วันที่ 3 ตุลาคม 2554 ไปร่วมงานวันคล้ายวันประสูติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับแจกหนังสือมาหลายเล่ม ปีนี้เป็นหนังสือเล่มเล็กๆเช่นจิตศึกษา จิตตภาวนา หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมทางจิต คู่มือกรรมฐาน รู้จักพระพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ละเล่มอธิบายการปฏิบัติตามหลักการ จึงขออนุญาตนำเรื่อง “กรรม” รวมอยู่ในหนังสือเรื่อง "พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร" เผยแผ่ให้ผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมงานได้อ่านกัน เชิญอ่านได้
กรรม
1. คำว่า “กรรม” ในพระพุทธศาสนาเป็นคำที่มีความหมายเป็นกลาง หมายถึงการกระทำไม่เจาะจงบ่งเป็นการการกระทำที่ไม่ดี อันเป็นกรรมที่ไม่ดี เป็นบาปกรรม หรือเป็นอกุศลกรรม และไม่เจาะจงบ่งเป็นการกระทำที่ดี อันเป็นกรรมที่ดี เป็นบุญกรรมหรือเป็นกุศลกรรม
2. คำว่า “กรรม” นั้น ทั่วไปใช้ในความหมายว่าความไม่ดี เช่นเดียวกับคำบาปกรรมและอกุศลกรรม จึงเท่ากับทั่วไปใช้คำ “กรรม” เป็นคำย่อของกรรมไม่ดี คือบาปกรรมหรืออกุศลกรรม
3. พระพุทธศาสนสุภาษิตมีว่า “วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” ในบรรดาอำนาจทั้งปวงในโลก อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุด อำนาจเป็นใหญ่ในโลก และไม่มีอำนาจใดเสมออำนาจกรรม
4. กรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นของผู้อื่น ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นย่อมจักได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมจักได้รับผลไม่ดี เป็นความตกต่ำทุกข์ร้อน
5.ความสบายใจที่จะเกิดจากความปลงใจเชื่อในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมนั้นใหญ่ยิ่งมาก เมื่อต้องประสบความทุกข์ยากใดก็ตาม ความเชื่อในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมจะทำให้ปลงใจ ยอมรับว่าตนเป็นผู้ทำเหตุที่ไม่ดีไว้อาจจะในปัจจุบันชาติหรือไม่ก็ในอดีตกาลนานไกล ที่นานจนจำไม่ได้ระลึกไม่ได้ และการให้ผลของกรรมก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จะเร็วหรือช้าก็ต้องให้ผลแน่ ข้ามภพข้ามชาติก็ให้ผล เรื่องของกรรมจึงล้ำลึกเข้าใจยากนักหนา ถ้าเข้าใจแม้เพียงพอสมควร ก็จะได้ความสบายใจกว่าไม่เข้าใจเสียเลย
6. มีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ มีพุทโธอยู่ในใจ ถ้าไม่หมดอายุ โรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุแม้ร้ายแรงเพียงไรก็จะไม่สามารถทำลายชีวิตได้ ถ้าหมดอายุก็จะได้ไปสู่สุคติ จึงควรนึกถึงพระพุทธเจ้าภาวนาพุทโธไว้เสมอ
7. คนมีปัญญาย่อมเกิดแต่การปฏิบัติอบรมจิตให้สงบ จิตสงบเพียงไรปัญญาย่อมเกิดเพียงนั้น จิตวุ่นวายเพียงไร ปัญญาย่อมหย่อนเพียงนั้น
8. ปัญญาเป็นความฉลาดที่เกิดจากการเรียนและการคิด จิตที่สงบจะทำให้ใช้ความคิดได้อย่างดี ต้องการจะคิดเรื่องใดให้แตกฉานรู้จริงด้วยตนเอง มิใช่เป็นเพียงความรู้ของผู้อื่น จิตที่สงบก็จะทำได้ให้เป็นปัญญาขึ้นมาได้ แต่จิตที่ไม่สงบวุ่นวายฟุ้งซ่านจะทำไม่ได้
9. ผู้ที่มีปัญญาจึงเป็นผู้มีจิตสงบ แม้ปรารถนาจะเป็นผู้มีปัญญา พึงทำใจให้สงบ คือสงบจากความโลภ ความดฏรธ ความหลง ปรารถนาเป็นผู้มีปัญญาเพียงไร พึงทำใจให้สงบเพียงนั้น อีกนัยหนึ่งก็คือ ทำใจให้สงบได้เพียงใด ก็จะสามารถอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้นได้เพียงนั้น
พระนิพนธ์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก,พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร, (พิมพ์แจกในงาน 3 ตุลาคม 2554)