สำหรับคนไทยแล้ววันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีชาวไทยต่างก็รับรู้กันว่าเป็น “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติกาลของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในแต่ละปีก็จะมีการจัดงานเพื่อระลึกนึกถึงและทดแทนคุณของแม่ คนที่ยังมีแม่ปีหนึ่งได้คิดถึงอุปการคุณของผู้มีพระคุณเดือนละครั้งก็ถือได้ว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทิตา อันเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่วนใครที่อยู่กับเม่ได้เลี้ยงดูท่านให้สุขสบสยทั้งกายและใจทุกวันก็ยิ่งเป็นคนที่ควรยกย่องสรรเสริญ
คำว่า “แม่”มาจากภาษาบาลีว่า "มาตา" ภาษาไทยแปลว่า "มารดา" แต่คนไทยแต่โบราณกาลมามักนิยมเรียกว่า "แม่" ทุกคนคุ้นเคยกับคำว่าแม่เพระทุกคนต้องมีแม่และน่าจะเป็นคำแรกๆที่ลูกแทบทุกคนหัดพูด แต่ว่าจะคำนึงถึงอุปการคุณของท่านมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความใกล้ชิด ความผูกพันและความสำนึกในบุญคุณของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากันและแตกต่างกันออกไป คำว่าแม่นั้นมักจะใช้เรียกถึงสิ่งที่บ่งถึงคุณประโยชน์เช่น แม่ธรณี แม่โพสพ แม่น้ำ แม่ทัพ เป็นต้น ในพระพุทธศาสนา ท่านได้แสดงคำจำกัดความไว้พร้อมกับบิดาว่า “สตรี ผู้ยังบุตรให้เกิดชื่อว่ามารดา บุรุษผู้ยังบุตรให้เกิดชื่อว่าบิดา" คำว่ามารดาบิดามักจะมาคู่กัน ดังนั้นจึงขอนำเอาสาระที่พระพุทธศาสนาแสดงถึงมารดาและบิดาไว้มากล่าวควบคู่กันไป แต่จะเน้นหนักที่คำว่ามารดาหรือแม่
เหตุที่มารดาบิดาอยากได้บุตรธิดา
คำตอบในเรื่องนี้คือมารดาบิดาเห็นฐานะ 5 ประการจึงอยากได้บุตร ปรารถนาบุตร ดังที่พระ พระผู้พุทธองค์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายได้ตรัสไว้ในปุตตสูตร ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย (22/46/58) ว่า "บัณฑิตทั้งหลายเมื่อเห็นฐานะ 5 ประการ มารดาบิดาจึงปรารถนาบุตรคือ (1) บุตรอันเราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา (2) จักช่วยทำกิจของเรา (3) สกุลวงศ์พึงดำรงอยู่ได้นาน (4) บุตรจะปฏิบัติความเป็นทายาท (5) จักตามเพิ่มให้ทักษิณาแก่เราผู้ล่วงลับไปแล้ว
เพราะฉะนั้นบุตรทั้งหลายผู้สงบเป็นสัตบุรุษ ผู้กตัญญูกตเวที เมื่อหวนระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วในก่อน ย่อมเลี้ยงมารดาบิดา ช่วยทำกิจทั้งหลายของท่านเหมือนกตัญญูกตเวทีบุคคล ช่วยทำกิจของบรุพการีชนทั้งหลายฉะนั้น,บุตรผู้ทำตามโอวาท เลี้ยงท่านผู้เลี้ยงตนมาแล้วไม่ทำสกุลวงศ์ให้เสื่อม มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้น่าสรรเสริญ"
การบำรุงมารดาบิดาท่านแสดงว่าเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่ง สัตบุรุษทั้งหลายต่างสรรเสริญ ดังข้อความที่ปรากฏในโสณนันทชาดก สัตตนิบาต (28/162/80)ความว่า “การบำรุงมารดาบิดานี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ขอท่านจงอนุญาตการบำรุงมารดาบิดานี้แก่ข้าพเจ้า ท่านได้กระทำกุศลมาแล้วสิ้นกาลนาน ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวดบัดนี้ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำบุญในมารดาและบิดา ขอท่านจงให้โลกสวรรค์แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระฤาษี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในบริษัทนี้ ทราบบทแห่งธรรมในธรรมว่าเป็นทางแห่งโลกสวรรค์ เหมือนดังท่านทราบ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดาด้วยการอุปัฏฐากและการบีบนวดชื่อว่านำความสุขมาให้ ท่านห้ามข้าพเจ้าจากบุญนั้น ชื่อว่าเป็นอันห้ามทางอันประเสริฐ”
อุปการคุณของมารดา
ท่านแสดงอุปการคุณของมารดาไว้ในโสณันทชาดกต่อไปว่า “มารดาหวังผลคือบุตร จึงนอบน้อมแก่เทวดา และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดูและปีทั้งหลาย เมื่อมารดานั้นมีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ย่อมมี เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้นมารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้นบัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่าเป็นผู้มีใจดี มารดาบริหารครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าปีแล้วจึงคลอด เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า “ชนยนตี” และ “ชเนตตี” หมายถึงผู้ยังบุตรให้เกิด” มารดาย่อมปลอบบุตรผู้ร้องไห้อยู่ให้รื่นเริง ด้วยการให้ดื่มน้ำนมบ้าง ด้วยการขับกล่อมบ้าง ด้วยการอุ้มแนบไว้กับอกบ้าง เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า “ผู้ปลอบบุตรให้รื่นเริง” ต่อแต่นั้น มารดาเห็นบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสาเล่นอยู่ท่ามกลางสายลมและแสงแดดอันกล้าก็เข้ารับขวัญ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า “โปเสนตี ผู้เลี้ยงดูบุตร” มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือ ทรัพย์ของมารดาและทรัพย์ของบิดาเพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่ายพึงเป็นของบุตรแห่งเรา
มารดายังบุตรให้ศึกษาดังนี้ว่า อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก เมื่อบุตรกำลังรุ่นหนุ่มคนอง มารดาย่อมคอยมองดูบุตรผู้หลงเพลิดเพลินในภรรยาผู้อื่น จนพลบค่ำก็ยังไม่กลับมา ย่อมเดือดร้อนด้วยประการฉะนี้
บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก บุตรผู้อันบิดาเลี้ยงมาด้วยความลำบากอย่างนี้แล้วไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงมารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหายหรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงบิดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น ความรื่นเริง ความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดาความรื่นเริงความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ
บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงบิดา สังคหวัตถุ 4 ประการนี้คือ (1) ทาน การให้ (2) ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก (3) อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ (4) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ตามสมควร ย่อมมีในโลกนี้ เหมือนเพลารถย่อมมีแก่รถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น ถ้าว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดาก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดาก็จะไม่พึงได้ความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็นสังคหวัตถุนี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้นย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พึงสรรเสริญมารดาและบิดาบัณฑิตเรียกว่าเป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของบุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับของบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงนอบน้อมและสักการะมารดาบิดาทั้ง 2 นั้นด้วย ข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้น ด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้ ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
มารดาบิดาท่านเรียกว่า "พรหม บุรพเทพ บุรพาจารย์ และอาหุไนยบุคคล" ของบุตร เปรียบเหมือนท้าวมหาพรหม ย่อมไม่ละภาวนาทั้ง4ในหมู่สัตว์ มารดาบิดาก็มิได้ละภาวนาทั้ง 4ในหมู่สัตว์เหมือนกัน เมื่อบุตรอยู่ในท้อง มารดาบิดานั้น เกิดเมตตาจิตในบุตรว่า "เมื่อไหร่หนอเราจึงจักเห็นลูกน้อย ไม่มีโรค " (เมตตา)
ในเวลาที่บุตรอ่อนเยาว์ ถูกสัตว์ทั้งหลายมีเล็นเป็นต้นกัด หรือถูกการนอนเป็นทุกข์บีบคั้น ร้องไห้อยู่, มารดาบิดาก็เกิดความกรุณาขึ้น เพราะได้สดับเสียงบุตรนั้น (กรุณา)
ในเวลาบุตรวิ่งมาวิ่งไปเล่นได้ก็ดี ในเวลาบุตรตั้งอยู่ในวัยงาม น่าดูน่าชม ท่านทั้ง 2 ก็มีจิตอ่อนโยน บันเทิง เบิกบาน เพราะมองดูหน้าบุตรน้อย, ในกาล ท่านทั้ง 2 ย่อมบันเทิง(มุทิตา)
ในเวลาที่บุตรทำการเลี้ยงภริยา แยกครองเรือนในกาลนั้น ท่านทั้ง 2 ก็เกิดความมัธยัสถ์ขึ้นว่า "บัดนี้ ลูกน้อยของเรา อาจจะเพื่อจะ เลี้ยงตนได้โดยธรรมดาตามลำพังของตน" ในกาลนั้น ท่านทั้งสองได้ความวางเฉยๆ(อุเบกขา)
มารดาบิดาทั้งสองนั้น ท่านเรียกว่า “พรหม” เพราะท่านมีความประพฤติเช่นกับพรหม เพราะได้พรหมวิหารคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ครบทั้ง 4 อย่างตามกาลเวลา
มารดาบิดาเป็นบุรพเทพบุตร
มารดาบิดาเปรียบเหมือนกับ พระขีณาสพผู้เป็นวิสุทธิเทพ ไม่คำนึงความผิดอันพวกชนพาลทำแล้ว หวังแต่ความเสื่อมไปแห่งความพินาศและความเกิดขึ้นแห่งความเจริญ ปฎิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเขาโดยส่วนเดียวแท้ๆ และย่อมทำความที่สักการะทั้งหลายของพวกเขามีผลานิสงส์มาก เพราะเป็นทักษิไณยบุคคล ฉันใด; มารดาและบิดาแม้นั้น ก็ฉันนั้น ไม่คำนึงถึงความผิดของบุตรทั้งหลายปฎิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่บุตรเหล่านั้นโดยส่วนเดียวเท่านั้น เป็นผู้สมควรแก่ทักษิณา นำความที่สักการะของบุตรเหล่านั้นอันเขาทำแล้วในตน มีผลานิสงค์มาก; เพราะฉะนั้น ท่านทั้ง 2 นั้นจึงชื่อว่า เทพ เพราะเป็นผู้มีความประพฤติเช่นดัง เทพ.
บุตรทั้งหลายรู้จักเทพเหล่าอื่น ด้วยสามารถท่านทั้ง 2 นั้นก่อนแล้วปฎิบัติอยู่ ย่อมได้รับผลแห่งการปฎิบัติ ฉะนั้นสมมติเทพ อุปัตติเทพ และวิสุทธิเทพเหล่าอื่น จึงชื่อว่า ปัจฉาเทพ ส่วนมารดาบิดา ท่านเรียกว่า บุรพเทพ เพราะท่านเป็นผู้มีอุปาการะก่อนกว่าเทพเหล่าอื่น
มารดาบิดาเป็นบุรพาจารย์ของบุตร
มารดาและบิดา ยังบุตรให้ยึดถือ ให้สำเหนียกอยู่ จำเดิมแต่เวลาบุตรเกิด ด้วยนัยเป็นต้นว่า "จงนั่งอย่างนี้ ยืนอย่างนี้" "คนนี้ เจ้าควรเรียกว่า "พ่อ" ต่อมาภายหลัง อาจารย์เหล่าอื่นจึงให้ศึกษาศิลปะทั้งหลาย, อาจารย์เหล่าอื่นให้สรณะและศีล, เหล่าอื่นให้บรรพชา เหล่าอื่นให้เล่าเรียนพุทธวจนะ, เหล่าอื่นให้อุปสมบท, เหล่าอื่นให้บรรลุมรรคผล; อาจารย์เหล่านั้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่า ปัจฉาจารย์ ด้วยประการดังนี้; ฉะนั้น มารดาบิดา ท่านจึงเรียกว่าบุรพาจารย์ เพราะเป็นอาจารย์ก่อนอาจารย์ทั้งหมด
มารดาบิดาเป็นอาหุไนยบุคคลของบุตร
มารดาบิดา เป็นผู้สมควรรับข้าวและน้ำเป็นต้น อันบุตรทั้งหลายนำมาบูชา ต้อนรับ เพราะฉะนั้น มารดาบิดา ท่านจึงเรียกว่าเป็น อาหุไนยบุคคล (ของบุตร). สมดังที่พระผู้มีพระภาค จึงตรัสไว้ในสพรหมสูตร ในติกนิบาต และ จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย(21/63 /80 – 81) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่ามีพรหม มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ มารดาและบิดาเป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีอาหุเนยยบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า "พรหม บุรพาจารย์ บุรพเทพ อาหุเนยยบุคคล" นี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ประคบประหงมเลี้ยงดูบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร
มารดาและบิดาผู้อนุเคราะห์แก่บุตร ท่านเรียกว่า พรหม บุรพาจารย์ และอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะท่านด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง อบกาย ให้อาบน้ำและชำระเท้า เพราะเหตุที่บุตรผู้เป็นบัณฑิตได้บำรุงบำเรอในมารดาและบิดา บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ครั้นเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์