หน้าฝนกำลังจะผ่านไปอากาศเริ่มแห้ง ลมหนาวพริ้วผ่านมาเยือน ใบไม้แห้งร่วงหล่นลงจากต้นลอยคว้างไปตามกระแสลม บริเวณลานวัดจึงเกลื่อนไปด้วยใบไม้ ในขณะที่พระภิกษุสามเณรมีน้อย เนื่องเพราะหลายท่านได้เดินทางไปต่างจังหวัด ไปทอดกฐินบ้างหรือไม่ก็กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องในต่างจังหวัด แม้จะพยายามกวาดวิหารลานเจดีย์ แต่ทว่าเมื่อลมพัดผ่านและใบไม้แห้งมีจำนวนมาก กวาดไปข้างหน้า พอหันมามองข้างหลังใบไม้ก็เกลื่อนเหมือนเดิม จึงหยุดกวาดและเดินถือไม้กวาดเดินเล่นไปที่บริเวณศาลาท่าน้ำหน้าวัด
“นมัสการหลวงพ่อ” ได้ยินเสียงทักทายมาจากศาลาท่าน้ำ
“เจริญพร โยมมาทำอะไรที่นี้”
“ผมพักและนอนที่นี่มาหลายวันแล้วครับ ผมคนจรครับ ไม่มีบ้าน ไม่มีญาติเหลือตัวคนเดียวในโลกนี่แหละครับ”
“ไม่มีญาติที่ไหนเลยหรือ”
“แต่ก่อนเคยมีครับ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ถึงหากจะมีก็เหมือนไม่มี” น้ำเสียงเหมือนกำลังน้อยใจในโชคชะตา
พอได้ยินอย่างนั้นจึงยืนคุยสนทนา เพราะเป็นผู้เหมือนอยู่ตัวคนเดียวในโลกเหมือนกัน ตั้งแต่ออกพรรษาก็ยังไม่ได้เดินทางไปไหน เพราะยังมีภารกิจที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง หนีไปไหนไม่ได้ ชีวิตได้เลือกแล้วจึงต้องทำในสิ่งที่เลือก
เสียงชายชราคนนั้นแผ่วเบาเหมือนลมแล้งที่เริ่มจะอ่อนโรย “ผมเกษียณมาสิบปีแล้วครับ เคยแต่งงาน มีครอบครัว แต่ปัจจุบันไม่เหลือใคร ภรรยาก็เสียชีวิตไปหลายปีก่อน มีลูกสาวคนหนึ่งก็ไม่รู้หายไปไหน ไม่ได้ข่าวมาสองสามปีแล้ว ในช่วงที่ยังมีงานทำพออยู่ได้ ไม่ได้ลำบากอะไร หลังจากเกษียณผมไปขับรถแท็กซี่หลายปี แต่พออายุมากเข้าสายตาไม่ค่อยดี สุขภาพก็ไม่ไหวจึงต้องเลิก ต้องค่อยๆรักษาตน รักษาชีวิตไว้เพื่อจะได้ทำความดีเป็นเสบียงติดตัวไปในชาติหน้า ช่วงหนุ่มก็ไม่ค่อยได้ทำบุญ วัยกลางคนก็มีแต่ทำงานหาเงิน พอถึงวัยชราอยากทำบุญแต่กลับไม่ค่อยมีอะไรให้ได้ทำ พึ่งตนเองยังไม่ค่อยได้เลยครับ ชีวิตของคนในวัยชราที่ไม่มีที่พึ่งลำบากนะครับ”
ย้อนกลับมาดูตัวเองในวันนี้ยังพออดพอทนได้ มีที่พัก มีงานให้ทำ ไม่ค่อยมีเวลาว่างคิดถึงตัวเองสักเท่าไหร่ ปล่อยชีวิตให้ผ่านพ้นไปวันๆ ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีประกันชีวิต หาได้เท่าไหร่ก็ใช้เท่าที่มี หากสิ้นชีวิตลงเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จะมีใครมาแย่งทรัพย์สมบัติ เพราะไม่มีสมบัติเหลือไว้ให้ใครแย่ง ชีวิตแบบนี้หากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็น่าจะเป็นชีวิตที่มีความสุข แต่หากมองอีกมุมหนึ่งชีวิตไม่มีที่พึ่งหมดแล้วหมดเลย เจ็บป่วยก็คงไม่มีใครมาดูแล ญาติพี่น้องก็อยู่กันคนละทิศละทาง พี่น้องแต่ละคนต่างก็ทำงานพออยู่พอกินไปวันๆ ชีวิตเราเองก็ไม่ต่างจากชายชราคนนั้นเท่าใดนัก ผิดแต่ว่าวันนี้ยังแข็งแรง สุขภาพพอไหว แต่หากมีชีวิตยืนยาวอยู่ไปนานๆ ที่พึ่งอื่นไม่มี ชีวิตที่เหลืออยู่จึงต้องประคับคองตนให้ผ่านพ้นกาลเวลาไปให้ได้
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการเป็นผู้รักษาตน ดังที่แสดงไว้ในอัตตวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/22/31) ความว่า “หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็นอัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ตลอดยามทั้งสาม”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ
ติณฺณํ อญฺญตรํ ยามํ ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต
ในอรรถกถาคำว่า “ยามทั้งสาม” หมายถึงวัยแห่งอายุคือปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย คฤหัสถ์ควรทำกุศลมีทาน ศีล ภาวนาเป็นต้นตั้งแต่ปฐมวัย หากไม่ได้ทำในวัยนั้นก็ควรทำในมัชฌิมวัย หรือหากวัยกลางคนยังไม่ได้ทำก็ต้องทำในวัยชรา แต่ถ้าหากใครทำโดยสม่ำเสมอทั้งสามวัยก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน
ผู้เป็นคฤหัสถ์ทำบุญทั้งหลายมีทาน ศีลเป็นต้นตามกำลังอยู่ หรือผู้เป็นบรรพชิต ถึงความขวนขวายในวัตร ปฏิวัตร ปริยัติ และการทำไว้ในใจอยู่ ชื่อว่าย่อมรักษาตน
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อไม่อาจ ทำ อย่างนั้นได้ในสามวัย ต้องประคับประคองตนไว้ แม้ในวัยใดวัยหนึ่ง ในส่วนของคฤหัสถ์ ไม่อาจทำกุศลได้ในปฐมวัย เพราะความเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในการเล่นไซร้ ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญกุศล ถ้าในมัชฌิมวัย ยังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ไม่อาจบำเพ็ญกุศลได้ไซร้ ในปัจฉิมวัย พึงบำเพ็ญกุศลให้ได้
ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนต้องเป็นอันเขาประคับประคองแล้วทีเดียว แต่เมื่อเขาไม่ทำอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่า ไม่เป็นที่รัก ผู้นั้นเท่ากับทำตนนั้นให้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
ในส่วนของบรรพชิต ในปฐมวัยทำการสาธยายอยู่ ทรงจำ บอก ทำวัตรและปฏิวัตรอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาท ในมัชฌิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม
ถ้ายังสอบถามอรรถกถาและวินิจฉัย และเหตุแห่งพระปริยัติอันตนเรียนแล้วในปฐมวัยอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาท ในมัชฌิมวัย ในปัจฉิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญสมณธรรม
ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนย่อมเป็นอันบรรพชิตนั้น ประคับประคองแล้วทีเดียว แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่า ไม่เป็นที่รัก บรรพชิตนั้น เท่ากับทำตนนั้นให้เดือดร้อน ด้วยการตามเดือดร้อนในภายหลังแท้
ในอรรถกถาหมายถึงทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ในวัยทั้งสามต้องหาเวลาในการทำกุศลเพื่อจะได้ทำตนให้เป็นที่พึ่ง ของตนให้ได้ หากไม่ได้ทำทั้งวสามวัยจะด้วยเหตุผลก็ตาม ก็ต้องหาที่พึ่งภายนอกอยู่ร่ำไป คนอื่นนั้นพึ่งได้ในบางครั้งบางคราวเท่านั้น แต่ตัวเราเองหากทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้แล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งได้ตลอดไป
สายัณหกาลกำลังจะมาเยือน ฟ้าเบื้องปัจฉิมทิศมองเห็นเป็นสีหม่นๆ เหมือนคนที่กำลังเศร้าซึม สายลมยังพริ้วมาเป็นระยะ ใบไม้ร่วงหล่นเกลื่อนลานวัด ใบไม้พอถึงกาลเวลาก็ต้องหล่นจากขั้ว ชีวิตมนุษย์พอถึงกาลเวลาก็ต้องจากโลกนี้ไปเหมือนกัน มาแล้วก็ไป ไม่นานคนก็ลืม หากรู้ว่าตนเป็นที่รักของตนก็ต้องประคับคองตนให้พ้นผ่านกาลเวลาในวัยทั้งสามให้ได้ มองกลับไปยังศาลาท่าน้ำชายชราคนนั้นยังคงนั่งเหม่อมองท้องฟ้าสีหม่นในยามเย็นเหมือนกำลังรออะไรสักอย่าง เดินกลับกุฏินั่งพิจารณาตนว่าบัดนี้ชีวิตผ่านมาสองยามแล้วกำลังก้าวเข้าสู่ยามที่สาม ต้องประคับคองตนให้ผ่านยามสุดท้ายให้ได้ ทำตนให้เป็นที่พึ่ง พยายามรักษาตนให้พ้นภัยในห้วงยามที่ยังมีลมหายใจ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/10/56