เมื่อถามถึงวิถีแห่งศรัทธาและการปฏิบัติของชาวพุทธที่นี่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า “ก็อย่างที่ท่านมหาเห็นนี่แหละ พวกเขาจะมาชุมนุมกันทุกวันอาทิตย์ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาส ถ้าอยู่รูปเดียวผมก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องคอยต้อนรับ คอยอธิบายธรรมะ แต่พอมีพระอินเดียมาอยู่ด้วยก็แบ่งเบาภาระไปมาก อาทิตย์หนึ่งมีครั้งเดียว จึงพออดพอทนได้”
เมื่อถามถึงกิจนิมนต์ท่านบอกว่ามีอยู่เรื่อยๆ โชคดีที่วันรุ่งขึ้นมีงานนิมนต์ครบรอบวันเสียชีวิตของอดีตนายากสมาคมชาวพุทธคนก่อน ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้สัมผัสกับพิธีทำบุญในครั้งนี้ด้วย เมื่อถึงเวลาเจ้าภาพจะนำรถมารับ ไปถึงบ้านพิธีกรนำไหว้พระ รับศีล และถวายอาหาร เมื่อพระฉันเสร็จจึงมีพิธีสวดมนต์ ซึ่งวันนั้นเริ่มต้นด้วยนโม…กรณียเมตสูตร, พาหุงและชยันโต สัพพีและจบด้วยภวตุ สัพพมังคลัง….ฯ ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็เสร็จพิธี ท่านมหาชัยณรงค์เล่าให้ฟังว่าพิธีกรรมขึ้นอยู่กับเรา ดังนั้นวันนั้นจึงออกกลิ่นไอของสังคมไทยไปโดยปริยาย และมีการถวายปัจจัยมากเป็นพิเศษรูปละ 500 รูปี ท่านมหาชัยณรงค์บอกว่า “ตั้งแต่ผมอยู่ที่ก็มีครั้งนี้ครั้งแรกที่ถวายปัจจัยมากที่สุด ส่วนมากจะถวายแค่ 100 รูปีหรือ 200 รูปีเท่านั้น”
ในส่วนของ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ที่จันทิการ์ รัฐปัญจาบ แม้จะเป็นเมืองที่ประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาซิกซ์ แต่สมาคม ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ก็ได้สร้างวัดขึ้น โดยใช้ชื่อว่าเอ็มเบ็ดการ์วิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ แวดล้อมไปด้วยวัดฮินดู วัดซิกซ์ วัดอิสลาม ปัจจุบัน(2544) มีสามเณรแก่รูปหนึ่งเฝ้าดูแลรักษาวิหารแห่งนี้ ความจริงคือสามเณรอายุมากแล้วประมาณ 60 ปี แต่แขนขาพิการบางส่วน จึงบรรพชาเป็นสามเณร วันหนึ่งสมาคมชาวพุทธเอ็มเบ็ดการ์ได้จัดงานและได้นิมนต์พระสงฆ์ไปร่วมพิธี ท่านมหาชัยณรงค์ติดภารกิจ ผู้เขียนจึงเป็นพระภิกษุรูปเดียวที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เมื่อไปถึงบริเวณงานที่จัดขึ้นในห้องโถงใหญ่ มีชาวพุทธเข้าร่วมงานประมาณ 100 คน มีโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธรูปและรูปของ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยการสมาทานศีล ถวายอาหาร
หลังเสร็จจากการฉันอาหาร ก็จะมีการอภิปราย สนทนาธรรมภายในห้องโถงนั่นเอง พวกเขาจะสนทนากันเอง คุยกันเอง โดยผู้เขียนเป็นคนนั่งฟังแต่ฟังไม่รู้เรื่อง มีโยมคนหนึ่งพยายามสอบถามถึงพระพุทธศาสนาในเมืองไทย และคำถามที่สำคัญอย่างหนึ่งคือหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาคืออะไร ผู้เขียนตอบว่า “นิพพาน”
เมื่อเขาถามว่ามีวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะไปถึงนิพพานไหม และจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม ผู้เขียนจึงหาทางออกโดยบอกว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น มีอยู่ในหนังสือ “พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์ ที่ดร. เอ็มเบ็ดการ์ เขียนไว้ ในวันที่เป็นวันที่ระลึกถึงดร. เอ็มเบ็ดการ์ จึงสมควรที่จะนำหนังสือของท่านมาอ่านสู่กันฟัง เราจะได้ประโยชน์สองประการคือได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า และได้ระลึก ดร. เอ็มเบ็ดการ์ไปพร้อมๆกัน” เมื่อทุกคนเห็นด้วยผู้เขียนจึงต้องใช้ขันติธรรมนั่งฟังภาษาฮินดีที่ไม่รู้เรื่องเป็นเวลายาวนานถึง 2 ชั่วโมงเต็ม
เมื่อศึกษาจากตำราภายหลังจึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าชาวพุทธในอินเดียมีถึงสามกลุ่มคือ(1) กลุ่มที่เป็นชาวพุทธดั้งเดิมได้แก่ตระกูลบาร์รัว เป็นกลุ่มชาวพุทธที่มีการรวมตัวกันแน่นแฟ้นที่สุด และเข้าใจธรรมปฏิบัติและพธีกรรมของพระพุทธศาสนาดีที่สุด แต่มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของอินเดีย สกุลบาร์รัวส่วนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศบังคลาเทศ (2) ชาวพุทธที่เปลี่ยนศาสนาใหม่ตามดร. บี อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ส่วนมากมักมาวรรณะศูทรและจัณทาล จึงไม่ค่อยมีอิทธิพลมากนัก มาโนช ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ผู้เขียนพบปะสนทนาด้วยที่เมืองเดลี บอกกับผู้เขียนว่า “พ่อแม่ผมเป็นชาวพุทธที่เปลี่ยนศาสนาพร้อมกับ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ย้ายมาจากเมืองนาคปูร์ แต่ท่านก็ยังกราบไหว้หมุมาณ,พระศิวะและเจ้าแม่ทุรคาอยู่ ตัวผมเองก็ไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติอย่างไร
คำสอนที่พ่อแม่ผมสอนคือการมีเมตตากรุณา ผมเห็นพระภิกษุจากศรีลังกา,พม่า,ธิเบต,จีน,เวียตนามและประเทศไทย แต่ทำไมจึงปฏิบัติแตกต่างกันมาก และผมเองก็ไม่ค่อยจะเข้าใจว่าหลักคำสอนจริงๆคืออะไร ปัจจุบันผมกำลังศึกษาศาสนาคริสต์ ซึ่งผมได้ประโยชน์มากเพราะได้เรียนภาษาอังกฤษฟรี ผมกำลังจะเปลียนไปนับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลุ่มพวกผมเป็นคนหนุ่มมีประมาณ 40 คน เวลาเรียนต้องแอบเรียนเพราะกลัวพ่อแม่รู้”
เมื่อผู้เขียนอธิบายจุดมุ่งหมายที่สูงสุดของพระพุทธศาสนาคือนิพพานให้ฟัง มาโนชกลับตอบว่า “ผมยังอยากกลับมาเกิดอีก ถ้าเป็นไปได้อยากเกิดในวรรณะพราหมณ์ จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ ปัจจุบันพวกผมเหมือนคนชั้นต่ำในสังคม”มาโนชและเพื่อนๆ มีบ้านพักอยู่ชานเมืองเดลี ริมฝั่งแม่น้ำยุมนา เป็นที่พักย่านคนจน ผู้เขียนเคยแวะไปเยี่ยมพ่อแม่ของมาโนช
เมื่อเห็นว่าผู้เขียนเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พวกเขาต้อนรับอย่างดีจัดหาน้ำชา ภาษาฮินดีเรียกว่าไจ (เป็นชาผสมนม) ออกมาต้อนรับและแสดงความเคารพด้วยความนอบน้อมและอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง และพยายามถามถึงหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา โดยมีมาโนชเป็นล่าม ผู้เขียนจึงอธิบายทาน ศีล ภาวนาให้ฟัง เมื่ออธิบายจบพวกเขารำพึงเบาๆ ว่า “ศีลและภาวนาพอปฏิบัติได้ แต่ทานคงทำได้ยากเพราะพวกฉันก็ไม่ค่อยจะมีกินเหมือนกัน” (3) ชาวพุทธใหม่ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาจากประเทศอื่นเช่นศรีลังกา ธิเบต ไทย เป็นต้น ส่วนมากจะอุปสมบทตามพุทธศาสนาแบบศรีลังกาและพม่า ส่วนที่อุปสมบทตามแบบไทยมีน้อยมาก
พระภิกษุชาวอินเดียท่านหนึ่งมาจากรัฐอัสสัมชื่อ ชโยติ อภโยภิกขุ ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดลีบอกผู้เขียนว่า “ผมเป็นคนไท บรรพบุรุษผมเป็นคนไท ผมจึงเป็นคนอินเดียเชื้อชาติไท อุปสมบทตามนิกายแบบไทย ซึ่งถอดแบบมาจากวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพ การปฏิบัติทุกอย่างยึดถือตามปฏิปทาของพระไทยทั้งหมด ดังนั้นที่รัฐอัสสัมจึงมีพระภิกษุจากนิกายมหานิกายของไทย ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 รูป
พระพุทธศาสนาแบบไทยคงเจริญในอินเดียยาก เพราะหลักวินัยเคร่งครัดเกินไป ไม่เหมาะกับสังคมอินเดีย ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อบวชนานๆจนกลายเป็นพระเถระมักจะถูกฮินดูซื้อตัวโดยให้รับราชการในตำแหน่งที่สำคัญๆ ดังนั้นพระเถระส่วนมากในอัสสัมจึงลาสิกขาไปรับราชการเป็นส่วนมาก แม้แต่ผมเองก็ได้รับการทาบทามให้ทำงานในตำแหน่งที่สำคัญเหมือนกัน แต่ผมยังเรียนไม่จบและยังรักพุทธศาสนา คิดว่าจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันผมก็เป็นเลขานุการของสมาคมหนุ่มสาวชาวพุทธในอัสสัมอยู่ เรียนจบเมื่อไรค่อยคิดอีกที” ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าท่านจะอยู่ในศาสนาต่อได้อีกนานเท่าใด การบวชแล้วลาสิกขาได้ของพระไทย อาจจะเหมาะกับสังคมไทย แต่ไม่เหมาะกับสังคมอินเดีย เพราะชาวอินเดียถือว่าผู้ที่บวชแล้วไม่ควรลาสิกขา เหมือนพระพม่าและพระศรีลังกา ส่วนประเด็นที่ท่านอภโยบอกว่าบรรพบุรุษของท่านเป็นคนไทนั้นน่าคิด เพราะถ้าหากท่านพูดภาษาไทย ทุกคนต้องคิดว่าท่านเป็นคนไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่ผู้เขียนเองคนอินเดียยังคิดว่าเป็นคนอัสสัมหรือนาคแลนด์
การกลับมาของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2434 โดยการฟื้นฟูของอนาคาริกธรรมปาละ และการตื่นตัวของชาวพุทธใหม่โดยการนำของ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ในปีพุทธศักราช 2500 ยังไม่อาจจะเชื่อได้ว่าพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในสังคมอินเดียอย่างถาวรแล้ว เพราะการกลับมาครั้งนี้เป็นการกลับมาที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ
พระภิกษุที่เข้ามาในอินเดียมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นพระธิเบต,พระจีน,พระเวียตนาม,เกาหลีเป็นต้น ซึ่งเป็นนิกายฝ่ายมหายาน และพระศรีลังกา,พระไทย,พระพม่า ซึ่งเป็นนิกายฝ่ายเถรวาท ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนพระอินเดียยังไม่แน่ใจว่านิกายฝ่ายไหนที่เหมาะกับอินเดีย เพราะชาวอินเดียเองบวชทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท ดังนั้นในพระพุทธศาสนาในอินเดียปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยความเหมือนที่แตกต่าง คือเป็นพระพุทธศาสนาเหมือนกันแต่มีหลายนิกายนั่นเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/09/53
ภาพประกอบ ผศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม