เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงเวลาในการสอบของนักธรรมชั้นตรีและนักธรรมชั้นนวกะซึ่งกำหนดสอบวันแรกในวันอาทิตย์ สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการาม จึงกำหนดให้มีการสอบสนามวัด ก่อนจะเข้าสอบในสนามจริง นักเรียนศึกษามาหลายเดือนถึงเวลาเข้าสนามสอบจริงจะได้มีความพร้อม การศึกษาต้องค่อยเป็นค่อยไปใจร้อนไม่ได้เหมือนกับกล้วยไม้ที่ต้องรอเวลาอันเหมาะสมจึงจะออกดอกอันสวยงามให้ได้ชม ดังที่มีบทกลอนตอนหนึ่งว่า “กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาก็เป็นไปฉันนั้น”
กองธรรมสนามหลวงซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการศึกษาของคณะสงฆ์แผนกนักธรรม ได้กำหนดให้มีการสอบนักธรรมสนามหลวงชั้นตรีในช่วงวันที่ 13-16 ตุลาคม 2556 นี้ สามวันก่อนออกพรรษา นัยว่าเพื่อเปิดโอกาสให้พระนวกะหรือพระบวชใหม่ได้มีโอกาสได้เข้าสอบนักธรรม เพราะพระบวชใหม่ส่วนหนึ่งมักจะมีเวลาในการศึกษาจำกัด บางคนลางานเพื่ออุปสมบทได้เพียงสามเดือน พอออกพรรษาก็ต้องรีบลาสิกขาเพื่อที่จะได้กลับเข้าไปทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปได้ ส่วนการสอบนักธรรมในอดีตกำหนดให้มีการสอบประมาณหลังวันลอยกระทง ซึ่งพระบวชใหม่ขาดโอกาสในการสอบ ดังนั้นจึงมีนโยบายใหม่กำหนดให้สอบในช่วงเข้าพรรษา สอบก่อนออกพรรษา เพื่อพระบวชใหม่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ส่วนนักธรรมชั้นโทและเอก ยังสอบตามกำหนดเดิม
นักเรียนนักธรรมชั้นตรีเริ่มเรียนมาตั้งแต่เข้าพรรษา เรียนอย่างเต็มที่เท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวยให้ ก่อนเข้าสอบสนามจริง สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามจึงกำหนดให้มีการสอบสนามวัด เพื่อที่จะได้รู้ว่านักเรียนมีความพร้อมเพียงใด มีโอกาสที่จะสอบผ่านมากน้อยแค่ไหน
เริ่มสอบวันแรกในขณะที่นักเรียนกำลังทำข้อสอบอย่างเอาจริง บางคนกำลังใช้สมองคิดหาคำตอบอย่างหนัก บรรยากาศเริ่มตึงเครียด ห้องสอบทั้งห้องเงียบสงัดมีเพียงเสียงพัดลมเพดานที่เก่าเต็มทีส่งเสียงครางเบาๆเหมือนคนป่วยหนักที่กำลังจะสิ้นใจ ส่วนกรรมการซึ่งก็คือคณาจารย์ที่สอนนักเรียนเหล่านั้นมาตลอดพรรษา ในวันสอบไม่มีโอกาสได้บอกกล่าวอะไรได้ ในบรรยายกาศที่เงียบสงัดนั้น พลันก็มีเสียงดังมาจากสามเณรน้อยรูปหนึ่งที่เดินเข้าห้องสอบมาและเอ่ยปากขึ้นในท่ามกลางความเงียบว่า “หลวงพ่อครับผมขอข้อสอบด้วย ผมอยากสอบ” พระภิกษุสามเณรทุกรูป ทั้งนักเรียนและกรรมการต่างก็หันไปมองสามเณรน้อยต้นเสียงพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย
อาจารย์ใหญ่ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ภวังแห่งความง่วงก็พลันสะดุ้งตื่นขึ้นมาใบบัดดล รีบลุกจากเก้าอี้เดินไปจูงแขนสามเณรน้อยรูปนั้นมานั่งข้างๆและเริ่มต้นบทสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการในบัดดล
“สามเณรชื่ออะไร มาจากไหน เรียนเมื่อไหร่ ทำไมอยากสอบ”
สามเณรน้อยรูปนั้นตอบอย่างฉาดฉานว่า “ผมชื่อโดมครับ เรียนชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนทีปังกรฯ (วัดโบสถ์) ช่วงนี้ปิดเทอมมีเวลาว่างจึงบวชพักร้อน เมื่อคืนผมอ่านหนังสือให้พี่เณรที่เข้าสอบในวันนี้ฟัง ผมจำได้ ถ้าเข้าสอบผมคงสอบได้ หลวงพ่อให้ผมสอบนะครับ”
อาจารย์ใหญ่จึงบอกว่า "เอาอย่างนั้ก็แล้วกัน เณรโดมอ่านหนังสือให้หลวงพ่อฟังก่อน ถ้าอ่านได้หลวงพ่อจะให้สอบ"จากนั้นก็ยื่นหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นชั้นตรีให้ สามเณรโดม เริ่มต้นอ่านด้วยความสนใจ แต่พอผ่านไปสักพัก ก็หันมาถามว่า อันนี้อ่านว่าอย่างไร เมื่อหันไปดูเห็นเป็นภาษาบาลีที่หากคนไม่ได้เรียนมาก่อนก็อ่านไม่ออก
สามเณรโดมก้มหน้าอ่านต่อไปอย่างตั้งใจ แต่ไม่นานก็วางหนังสือลง ก่อนจะบอกว่า “ผมไม่สอบแล้วครับ ปีหน้าผมจะมาบวชกับหลวงพ่อและจะเข้าสอบนักธรรมให้ได้”
อาจารย์ใหญ่จึงบอกว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันสามเณรโดมไม่ต้องเข้าสอบ แต่ปีนี้หลวงพ่อตั้งให้เป็นกรรมการคุมห้องสอบ นักเรียนรูปไหนขาดเหลืออะไรให้ยกมือขึ้น สามเณรโดมก็เป็นกรรมการคอยดูแลนักเรียน”
สามเณรโดมยิ้มอย่างอารมณ์ดี จากนั้นก็เดินไปหน้าห้องสอบและประกาศด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “ใครขาดเหลืออะไรขอให้ยกมือขึ้นครับ ผมเป็นกรรมการคุมห้องสอบ” นักเรียนที่กำลังเครียดจากการสอบต่างก็มีรอยยิ้ม ยิ้มจากความไร้เดียงสาและน่ารักของสามเณรโดม สามเณรบวชใหม่ที่พึ่งบวชได้เพียงสามวัน
การศึกษาเป็นงานที่สำคัญ ผู้ที่บวชเข้ามาจะบวชด้วยศรัทธาหรือไม่ด้วยเหตุใดก็ตาม ยังเป็นผู้ใหม่ก็ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในหลักการต่างๆ จากนั้นก็ต้องหากัลยาณมิตร มีอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน ย่อมจะนำไปสู่ความสงบสุขได้ในเวลาไม่นาน ดังที่สุภาษิตของพระอุบาลีที่สอนพระบวชใหม่ถึงสิ่งที่ควรทำดังที่ปรากฎในขุททกนิกาย เถรคาถา (26/317303) ความว่า “ภิกษุผู้ออกบวชด้วยศรัทธา ยังเป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษา พึงคบหากัลยาณมิตรผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน ภิกษุผู้ออกบวชด้วยศรัทธายังเป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษา พึงเป็นผู้ฉลาดอยู่ในสงฆ์ ศึกษาวินัยด้วยอำนาจการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ ภิกษุผู้ออกบวชด้วยศรัทธา ยังเป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษา พึงเป็นผู้ฉลาดในสิ่งควรและไม่ควร ไม่ควรถูกตัณหาครอบงำเที่ยวไป”
การศึกษามาจากภาษาบาลีว่า “สิกขา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์ แปลว่า “การศึกษา ข้อควรศึกษา” ส่วนคำว่า “สิกขกามา” เป็นคำคุณนามแปลว่า “ผู้ใคร่ต่อการศึกษา” หากใครที่เป็นผู้นักเรียนนักศึกษาที่มีความเคารพในการศึกษาย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม ดังที่แสดงไว้ในอปริหานิยสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต(22/303/340) ความว่า “ธรรม 6 ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุคือ(1) ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา (2) ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม (3) ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ (4) ความเป็นผู้เคารพในสิกขา (5) ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท (6) ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร
ในสมัยพุทธกาลผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุผู้ใคร่ต่อการศึกษาคือพระราหุล ดังที่แสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต(20/148/25) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราหุล เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษา”
การสอบธรรมสนามวัดเสร็จสิ้นไปแล้ว สามเณรโดมกรรมการคุมห้องสอบหน้าใหม่ได้ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมครบทั้ง 4 วัน นอกจากคุมห้องสอบแล้วสามเณรโดมยังทำหน้าซงน้ำชา กาแฟถวายแด่พระภิกษุรูปอื่นๆอีกด้วย หากสามเณรโดมได้รับการศึกษาที่ดีได้รับการฝึกฝนอบรมที่ดี ในโอกาสข้างหน้าอาจจะมีสามเณรผู้ใคร่ต่อการศึกษารูปใหม่ อนาคตที่ดีส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจุบัน หากทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อนาคตก็สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ ปัจจุบันกำหนดอนาคต
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/10/56