ในส่วนของมอญนั้นพระภิกษุมอญมีส่วนในการสร้างอาณาจักรพม่าในยุคแรก ดังที่หนังสือประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในพุทธศักราช 1587 (ค.ศ. 1044) พระเจ้าอนุรทธะขึ้นครองราชย์ที่กรุงพุกามซึ่งตั้งอยู่ตรงใต้จุดบรรจบของแม่น้ำอิระวดีกับแม่น้ำซินต์วิน พระเจ้าอนุรุทธะไม่ทรงพอพระทัยในศาสนาที่ประชาชนนับถืออยู่ในขณะนั้นซึ่งเป็นศาสนาที่มีส่วนผสมปนเปของหลักพระพุทธศาสนานิกายมหายานกับความเกรงกลัวอำนาจธรรมชาติแบบพื้นเมือง พระองค์ต่อต้านอำนาจและชื่อเสียงของคณะสงฆ์อารีซึ่งพระองค์ไม่เห็นด้วย ในขณะนั้นพระมอญรูปหนึ่งชื่อพระชินอรหันต์ได้เดินทางมายังอาณาจักรพุกาม ท่านเป็นผู้หนึ่งในหมู่ชนจำนวนน้อยที่ไม่นิยมการรับความเชื่อแบบฮินดูที่เมืองสะเทิม ในเวลาไม่นานนักพระชินอรหันต์ก็สามารถชักนำให้พระอนุรุทธะหันมานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทได้ (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 32)
เมื่อขึ้นครองราชย์ประชาชนมีความเชื่อหลากหลาย แต่สงบได้เพราะพระพุทธศาสนาดังที่อ้างไว้ว่าตอนที่พระเจ้าอโนรธายังมิได้ขึ้นครองบัลลังก์นั้น ในเมืองพุกามยังมีความเชื่อถืออันผิดๆ อาทิ นัต นาค และอะเยจี โดยเฉพาะความเชื่อถือแบบพวกอะเยจีก็กำลังครอบงำแผ่นดินพุกามอยู่ขณะนั้น เมื่อพระเจ้า อโนรธาขึ้นครองบัลลังก์พระองค์มิทรงพอพระทัยต่อลัทธิความเชื่อเช่นนั้น และทรงปรารถนาในศาสนาอันชอบ ในเพลาเดียวกันนั้น ชินอรหันต์ได้เดินทางจาริกจากเมืองสะเทิมมาแผ่พระศาสนายังเมืองพุกาม พอพระเจ้าอโนรธาได้โอกาสนอบนบต่อชินอรหันต์ พระองค์ก็ทรงมีศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงขอร้องให้ชินอรหันต์เผยแผ่พระศาสนาในพุกาม และด้วยความช่วยเหลือของชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อของเหล่าอะเยจีลงได้ พวกอะเยจีถูกจับสึก แล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อถือแบบอะเยจีจึงค่อยๆหมดไปจากพุกาม พระเจ้าอโนรธาทำให้ชนทั่วแผ่นดินพุกามหันมานับถือพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอันชอบ” การรวมชาติโดยผนึกความเชื่อต่างๆให้เข้าเป้นอันหนึ่งอันเดียวกันได้นั้น หากไม่มีความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะรวมชาติได้
นอกจากนี้ พระเจ้าอโนรธายังได้ยกทัพไปตีได้เมืองสะเทิม พร้อมกับอันเชิญพระไตรปิฎกและพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระคำภีร์มาสู่พุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคำภีร์ได้ช่วยชินอรหันต์เป็นอย่างมากเพื่อให้พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอันชอบเป็นที่แพร่หลาย พระเจ้าอโนรธามิเพียงสร้างพระเจดีย์ในพุกามแต่ยังทรงสร้างเจดีย์ในทุกที่ที่เสด็จไปถึง ในบรรดาเจดีย์เหล่านี้ เจดีย์ที่โดดเด่นที่สุดคือพระเจดีย์ชเวสิกอง
ในการที่จะให้พุทธศาสนาแพร่หลาย พระเจ้าอโนรธายังทรงให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกกันในวัด พุทธศาสนาที่พระเจ้าอโนรธาได้ทรงอุปถัมภ์นั้นยังมั่นคงมาได้จวบจนปัจจุบัน” ในการนำพุทธศาสนาจากแผ่นดินของชาวมอญสู่พุกามนั้น พม่ายกย่องชินอรหันต์ภิกษุมอญเป็นดุจผู้ส่องไฟนำทาง และพระเจ้าอโนรธาเป็นดุจผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธศาสนาบนแผ่นดินเมียนมา ส่วนเหล่าอะเยจีนั้นถูกตีตราให้เป็นพวกมิจฉาทิฐิ โดยประณามว่าเป็นกลุ่มนักบวชที่แผ่อิทธิพลเหนือชาวบ้านด้วยการเอานรกมาขู่ ยกสวรรค์มาอ้าง และหากินกับลาภสักการะ การนำพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอันเป็นศาสนาอันชอบมาสู่อาณาจักรของชาวเมียนมานั้น จึงถือเป็นการทำลายอำนาจมืดจากความเชื่อผิดๆ ภาพของพระเจ้าอโนรธาในแบบเรียนจึงเป็นภาพของนักปฏิวัติทางความคิดเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมของชาวพุทธ
ภาพของพระเจ้าอโนรธาเป็นแบบอย่างของผู้นำในการสร้างชาติด้วยพลังแห่งเอกภาพและการพัฒนา ดูจะสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของกองทัพพม่านับแต่สมัยสังคมนิยมสืบจนปัจจุบัน อาทิการยกย่องบทบาทของทหารในฐานะผู้นำในการสร้างชาติเอกราชเยี่ยงวีรชน การปราบปรามภัยภายใน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การพัฒนาเส้นทางการคมนาคม การส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนา และการบูรณะเจดีย์ทั่วประเทศ เป็นต้น พระเจ้าอโนรธาจึงได้รับการขัดเกลาทางประวัติศาสตร์ให้มีภาพลักษณ์ของวีรกษัตริย์ชาวพุทธ เป็นผู้สร้างประเทศ และเป็นนักปฏิรูปสังคมที่ชาญฉลาด (วิรัช นิยมธรรม ,ประวัติศาสตร์พม่า)
ทุกหนทุกแห่งที่พระเจ้าอนุรทธะทรงได้ชัยชนะในการสงคราม แทนที่พระองค์จะสร้างเสาหินแห่งชัยชนะไว้ กลับสร้างแผ่นอิฐจารึกบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต และพระนามาภิไธยเป็นภาษาสันสกฤต ทั้งทรงเป็นพระองค์แรกในบรรดาผู้สร้างโบสถ์วิหารอันยิ่งใหญ่และทำให้กรุงพุกามกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษานิกายเถรวาท (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 37)
ความมั่งคั่งอันมากมายในอาณาจักรพุกามใช้สร้างวัดนับไม่ถ้วนในกรุงพุกาม ยังมีปรากฏในปัจจุบันนี้ประมาณห้าพันวัด ส่วนเจดีย์ในพุกามมีสองประเภทใหญ่ๆคือแบบสถูปตันและแบบกลวงกลมหรือถ้ำจำลอง เจดีย์ใหญ่อันดับแรกคือเจดีย์ชเวสิกองของพระเจ้าอนุรุทธะมีลักษณะเป็นรูปปิรามิด มีฉัตรทองกั้นอีกชั้นหนึ่ง ทั่วทั้งเจดีย์ปิดทองและมีมณีมีค่าประดับฉัตรบนยอดเจดีย์ (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 57)
จากยุคของพระเจ้าอโนรธาเป้นต้นมา พระมหากษัตริย์ของพม่าองค์ต่อๆมาทรงให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาดังที่หม่องทินอ่องบอกว่า “พระเจ้ามินดุงโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งชุดรวมทั้งคำอธิบายลงบนเสาหินกว่า 5,000 ต้น และทรงสนับสนุนพระสงฆ์ผู้เคร่งวินัยให้อพยพไปพม่าตอนล่าง(หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 244)
พระภิกษุบางรูปเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นกษัตริย์ครองราชย์บัลลังก์ ดังเช่นพระเจ้าธรรมเจดีย์ เมื่อพระนางเชงสอบูทรงเลือกบาตรใหญ่สองใบ ใบหนึ่งบรรจุอาหารที่สรรแล้วอย่างวิเศษ และอีกใบหนึ่งใส่เครื่องราชอิสริยยศ แล้วพระนางก็ทรงนิมนต์พระอาจารย์ทั้งสองคือพระธรรมเจดีย์และพระธรรมปาละมาบิณฑบาตในท้องพระโรงต่อหน้าข้าราชสำนักที่แต่งเต็มยศอย่างงดงามตระการตายิ่ง พระทั้งสองรูปมาถึงและให้เลือกบาตรคนละใบ พระธรรมเจดีย์เผอิญเลือกได้บาตรที่ใส่เครื่องราชอิสริยยศและได้รับเลือกตั้งเป้นกษัตริย์จึงต้องสึก เพื่ออภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระราชินีและรับราชบัลลังก์(คศ. 1472- 1472) (หม่องทินอ่อง,หน้า 100)
การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่า
การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่านั้น สมัยพระเจ้ามินดงมีการสอบพระปริยัติธรรมวิชาที่สอบแบ่งเป็นสี่ชั้นคือชั้นต้น ต้องสอบท่องคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์ 8 กัณฑ์ด้วยปากเปล่า อภิธานนัปปทีปิกา 1203 คาถา วุตโตทัยฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการ อภิธรรมมัตถสังคหะ 9 ปริจเฉท มาติกา ธาตุกถา 14 นัย ยมก 5
ชั้นกลาง สอบท่องปากเปล่าคัมภีร์ในชั้นต้นทั้งหมดโดยเพิ่มยมกเป็น 10 ยมก ชั้นสูง สอบแบบชั้นกลาง แต่เพิ่มคัมภีร์ปัฎฐานแต่ต้นจนจบกุสลติกะ และชั้นสูงสุดจะต้องสอบแข่งขันกันทั้งหมดเพื่อให้ได้ที่ 1 เพียงรูปเดียว จากนั้นพระเจ้ามินดงจะทรงอุปถัมภ์เป็นพระราชบุตร บิดามารดาพร้อมทั้งญาติถึง 15 ชั้นได้รับการงดเว้นภาษีทุกด้าน (พระธัมมานันทมหาเถระ,การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า,กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย:2534,หน้า 264)
ในงานวิจัยของโรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ อ้างว่า “ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทรงใช้วิธีการสอบแบบสงฆ์ที่เรียกว่า “พระธรรมพยาน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความสามารถของพระสงฆ์ มาทดสอบความเหมาะสมในการเข้าดำรงตำแหน่งราชการ(โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์(พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล),รัฐในพม่า,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550,หน้า 42) การสอบของพระสงฆ์คงเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือจนกษัตริย์ต้องนำเอาวิธีการสอบไปใช้
ในสมัยพระเจ้าธีบอได้ยกเลิกการสอบชั้นสูงสุด การศึกษาพระปริยัติธรรมของพม่ามีมาตรการ 4 ข้อคือ 1.ทำให้วัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรดีงาม 2.ทำให้มีการศึกษาพระไตรปิฎกอย่างถี่ถ้วน 3.ทำให้เกิดความแตกฉานและเชี่ยวชาญในภาษาบาลี 4.ทำให้เข้าใจวิธีการใช้ภาษาและสามารถเขียนบทประพันธ์ด้วยตนเองได้ ในการสอบยังมีการสอบปิฎกธระหรือพระภิกษุที่สามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้ ผู้สอบผ่านจะมีนามพิเศษว่า “เตปิฎกธรธรรมภัณฑาคาริกะ” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2534) ประเทศพม่าได้มีพระทรงจำพระไตรปิฎกจำนวน 5 รูปคือพระภัททันตวิจิตนสาราภิวังสะ,พระภัททันตเนมินทะ,พระภัททันตโกสัลละ,พระภัททันตสุมังคลาลังการะและพระภัททันตสิรินทาภิวังสะ (พระธัมมานันทมหาเถระ,การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า,หน้า 284)
การสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่า
ประเทศพม่ามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสองครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทดังหลักฐานบันทึกไว้ว่า “ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกัน คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเล เมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน 429 แผ่น ณ เมืองมันฑะเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) พระมหาเถระ 3 รูป คือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม 2,400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ (สุชีพ ปุญญานุภาพ,พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน,กรุงเทพ ฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2539, หน้า 11)
ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ 2 ในพม่าหรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 6 ที่เรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (การนับปีของพม่าเร็วกว่าไทย 1 ปี จึงเท่ากับเริ่ม พ.ศ. 2498 ปิด พ.ศ. 2500 ตามที่พม่านับ) พม่าทำสังคายนาครั้งนี้ มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ ถือว่าสำคัญสำหรับการสังคายนาครั้งนี้มาก เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยประชุม ซึ่งประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า เป็นสมัยของไทยสมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลอง ทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า 2,500 ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ 200 ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย (สุชีพ ปุญญานุภาพ,พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน, หน้า 12)
พระพุทธศาสนาในพม่ามีความเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การเจริญหรือเสื่อมของคณะสงฆ์ก็ย่อมมีส่วนกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ดังนั้นกษัตริย์จึงมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ดังที่มีการบรรยายถึงการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ไว้ว่า “กษัตริย์พม่าได้ทรงริเริ่มการปฏิรูปศาสนา หรือการชำระสถาบันสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เพื่อจะได้ยึดทรัพย์สมบัติของทางสงฆ์มาเป็นที่ยอมรับทั้งทางกฎหมายและสังคม สังฆะที่ร่ำรวยย่อมหมายถึงว่าพระสงฆ์ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามกฎของพระวินัย ดังนั้นการปฏิรูปจึงนับว่าถูกต้องชอบธรรมตามอุดมการณ์ การปฏิรูปศาสนาส่งผลทางวัตถุให้ขนาดของสังฆะลดลง ทางด้านอุดมการณ์เท่ากับวาทำให้พระศาสนาบริสุทธิ์ขึ้น เมื่อสังฆะบริสุทธิ์ขึ้น ประชาชนต่างก็จะมาทำบุญเพิ่มขึ้น เพราะบุญที่บุคคลจะได้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของพระที่บุคคลนั้นนับถือ สังฆะเองก็เริ่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณเพิ่มขึ้น เพราะโดยหลักการถือว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ทรงปกป้องและอุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนา การที่ประชาชนและพระมหากษัตริย์หันมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สุดท้ายจะนำกลับไปสู่ลัทธิเจ้าที่ดินของวัดอีก และแล้วรัฐก็ต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปสังฆะใหม่อีกหมุนเวียนไปไม่รู้จบ (โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์(พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล),รัฐในพม่า,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550,หน้า 70)
พระพุทธศาสนาเถรวาทกับประเทศพม่าจึงมีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน ต้องพานพบกับความเสื่อมและความเจริญ แต่ก็สามารถอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของพม่าเรื่อยมา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนการศึกษาพระพุทธศาสนามาโดยตลอด แม้ว่าปัจจุบันพม่าจะไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนในอดีต แต่คณะสงฆ์พม่าก็ยังมีอิทธิพลสำหรับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการเป็นผู้นำในการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐ คณะสงฆ์พม่ายังได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากทั่วโลกดังเช่นใน ปีพุทธศักราช 2550 ได้มีการก่อตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติขึ้นและได้ประชุมครั้งแรกระหว่างช่วงวันที่ 9-11 มีนาคม 2550 ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และการประชุมสมาคมฯ ที่เมืองสะกายในครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งที่สอง
การชุมสมาคมพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชนติครั้งที่สอง ในครั้งนี้คงได้ข้อมูลการศึกษาพระพุทธศาสนาในพม่าและการแต่งคัมภีร์บาลีในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากสมาชิกที่มาจากประเทศต่างๆไม่มากก็น้อย จากเอกสารที่พิมพ์แจกในงานมีการเขียนเกี่ยวกับศึกษาภาษาบาลังหลังศตวรรษที่ 19 โดยเขียนเป็นภาษาบาลีอักษรโรมัน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นจะรายงานให้ทราบในตอนต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน บรรณานุกรม
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
30/03/52
พระธัมมานันทมหาเถระ,การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า,กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย:2534.
หม่องทินอ่อง(เพ็ชรี สุมิตร แปล),ประวัติศาสตร์พม่า,(พิมพ์ครั้งที่สาม)กรุงเทพฯ:มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2551.
สุชีพ ปุญญานุภาพ,พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน,กรุงเทพ ฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2539.
สุชาติ หงษา ดร.,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,2549.
โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์(พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล),รัฐในพม่า,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550.
วิรัช นิยมธรรม ,ประวัติศาสตร์พม่า,<http://www.goloknow.org> (20/03/2007).
อาทร จันทวิมล ดร.,ประวัติของแผ่นดินไทย,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อักษรไทย,2548.