หากกล่าวถึงนักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย คนส่วนมากมักจะรู้จักชื่อของมหาตม คานธี ผู้ที่ต่อสู้ด้วยแนวทางที่เรียกว่าอหิงสา แต่นักต่อสู้ที่เพื่อเรียกร้องเอกราชท่านหนึ่งที่ชาวอินเดียยกย่องคือดร.บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย นอกจากจะเป็นผู้ร่างกฏหมายที่สำคัญของอินเดียหลายฉบับแล้ว เกียรติภูมิอย่างหนึ่งที่มีคนกล่าวถึงมากคือท่านผู้นี้เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการนำเอาพระพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดีย และปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนพร้อมด้วยชาวอินเดียอีกจำนนวนมาก จนได้รับการเรียขานว่าชาวพุทธใหม่ในอินเดีย
หลังจากที่อนาคาริกธัมมปาละ ชาวศรีลังกาเสียชีวิตในปีพุทธศักราช 2476 นั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียเริ่มที่จะมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่มาตุภูมิแล้ว มีพระภิกษุจากหลายประเทศได้นำเอาพระพุทธศาสนาที่ตนนับถือจากประเทศของตนเข้าสู่อินเดีย คือเป็นนำเอาสิ่งที่สูญหายไปกลับมายังบ้านเกิด จึงเป็นเหมือนกับการกลับบ้านเกิดของผู้ที่เดินทางไกล นั่นคือพระพุทธศาสนาจึงเป็นเสมือนญาติผู้ที่เดินทางกลับบ้าน แต่การกลับบ้านเกิดครั้งนี้ย่อมนำเอาวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศที่ตนเคยพักพาอาศัยอยู่กลับมาด้วย จนบางครั้งเจ้าของบ้านคือคนอินเดียเองยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนานั้นคือพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสรู้จริงหรือไม่ เพระเท่าที่เห็นและป็นอยู่
พระภิกษุที่เข้ามายังอินเดียในยุคนี้มีอะไรที่แตกต่างกันมากทั้งการแต่งตัว การปฏิบัติ ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมซึ่งแต่ละนิกายไม่เหมือนกันจนคนอินเดียเองตั้งประเด็นปัญหาว่านี่คือพระพุทธศาสนาจริงๆหรืออย่างไร
คำถามนี้แพร่กระจายจากชนทุกชั้น ไม่เว้นแม้แต่ดร.บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ และดร. ราเชนทร์ ประสาท คณะกรรมการผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติของอินเดีย เมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปีพุทธศักราช 2490 อินเดียได้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่ความเป็นเอกภาพของอินเดียซึ่งมีระบบการปกครองเป็นรัฐ แต่ละรัฐต่างก็มีอำนาจในการบริหาร และที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือระบบกษัตริย์ที่ยังคงมีอิทธิพลต่อการปกครองคือมหาราชาในแต่ละรัฐของอินเดียยังคงมีอิทธิพล อีกอย่างหนึ่งระบบวรรณะที่ยากจะทำให้หมดไปจากอินเดีย
ความหลากหลายของศาสนาที่ยากจะรวมเป็นเอกภาพได้ จะทำอย่างไรให้แต่ละศาสนาประสานสอดคล้องอย่างกลมกลืน และศาสนาใดจะเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นปัญหาที่คณะกรรมการต้องทำงานอย่างหนัก ที่สำคัญอย่างหนึ่งจะเอาอะไรมาเป็นตราประจำชาติ และธงชาติของอินเดีย
ในที่สุดอินเดียก็ได้นำเอากงล้อธรรมจักรและสิงห์สี่เศียรบนเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช มาเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของอินเดีย โดยไม่มีศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ ทุกคนมีอิสระเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามความศรัทธา รัฐธรรมนูญของอินเดียเริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 ในปีเดียวกันนั้นเองสารีริกธาตุของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ หลังจากที่อังกฤษได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่อังกฤษตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2393 เป็นเวลายาวนานถึง 99 ปีที่สารีริกธาตุของสองอัครมหาสาวกได้ไปสถิตย์อยู่ในอังกฤษ คณะรัฐบาลของรัฐพิหารได้จัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ และคณะรัฐบาลรัฐพิหารยังได้ออกพระราชบัญญัติเพื่อการบริหารวัดพุทธคยา ในรูปของคณะกรรมการซึ่งมีอยู่ 8 คน ประกอบด้วยชาวพุทธ 4 ท่านและฮินดูอีก 4 ท่าน
ในปีพุทธศักราช 2500 (ประเทศไทยเป็นพุทธศักราช 2499) รัฐบาลอินเดียได้จัดงานพุทธชยันตีขึ้นโดยมี ดร. เอส. ราธกฤษณัน รองประธานาธิบดีอินเดียเป็นประธานจัดงาน ในงานนี้ได้กระทำติดต่อกันเป็นเวลายาวนานติดต่อกันถึง 1ปีเต็ม มีกำหนดการโดยสรุปดังนี้
- วันที่ 23 พฤษภาคม 2500 พิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำที่นิวเดลี เมืองหลวง โดยยวาหลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดีย
- วันที่ 24 พฤษภาคม 2500 จัดประชุมสาธารณชน โดย ดร. ราเชนทร์ ประสาท ประธานาธิบดีอินเดียเป็นประธาน
- วันที่ 3 พฤศจิกายน 2500 เปิดแสดงนิทรรศการทางพุทธศาสนา โดยตัวแทนชาวพุทธจากทั่วโลก
- วันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2500 จัดประชุมสัมมนาทางพระพุทธศาสนา
ในส่วนของสิ่งตีพิมพ์ได้จัดพิมพ์หนังสือสรุปได้ดังนี้(1) หนังสือพระพุทธศาสนา 2500 ปี (2) ภาพอนุสรณสถานที่สำคัญๆของพระพุทธศาสนา (3) จารึกบนแผ่นหินของพระเจ้าอโศก(4) พระไตรปิฎกฉบับภาษาเทวนาครี (5) ภาพปฏิมากรรม,ภาพพิมพ์ และยังจัดทำภาพยนตร์สารคดีทางพุทธประวัติอีกด้วย
สาส์นแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีอินเดีย ดร.ราเชนทร์ ประสาท มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในวาระโอกาสที่เป็นศุภมงคลสมัยแห่งการครบรอบ 2,500 ปีของพระพุทธศาสนา….หมู่ประชาชนได้รับรู้การกระทำทุกรกริยาเพื่อค้นหาสัจจธรรม พระองค์ทรงมีขันติธรรมเพื่อความสันติสุขของสรรพสัตว์ นับเป็นการย้อนรำลึกถึงประสบการณ์แห่งสันติสุขเพื่อสร้างสันติธรรมต่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง” ยวาหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำปราศัยในพิธีต้อนรับสารีริกธาตุของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามองเห็นลึกลงไปในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นเครื่องชี้นำทางไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรือง ภาระกิจนี้นับเป็นส่วนสำคัญของชีวิต… สาระที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างวัดที่มีจิตวิญญาณขึ้นภายในหัวใจของทุกคน ประดิษฐานไว้เพื่อสักการะบูชาเพื่อรำลึกถึงความทรงจำในอดีต และเป็นเครื่องนำทางในโลกที่สับสน” ในส่วนลึกแห่งจิตวิญญาณของเนห์รู คงอยากให้พระพุทธศาสนาเป็นผู้นำทางวิญญาณของชาวอินเดีย ถึงกลับแนะนำให้สร้างวัดขึ้นภายในจิตวิญญาณเพื่อสักการะบูชา
ช่วงเวลาในการเฉลิมฉลองพุทธชยันตีอันยาวนานตลอดปี ได้มีหน่วยงานทางศาสนาและวัฒนธรรมจากทั่วโลกเข้าร่วม หนังสือพิมพ์และวารสารทุกฉบับในประเทศอินเดียได้เพิ่มหน้ากระดาษเพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยการนำเสนอประวัติหลักคำสอนของพระองค์ สถานีวิทยุทั่วประเทศได้ออกอากาศบทสนทนาธรรมและการแสดงธรรมเทศนาทางพระพุทธศาสนาตลอดปี
เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกว่าอินเดียมักจะทำอะไรแปลกและพิศดารเสมอ ดังนั้นการจัดงานพุทธชยันตีในครั้งนี้น่าจะได้รับการบันทึกในกินเนสบุคว่าเป็นการจัดงานเฉลิมฉลองที่ยาวนานที่สุดในโลก ที่สำคัญในวันที่ 14 ตุลาคม 2500 ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะยึดถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต และมีประชาชนชาวอินเดียปฏิบัติตามอีกประมาณ 5 แสนคน พิธีนี้ได้กระทำที่เมืองโครักปูร์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกุสินาคาร์ (กุสินารา) สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 55 กิโลเมตร หลังจากที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วต่อมาก็มีชาวอินเดียได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
มีชาวพุทธดั้งเดิมทั่วประเทศอินเดียที่บรรพบุรุษเคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน ได้รวมตัวกันเพื่อปฏิญาณว่าคือชาวพุทธที่แท้จริงโดยตั้งเป็นสกุลชื่อ “บาร์รัว” ดังนั้นนามสกุลบาร์รัวคือชาวพุทธดั้งเดิม ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด แต่เท่าที่ผู้เขียนเคยได้พบกับกับคนในสกุลนี้ที่เมืองจันทิการ์ รัฐปัญจาบ ซึ่งสกุลบาร์รัวร่วมกับ ดร.พระอาจารย์เดช กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม กรุงเทพ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นที่กุดารอาริเช่ ข้างบริเวณเชิงเขา ตั้งชื่อว่าวัดอโศกพุทธวิหาร โดยบริหารในรูปของคณะกรรมการ ผู้บริหารส่วนมากมีนามสกุลบาร์รัวแทบทั้งนั้น ทั้งๆที่บางคนไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ถือเอาตามนามสกุลและยอมรับว่าเป็นพุทธศาสนิกชน
ปัจจุบันวัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนทุกวันอาทิตย์จะมาร่วมชุมนุมกัน มีการบรรยายธรรมะกลางบริเวณสนามหญ้าจากพระภิกษุหรือฆราวาสผู้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนา ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และร่วมรับประทานอาหารคล้ายๆกับสังคมชาวพุทธในประเทศไทย แต่ที่แตกต่างกันคือทุกคนจะมากันทั้งครอบครัวมาตั้งแต่เช้าพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และทยอยกันกลับเมื่อเวลาเย็น ดังนั้นบริเวณวัดที่มีเนื้อประมาณ 5 ไร่ จึงเต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย เด็กๆวิ่งเล่น หรือบางครั้งก็เล่นกีฬาตามแต่จะมีอุปกรณ์เท่าที่จะหาได้
คนหนุ่มสาวและคนวัยกลางคน ช่วยกันทำงานในบริเวณวัดเช่นปรับพื้นที่ ก่อกำแพง ทำความสะอาดบริเวณวัดและบริเวณใกล้เคียง ฯลฯ ส่วนคนสูงอายุก็นั่งสนทนาธรรมกันเป็นกลุ่มๆ พระภิกษุนั่งในวิหารสนทนาธรรมกับผู้ที่มีความสงสัย
ในช่วงที่ผู้เขียนแวะไปเยี่ยมวัดอโศกพุทธวิหารนั้นมีพระสงฆ์อยู่ 2 รูป เป็นพระไทยคือพระมหาชัยณรงค์ ศรีมันตระ กำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปัญจาบจันทิการ์ และพระภิกษุชาวอินเดียแต่อุปสมบทที่พม่ารูปหนึ่งอยู่ประจำ ดังนั้นการสนทนาส่วนมากจึงเป็นภาษาฮินดี เพราะสื่อกันได้ง่าย แทนที่จะสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ท่านอาจารย์ชัยณรงค์เล่าให้ฟังว่า “การบริหารทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการ พระสงฆ์มีหน้าที่เพียงแต่อยู่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์ในการบริหารแต่อย่างใด วัดนี้เป็นวัดของอินเดีย ไม่ใช่วัดไทย เพียงแต่อาศัยรูปแบบมาจากวัดไทย ดังนั้นเราจะอยู่หรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ คณะกรรมการเขามีสิทธิ์พิจารณาจะให้พระอยู่หรือไปก็ได้ ผมอยู่นี้มา 3 ปีแล้ว เห็นคณะกรรมการนิมนต์พระภิกษุชาวอินเดียออกจากวัดมาหลายรูป ส่วนพระไทยเขาจะให้เกียรติเป็นพิเศษ ที่สำคัญคือเราไม่ได้อาศัยเงินและอาหารจากเขา ผิดกับพระชาวอินเดียทางคณะกรรมการต้องถวายนิตยภัตต์เป็นรายเดือนทั้งค่าอาหาร และเครื่องใช้สอยอื่นๆ”
เมื่อถามถึงวิถีแห่งศรัทธาและการปฏิบัติของชาวพุทธที่นี่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า “ก็อย่างที่ท่านมหาเห็นนี่แหละ พวกเขาจะมาชุมนุมกันทุกวันอาทิตย์ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาส ถ้าอยู่รูปเดียวผมก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องคอยต้อนรับ คอยอธิบายธรรมะ แต่พอมีพระอินเดียมาอยู่ด้วยก็แบ่งเบาภาระไปมาก อาทิตย์หนึ่งมีครั้งเดียว จึงพออดพอทนได้”
เมื่อถามถึงกิจนิมนต์ท่านบอกว่ามีอยู่เรื่อยๆ โชคดีที่วันรุ่งขึ้นมีงานนิมนต์ครบรอบวันเสียชีวิตของอดีตนายากสมาคมชาวพุทธคนก่อน ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้สัมผัสกับพิธีทำบุญในครั้งนี้ด้วย เมื่อถึงเวลาเจ้าภาพจะนำรถมารับ ไปถึงบ้านพิธีกรนำไหว้พระ รับศีล และถวายอาหาร เมื่อพระฉันเสร็จจึงมีพิธีสวดมนต์ ซึ่งวันนั้นเริ่มต้นด้วยนโม…กรณียเมตสูตร, พาหุงและชยันโต สัพพีและจบด้วยภวตุ สัพพมังคลัง….ฯ ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็เสร็จพิธี ท่านมหาชัยณรงค์เล่าให้ฟังว่าพิธีกรรมขึ้นอยู่กับเรา ดังนั้นวันนั้นจึงออกกลิ่นไอของสังคมไทยไปโดยปริยาย และมีการถวายปัจจัยมากเป็นพิเศษรูปละ 500 รูปี ท่านมหาชัยณรงค์บอกว่า “ตั้งแต่ผมอยู่ที่ก็มีครั้งนี้ครั้งแรกที่ถวายปัจจัยมากที่สุด ส่วนมากจะถวายแค่ 100 รูปีหรือ 200 รูปีเท่านั้น”
ในส่วนของ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ที่จันทิการ์ รัฐปัญจาบ แม้จะเป็นเมืองที่ประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาซิกซ์ แต่สมาคม ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ก็ได้สร้างวัดขึ้น โดยใช้ชื่อว่าเอ็มเบ็ดการ์วิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ แวดล้อมไปด้วยวัดฮินดู วัดซิกซ์ วัดอิสลาม ปัจจุบัน(2544) มีสามเณรแก่รูปหนึ่งเฝ้าดูแลรักษาวิหารแห่งนี้ ความจริงคือสามเณรอายุมากแล้วประมาณ 60 ปี แต่แขนขาพิการบางส่วน จึงบรรพชาเป็นสามเณร วันหนึ่งสมาคมชาวพุทธเอ็มเบ็ดการ์ได้จัดงานและได้นิมนต์พระสงฆ์ไปร่วมพิธี ท่านมหาชัยณรงค์ติดภารกิจ ผู้เขียนจึงเป็นพระภิกษุรูปเดียวที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เมื่อไปถึงบริเวณงานที่จัดขึ้นในห้องโถงใหญ่ มีชาวพุทธเข้าร่วมงานประมาณ 100 คน มีโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธรูปและรูปของ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยการสมาทานศีล ถวายอาหาร
หลังเสร็จจากการฉันอาหาร ก็จะมีการอภิปราย สนทนาธรรมภายในห้องโถงนั่นเอง พวกเขาจะสนทนากันเอง คุยกันเอง โดยผู้เขียนเป็นคนนั่งฟังแต่ฟังไม่รู้เรื่อง มีโยมคนหนึ่งพยายามสอบถามถึงพระพุทธศาสนาในเมืองไทย และคำถามที่สำคัญอย่างหนึ่งคือหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาคืออะไร ผู้เขียนตอบว่า “นิพพาน”
เมื่อเขาถามว่ามีวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะไปถึงนิพพานไหม และจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม ผู้เขียนจึงหาทางออกโดยบอกว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น มีอยู่ในหนังสือ “พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์ ที่ดร. เอ็มเบ็ดการ์ เขียนไว้ ในวันที่เป็นวันที่ระลึกถึงดร. เอ็มเบ็ดการ์ จึงสมควรที่จะนำหนังสือของท่านมาอ่านสู่กันฟัง เราจะได้ประโยชน์สองประการคือได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า และได้ระลึก ดร. เอ็มเบ็ดการ์ไปพร้อมๆกัน” เมื่อทุกคนเห็นด้วยผู้เขียนจึงต้องใช้ขันติธรรมนั่งฟังภาษาฮินดีที่ไม่รู้เรื่องเป็นเวลายาวนานถึง 2 ชั่วโมงเต็ม
เมื่อศึกษาจากตำราภายหลังจึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าชาวพุทธในอินเดียมีถึงสามกลุ่มคือ(1) กลุ่มที่เป็นชาวพุทธดั้งเดิมได้แก่ตระกูลบาร์รัว เป็นกลุ่มชาวพุทธที่มีการรวมตัวกันแน่นแฟ้นที่สุด และเข้าใจธรรมปฏิบัติและพธีกรรมของพระพุทธศาสนาดีที่สุด แต่มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของอินเดีย สกุลบาร์รัวส่วนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศบังคลาเทศ (2) ชาวพุทธที่เปลี่ยนศาสนาใหม่ตามดร. บี อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ส่วนมากมักมาวรรณะศูทรและจัณทาล จึงไม่ค่อยมีอิทธิพลมากนัก มาโนช ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ผู้เขียนพบปะสนทนาด้วยที่เมืองเดลี บอกกับผู้เขียนว่า “พ่อแม่ผมเป็นชาวพุทธที่เปลี่ยนศาสนาพร้อมกับ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ย้ายมาจากเมืองนาคปูร์ แต่ท่านก็ยังกราบไหว้หมุมาณ,พระศิวะและเจ้าแม่ทุรคาอยู่ ตัวผมเองก็ไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติอย่างไร
คำสอนที่พ่อแม่ผมสอนคือการมีเมตตากรุณา ผมเห็นพระภิกษุจากศรีลังกา,พม่า,ธิเบต,จีน,เวียตนามและประเทศไทย แต่ทำไมจึงปฏิบัติแตกต่างกันมาก และผมเองก็ไม่ค่อยจะเข้าใจว่าหลักคำสอนจริงๆคืออะไร ปัจจุบันผมกำลังศึกษาศาสนาคริสต์ ซึ่งผมได้ประโยชน์มากเพราะได้เรียนภาษาอังกฤษฟรี ผมกำลังจะเปลียนไปนับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลุ่มพวกผมเป็นคนหนุ่มมีประมาณ 40 คน เวลาเรียนต้องแอบเรียนเพราะกลัวพ่อแม่รู้”
เมื่อผู้เขียนอธิบายจุดมุ่งหมายที่สูงสุดของพระพุทธศาสนาคือนิพพานให้ฟัง มาโนชกลับตอบว่า “ผมยังอยากกลับมาเกิดอีก ถ้าเป็นไปได้อยากเกิดในวรรณะพราหมณ์ จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ ปัจจุบันพวกผมเหมือนคนชั้นต่ำในสังคม”มาโนชและเพื่อนๆ มีบ้านพักอยู่ชานเมืองเดลี ริมฝั่งแม่น้ำยุมนา เป็นที่พักย่านคนจน ผู้เขียนเคยแวะไปเยี่ยมพ่อแม่ของมาโนช
เมื่อเห็นว่าผู้เขียนเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พวกเขาต้อนรับอย่างดีจัดหาน้ำชา ภาษาฮินดีเรียกว่าไจ (เป็นชาผสมนม) ออกมาต้อนรับและแสดงความเคารพด้วยความนอบน้อมและอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง และพยายามถามถึงหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา โดยมีมาโนชเป็นล่าม ผู้เขียนจึงอธิบายทาน ศีล ภาวนาให้ฟัง เมื่ออธิบายจบพวกเขารำพึงเบาๆ ว่า “ศีลและภาวนาพอปฏิบัติได้ แต่ทานคงทำได้ยากเพราะพวกฉันก็ไม่ค่อยจะมีกินเหมือนกัน” (3) ชาวพุทธใหม่ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาจากประเทศอื่นเช่นศรีลังกา ธิเบต ไทย เป็นต้น ส่วนมากจะอุปสมบทตามพุทธศาสนาแบบศรีลังกาและพม่า ส่วนที่อุปสมบทตามแบบไทยมีน้อยมาก
พระภิกษุชาวอินเดียท่านหนึ่งมาจากรัฐอัสสัมชื่อ ชโยติ อภโยภิกขุ ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดลีบอกผู้เขียนว่า “ผมเป็นคนไท บรรพบุรุษผมเป็นคนไท ผมจึงเป็นคนอินเดียเชื้อชาติไท อุปสมบทตามนิกายแบบไทย ซึ่งถอดแบบมาจากวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพ การปฏิบัติทุกอย่างยึดถือตามปฏิปทาของพระไทยทั้งหมด ดังนั้นที่รัฐอัสสัมจึงมีพระภิกษุจากนิกายมหานิกายของไทย ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 รูป
พระพุทธศาสนาแบบไทยคงเจริญในอินเดียยาก เพราะหลักวินัยเคร่งครัดเกินไป ไม่เหมาะกับสังคมอินเดีย ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อบวชนานๆจนกลายเป็นพระเถระมักจะถูกฮินดูซื้อตัวโดยให้รับราชการในตำแหน่งที่สำคัญๆ ดังนั้นพระเถระส่วนมากในอัสสัมจึงลาสิกขาไปรับราชการเป็นส่วนมาก แม้แต่ผมเองก็ได้รับการทาบทามให้ทำงานในตำแหน่งที่สำคัญเหมือนกัน แต่ผมยังเรียนไม่จบและยังรักพุทธศาสนา คิดว่าจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันผมก็เป็นเลขานุการของสมาคมหนุ่มสาวชาวพุทธในอัสสัมอยู่ เรียนจบเมื่อไรค่อยคิดอีกที” ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าท่านจะอยู่ในศาสนาต่อได้อีกนานเท่าใด การบวชแล้วลาสิกขาได้ของพระไทย อาจจะเหมาะกับสังคมไทย แต่ไม่เหมาะกับสังคมอินเดีย เพราะชาวอินเดียถือว่าผู้ที่บวชแล้วไม่ควรลาสิกขา เหมือนพระพม่าและพระศรีลังกา ส่วนประเด็นที่ท่านอภโยบอกว่าบรรพบุรุษของท่านเป็นคนไทนั้นน่าคิด เพราะถ้าหากท่านพูดภาษาไทย ทุกคนต้องคิดว่าท่านเป็นคนไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่ผู้เขียนเองคนอินเดียยังคิดว่าเป็นคนอัสสัมหรือนาคแลนด์
การกลับมาของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2434 โดยการฟื้นฟูของอนาคาริกธรรมปาละ และการตื่นตัวของชาวพุทธใหม่โดยการนำของ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ในปีพุทธศักราช 2500 ยังไม่อาจจะเชื่อได้ว่าพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในสังคมอินเดียอย่างถาวรแล้ว เพราะการกลับมาครั้งนี้เป็นการกลับมาที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ
พระภิกษุที่เข้ามาในอินเดียมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นพระธิเบต,พระจีน,พระเวียตนาม,เกาหลีเป็นต้น ซึ่งเป็นนิกายฝ่ายมหายาน และพระศรีลังกา,พระไทย,พระพม่า ซึ่งเป็นนิกายฝ่ายเถรวาท ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนพระอินเดียยังไม่แน่ใจว่านิกายฝ่ายไหนที่เหมาะกับอินเดีย เพราะชาวอินเดียเองบวชทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท ดังนั้นในพระพุทธศาสนาในอินเดียปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยความเหมือนที่แตกต่าง คือเป็นพระพุทธศาสนาเหมือนกันแต่มีหลายนิกายนั่นเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/09/53
ภาพประกอบ ผศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม