ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ โดยนิมนต์พระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศมาร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ ปัจจุบันมีพระธรรมทูตไทยทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่ในประเทศต่างๆเกือบทั่วโลกแล้ว
วัตถุประสงค์ของการจัดงานกำหนดไว้สามข้อคือ(1)เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหา ข้อขัดข้องของพระธรรมทูตไทยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆทั่วโลก (2) เพื่อระดมความคิดเห็นและหาแนวทางการปรับปรุง พัฒนา และเพิ่มความเข้มแข็งในการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ และ(3)เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์พระพุทธศาสนาโลก
พระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆทั่วโลกเดินทางมาประชุมร่วมกัน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอปัญหา อุปสรรคในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ สรุปรวมเป็นแนวทางในเสริมสร้างความเข็มแข็งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีวัดไทยในต่างประเทศมากว่า 300 วัด บางประเทศที่ไม่เคยคิดว่าจะมีพระสงฆ์ไทยไปจำพรรษาก็มีเช่นรัสเซีย อาเยนติน่า อิตาลี หรือแม้แต่ประเทศที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลกอย่างประเทศอินโดนีเซียก็มีวัดและสำนักสงฆ์ของชาวพุทธมากกว่ายี่สิบแห่ง
ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีวัดไทยมากกว่าร้อยวัดแล้ว วันนั้นจึงนั่งฟังพระธรรมทูตจากประเทศต่างๆพูดคุยสนทนากันอย่างเพลิดเพลิน พระธรรมทูตจากประเทศอเมริการูปหนึ่งบอกว่า “ประเทศสหรัฐอเมริกา การเผยแผ่พระพุทธศาสนายังอยู่กับกลุ่มคนไทยซึ่งมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละรัฐฝรั่งเริ่มเข้ามาอุปสมบทบ้าง แต่ก็ยังไม่มากพอ”
พระธรรมทูตจากประเทศสวีเดนบอกว่า “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสวีเดน ยังเน้นที่คนไทย และทางประเทศสวีเดนต้องการพระสงฆ์ไทยไปสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย พระธรรมทูตไทยที่พูดภาษาสวีดิชได้ยังมีจำนวนน้อย ฝรั่งเขาอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะการปฏิบัติสมาธิภาวนา พระธรรมทูตที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศใดก็ควรจะพูดภาษาของประเทศนั้นให้ได้ จึงจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
พยายามจะสอบถามพระสงฆ์จากรัสเซีย แต่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยเลย แต่ดูจากการแสดงความคิดเห็นของท่านแล้วค่อนข้างจะแรงเอาการ ไม่ยอมใคร จนมีพระธรรมทูตบางรูปแอบบ่นให้ได้ยินว่า “หลวงพี่..สหายจากรัสเซียนี่พูดน่ากลัว” แต่ก็เห็นท่านเดินไปเดินมาทักทายรูปนั้นรูปนี้ตามธรรมเนียม
พระสงฆ์จากอาเยนติน่าก็ไม่มีโอกาสได้สนทนาด้วยเลย ส่วนที่อิตาลีไปนั่งแอบฟังเงียบๆ สรุปได้ว่าในโซนทวีปยุโรปและอเมริกา ยังเผยแผ่พระพุทธศาสนากับพุทธศาสนิกชนที่เป็นคนไทยเป็นหลัก
กลับมาที่ทวีปเอเชีย ที่ร้อนแรงที่สุดก็ต้องยกให้กลุ่มประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย พูดคุยกันออกรสชาติมาก เนื่องจากผู้เขียนถูกกำหนดให้เป็นผู้สังเกตการณ์ในกลุ่มนี้ จึงรู้เรื่องมากเป็นพิเศษ จากการสนทนากลุ่มสรุปได้ว่า “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศแถบเอเชียยังเน้นที่ศรัทธา โดยเฉพาะที่ประเทศอินโดนีเซีย การเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นมุ่งที่คนอินโดนีเซียโดยตรง บางรัฐไม่มีคนไทยอยู่เลย การสร้างสำนักสงฆ์หรือสร้างวัดดำเนินการโดยคนอินโดนีเซียโดยตรง สร้างเสร็จแล้วไม่เรียกว่าวัดไทย แต่นิยมเรียกว่าวัดของชาวพุทธอินโดนีเซีย พระธรรมทูตที่ประเทศนี้ต้องพูดภาษาอินโดนีเซียได้ หลวงพี่รูปหนึ่งอยู่จำพรรษาที่อินโดนีเซียมานานสิบกว่าปีบอกว่า “ผมไม่ได้เริ่มต้นที่คำสอนของพระพุทธศาสนา แต่เริ่มต้นที่ความเชื่อของชาวบ้าน เริ่มต้นจากหลุมฝังศพ พูดคุยกับชาวบ้านเรื่องผีบรรพบุรุษการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา จากนั้นจึงค่อยๆสอดแทรกคำสอนของพระพุทธศาสนาเข้าไปทีละน้อย”
ที่เวียดนามมีชนเผ่าไทยอยู่และมีวัดไทยเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงเกาหลี ญี่ปุ่นก็มีวัดไทยหลายวัด ไต้หวัน ฮ่องกงก็มีหลายวัด ไม่นับที่อินเดีย เนปาลซึ่งมีมากกว่าสิบวัด ทวีปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์อีกจำนวนมาก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี่ก็ไม่น้อย ประเทศนอร์เวย์พระธรรมทูตบอกว่า “พระธรรมทูตต้องจบอย่างน้อยปริญญาโทขึ้นไป จึงจะได้วีซ่า” ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรจะหาข้อมูลอีกที
ปัญหาและอุปสรรคของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่พอสรุปองค์รวมได้ว่า ด้านบุคคลการคือพระธรรมทูตเองบางประเทศยังไม่เข้าใจภาษา วัฒนธรรมของประเทศที่ตนไปเผยแผ่ดีพอ ทำให้การสื่อสารกับคนในประเทศนั้นได้ไม่ดีพอ ด้านองค์กรสงฆ์ที่มีส่วนในการดูแลพระธรรมทูตยังไม่เข้มแข็งพอจึงให้การสนับสนุนและดูแลได้ไม่ทั่วถึง แม้ปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงแต่ก็ยังครอบคลุมได้ไม่ทั่วถึง เช่นศูนย์ควบคุมดูแลพระไปต่างประเทศก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตก็ทำหน้าอีกอย่าง อบรมพระธรรมทูตแล้ว ส่วนการคัดเลือกว่าพระสงฆ์รูปใดจะได้เดินทางไปประเทศไหนนั้นเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง เมื่อผ่านเกณฑ์พิจารณาแล้วก็ต้องผ่านขั้นตอนในการขอหนังสือเดินทาง ขอวีซ่าเข้าประเทศ บางประเทศยากมากและให้เวลาในการพำนักในประเทศนั้นๆน้อยมาก
การประชุมสัมมานาวันนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา คงได้บทสรุปในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งหัวหน้าพระธรรมทูตไทยจากทุกทวีป กรรมการมหาเถรสมาคม พระเถระและผู้มีส่วนในงานกิจการพระธรรมทูต
การประชุมวันนั้นเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. โดยมีสมเด็จพระพุทธชิวงศ์ เป็นประธานและมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ ประชุมสัมมนาทั้งวัน เลิกประชุมเวลาประมาณสี่ทุ่ม โดยมี ฯพณฯ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานปิดการสัมมนา
ไปนั่งประชุมร่วมกับพระธรรมทูตไทยจากทั่วโลกก็เผลอคิดว่าตัวเองกำลังเป็นพระธรรมทูตในประเทศใดประเทศหนึ่ง มีพระธรรมทูตรูปหนึ่งถามว่า "ท่านอยากไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไหนมากที่สุด" จึงตอบไปว่า “โปแลนด์หรือไม่ก็ยูเครนหรือกรีซก็ได้ อยากไปเยี่ยมโสเครตีสและอริสโตเติล นักปรัชญาผู้สร้างปรัชญาตะวันตกเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ทั้งสองท่านเป็นชนชาติกรีกหรือกรีซในปัจจุบัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/05/55