กลับจากอินเดียแดนพุทธภูมิได้เพียงสองวันยังไม่หายไข้จากอากาศร้อน ก็ได้ยินเสียงเพลงวันสงกรานต์ดังมาจากแทบทุกทิศทุกทาง จะไปไหนมาไหนก็ได้ยิน เสียงเพลงวันสงกรานต์ฟังแล้วสนุกสนาน และบ่งบอกว่าปีนี้วันสงกรานต์เริ่มต้นขึ้นแล้ว คนไทยนั้นชอบการละเล่นเน้นที่ความเพลิดเพลินหรรษา ในขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงความเป็นคนรักเสรีอันเป็นการบ่งบอกถึงอุปนิสัยของคนไทยซึ่งมีลักษณะพิเศษ พอสรุปได้ดังนี้ “คนไทยนั้นมีจิตเมตตาน่าสรรเสริญ ชอบเพลิดเพลินชอบหรรษา รักเสรีมีปัญญา รักษาประเพณี” พุทธศาสนิกชนกำลังทยอยเข้ามาในบริเวณวัด จนศาลาการเปรียญแน่นขนัด วันนี้ทุกคนต่างก็ตั้งใจมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ
ตามธรรมเนียมของวันสงกรานต์จะต้องมีประกาศสงกรานต์ซึ่งในแต่ละปีจะมีนางสงกรานต์ไม่ซ้ำกัน เพราะแต่ละนางอยู่ประจำในเจ็ดวัน ยกเว้นแต่บางปีวันสงกรานต์อาจจะตรงกัน นางสงกรานต์อาจจะจะต้องทำหน้าที่ติดต่อกัน
วันสงกรานต์ ในปีพุทธศักราช 2556 ตรงกับจุลศักราช 1375 วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน เวลา 1 นาฬิกา 58 นาที 48 วินาที ซึ่งตรงกับเวลา 2 นาฬิกา 16 นาที 48 วินาที ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย
นางสงกรานต์นามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช(ทับทิม) ภักษาหารอุทุมพร(ผลมะเดื่อ) หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตร(นอนหลับตา) มาเหนือหลังครุฑ เป็นพาหนะ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ ศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า
เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ อาโป(ธาตุน้ำ) น้ำมาก น้ำท่วม
เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะเส็ง นาคราชให้น้ำ 1 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล
เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล
วันเถลิงศก ตรงกับ วันอังคารที่ 16 เมษายน เวลา 5 นาฬิกา 56 นาที 24 วินาที ตรงกับเวลา 6 นาฬิกา 14 นาที 24 วินาที ตามมาตรฐานประเทศไทย
คำทำนายวันสงกรานต์ วันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ทำนายว่าไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล ฯ วันจันทร์ เป็นวันเนาทำนายว่าเกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ
วันอังคารเป็นวันเถลิงศกทำนายว่าอำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล ฯ นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา)ทำนายว่าพระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
กาลโยค ประจำปีจุลศักราช 1375 ทำนายว่าพฤหัสบดีเป็นวันธงชัย วันอาทิตย์เป็นวันอธิบดี วันพุธเป็นวันอุบาทว์ วันอังคารเป็นวันโลกาวินาศ
นั่นเป็นเกณฑ์ตามประกาศวันสงกรานต์ขอประจำปีพุทธศักราช 2556 สงกรานต์นั้นในอดีตนอกจากสาระสำคัญจะอยู่ที่การเปลี่ยนปีใหม่แล้ว ยังเป็นการให้ความสำคัญกับการเล่นน้ำ น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญวันสงกรานต์ ธรรมชาติของน้ำนั้นสรุปได้คือ “น้ำมีความเย็น แสดงให้เห็นความสามัคคี มีความสะอาด ธรรมชาติสดชื่น”
น้ำมีความเย็น เดือนเมษายนสำหรับประเทศไทยเป็นเดือนที่อากาศร้อนอบอ้าวที่สุด ความร้อนจะดับได้ก็ต้องอาศัยความเย็น คนโบราณคงคิดหาวิธีในการดับความร้อนด้วยการเล่นน้ำ ครั้นจะเล่นหรืออาบเพียงคนเดียวก็คงไม่มีความสำคัญอะไร แต่หากเล่นกันทั้งประเทศ การละเล่นนั้นก็จะกลายเป็นประเพณีเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ อินเดียเขาเล่นสงกรานต์สีโดยใช้สีต่างๆทาที่ตัวของผู้คนที่เดินผ่านไปมา เล่นกันอย่างสนุกสนาน บางคนถูกป้ายสีจนดูไม่ออกว่าเสื้อผ้าชุดเดิมสีอะไร ส่วนประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์มักจะเล่นสงกรานต์ด้วยการสาดน้ำ เพื่อดับความร้อน เมื่อทุกคนเล่นน้ำเหมือนกัน การละเล่นนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วม หากใครเดินทางไกลๆในเวลาที่มีเปลวแดดแผดเผา พอถึงที่พักมักจะนึกถึงน้ำเย็นๆสักขวดพอได้สัมผัสดื่มแล้วจะทำให้รู้สึกสดชื่น ในทำนองเดียวกันหากใครได้เล่นน้ำก็จะเป็นเหมือนกับหนีร้อนมาพึ่งเย็น
แสดงให้เห็นความสามัคคี การเล่นน้ำนอกจากจะแสดงออกถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังแสดงออกถึงความสามัคคีของประชาชนในชาติได้ด้วย เพราะในวันสงกรานต์ทุกคนที่ถูกสาดน้ำจะไม่แสดงอาการโกรธ ถึงแม้บางครั้งจะไม่พอใจ แต่เมื่อเป็นประเพณีทุกอย่างจึงให้อภัยกันได้ โกรธเก็บไว้ข้างในยิ้มไว้ข้างนอก ในวันสงกรานต์จึงมีคนทุกเพศทุกวัยละเล่นร่วมกัน ทั้งเด็ก คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่เล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ได้ เด็กๆรดน้ำผู้ใหญ่เสร็จแล้วก็สาดน้ำจนเปียกปอนก็ย่อมทำได้
น้ำมีความสะอาด ธรรมชาติของน้ำมีความสะอาดอันเป็นเครื่องชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งหลายให้สะอาดได้ เสื้อผ้าอาภรณ์ทั้งหลายหากไม่ได้ซักย่อมสกปรก แต่พอซักล้างด้วยน้ำแล้วก็กลับสะอาดน่าสรวมใส่ แม้ว่าจิตใจมนุษย์จะล้างด้วยน้ำไม่ได้ แต่ก็ล้างด้วยธรรมะได้ ในอินเดียมีความเชื่อเกี่ยวกับการอาบน้ำชำระบาป หากใครได้อาบน้ำที่แม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีจะได้รับการชำระบาป แต่ในพระพุทธศาสนา ได้แสดงถึงการอาบน้ำในพระศาสนาดังที่ปรากฎ ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์(12/98/50) ความว่า “คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาดย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้” น้ำมีไว้เพื่อชำระล้างร่างกายให้สะอาด ส่วนธรรมะมีไว้ชำระใจให้ใสบริสุทธิ์
น้ำมีธรรมชาติสดชื่น คนที่ทำงานกลางเปลวแดดร้อนเหงื่อไหลโทรมกาย พอได้อาบน้ำชำระกายจะรู้สึกสดชื่นสบายกายสบายใจ โลกมนุษย์นี้จึงขาดน้ำไม่ได้ แต่ต้องมีในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากมากเกินไปก็วุ่นวายเพราะน้ำท่วม แต่หากมีน้อยเกินไปก็จะแล้ง พืชพันธุ์ธัญญาหารแห้งเหี่ยวล้มตาย การใช้น้ำจึงควรอยู่ในปริมาณที่พอดี การเล่นน้ำในวันสงกรานต์ก็เฉกเช่นเดียวกัน เล่นพอประมาณเพื่อคลายร้อนพักผ่อนในวันหยุด และสืบสานประประเพณีไว้
เสียงโทรศัพท์จากเบอร์ที่คุ้นเคยแทรกเข้ามา ปลายสายเป็นเสียงของแม่ซึ่งบอกว่าโทรมหาหลายครั้งแล้วไม่มีใครรับสาย เพราะอยู่ในช่วงเดินทางไปอินเดีย ซึ่งไม่ได้บอกแม่ ตามปรกติสงกรานต์ทุกปีหากไม่มีอะไรขัดข้องจะเดินทางกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้านเกิด รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ และพาพวกหลานๆของยายมารดน้ำดำหัว ดังนั้นสงกรานต์จึงเป็นวันรวมญาติ เสียงโทรศัพท์แม่บอกว่าคิดถึงโทรมาเมื่อไหร่ก็ไม่รับสาย เป็นห่วงว่าลูกชายจะมีอันตรายหรือไม่สบายจึงโทรศัพท์มาถามข่าว ช่วงนี้รถโดยสารคงพอมีที่ว่างถนนคงโล่งบ้างแล้ว ได้เวลาออกเดินทางไปรดน้ำดำหัวโยมแม่ในวันสงกรานต์อีกปี
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/04/56