พระมหาสมณานุศาสน์
ผู้ที่ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะคือผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่นับถือของตนแล้ว จึงประพฤติตนให้สมแก่เป็นผู้นับถือท่าน
ปฏิบัติ
พึงเป็นผู้มีศีลมีธรรมสมแก่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ศีล
ไม่พึงเป็นผู้มีกิริยาชั่ว พึงเป็นผู้มีกิริยาสุภาพเรียบร้อย
ไม่พึงเลี้ยงชีวิตโดยผิดทางที่เรียกว่ามิจฉาชีพคือหาทรัพย์โดยการโกง รับซื้อของโจร รับจ้างทำการอันไม่เป็นธรรมเช่นรับจ้างฆ่าเขาเป็นตัวอย่าง
ธรรม
พึงเป็นผู้ประพฤติสุจริตคือประฑฤติดี ด้วยกาย วาจา ใจ อย่างนี้เรียกว่า ธรรมจารี
พึงเป็นผู้ละอายแก่ใจของตน รู้ว่าการอย่างใดไม่เป็นธรรม อย่าทำการอย่างนั้น ฝืนความรู้สึก อย่างนี้เรียกว่า มีหิริ
พึงเป็นผู้รู้จักเกรงกลัวต่อการทำผิด พึงทำความชอบใจในการทำถูก อย่างนี้เรียกว่า มีโอตตัปปะ
พึงเป็นผู้ระมัดระวัง ในเมื่อจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าให้เชือนไปเป็นบาป อย่างนี้เรียกว่า ผู้สำรวม
พึงรู้จักข่มใจของตนไว้ให้อยู่ ในเมื่อความปรารถนาจะทำบาปเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ผู้ฝึกตัวแล้ว
พึงเป็นผู้มีความเพียรทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ยากสักปานไร พึงตั้งอุตสาหะเพื่อทำให้สำเร็จ อย่าท้อถอยเสียง่ายๆ อย่างนี้เรียกว่า ผู้บากบั่น
พึงเป็นผู้แกล้วกล้าในการงานทั้งปวง อย่าครั่นคร้ามต่อภัย อย่างนี้เรียกว่า ผู้องอาจ
พึงเป็นผู้ตั้งสติในเมื่อจะทำ ในเมื่อจะพูด พึงนึกให้รอบคอบก่อนแล้วจึงทำ แล้วจึงพูด อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีสติ
พึงเป็นผู้ไม่เผลอตัวในเมื่อทำอยู่ ในเมื่อพูดอยู่ พึงรู้รอบคอบถึงการทำ ถึงคำพูด อย่างนี้เรียกว่า มีสัมปชัญญะ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ที่มา:
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส,พระมหาสมณานุศาสน์ ภาคคดีโลก,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2553.