่าตัวตายก็คล้ายกับว่า 1 ปีนั้น จะประสิทธิประสาทอะไรที่วิเศษหนักหนาให้แก่เรา ซึ่งถ้าไม่ได้แล้วจะหมดหวังตลอดชีวิตก็เปล่าทั้งสิ้น ผู้ที่สอบได้ไปก่อนอาจไม่เจริญเท่าผู้สอบได้ที่หลังก็ได้ เพราะความเจริญไม่ใช่เพียงเพราะสอบไล่ได้  แต่ต้องอาศัยความประพฤติ ปฏิบัติและการวางตน การรู้จักช่วยตนอย่างอื่นๆ อีกมากมาย รวมความแล้วก็อย่าไปโทษโน่นโทษนี่เลย โทษความอยากของเราก็แล้วกัน เราอยากมากเท่าใดก็ทุกข์มากเท่านั้น
              หนทางป้องกันความทุกข์นี่ก็คือ อย่าทุ่มเทความหวังให้มากนัก คอยเตือนใจเอาไว้บ้างว่า มีทางอยู่สองทาง อาจได้หรืออาจตก เมื่อเราเตรียมใจไว้เผื่อตก หรือสอนตัวเองแต่เนิ่นๆ ถึงคราวตกจะได้ไม่ผิดหวังเกินไป  คนที่เตรียมตัวเผื่อความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งหลายไว้เสมอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท  เป็นผู้พอจะรั้งตังเองได้ ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกความประสงค์เกิดขึ้น ไม่ถึงกับเสียใจเศร้าโศกจนเกินไป
              ความจริงเรื่องให้เตรียมตัวเผื่อความไม่แน่นอนของสิ่งทั้งหลายนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องการสอบไล่ แม้ในเรื่องอื่นๆ เช่นความรัก การแข่งขัน ที่มีแพ้ชนะจะในทางกีฬาหรือทางสมัครเป็นผู้แข่งขันเป็นผู้แทนต่างๆ ก็ควรเตรียมใจไว้แต่ต้นมือ
              ในเรื่องความรัก คนที่คิดเอาแต่ฝ่ายได้หรืออ่อนต่อโลกมักจะปล่อยให้ความทะยานอยากอย่างรุนแรงเป็นผู้เผด็จการอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีอาการจะบังคับคนอื่นที่ตนรักด้วย เช่น ปรารถนาจะให้เขามาพินอบพิเทา เอาอกเอาใจตน มาง้อตน ไม่ให้ไปพูดกับคนอื่น ต้องจงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อตนคนเดียว ตนไม่ชอบอะไรต้องให้เขาไม่ชอบด้วย ดูช่างตั้งข้อกำหนดกฎเกณฑ์เสียหนักหนา ครั้นแล้วพอไม่เป็นตามประสงค์ก็นั่งเสียอกเสียใจ ด่าโลกนี้ว่าคับแคบ โลกนี้เต็มไปด้วยความทรยศคดโกง ไม่ซื่อสัตย์ เต็มไปด้วยความหลอกลวง สวมหน้ากาก ฯลฯ สุดแต่จะสรรหาถ้อยคำมาว่าด่าให้สาใจ แต่ไม่มีการโทษตนเองหรือติตนเองเลย คนอื่นไม่ดีทั้งนั้น บางที่ถ้าหันมามองดูตัวเองบ้างว่า  เราตั้งความปรารถนาความหวังไว้รุนแรงเกินไปหรือเราจู้จี้เกินไป จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนอื่นเขาก็มีจิตใจ จะให้เขามาคอยทำตามใจเราทุกอย่างได้อย่างไร บางครั้งเขาทำอะไรไปโดยไม่มีเจตนาอย่างอื่นแต่เราระแวงหรือเข้าใจผิดไปเองต่างหาก เรื่องความไม่สมหวังนี้มีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น ไม่ใช่จะมีแต่เราคนเดียว เราจะมานั่งด่าโลก ด่าคนที่ไม่ตามใจเราอยู่ จะได้ประโยชน์อะไร ทางที่ดีควรจะรู้จักโลกในทางที่มันเป็นไปตามธรรมดาของมันบ้าง ไม่ใช่จะนั่งคิดฝืนโลกไม่ให้เป็นโลก และลองนึกดูก็ได้ ถ้าทุกคนปรารถนาสิ่งใดได้สำเร็จตามความประสงค์หมด เราคงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้เป็นแน่แท้ สมมติว่า นาย ก. ต้องการให้น้ำขึ้น นาย ข. ต้องการให้น้ำลง เพราะต่างคนต่างอยากจะพายเรือตามน้ำ น้ำจะตามใจใครดี ถ้าตามใจคนทั้งสองคงวุ่นวายไม่ใช่น้อย หรือนาย ก. ต้องการจะให้ฝนตก เพราะรู้สึกขี้เกียจรดน้ำต้นไม้และรู้สึกร้อนเหลือเกิน ในขณะเดียวกัน นาย ข. ต้องการให้แดดออก เพราะนาย ข. มีอาชีพทางซักรีดจะได้นำผ้าไปตากแดด ฝนซึ่งตามใจนาย ก. ทำท่าจะตกลงมา พอ นาย ข. ไม่ชอบใจก็ต้องรีบหายตกหรือลอยสูงขึ้น ดีว่าธรรมชาติที่ไม่มีจิตใจ ถ้าเป็นคนมีจิตใจถูกใช้ทั้งสองสามอย่างพร้อมๆ กัน ก็คงแทบเสียสติแท้
              นอกจากนั้น ความอยากของคนเรานี้เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สมัยหนึ่งภริยาอยากให้สามีเจริญรุ่งเรืองถึงกับวิ่งเต้นช่วยเหลือด้วยประการต่างๆ ครั้นสามีเจริญขึ้นแล้วเกิดนอกใจไปมีภรรยาอื่นๆ อีกหลายคน ก็วิ่งเต้นใหม่ คราวนี้ฟ้องร้องอยากเห็นสามีถึงความวิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจ
              เพราะฉะนั้น อย่าทุ่มเทความหวังความอยากลงไปในเรื่องอะไรให้มากนัก จะได้ไม่เสียใจมากเกินไปเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลง  เมื่อมีความทุกข์เรื่องไม่สมหวังไม่สมอยาก ขอให้นึกอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ความทะยานอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะได้เกิดปัญญาสอนใจตนเองให้ผ่อนคลายความกลัดกลุ้มกระวนกระวายลงไปบ้าง  โดยเฉพาะเรื่องความรัก พระพุทธเจ้าตรัสว่า รักหนึ่งทุกข์หนึ่ง รักร้อยทุกข์ร้อย ใครจะว่าไม่จริงหรือขัดคอก็ตามใจ ถ้าไม่มีห้ามล้อไว้บ้าง ไม่เตือนใจให้รู้สึกสภาพธรรมดาของโลกไว้บ้างว่า โลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแปรผัน ไม่แน่นอน แล้วก็จะต้องประสบกับความระทมขมขื่นถึงขนาดเห็นโลกนี้คับแคบจนได้
              การสอนให้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ 8 ประการ เป็นการปัดความให้กายวาจาใจ ของเราเรียบร้อยขึ้น ซึ่งรวมกันแล้วจะได้มีปัญญาส่องทางชีวิต ไม่ต้องคลำไปในที่มืดอีกต่อไป

การแก้ทุกข์โดยอนุโลมหลักอริยสัจ
              เหตุการณ์บางอย่างในชีวิต บางที่แม้เรื่องเล็กน้อย แต่เฉพาะบางเรื่องมันพิมพ์ใจ หรือประทับใจอยู่ ทำให้เรายึดถือเป็นแนวนึกคิดอย่างถอนใจไม่ได้ ปัญหาชนิดนี้นักจิตวิเคราะห์ชาวต่างประเทศ ซึ่งตั้งสำนักงานรับปรึกษาข้อข้องใจชอบถามให้ผู้กลุ้มใจระลึกค้นหา เพื่อจะได้เก็บไว้เป็นข้อสังเกต หนังสือประเภทนี้มีจำหน่ายทั่วไป มีประวัติบุคคลซึ่งแพทย์บันทึกไว้ที่เรียกว่า Case study อยู่มากมาย  ความคิดนึกแบบที่ทำให้รู้สึกกลัดกลุ้ม เพราะมองเห็นอะไรเป็นทุกข์ไปหมดนั้น มีพ้องกับความคิดเห็นของคนบางคน ซึ่งมองเห็นโลกเป็นทุกข์ตลอดเวลา แต่ไม่มีทางแก้ นอกจากด่าโลกอยู่ ซึ่งผิดกับทางพระพุทธศาสนา อันสอนให้รู้จักทุกข์พร้อมทั้งต้นเหตุ และวิธีแก้
              เมื่อพิจารณาตามแนวพระพุทธศาสนาอย่างกว้างๆ แล้ว ผู้ที่จะแก้ทุกข์ของเราได้ก็คือ ตัวของเราเอง ทั้งนี้ โดยตั้งหลักง่ายๆ ขึ้นก่อนว่า ทางพระพุทธศาสนาสอนเราไม่ให้ยอมมัดมือมัดเท้าให้แก่ความทุกข์ โดยปล่อยให้มันครอบงำท่วมทับเราอยู่เปล่าโดยไม่คิดแก้ไข แต่ให้เราพยายามค้นหาต้นเหตุและขับไล่ไสส่งความทุกข์ให้หมดไป ด้วยความพยายามตั้งตัวเป็นหมอรักษาตังเอง คือ ถ้าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นให้ถามตัวเองว่ามันเกิดขึ้นเองหรือว่าเราไปคิดนึกปรุงแต่ง ช่วยระบายสีให้มันแลดูเป็นทุกข์จริงๆขึ้น ทั้งๆ ที่บางครั้ง มันเป็นเพียงเรื่องขนาดที่เรียกว่าขยะมูลฝอย คือ ไม่สลักสำคัญ หรือน่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องเป็นราวหรือน่าทุกข์ร้อนอะไรเราก็อุตส่าห์เก็บเอามาคิดให้เห็นเป็นทุกข์ร้อนไปได้ เมื่อค้นคว้าไปจริงๆ จนพบเข้าด้วยตัวเองว่า มันไม่น่าทุกข์ ดังนี้ เราก็อาจช่วยตัวเราเองสำเร็จในการหาทางแก้ทุกข์ของตัวเราเองจนเต็มความสามารถ คือ ให้คิดให้ศึกษาหน้าตาความรู้สึกทุกข์ร้อนที่เราวาดภาพขึ้น แล้วถามตัวเองว่า นี่มันทุกข์จริงๆ หรือ มันเป็นแต่เพียงเราแต้มสีให้แก่มัน ถ้าพบว่าเราแต้มสีก็เป็นอันแก้ตกตรงนี้เอง เทียบด้วยคนที่สำคัญเชือกว่าเป็นงู พอรู้ว่าเชือกเสียก็หายกลัว และกลายเป็นรู้สึกขัน ถ้าพิจารณาหน้าตาของความทุกข์นั้นแล้ว ยังรู้สึกด้วยความจริงใจว่ามันเป็นเรื่องน่าทุกข์น่ากลุ้มจริงๆ ไม่ใช่เราไปแต้มสี หรือนึกทุกข์หลอกตัวเอง เราก็ควรตั้งปัญหาถามตังเองอีกว่า ถึงมันน่าทุกข์จริงๆ ก็ตามที แต่ที่เรารู้สึกทุกข์ร้อนหรือกลุ้มนี้ เราคิดขึ้นใช่ไหม? เมื่อพบว่าเพราะเราคิดขึ้นจริงๆ เราจึงทุกข์ เราก็จะได้หาทางออกต่อไปอีกว่า ในทางทุกข์ร้อนเราคิดออกหรือคิดเห็นไปได้ เราก็อาจใช้ความคิดนั้นถอนหรือทำลายความทุกข์ร้อนได้เช่นเดียวกัน คือ ให้รู้จักผูกแล้วเรียนแก้ อันได้แก่ การสอนตัวเองว่า ถ้าเราคิดทุกข์เป็นเราก็ควรรู้จักคิดให้หายทุกข์ให้เป็นด้วยเช่นเดียวกัน ปัญหาขั้นต่อไปมีอยู่ว่า  เราจะคิดอย่างไรเล่าจึงจะผ่อนคลายความทุกข์ได้ อันนี้มีวิธีคิดอยู่ 2 อย่าง
              ประการแรก การคิดโดยรวบรัด ไม่ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดว่า ข้อคิดที่ทำให้กลุ้มนั้น จะเป็นความกลุ้มประเภทไหน เนื่องมาจากความฝังใจเรื่องอะไร เราจะคิดหาเหตุผลโต้ความคิดเดิมที่กลุ้มนั้น ด้วยการให้อรรถาธิบายหรือเฉลยปัญหาอย่างไร จึงจะผ่อนคลายความทุกข์ร้อนนั้นได้
              ประการที่สอง การคิดหาเหตุผลอย่างละเอียด เฉพาะกรณีหรือเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นการจับปัญหาที่กลุ้มนั้นขึ้นมาพิจารณาอย่างละเอียด แล้วค้นหามูลเหตุที่ให้คิดเช่นนั้น ตลอดจนหาเหตุผลโต้ความคิดเช่นนั้น จนกว่าจะสามารถเอาชนะได้
ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายละเอียด ในวิธีคิดแต่ละประการซึ่งกล่าวข้างต้น
การคิดโดยรวบรัด
              การคิดโดยรวบรัด เป็นการเอาชนะความทุกข์ความกลุ้มใจด้วยวิธีตัดปัญหารายละเอียดทิ้ง     หาทางโยนความกลัดกลุ้มนั้นๆ ทิ้งอย่างไม่รับรู้รับฟังข้อโอดครวญใดๆ ทั้งนี้ต้องคิดเหยียดเรื่องทุกข์ร้อนทั้งหลายเป็นเรื่องเหลวๆไหลๆ ไม่จริงไม่จัง เป็นเพียงมายาหรือภาพหลอก  มันจะเกิดขึ้นในลักษณะไหนเช่นไรก็เชิญเกิดไป แต่เราจะไม่ยอมทุกข์ไปตามด้วย ทั้งนี้ เราอาจหาพยานได้จากตัวเราเอง
              บุคคลแต่ละคน คงจะได้เคยผ่านความทุกข์ร้อนกลุ้มใจกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ยิ่งอายุมาขึ้นก็คงได้ประสบพบเห็นหรือลิ้มรสความขมขื่นแห่งชีวิต มากกว่าคนอายุน้อย ความทุกข์ต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต ถ้าจะเทียบว่าเป็นประหนึ่งความฝันที่น่ากลัว  แต่พอกาลเวลาล่วงไป เราก็ลืมความฝัน หรือเพียงช่วงเวลาที่ตื่นจากหลับ เราก็สึกว่า แท้จริงความฝันนั้น ก็ไม่เป็นจริงเป็นจัง หรือมีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ตกค้างหลงเหลืออยู่ ความทุกข์ของเราก็เช่นนั้น พอผ่านไปแล้วก็ราคาเดียวกับความฝัน  ในขณะนี้ เราอาจจะจัดการกับความทุกข์ต่างๆ ในสมัยที่แล้วๆ มาแห่งชีวิตของเราได้เพียงอย่างมากก็คือการคิดทบทวนเล่นแบบความฝันเท่านั้น เมื่อเราได้ตัวเองเป็นพยานเช่นนี้ เราก็จะได้คิดเหยียดเรื่องน่ากลุ้มอกกลุ้มใจที่กำลังเผชิญหน้าเราอยู่นี้ เป็นเพียงเรื่องขยะมูลฝอย พอไม่กี่วันก็จะกลายเป็นเพียงภาพที่เราประสบในความฝัน หาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจริงจังไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ยอมรับฟังรายละเอียดแห่งความกลุ้มกลัดนั้น คงคิดรวบรัดโยนทิ้งทั้งหมดทีเดียว
              อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะไม่คิดเหยียดลงเป็นเพียงขยะมูลฝอยหรือความฝัน ก็ยังมีวิธีแบบรวบรัดอีกอย่างหนึ่ง ด้วยตั้งคติประจำใจขึ้นง่ายๆ ว่า ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน เราจะไม่ยอมมัดมือมัดเท้าให้แก่ความทุกข์ร้อนทั้งหลาย เราจะไม่ยอมให้ทุกข์ “กินเปล่า” มารังแกได้ และถ้าจะมีทุกข์อะไรเกิดขึ้น ก็จะพยายามให้มันเกิดขึ้นเพียงแค่กาย จะไม่ให้มันลุกลามมาครอบงำถึงจิตใจ จนไม่ได้สติหรือรู้สึกมืดมิดไปหมด โดยวิธีนี้ ก็เป็นการไม่ยอมรับฟังรายละเอียดเรื่องความทุกข์ร้อนนั้นเช่นเดียวกัน คงโยนทิ้งด้วยตั้งคติประจำใจขึ้นง่ายๆ ว่าเราเป็นพุทธศาสนิกชน ฉะนั้น เราจะไม่รับทุกข์ไว้ให้กวนใจเรา

การคิดหาเหตุผลอย่างละเอียด
              เมื่อเราใช้วิธีคิดแบบรวบรัดไม่ได้ผลจริงๆ หมายความว่า ได้พยายามแล้ว ก็ขับไล่ไสส่งความรู้สึกกลัดกลุ้มทุกข์ร้อนให้หมดไปไม่ได้ เราก็จะต้อง ใช้วิธีสู้หน้ากับรายละเอียดของปัญหาเรื่องทุกข์ร้อนนั้น ด้วยอาการซักไซ้ ไต่สวนอย่างละเอียด แบบศาลยุติธรรม ที่ให้โจทก์จำเลยแสดงเหตุผล หลักฐาน ต่อสู้กันให้เต็มที่ แล้วจึงวินิฉัยชี้ขาดลงไป การคิดแบบนี้ ถ้าเราเป็นคนชอบเหตุผล จะรู้สึกสนุกมิใช่น้อย เพราะในบางครั้ง พอเราตั้งประเด็นให้ความคิดเห็นฝ่ายทุกข์ร้อนนั้นให้เหตุผลมา ให้เพียงพอว่ามันน่าจะทุกข์จริงๆ หรืออย่างไร? ความกลัดกลุ้มกระวนกระวายนั้น มันมีเหตุผลสมควรและจำเป็นแน่ละหรือ หรือว่าเราคิดกลุ้มเล่น ตามประสาคนชอบใช้ความคิด “รังแก” ตังเอง เมื่อซักไซ้ไล่เลียงกันลงไป ถึงรายละเอียดเช่นนี้ บางทีความคิดข้างฝ่ายกลุ้มจะรู้สึกว่าให้เหตุผลไม่ค่อยได้ เป็นคำตอบที่ค่อนข้างจะ “อ้อมแอ้ม” เต็มที หรือบางครั้งก็ใช้วิธีตอบแบบรวบรัดง่ายๆ ว่า “มันอยากจะกลุ้มก็จะกลุ้มนี่จะทำไมเล่า” และตรงนี้เอง ที่ฝ่ายคิดกลุ้มถูกรุกจนต้องตอบอย่างหมดทางไป เป็นโอกาสที่เราจะได้หัวเราะเยาะความกลุ้มชนิด “ไม่มีเหตุเพียงพอ” ของเรา แต่ถ้าความคิดข้างฝ่ายช่วยให้กลุ้ม มีเหตุผลและรายละเอียดในการที่จะกลุ้มได้มากมาย เราก็น่าจะได้ลองหาเหตุผล โต้ตอบเป็นข้อๆ ไป  ข้อสำคัญ ขอให้เราซ้อมความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่าหน้าที่โดยตรงของเราผู้เป็นพุทธศาสนิกชน คือจะต้องมีวิธีกำจัดทำลายหรือผ่อนปรนความทุกข์ที่เกิดขึ้น ไม่ยอมปล่อยตัวเองให้จมอยู่ในทุกข์นั้นเรื่อยๆ ไป เมื่อเรามีหน้าที่จะต้องขจัดปัดเป่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เราก็ควรจะได้รวบรวม ความเฉลียวฉลาด หรือสติปัญญาการคิดหาเหตุผลเท่าที่เราจะขวนขวายหาได้มาเป็นเครื่องมือ ต่อสู้กับความรู้สึกทุกข์ร้อนนั้น อย่างเต็มความสามารถ เมื่อเราตั้งตังเป็นฝ่ายตรงกันข้าม กับแนวทางที่จะช่วยให้เราครุ่นคิดกลัดกลุ้ม แล้วเราก็หาทางสนับสนุนความคิดกลัดกลุ้มนั้น มีแต่จะหาทางโต้แย้งอยู่ตลอดเวลา โดยวิธีนี้ ก็พอจะเป็นการถางทางไปสู่ความเป็นผู้ไม่ค่อยคิดกลุ้มได้ตามสมควร ในที่นี้ จะขอแสดงตัวอย่างการซักไซ้สอบสวนรายละเอียดเป็นรายๆ ไป เพียงบางเรื่องต่อไปนี้

กลุ้มเรื่องนึกถึงความตาย
              สมมติว่า นาย ก. เป็นผู้มีใจหดหู่อยู่เนืองนิตย์ไม่ว่าจะนึกคิดถึงเรื่องอะไร พอความคิดที่ว่าในที่สุดก็จะต้องตายกันไปหมดแทรกขึ้นมา ก็ทำให้รู้สึกอ้างว้าง ว่างเปล่า ไม่อยากทำอะไรต่อไป เพราะเมื่อถึงสุดท้ายจะต้องตายหมด มีแต่ความว่างเปล่าแล้วจะมาคิดอ่านทำโน่น ทำนี่ ให้เสียเวลาทำไม? ในที่สุดก็จะมีแต่ความซึมเซา หดหู่ไม่เป็นทำอะไร คอยนึกแต่ว่า พุทโธ่เอ๋ย ตลอดเวลา
ข้อสอบสวนซักถาม
              ได้กล่าวแล้วว่าในกรณีเช่นนี้ นาย ก. จะต้องตั้งตัวเป็นผู้คิดหักล้างความรู้สึกข้างฝ่ายชวนให้ทุกข์ จะไม่สนับสนุนในทางทุกข์ร้อน แต่จะหาทางหรือรวบรวมสติปัญญาที่มีอยู่ทั้งหมด คิดตอบโต้เอาชนะความกลัดกลุ้มนั้นให้จงได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะหาเหตุผลโต้แย้ง จึงควรหาทางคิด ตัดประเด็นปัญหาก่อน คือลองถามตังเองว่า การคิดทุกข์ร้อนในเรื่องนี้เป็นการรังแกตัวเองหรือเปล่า? มีความจำเป็นแค่ไหนที่เราจะมานั่งคิดทุกข์อยู่คนเดียว ในเมื่อคนอื่นไม่มีใครคิดทุกข์แบบเรา? เมื่อยังไม่สามารถหักล้างความคิดเดิม ด้วยการตัดประเด็นเช่นนี้ได้ ก็ให้สอบสวนในรายละเอียดต่อไป ซึ่งจะลองให้คำถามเป็นข้อๆ ดังนี้ :-
              1. อะไรเป็นเหตุจูงใจให้เราคิดกลุ้ม ในเรื่องนี้? (ขอให้ค้นหาคำตอบที่นึกว่าใกล้ความจริงหรือรอบคอบที่สุด)
              2.  ความคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นเมื่ออายุเท่าไร? (ไม่ได้ปีที่แน่นอนก็ให้ได้ระยะประมาณ)
              3. ความคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นเป็นพักๆ คือเกิดแล้วก็หายไป หรือว่าเกิดติดต่อกัน หรือว่านานๆ ครั้งจึงเกิด
              4. ถ้ามีระยะที่ความคิดนี้เกิดขึ้นแล้วหายไปได้บ้าง เคยสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า ทุกครั้งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเอง หรือมีอะไรจูงใจให้เกิดขึ้น
              5. เหตุจูงใจที่ทำให้เกิดความคิดชนิดนี้ เมื่อค้นคว้าหาดูแล้ว พอจะจัดประเภทได้หรือไม่ว่าเป็นเหตุประเภทไหน? เช่นเหตุการณ์เดียวกับการรบราฆ่าฟันกัน,ข่าวตายของคนบางคน,หรือถ้อยคำสะกิดใจที่เราอาจได้ฟังจากบุคคลต่างๆ หรืออยู่เฉยๆ นึกขึ้นเอง
              6. เมื่อความคิดชนิดนี้เกิดขึ้น มันมีอำนาจเหนือจิตใจเรา ด้วยประการทั้งปวง คือก่อให้เกิดความกลัดกลุ้มหรือหดหู่โดยไม่มีทางแก้ไข หรือว่าพอจะหักห้ามได้บ้าง
              7. ความคิดที่ทำให้ตังเองเป็นทุกข์เช่นนี้ จัดเป็นความคิดที่โง่หรือฉลาด (ขอให้พยายามคิดให้รอบคอบก่อน แล้วจึงตอบปัญหานี้)
              8. ถ้าเป็นความคิดที่โง่ เราจะยอมโง่อยู่อย่างนี้ตลอดไป หรือว่าจะหาทางแก้ไข หรือว่าจะหาทางแก้ไขกำจัดความโง่นี้
              9. ถ้าเป็นความคิดที่ฉลาด เราจะได้อะไรที่เป็นประโยชน์จากความคิดนี้บ้าง? ถ้าไม่มีประโยชน์อะไรแก่เราเลย เราจะยังควรนับถือความฉลาดแบบก่อความทุกข์ให้แก่ตัวเองต่อไปอีกหรือ?
              10. ความคิดชนิดนี้มีส่วนเนื่องมาจากการชอบเก็บตัวเอง ไม่ยอมสุงสิงเกี่ยวข้องกับคนอื่นบ้างหรือเปล่า? ถ้าใช่เราจะลองทำตัวให้เข้ากับคนอื่นบ้าง จะเป็นการสมาคม การฟังเทศน์ การฟังปาฐกถาหรือการเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อช่วยขจัดเหตุแวดล้อมให้ผ่อนคลายความกลัดกลุ้ม ครุ่นคิดแต่เรื่องทรมานใจตัวเองได้หรือไม่?
              11.เรามีโรคภัยไข้เจ็บชนิดเรื้อรังประจำตัวอันเป็นเหตุให้เกิดความหงุดหงิด เป็นประจำหรือไม่?
เมื่อได้ตั้งข้อซักถามสอบสวน ชนิดที่เราเรียกว่า “มูลฐาน” แต่ละข้อเหล่านี้แล้ว ได้รับคำตอบอย่างไรขอให้กำหนดหรือบันทึกไว้ให้ดี เพราะเป็นการศึกษาตัวเองหรือเป็นการเรียนรู้จักตัวเองมากขึ้นบางทีจะช่วยคลี่คลายปัญหานี้ได้บ้างว่า มีสาเหตุอย่างไร จะพอมีทางแก้ไขได้อย่างไรหรือไม่?
              ถ้ายังไม่ได้ผล คือยังไม่รู้จักตังเองดีขึ้น หรือรู้จักแล้วแต่ยังแก้ไม่ตก ก็ให้หาเหตุผลโต้แย้งความคิดชนิดนั้นต่อไป
เหตุผลโต้แย้ง
              ได้กล่าวแล้วว่า เราควรจะได้รวบรวมความฉลาดหรือสติปัญญาที่มีอยู่ทั้งหมด มาช่วยกันหาทางต่อสู้กับความคิดฝ่ายจูงให้เราทุกข์ร้อน เพราะฉะนั้น ตัวอย่างการหาเหตุผลโต้แย้ง จึงยังไม่ถือว่าสมบูรณ์แล้ว เพราะบางท่านอาจมีสติปัญญาและความฉลาดสูง ที่จะค้นหาเหตุผลมาโต้แย้งความรู้สึกทุกข์ร้อนได้ดีกว่าตัวอย่างนี้อีกมิใช่น้อย ในที่นี้จะเสนอไว้พอเป็นแนวทาง
              “ความตายไม่ใช่ความดับสูญ เพราะจำเดิมแต่มีมนุษย์ในโลกมา ไม่รู้ว่ากี่แสนกี่ล้านปีแล้ว มนุษย์เกิดเท่าใด ก็ตายเท่านั้นเรื่อยๆ มา ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ถ้าเราจะมาคำนวณมนุษย์ที่ตายไปแล้ว ก็คงมากกว่าหลายหมื่นหลายล้านเท่า แต่มนุษย์ก็ยังคงสืบต่อเชื้อสายกันอยู่เรื่อยๆ บางคนไม่สืบต่อเชื้อสายมาเท่านั้น ยังแถมระลึกชาติได้ด้วยว่า ตนเคยชื่อนั้น มีบุตรภรรยาชื่อนั้นๆ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั้นเหตุการณ์เหล่านี้ บางเรื่องก็ได้มีการสอบสวนกันอย่างจริงจัง ต่อหน้าผู้ร่วมมือนับจำนวนสิบจำนวนร้อย และได้ถ่ายรูปแสดงหลักฐาน อันควรเชื่อถือไว้ก็มี และมีตัวอย่างทั้งในตะวันตกและตะวันออก ไม่ใช่แต่ชาวเอเชียเท่านั้นที่ระลึกชาติได้ ฝรั่งบางคนระลึกชาติได้ก็มี”
              “ความตายนั้น คิดไปอีกแง่หนึ่ง ก็ไม่เชิงจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวจนถึงวิตกกังวลอะไรมากนัก เพราะเป็นเพียง “กระบวนการทางวัตถุ” ที่ช่วย “เก็บของเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้วเททิ้งไป” เพื่อ “เปิดโอกาสหรือให้ที่แก่ของใหม่ๆ” เท่านั้น เราลองนึกดูก็ได้ ถ้าโลกนี้ไม่มีการตาย คือมนุษย์ในสมัยล้านปีมาแล้วก็ยังคงมีชีวิตอยู่ แต่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นอนหรือคลานกันอยู่เกลื่อนกลาดเต็มไปหมด หรือที่ไม่คลานก็ได้แต่นั่ง “หัวเข่าท่วมหู” ซึมพูดจาไม่รู้เรื่อง ดังนี้เสียอีก โลกคงจะเต็มแน่นไปหมดไม่มีที่จะให้เราอยู่ ไม่มีอาหารให้เรากิน โลกนี้จะน่าทุเรศเวทนาสักเพียงไร เมื่อคิดมาถึงเพียงนี้เราน่าจะขอบใจความตายมากกว่าจะมานั่งทุกข์เรื่องความตาย เพราะถ้าไม่มีตายกันบ้าง โลกจะเต็มแน่นไปหมดไม่มีที่ให้เราอยู่ ไม่มีอาหารให้เรากิน และจะเต็มไปด้วยคนแก่อายุตั้งหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนปี ท่วมจำนวนคนรุ่นเด็กและหนุ่มสาวอย่างเปรียบกันไม่ได้ เพราะคนรุ่นเด็กและหนุ่มสาวจะมีเพียง หนึ่งในแสน ของคนรุ่นแก่ที่ “ไม่รู้จักตาย” เท่านั้น”
              “ความตายนั้นเป็นการถ่ายเทสิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้วออกไป เช่นในร่างกายเรา มีการกินอาหารใหม่เพิ่มเข้าไปทุกวัน และในขณะเดียวกันก็มีการถ่ายเทอาหารเก่าทิ้งเป็นประจำวันเช่นเดียวกัน จึงนับได้ว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้โลกยังเป็นไปอยู่ได้  ไม่น่ากลัวหรือวิตกอะไรมากนัก"
              “โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา ยิ่งสอนไม่ให้คิดถึงความตายด้วยความรู้สึกท้อแท้หรือหดหู่ หากให้คิดอย่างมีกำลังที่จะเร่งทำคุณงามความดีไห้มากขึ้น จะได้ไม่ตายอย่างเป็นโมฆะ หรือ “ตายไปเปล่า” โดยไม่มีโอกาสทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่โลก เมื่อความตายเป็นของธรรมดา สำหรับที่ทุกคนเกิดมาเช่นนี้ เราจึงสู้หน้ากับความจริงเรื่องตาย และหาประโยชน์จากความตาย ด้วยการอบรมจิตใจให้ประกอบด้วยคุณธรรมไม่ดีกว่าหรือ? เพราะว่าเรากลุ้มเราจะกลัว เราจะทุกข์ร้อนสักเท่าไร ก็ไม่ทำให้เราหนีพ้นจากความตายไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมัวมายอมให้ความคิดทุกข์ร้อนอันไม่จำเป็นเรื่องนี้ “กินเปล่า” เราอยู่เรื่อยๆ ทำไม?”
              รวมความว่าเมื่อใช้ปัญญาแล้ว ก็จะแก้ทุกข์ได้ทำให้เห็นความดับทุกข์ เป็นคุณลักษณะอันพิเศษประการหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา

อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ เขียน
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน รวบรวม
30/11/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก