หลายท่านคงคุ้นเคยกับข่าวที่พระสงฆ์พม่าเดินขบวนถือธงนำหน้าประชาชนเพื่อประท้วงรัฐบาลเมื่อปีพุทธศักราช 2550 จนมีข่าวเผยแผ่ไปทั่วโลก พระสงฆ์บางรูปถูกทำร้ายจนกระทั่งถึงแก่มรณะ พระพม่าจึงคุ้นตาคนไทยในฐานะพระที่เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ทำให้เกิดความสงสัยว่าพระพม่านั้นเกี่ยวข้องกับการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนอื่นจะต้องสืบสาวค้นหาประวัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในพม่าเป็นเบื้องต้น
ปฐมบทพระพุทธศาสนาเถรวาทในพม่า
ในช่วงวันที่ 3-11 มีนาคม 2552 สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท(ATBU)ได้จัดประชุมสมาคมขึ้นเป็นครั้งที่สอง ณ สถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาสิตคูนานาชาติ(SIBA) ณ เมืองสกาย (Sagaing) ประเทศเมียนมาร์ หัวข้อสำคัญในการประชุมกำหนดไว้สี่เรื่องคือ(1) วรรณกรรมภาษาบาลีแบบเถรวาทหลังศตวรรษที่ 19 (2)พระพุทธศาสนาเพื่อโลกานุเคราะห์ (3)การศึกษาและการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาเถรวาทและ (4)การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ก่อนออกเดินทางไปประชุมครั้งนี้จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาในพม่าจากเอกสารและสื่ออินเทอร์เน็ตเท่าที่จะหาได้ โดยยังคิดภาพจริงๆไม่ออกเพราะยังไมเคยไปพม่ามาก่อน ดังนั้นเรื่องราวในตอนนี้จึงเขียนขึ้นจากเอกสารและข้อมูลก่อนออกเดินทาง
เมืองนครปฐมหรือเมืองสะเทิมคือสุวรรณภูมิ
พระพุทธศาสนาในพม่านั้น ชาวพม่ามีความเชื่อว่า พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่า เมื่อคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย ได้อุปถัมภ์การสังคายนา ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 236 ได้มีการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบ ประเทศต่าง ๆ รวม 9 สายด้วยกัน พม่าก็อยู่ในส่วนของสุวรรณภูมิด้วย และชาวพม่ายังเชื่อว่า สุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองสะเทิม ทางตอนใต้ของพม่า
หม่องทินอ่องนักประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปยังดินแดนที่ห่างไกลหลายแห่งด้วยกัน สมณทูตคณะหนึ่งไปเผแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ประชาชนในสุวรรณภูมิ เมืองหลวงของสุวรรณภูมิคือเมืองสะเทิม(Thaton)ในพม่าตอนล่าง (หม่องทินอ่อง(เพ็ชรี สุมิตร แปล),ประวัติศาสตร์พม่า,(พิมพ์ครั้งที่สาม)กรุงเทพฯ:มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2551,หน้า 6)
ในขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยเชื่อกันว่าจุดศูนย์กลางของสุวรรณภูมิอยู่ที่นครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆเช่นพระปฐมเจดีย์ เป็นประจักษ์พยาน (สุชาติ หงษา ดร.,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,2549,หน้า 74)
นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านมีความเชื่อสอดคล้องนักนักประวัติศาสตร์พม่า โดยได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตเก้าสายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระโสณะและพระอุตตระไปสุวรรณภูมิคือบริเวณเมืองสะเทิมของพม่าและเมืองไทยตลอดแหลมมลายู ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังการะบุว่าสุวรรณภูมิประเทศอยู่ห่างจากลังกา 700 โยชน์ (อาทร จันทวิมล ดร.,ประวัติของแผ่นดินไทย,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อักษรไทย,2548, หน้า 55)
เรื่องของแคว้นสุวรรณภูมินักประวัติศาสตร์ยังคงต้องหาหลักฐานเพื่ออ้างอิงกันต่อไป แต่สำหรับประเทศไทยได้ยึดสิทธิสุวรรณภูมิไว้เรียบร้อยแล้วนั่นคือการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ชาวโลกจึงรู้จักกันดีแล้วว่าสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในประเทศไทย
พระเจ้าอโนรธาสร้างชาติพม่า
จากประวัติศาสตร์บางตอนพบว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าในราว พุทธศตวรรษที่ 6 เพราะ ได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า ตารนาถ เห็นว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เข้ามาสู่เมือง พม่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาได้มีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบมหายานลัทธิตันตระ เข้าไปเผยแผ่ ในครั้งนั้น พม่ามีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง มีชื่อเรียกชาวพม่าว่า "มรัมมะ" ส่วนพวกมอญ หรือ ตะเลง ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงรวมๆ เรียกว่า รามัญประกาศ จนพระพุทธศาสนาทั้งแบบมหายาน และแบบเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในพม่า เป็นเวลาหลายร้อยปี (วิรัช นิยมธรรม,ประวัติพระพุทธศาสนาในพม่า)
พงศาวดารพม่าและตำนานพุทธศาสนาเถรวาทกล่างอ้างว่า พ่อค้ามอญสองนายจากบริเวณพม่าตอนล่างได้เส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้านำมาประดิษฐานไว้ในวัดเล็กๆ วัดหนึ่ง ต่อมาเป็นที่สร้างเจดีย์พระเกศธาตุ(ชเวดากอง) อันมโหฬาร (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 6)
ในประวัติศาสตร์พม่าพระเจ้าอโนรธาเป็นปฐมกษัตริย์ มีกล่าวถึงทั้งในจารึก พงศาวดารพม่า และตำนาน สำหรับในพงศาวดารนั้นมีเรื่องราวบางส่วนเขียนเป็นปรัมปรา โดยให้ภาพของพระเจ้าอโนรธาเยี่ยงบุคคลในตำนาน อาทิ การช่วงชิงบัลลังก์ด้วยการกระทำอัศวยุทธ์จนชนะเพราะพระอินทร์อุปถัมภ์ การสังหารทารกและหญิงมีครรภ์เพื่อกำจัดผู้มีบุญที่จะมาแย่งราชบัลลังก์ ปาฏิหาริย์ในการแสวงหาพระเขี้ยวแก้วยังเมืองจีนและลังกาทวีป การทำลายอำนาจวิเศษที่ปกป้องเมืองสะเทิม และการจบชีวิตของพระเจ้าอโนรธาเพียงเพราะถูกกระบือขวิด เป็นอาทิ ประวัติของปฐมกษัตริย์พม่านั้นบรรยาไว้โดยสรุปว่า “อโนรธาเป็นราชโอรสแห่งกษัตริย์พุกาม นามว่า กวมส่องจ่องผยู หลังจากที่อโนรธามีชัยต่อเจ้าสุกกะเตเชษฐาต่างมารดาผู้แย่งบัลลังก์จากพระบิดาได้แล้ว พระองค์จึงมอบบัลลังก์นั้นคืนพระบิดาซึ่งทรงผนวชอยู่ เมื่อพระบิดามิทรงรับ อโนรธาจึงเสวยราชบัลลังก์ แต่ด้วยพม่าถือว่าพระเจ้าอโนรธาคือผู้เปิดหน้าประวัติศาสตร์พม่า ดังนั้นเนื้อหาที่ปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ชาติจึงละส่วนที่เป็นปรัมปราออกไป คงไว้แต่เกร็ดทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับตีความด้วยศรัทธา เพื่อเทิดเกียรติวีรกรรมและยกย่องความสามารถของพระองค์ วีรกรรมสำคัญของพระเจ้าอโนรธา คือ การสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักร และการส่งเสริมพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
ตปุสสะและภัลลิกะคือพ่อค้าชาวมอญจริงหรือ
มอญสองพี่น้องนั้นมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคือตปุสสะและภัลลิกะ ชาวอุกกลชนบท ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/6/8) กล่าวถึงพ่อค้าสองพี่น้องไว้ว่า “ครั้นล่วง 7 วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงไม้มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะ ตลอด 7 วัน สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะเดินทางไกลจากอุกกลชนบท ถึงตำบลนั้น ครั้งนั้นเทพยดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตปุสสะ ภัลลิกะสอง พ่อค้า ได้กล่าวคำนี้กะ 2 พ่อค้านั้นว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ด้วยสัตตุผง และ สัตตุก้อน การบูชาของท่านทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะจึงถือสัตตุผงและสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วถวายบังคม ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สองพ่อค้านั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผงสัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน
ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลาย ไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ ขณะนั้น ท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์ทรงทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาค ด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก 4 ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จด้วยศิลา 4 ใบเข้าไปถวายพระผู้มี พระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยม รับสัตตุผงและสัตตุก้อนแล้วเสวย
ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคและพระธรรมว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้างสองรัตนะ เป็นชุดแรกในโลก
ในพระไตรปิฎกไม่ได้บันทึกไว้ว่าพ่อค้าทั้งสองได้รับเส้นพระเกศาจาพระพุทธเจ้า แต่ในอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค หน้า 29 มีบันทึกไว้ว่า “สองพานิชนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบายสกอย่างนั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์พึงทำการอภิวาทและยืนรับใครเล่าพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร พระเกศาติดพระหัตถ์ ได้ประทานพระเกศาเหล่านั้นแก่เขาทั้งสองด้วยตรัสว่าท่านจงรักษาผมเหล่านี้ไว้ สองพานิชนั้นได้พระเกศธาตุราวกะได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดีถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป (อรรถกถา วินัยมหาวรรค,หน้า 29)
พ่อค้าสองพี่น้องเป็นชาวอุกกลชนบท ไม่ทราบว่าคือเมืองใด อุกกาตามศัพท์ภาษาบาลีแปลว่าประทีป คบเพลิง โคม ตะเกียง หรืออาจหมายรวมถึงพระอาทิตย์ แสงสว่าง หากจะหมายถึงดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกในยุคนั้น ก็น่าจะได้แก่พม่าตอนล่างในปัจจุบัน เรื่องอุกกลชนบทฝากให้นักปราชญ์ผู้รู้ไว้พิจารณา