วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2555 คณะอนุกรรมาธิการศึกษา ส่งเสริมและฟื้นฟูประเพณีไทย ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “วิกฤติประเพณีไทย แก้อย่างไร ใครจะแก้” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 ชั้นสาม อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบแนวความคิดในการส่งเสริมและฟื้นฟูประเพณีอันดีงามของไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของไทยให้ยั่งยืนสืบต่อไป และเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขวิกฤติประเพณีไทย
งานเริ่มตั้งแต่เช้าโดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาเป็นประธานในการเปิดสัมมนา วิทยากรที่มาอภิปรายประกอบด้วยนายสมชาย เสียงหลาย, นายวิถี พานิชพันธ์, ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร โดยมีนานแทนคุณ จิตอิสระเป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เชิญเข้าร่วมสัมมนาในฐานะตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
หลักการและเหตุผลในการจัดสัมมนาสรุปได้ว่า “ประเพณีเป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคมเช่นการแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อเป็นต้น อันเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่างๆ กลายเป็นประเพณีประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ ประเพณีล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิต ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคมโดยเฉพาะศาสนานับว่ามีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งดงาม เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล อันเป็นที่มาของประเพณีไทยหลายๆอย่าง
ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ มีผลต่อความความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประเพณีอันดีงามของประเทศไทยไปในในทางที่เสื่อมลงเช่นประเพณีสงกรานต์ที่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน
วิทยากรแต่ละท่านนำเสนอได้ดีแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยกำลังเปลี่ยนไป และเสนอแนวทางในการแก้วิกฤติของวัฒนธรรมไทยที่ถูกกระแสของวัฒนธรรมจากภายนอกไหลบ่าเข้าครอบงำ จนอาจจะมีผลทำให้วัฒนธรรมไทยที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานเปลี่ยนแปลงไปด้วย และมีแนวโน้มว่าวัฒนธรรมไทยกำลังเสื่อมลงและกำลังเกิดวิกฤติทางวัฒนธรรม ต้องหาทางแก้ไข ไม่อย่างนั้นวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยอาจจะถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมอื่น
นั่งฟังการอภิปรายซึ่งวันนี้ได้ข่าวว่ามีการถ่ายทอดเสียงการประชุมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงด้วย ผลสรุปจะเป็นอย่างไรนั้นยังสรุปไม่ได้ เพราะมีผู้แสดงความเห็นมากมาย การสัมมนาส่วนมากมักจะเป็นแบบนี้เปิดประเด็น ฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา แต่ไม่มีบทสรุป
ตอนนั้นพลันคิดไปถึงบาหลี อินโดนีเซียโน่น ที่นั่นเขาขายวัฒนธรรมความเก่า เพียงแค่เรื่องการทำนาบนไหล่เขาอันเป็นวิถีชีวิตธรรมดาของชาวนาที่นั่น ก็ยังมีผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลกันไปเที่ยวชม ในแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก อีกแห่งคืออูบุดที่เขารักษาวัฒนธรรมการไหว้เทพเจ้าในศาสนาฮินดูเอาไว้ เช้าเย็นจะพากันใช้ภาชนะเทินบนศีรษะใส่เครื่องไหว้ไปยังวัดของศาสนาฮินดู เขาไหว้กันตามธรรมดานี่แหละ แต่กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนให้ไปชม ในแต่ละวันจะมีผู้คนจากแทบทุกสารทิศไปเยี่ยมชมไม่ขาด ความธรรมดาแต่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่แปลกตาสำหรับผู้ที่อยู่ต่างถิ่น แม้แต่ประตูทางเข้าวัดก็ยังเอกลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นบาหลี
อีกแห่งหนึ่งสิบสองปันนา ที่นั่นอนุรักษ์บ้านเรือนเก่าไว้ โดยมีวิถีชุมชนแบบโบราณ บ้านก็เก่าๆ ผู้คนก็ทำงานแบบเดิมๆ ก็ยังมีคนไปดูไม่ขาด ที่ประเทศไทยก็มีเชียงคานโมเดลหรือวัฒนธรรมเก่าอีกหลายแห่งที่ควรอนุรักษ์และพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมเก่าที่มีการสืบต่อจึงมีเสน่ห์ ที่ภาคเหนือมีประเพณีปอยส่างลอง ทานก๋วยสลาก เป็นต้น ที่ภาคใต้มีประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุที่วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ที่อีสานมีประเพณีบุญบั้งไฟที่ยโสธร สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเพณีที่มีการสืบต่อ แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งธรรมดา แต่ถ้าหากเปลี่ยนจนกลายเป็นวิกฤติก็ต้องหาทางแก้ไข
ประเทศไทยมีประเพณีสอบสองเดือนซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสังคมเกษตรกรรม นั่นก็คือชาวไร่ชาวนาในอดีตหมดหน้าทำนาก็จัดงานเทศกาลรื่นเริง วัตถุประสงค์ที่เห็นได้ทันทีคือความสนุกสนาน เช่นสงกรานต์ นั่นก็ใช้น้ำเป็นแกนหลัก เพราะอยู่ในช่วงหน้าร้อน บุญบั้งไฟนั่นก็เพื่อการขอฝน เข้าพรรษา มหาชาติ ออกพรรษาเป็นประเพณีที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป อาจจะเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมข้าว” ซึ่งก็มาจากอาชีพหลักของคนไทยในอดีตนั่นคือชาวนา เมื่อสังคมเปลี่ยนไปวัฒนธรรมก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ความหมายดั้งเดิมของวัฒนธรรมอันเป็นปรัชญาที่แฝงอยู่ในประเพณีนั้นเป็นคำสอนอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษสอดแทรกไว้ในงานประเพณีต่างๆ แม้รูปแบบของงานจะเปลี่ยนแปลงไปแต่หลักปรัชญาดั้งเดิมยังคงอยู่ แม้ว่าคนรุ่นใหม่อาจจะหลงลืมเลือนไปบ้าง คนรุ่นเก่าก็ต้องช่วยกันถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อๆไป อย่าให้หลักปรัชญาตายไปพร้อมกับอายุขัยของคน
วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปจนเห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือวัฒนธรรม “ภาษา” ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่เริ่มจะพูดกันคนละภาษากันแล้ว ภาษาบางอย่างกลายเป็นศัพท์ที่ผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปจากความหมายเดิม แม้แต่คำบางคำในพระพุทธศาสนาก็ถูกตีความหมายไปจากความหมายเดิมเช่น "วิญญาณ" "กรรม" เป็นต้น
พระสงฆ์ที่เข้าร่วมงานในวันนี้มีเพียงสามรูป วิทยากรจึงขอให้เสนอความเห็นรูปละหนึ่งนาที รูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยในอิตาลี เสนอว่า “ผู้หญิงไทยที่ไปทำมาหากินในต่างประเทศร่ำรวยเพราะขายความเป็นไทย ฝรั่งเขารักในวัฒนธรรมไทยเช่นอาหาร กิริยามารยาท อีกอย่างคือความเป็นแม่ศรีเรือนของหญิงไทยขายได้ในต่างประเทศ”
อีกรูปหนึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุฟังไม่ทันว่าท่านเสนอว่าอย่างไร วิทยากรหันมาถามผู้เขียน พระบ้านนอกจึงบอกว่า “เมื่อรู้ว่าวัฒนธรรมวิกฤติก็ช่วยกันแก้ ต่างคนต่างช่วยกัน “เริ่มที่แม่ แก้ที่พ่อ ก่อที่โรงเรียน เปลี่ยนที่วัด” โดยการเปิดรับ ปรับใช้ หมายถึงไม่ปิดกั้นวัฒนธรรมจากที่อื่น แต่นำมาปรับปรุงประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสังคมไทย โรงเรียนก็สอน บ้านก็ขัด วัดก็ช่วย สื่อก็สร้าง จะทำให้มองเห็นทางพัฒนาได้”
วันนั้นพูดมากไม่ได้เพราะไม่ใช่วิทยากร พูดเสนอสั้นๆแค่นั้นแหละ จากการสัมมนาในครั้งนี้หากนำผลสรุปจากการสัมมนาไปใช้ก็ย่อมจะมีประโยชน์ งานนี้ต้องขอชมคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่จัดการสัมมนาในครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงผู้ร่วมฟังแต่ก็ได้รับรู้ว่าปัจจุบันรัฐสภาได้เริ่มมองเห็นวิกฤติของวัฒนธรรมไทยกันแล้ว ส่วนแนวทางในการแก้ไขนั้น แม้ตอนนี้จะยังไม่มีบทสรุป แต่เมื่อเริ่มต้นได้ก็ย่อมมีหนทางแก้ไขจนได้ หากไม่เริ่มเดินก็ไม่เห็นทาง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/08/55