วันที่ 9 มกราคม 2556 พระธรรมเมธาจารย์ รองประธานกรรมการบริหาร สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นที่ 19/2556 ที่ห้องประชุมตึกติสสะ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร
พระราชญาณปรีชา กรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)ได้กล่าวถวายรายงานความว่า “กราบเรียนพระเดชพระคุณ พระธรรมเมธาจารย์ รองประธานกรรมการบริหาร สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)ผู้แทน เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการบริหาร สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)ประธานในพิธีที่เคารพอย่างสูง
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) คณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน รู้สึกเป็น
พระคุณอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ได้มอบหมายพระเดชพระคุณมาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รุ่นที่ 19 ประจำปี พ.ศ. 2556 ครั้งนี้
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในความอุปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้จัดให้มีการฝึกอบรมพระภิกษุเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อเตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ความสามารถ
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดต่าง ๆ ในต่างประเทศ
2.เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความสามัคคี มีความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศ และให้มีหลักการสอนในทางเดียวกันให้มากที่สุด
3. เพื่อสนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม
4. เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและรักษาศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ใช้เวลาการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 3 เดือน โดยแบ่งการฝึกอบรมเป็น 4 ภาคคือ ภาควิชาการ ภาคนวกรรม ภาคจิตภาวนา และภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย
ภาควิชาการมีรายวิชาต่าง ๆ 14 วิชาเช่น พระไตรปิฎกสังเขป พุทธปรัชญา ศาสนาทั่วไป ธรรมนิเทศภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ส่วนภาคนวกรรม เป็นการเสริมเพิ่มความรู้ ตลอดถึงการฝึกปฏิบัติในด้าน การบูรณปฏิสังขรณ์ วิเคราะห์ และออกแบบโครงสร้าง การวางแผนและจัดการงานก่อสร้างในเบื้องต้น
ส่วนภาคจิตภาวนาได้กำหนดให้ปฏิบัติเป็นประจำทุกวันหลังทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น นอกจากนั้นยังมีจิตภาวนาภาคสนาม โดยออกไปฝึกที่สำนักปฏิบัติวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม เพื่อให้เกิดประสบการณ์จากสถานที่ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติจิตภาวนา
สำหรับผู้บรรยายรายวิชาและวิทยากรพิเศษ ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย โดยได้รับความอุปถัมภ์จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระเถรานุเถระ คณะสงฆ์ธรรมยุตในต่างประเทศ และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ด้านสถานที่พักและสถานที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ จังหวัดนครสวรรค์ และวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม จังหวัดนครราชสีมา อนุญาตให้ใช้สถานที่เป็นอย่างดีตลอดมา
สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในรุ่นที่ 19 นี้ มีจำนวน 52 รูป ประกอบด้วยวิทยฐานะพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ระดับเปรียญเอก 1 รูป และเปรียญโท 3 รูป เปรียญตรี 5 รูป แผนกธรรม นักธรรมเอก 43 รูป นักธรรมโท 9 รูป ในจำนวนนี้มีคุณวุฒิระดับ ปริญญาเอก 2 รูป ปริญญาโท 6 รูป ปริญญาตรี 20 รูป และต่ำกว่าปริญญาตรี 24 รูป คาดว่าการฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ ครั้งนี้ จะได้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นพระธรรมทูตที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความมั่นใจ มีศีลาจารวัตรอันดีงามและความสามัคคี อันจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อไป
บัดนี้งานทุกส่วนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านพร้อมแล้ว ขอประทานกราบเรียนพระเดชพระคุณได้โปรดเมตตา กล่าวเปิดการฝึกอบรมฯ และให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ และเป็นสิริมงคล แก่คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถวายการอุปถัมภ์ครั้งนี้โดยทั่วกัน
พระธรรมเมธาจารย์ รองประธานกรรมการบริหาร สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ประธานในพิธีปฐมนิเทศได้ให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศสรุปความว่า “การที่เราจะไปต่างประเทศนั้นต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เพราะบางประเทศไม่ค่อยเจริญ การอยู่ในประเทศไทยแม้จะอยู่ในป่าแต่ก็ไม่ลำบาก เราอยู่ในประเทศไทยบางวันไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ถ่ายทอดพระธรรมคำสอนมากนักเราอยู่ในประเทศไทยไม่ค่อยลำบาก แต่การไปอยู่ในต่างประเทศนั้นบางทีก็ลำบาก ไม่เป็นอย่างที่เราคิด ในการส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนาในครั้งแรกนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระพุทธดำรัสว่า “พวกเราพ้นแล้วจากบ่วงแห่งมารทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ ขอให้พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหมู่มาก” นั่นเป็นพระดำรัสที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระอรหันตสาวกก่อนออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลัการสำคัญของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระอรหันต์จำนวน 1250 รูป คือ “ไม่ทำบาป การยังกุศลให้ถึงพร้อมและการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว” ดังนั้นพระธรรมทูตจะสอนอะไรก็ขอให้อยู่ในกรอบของเรื่องสามเรื่องนี้ เราจะไม่สอนนอกเหนือไปจากนี้
ประการต่อมาพระองค์สอนว่าคนที่จะไปสอนคนอื่นนั้นจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือต้องอดทนให้ได้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ต้องไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร และต้องสำรวมในพระปาฏิโมกข์ โอวาทในครั้งนั้นถือว่าเป็นมรดกสำคัญของพระธรรมทูต เราต้องยึด มั่นในหลักการนั้นไว้ให้ดี พระธรรมทูตถือว่าเป็นผู้ที่มีกุศลเจตนาในการที่จะเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา พวกเราเป็นผู้จดจำหลักธรรมคำสอน มีพุทธภาษิตแสดงไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/31/55) ความว่า
สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโสโภคสมปฺปิโต
ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต ฯ
แปลความว่า “กุลบุตรผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เพรียบพร้อมแล้วด้วยยศและโภคะ ไปถึงประเทศใดๆ เป็นผู้อันคนบูชาแล้วในประเทศนั้นๆ แล”
พุทธภาษิตนี้นี้เป็นคุณสมบัติของพระธรรมทูตที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผู้ที่จะไปสอนต้องมีคุณสมบัติว่ามีดีจริง ปฏิบัติได้จริง สามารถทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้จริง พระธรรมทูตต้องมีศีล จะอยู่ที่ไหนก็มีความสุข แม้จะไปอยู่ในสถานที่แตกต่างจากบ้านเรา แต่ก็อยู่ได้อย่างมีความสุข อยู่อย่างสันติอย่าให้มีความขัดแย้ง สภาพภูมิอากาศแตกต่างกันทำให้สภาพเปลี่ยนไปเหมือนต้นไม้ ปลูกในเมืองไทยมีรสหวาน แต่พอไปอยู่ที่ต่างประเทศมีรสเปรี้ยวมาก ผมเคยนำเอาส้มโอไปปลูกที่วัดฟอริดา แต่มีรสเปรี้ยวแตกต่างจากบ้านเรามาก เพราะสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนไปทำให้รสชาติแตกต่างกันไปด้วย
พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตทุกท่านมีกุศลเจตนาที่ดีที่จะอบรมพระธรรมทูตเพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาขอให้เป็นผู้สำเร็จในการฝึกอบรม ขอให้มีความสุขความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาทุกท่าน บัดนี้สมควรแก่เวลาแล้วขอเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ณ บัดนี้
พระธรรมเจติยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุได้กล่าวต้อนรับว่า “ขอให้พระธรรมทูตทุกท่านฝึกด้วยความเข้มข้นเข้มแข็งให้เหมาะกับการที่จะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ นี่คือสาระสำคัญของการฝึกอบรม วัดพระศรีมหาธาตุพร้อมที่จะให้การสนับสนุนให้มีความเป็นสัปปายะต่างๆ เช่น เสนาสนะสัปปายะ อาหารสัปปายะ คิลานสัปปายะ พอสมควรแก่กำลังและความสามารถ ผมในนามเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุขอต้อนรับด้วยความเต็มใจ หากมีอะไรขาดเหลือขอให้บอกโดยบอกผ่านมาทางเลขานุการวัด ผมขอตั้งจิตอธิษฐานถวายพรแก่ท่านที่เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตทุกท่าน ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และด้วยอำนาจคุณงามความดีที่ทุกท่านได้ร่วมกันอบรมสั่งสมมา ขอให้ผู้เข้าฝึกอบรมทุกท่านจงประสบความสำเร็จ
พระธรรมปาโมกข์ ประธานกรรมการฝึกอบรมภาคนวกรรมได้ให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตสรุปความว่า “หลังจากนี้เมื่อพวกท่านฝึกอบรมภาควิชาการจบแล้ว ก็จะไปฝึกภาคนวกรรมที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ในพระองค์ฯ นครสวรรค์ เมื่อท่านไปอยู่ในต่างถิ่นต่างที่สภาพดินฟ้าอากาศไม่เหมือนกัน ผลไม้บางอย่างหวานที่เมืองไทย แต่ไปอยู่ต่างประเทศอาจเปลี่ยนเป็นเปรี้ยวได้ พวกท่าต้องเค็มเข้าไว้จึงจะเอาชนะรสเปรี้ยวได้ ต้องผ่านการฝึกอบรมภาคนวกรรมผ่านหิน ปูน ทรายให้ได้เสียก่อน ปูนในการก่อสร้างนั้นมีคำเรียกขานไว้น่าคิดว่า “ไม่มีตีนรู้ยัน ไม่มีฟันรู้กัด” หากผ่านภาคการก่อสร้างได้ก็สามารถอยู่ในต่างประเทศได้อย่างมั่นคง พระธรรมทูตอย่าเอาความสบายเป็นที่ตั้ง ต้องฝึกอย่างเข้มข้นเอาจริง ต้องมีศรัทธาและความเพียรให้แน่วแน่ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตั้งปณิธาณในวันก่อนการตรัสรู้ไว้ว่า “หากเลือดเนื้อเอ็นกระดูกจะเหือดแห้งไปก็ตามที หากไม่ตรัสรู้จะไม่ลุกจากบัลลังค์นี้”
ในการลับมีดให้คมนั้นจะต้องมีทั้งหินและมีดเป็นส่วนประกอบ เป็นการเสียสละของหินและมีด นั่นคือการสละของทั้งสองอย่างคือหินและมีด ความคมจริงๆของมีดจึงมาจากหินและมีดนั่นเอง พระธรรมทูตต้องฝึกความคมก่อนที่จะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ผมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุกท่าน ปีนี้ต้องไปฝึกอบรมที่ประเทศอินเดียต้องผ่านไปให้ได้ หากเป็นเหล็กก็ต้องผ่านการตีจนร้อน ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตทุกท่านเมื่อจบการฝึกอบรมออกไปจะเป็นเหมือนเหล็กกล้าที่พร้อมจะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้ หากคิดจะเป็นผู้ชนะต้องเอาแบบอย่างเหมือนพระพุทธเจ้าที่ทรงชนะมาร
จากนั้นพระเถรานุเถระอีกหลายท่านเช่นพระเทพปัญญามุนี พระราชพิศาลมุนี พร้อมทั้งพระเถรานุเถระอีกหลายรูปได้ให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พระครูประกาศธรรมนิเทศ ประธานกรรมการบริหารคณะสงฆ์ในประเทศอินโดนีเซียได้ให้ข้อคิดแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตสรุปความได้ตอนหนึ่งว่า “พระธรรมทูตจะทำอะไรก็ตามจะต้องมีคติประจำใจไว้ว่า “Learn for understand, Look for remember, Doing a real thing, Everything is easy” แปลความได้ว่า “เรียนห้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง ทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องยาก” เรียนไม่คิดไร้ผล คิดไม่เรียนก็อันตราย” ขอให้ทุกท่านจงประสบความสำเร็จตามเจตนาทุกประการ
นายอุดม ทรงขจร ผู้อำนวยการส่วนสารนิเทศ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ถวายความรู้สรุปความว่า “ส่วนสารนิเทศ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มีหน้าที่ดูแลพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ ที่ผ่านมาพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมมีประมาณ 3000 กว่ารูป ที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำในวัดไทยในต่างประเทศประมาณ 1000 กว่ารูป มีวัดไทยประมาณ 360 วัด ส่วนสารนิเทศฯ ดูแลอำนวยความสะดวกพระธรรมทูตในต่างประเทศ ต้องได้รับการคัดเลือกจากสำนักกำกับดูแลพระธรรมทูตในแต่ละปี มีวัดไทยเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 10 วัด ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่สนใจเรื่องวิปัสสนา ซึ่งคนต่างประเทศให้ความสนใจมาก
การฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 19/2556 ใช้เวลาในการฝึกอบรมเป็นเวลา 3เดือน ผู้มีจิตศรัทธาเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้า-เพล และน้ำปานะ แก่พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)สามารถติดต่อสอบถามได้ที่
กองรายได้ฯ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร โทร. 02-521-0311
พระครูวิลาสสรธรรม (บรรเจิด) โทร.081-828-1760
พระมหาจามร พฺรหฺมจาโร โทร.086-788-9374
พระครูปลัด ณัฐพงศ์ ยโส โทร.087-724-8899
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รายงาน
09/01/56