นาคเทวีตามหาพระสวามี
ฝ่ายนางสุมนาเทวีระลึกถึงว่าสามีที่รักของเราเสด็จไปนานนักหนาจนป่านนี้ยังไม่เสด็จมาที่นี่เลย ครบหนึ่งเดือนพอดี จักมีเหตุเภทภัยอะไรหนอดังนี้แล้วจึงไปตรวจดูสระโบกขรณี เห็นมีน้ำสีแดงดังโลหิตก็ทราบว่าชะรอยสามีของตนจักถูกหมองูจับเอาไป จึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวกเห็นร่องรอยที่พระมหาสัตว์ถูกหมองูจับ และทำให้ลำบาก แล้วทรงกันแสงร่ำไห้คร่ำครวญ ดำเนินไปยังปัจจันตคามสอบถามดูสดับข่าวความเป็นไปนั้นแล้วติดตามไปจนถึงเมืองพาราณสี ยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศในท่ามกลางบริษัท ณ ประตูพระราชวัง
พระมหาสัตว์กำลังฟ้อนรำถวายพระราชาเหลือบแลดูอากาศเห็นนางสุมนาเทวีแล้วละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดในกระโปรงเสีย ในเวลาที่พระมหาสัตว์เลื้อยเข้าไปสู่กระโปรงแล้ว พระราชาทรงพระดำริว่า นี่เหตุอะไรกันเล่าหนอ จึงทอดพระเนตรแลดูทางโน้นทางนี้เห็นนางสุมนาเทวียืนอยู่บนอากาศจึงตรัสว่า “ท่านเป็นใคร งามผ่องใสดุจสายฟ้า และอุปมาเหมือนดาวประจำรุ่ง เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์หรือเป็นหญิงมนุษย์”
นางสุมนาทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชา หม่อมฉันหาใช่เทพธิดาหรือคนธรรพ์หรือหญิงมนุษย์ไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญาอาศัยเหตุอย่างหนึ่ง จึงได้มาในพระนครนี้
“ดูก่อนนางนาคกัญญาท่านมีอาการเหมือนคนมีจิตฟั่นเฟือน มีอินทรีย์อันเศร้าหมองดวงเนตรของท่านไหลนองไปด้วยหยาดน้ำตา อะไรของท่านหาย หรือว่าท่านปรารถนาอะไรจึงได้มาในเมืองนี้ เชิญท่านบอกมาเถิด”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่าอุรคชาติ ผู้มีเดชอันสูงในมนุษยโลก เขาเรียกสัตว์นั้นว่านาค บุรุษคนนี้จับนาคนั้นมา เพื่อต้องการเลี้ยงชีพ นาคนั้นแหละเป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียจากที่คุมขังเถิดเพค่ะ
พระราชาสงสัยจึงตรัสถามว่า “ดูก่อนนางนาคกัญญานาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า ไฉนจึงมาถึงเงื้อมมือของชายวณิพกได้เล่า เราจะใคร่รู้ถึงการที่นาคราชถูกกระทำจนถูกจับมาได้ ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด”
นางสุมนาทูลตอบว่า “นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า พึงทำแม้นครให้เป็นภัสมธุลีไปได้ แต่เพราะนาคราชนั้น เคารพนบนอบธรรม จึงได้บากบั่นบำเพ็ญตบะ” พระราชาตรัสถามต่อไปอีกว่า “ไฉนนาคราชจึงยอมให้บุรุษนี้จับมาได้เล่า”
นางสุมนาเทวีเมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบจึงกล่าวคาถาความว่า “ข้าแต่องค์ราชันย์ นาคราชนี้มีปกติรักษาจาตุททสีอุโบสถและปัณณรสีอุโบสถ นอนอยู่ใกล้ทางสี่แพร่ง บุรุษหมองูจับนาคราชนั้นมาด้วยต้องการหาเลี้ยงชีพ นาคราชนี้เป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังเถิด”
ครั้นนางนาคกัญญาสุมนาเทวีทูลอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทูลอ้อนวอนพระราชาซ้ำอีก ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า “สนมนารีถึงหมื่นหกพันนาง ล้วนสวมใส่กุณฑล แก้วมณี บันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์ แม้สนมนารีเหล่านั้น ก็ยึดถือนาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นโดยธรรม ปราศจากกรรมอันสาหัส ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน ทองร้อยแท่ง และโคร้อยตัว ขอนาคราชผู้แสวงบุญ จงเหยียดกายได้ตรงเที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขังเถิด”
พระราชาได้สดับคาถาของนางนาคกัญญาจึงให้ปล่อยปล่อยนาคราชไป นาคราชออกมาแล้วเลื้อยเข้าไประหว่างกองดอกไม้ ละอัตภาพนั้นเสียแล้วกลายเพศเป็นมาณพน้อยตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอันงดงามคล้ายกับชำแรกดินออกมายืนอยู่ฉะนั้น นางสุมนาเทวีลอยลงมาจากอากาศ ยืนเคียงข้างพระภัสดาของตน นาคราชได้ยืนประคองอัญชลีนอบน้อมพระราชาอยู่
พญานาคเชิญพระเจ้ากาสิกราชชมเมือง
จัมเปยยนาคราชเมื่อหลุดพ้นจากที่คุมขังแล้วจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระเจ้ากาสิกราช ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงผดุงกาสิกรัฐให้รุ่งเรือง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอประคองอัญชลี แด่พระองค์ ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์ของข้าพระพุทธเจ้าเถิดพระเจ้าข้า
พระราชาตรัสตอบว่า ดูก่อนนาคราช แท้จริงคนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคยกับอมนุษย์ว่าพึงคุ้นเคยกันได้ยาก ถ้าท่านขอร้องเราถึงเรื่องนั้น เราก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน
พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบาน เพื่อให้พระราชาทรงเชื่อถือ ได้ตรัสพระคาถาว่า “ข้าแต่พระราชา แม้ถึงว่าลมจะพึงพัดภูเขาไปได้ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี ถึงกระนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย ข้าแต่พระราชา ท้องฟ้าจะทำลายไป ทะเลจะเหือดแห้งไป มหาปฐพีมีนามว่าภูตธราและพสุนธราจะพึงม้วนได้ เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลาจะพึงถอนไปทั้งราก ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย”
เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาก็มิได้ทรงเชื่อ จึงตรัสพระคาถาอีกว่า“เธอเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่ง มีเดชมาก ทั้งโกรธง่าย เธอหลุดพ้นจากที่คุมขังไปได้ ก็เพราะเหตุที่เราช่วยเหลือ เธอควรจะรู้บุญคุณที่เราทำไว้แก่เธอ
พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบานเพื่อให้พระราชาทรงเชื่อต่อไป จึงกล่าวคาถา ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าถูกคุมขังอยู่ในกระโปรงเกือบจะถึงความตาย จักไม่รู้จักอุปการคุณที่พระองค์ทรงกระทำแล้วเช่นนั้น ก็ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงหมกไหม้อยู่ในนรกอันแสนร้ายกาจ อย่าได้รับความสำราญกายสักหน่อยหนึ่งเลย
พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระมหาสัตว์ เมื่อจะทรงชมเชยจึงตรัสพระคาถาว่า “คำปฏิญาณของเธอนั้น จงเป็นคำสัตย์จริง เธออย่าได้มีความโกรธ อย่าผูกโกรธไว้ ขอสุบรรณทั้งหลายจงละเว้นนาคสกุลของท่านทั้งมวล เหมือนผู้เว้นไฟในฤดูร้อนฉะนั้น
แม้พระมหาสัตว์เจ้า เมื่อจะชมเชยพระราชาจึงกล่าวคาถาอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ทรงเอ็นดูนาคสกุล เหมือนมารดาผู้เอ็นดูบุตรคนเดียวผู้เป็นสุดที่รักฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับ นาคสกุลจะขอกระทำเวยยาวฏิกกรรม อย่างโอฬารแด่พระองค์
พระราชาเสด็จนาคพิภพ
พระราชาได้เสด็จไปยังภพพญานาคด้วยขบวนเสด็จใหญ่ พนักงานเภรี ตะโพน บัณเฑาะว์ และแตรสังข์ ของพระเจ้าอุคคเสนราช มาพร้อมหน้ากัน พระราชาทรงแวดล้อมด้วยสนมนารีเสด็จไปในท่ามกลางหมู่สนมนารีงามสง่ายิ่งนัก
ในกาลเมื่อพระเจ้าพาราณสี เสด็จออกจากพระนครไป พระมหาสัตว์เจ้าทรงบันดาลนาคพิภพให้ปรากฏมีกำแพงแก้ว 7 ประการ และประตูป้อมคู หอรบแล้วนิรมิตบรรดาที่จะเสด็จไปยังนาคพิภพ ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับงดงาม ด้วยอานุภาพของตน พระราชาพร้อมด้วยราชบริพารเสด็จเข้าไปยังนาคพิภพโดยมรรคานั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคและปราสาทราชวัง น่ารื่นเริง บันเทิงพระทัย
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่าพระเจ้ากรุงกาสีวัฒนราช ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคอันงาม วิจิตรลาดแล้วด้วยทรายทอง ทั้งสุวรรณปราสาทก็ปูลาดไปด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์ พระองค์เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ ของจัมเปยยนาคราชมีรัศมี อภาสดังแสงอาทิตย์แรกอุทัยรุ่งเรืองไปด้วยรัศมีประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ
พระเจ้ากาสิกราชทรงทอดพระเนตรจนทั่วนิเวศน์ของจัมเปยยนาคราชอันดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด หอมฟุ้งขจรไปด้วยทิพยสุคนธ์อบอวลล้วนวิเศษ
เมื่อพระเจ้ากาสิกราช เสด็จเข้าไปในนิเวศน์ของท้าวจัมเปยยนาคราช เหล่าทิพยดนตรี ก็ประโคมขับบรรเลง ทั้งนางนาคกัญญาทั้งหลายก็ฟ้อนรำ ขับร้อง
พระเจ้ากาสิกราชเสด็จขึ้นนิเวศน์ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ ทรงพอพระทัย ประทับนั่ง ณ พระสุวรรณแท่นทองอันมีพนักไล้ทาด้วยแก่นจันทน์ทิพย์
มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพ
พระราชาได้เห็นบ้านเมืองอันสวยงามของพญานาคจึงสอบถามและได้คำตอบจากจัมเปยยนาคราช ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรมเพราะเหตุแห่งบุตร ทรัพย์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่ แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้า ปรารถนากำเนิดมนุษย์ ฉะนั้น จึงได้บากบั่นมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม
เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาเมื่อจะทรงทำการชมเชย จึงตรัสพระคาถาว่า “ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีส่องแสงสว่าง ประดับตกแต่งแล้ว ปลงเกศาและมัสสุแล้ว ประพรมด้วยจุรณจันทน์แดง ฉายแสงไปทั่วทิศ ดังคนธรรพราชฉะนั้น ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เพรียบพร้อมไปด้วยสรรพกามารมณ์ ดูก่อนท่านนาคราช เราขอถามเนื้อความนี้กะท่าน มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุไร
พระยานาคราช เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน เว้นมนุษยโลกเสียแล้วความบริสุทธิ์หรือความสำรวมย่อมไม่มีเลย ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรมด้วยตั้งใจว่าเราได้กำเนิดมนุษย์แล้วจักทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้”
พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสพระคาถาความว่า ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ดูก่อนพระยานาคราช เราได้เห็นนางนาคกัญญาทั้งหลายของท่านและตัวท่านแล้ว จักทำบุญให้มาก
พญานาคราชกราบทูลพระราชาว่า ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ข้าแต่พระมหาราชาพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคกัญญา และตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด
ครั้นพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอุคคเสนะ ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลกจึงตรัสอำลาว่าดูก่อนท่านนาคราชเรามาอยู่ก็เป็นเวลานาน จำจักต้องลากลับไปยังมนุษยโลก
พระมหาสัตว์เจ้าจึงทูลท้าวเธอว่าขอเดชะพระมหาราชเจ้าถ้าเช่นนั้นพระองค์โปรดเลือกถือเอาทรัพย์สมบัติไปตามพระประสงค์เถิด เมื่อจะทรงแสดงทรัพย์สมบัติ จึงกราบทูลว่ากองเงินและกองทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มากมาย สูงประมาณเท่าต้นตาล พระองค์จงตรัสสั่งให้พวกราชบุรุษนี้ไปจากนาคพิภพนี้แล้วจงตรัสสั่งให้สร้างพระราชวังด้วยทองคำ ให้สร้างกำแพงด้วยเงินเถิด นี้กองแก้วมุกดาอันเจือปนด้วยแก้วไพฑูรย์ ห้าพันเล่มเกวียน พระองค์จงตรัสสั่งให้ราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้แล้วให้ลาดลง ณ ภูมิภาคภายในพระราชฐาน ภูมิภาคภายในพระราชฐานก็จักสะอาดปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นราชาอันประเสริฐผู้ทรงพระปรีชาอันล้ำเลิศขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติครอบครองพระนครพาราณสี อันมั่งคั่งสมบูรณ์ สง่างามล้ำเลิศ ดุจทิพยวิมานเห็นปานฉะนี้เถิด พระเจ้าข้า
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์แล้วก็ทรงรับไว้ พระมหาสัตว์จึงให้พนักงานเภรี เที่ยวตีกลองประกาศว่า ราชบุรุษทั้งปวงจงพากันขนเอาทรัพย์สมบัติ มีเงินทองเป็นต้นไปตามปรารถนาเถิดแล้วเอาเกวียนหลายร้อยเล่มบรรทุกทรัพย์สมบัติส่งถวายพระราชา
พระราชาเสด็จออกจากนาคพิภพ กลับไปสู่พระนครพาราณสี ด้วยยศบริวารเป็นอันมาก เล่ากันว่านับแต่นั้นมา พื้นชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น
พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า “โปราณกบัณฑิตทั้งหลายละนาคสมบัติแล้ว อยู่รักษาอุโบสถศีลด้วยอาการอย่างนี้”
จากนั้นทรงประชุมชาดกว่า “หมองูในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นางนาคกัญญาสุมนาเทวี ได้มาเป็นราหุลมารดา พระเจ้าอุคคเสนราชได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนจัมเปยยนาคราชได้มาเป็นเราผู้ตถาคตฉะนี้แล”
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1 - หน้าที่ 76 นอกจากจัมเปยยนาคราชแล้ว ยังมีการบำเพ็ญบารมีของพญานาคอีกหลายเรื่องคือในการบำเพ็ญศีลบารมี เมื่อครั้งเป็นสีลวนาคราช ในกาลที่เป็นภูริทัตตนาคราช ในกาลที่เป็นฉัททันตนาคราช
ในคัมภีร์รุ่นหลังก็กล่าวถึงพญานาคมากมายเช่นในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค ซึ่งตามความเชื่อ การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริง ๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์ คนไทยเรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่าง ๆ หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์คันทวยรูปพญานาค
พญานาคกับพระพุทธศาสนาจึงมีความเกี่ยวพันกันตลอด แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังเคยเกิดเป็นพยานาคเพื่อบำเพ็ญบารมีในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในวันออกพรรษาคงมิใช่แต่พยานาคเท่านั้นที่ถวายสักการะบุชาพระพุทธเจ้า เหล่าเทพยดาอื่นๆก็ทำการบูชาด้วย โลกนี้มนุษย์จึงมิได้อยู่เพียงลำพังยังมีหมู่สัตว์อื่นๆอีกมากแต่เรามองไม่เห็นเพราะยังไม่มีญาณแก่กล้า
หากเชื่อตามพระไตรปิฎกพญานาคมีอยู่จริงและมีปรากฎหลายแห่ง แต่พญานาคจะมาทำบั้งไฟถวายพระพุทธเจ้าในวันออกพรรษาจริงหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอยู่เหมือนเดิม หลายปีมาแล้วมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งบอกไว้น่าคิดว่า “จงเชื่อในสิ่งที่ทำ และทำในสิ่งที่เชื่อ” ถ้าหากความเชื่อนั้นไม่เป็นการเบียดเบียนตนและผู้อื่น
อย่างไรก็ตามในวันออกพรรษาปีนี้ จะยังคงมีดวงไฟสีเขียวเรืองพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงให้เห็นเหมือนทุกปีหรือไม่ต้องรอดู หน้าที่ของวิทยาศาสตร์ก็ต้องทำการพิสูจน์หาความจริงกันต่อไป แต่ศาสนาเมื่อปลูกฝังความเชื่อและปฏิบัติตามหลักศีลธรรมคือการบูชาบุคคลที่ควรบูชาถือว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่ง ดังนั้นการที่ชาวบ้านเชื่อว่าพญานาคจะจุดบั้งไฟถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้าย่อมไม่ใช่ความเชื่อที่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว เพราะพญานาคมีปรากฏในหลักฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา และมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายแห่ง แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อยังบำเพ็ญบารมีก็ยังเคยถือกำเนิดเป็นพญานาค หากนาคมีอยู่จริงพวกเขาก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกับพวกเราชาวมนุษย์เหมือนกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม/เรียบเรียง
แก้ไขปรับปรุง 23/10/53