ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

                เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีวันสำคัญอย่างน้อยสามวัน คือวันตรุษจีน วันวาเลนไทน์ และวันมาฆบูชา แต่ละวันมาจากลัทธิความเชื่อต่างกัน ตรุษจีนเป็นประเพณีความเชื่อของคนจีน วาเลนไทน์เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของคริสต์ศาสนา และวันมาฆบูชาวันสำคัญของพระพุทธศาสนา ผู้คนของสามวัฒนธรรมความเชื่อจึงมีโอกาสเฉลิมฉลองในเดือนเดียวกัน หากผู้คนทั้งสามลัทธิความเชื่ออยู่ในประเทศเดียวกันก็มีโอกาสได้ร่วมงานจากสามศาสนาในเดือนเดียวกัน โดยเฉพาะคนไทยมีผู้คนจากหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกัน

                วัฒนธรรมจีนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกไปแล้ว ในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงมีข่าวเกี่ยวกับชาวจีนเดินทางกลับบ้านเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองวันตรุษจีนกันอย่างคับคั่ง บางแห่งถึงกับไม่มีรถยนต์หรือรถไฟในการเดินทาง เพราะที่นั่งทุกเที่ยวเต็มไปด้วยผู้โดยสารที่กำลังเดินทางกลับบ้าน บางคนถึงกับต้องใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทาง แม้จะใช้เวลานานกว่าปรกติถึงสองเท่าแต่ก็ต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้
                คนจีนนับถือศาสนาอะไรนั้นยากจะให้คำตอบ เพราะมีหลายความเชื่ออยู่ในสังคมเดียวกัน จนมีนักวิชาการตะวันตกมองว่า “คนจีนสนใจศาสนาน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนชาติอื่น ศาสตราจารย์เติร์ก บอดด์ เขียนไว้ในบทความเรื่องความคิดที่มีอิทธิพลต่อการก่อตัวของวัฒนธรรมจีนว่า “คนจีนไม่ได้ถือความคิดทางศาสนาและกิจกรรมทางศาสนาเป็นส่วนสำคัญที่สุดและน่าหลงใหลที่สุดในชีวิต พื้นฐานจิตวิญญาณของวัฒนธรรมจีนคือจริยธรรม มิใช่ศาสนา” (เฝิงอิ่วหลัน,ส.สุวรรณ แปล,ปรัชญาจีน,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,2553,หน้า 12.)

                ในหนังสือเล่มเดียวกัน เฝิงอิ่วหลัน ยังเสนอความเห็นว่า “แท้จริงคนจีนก็เหมือนคนชาติอื่นๆ ที่มีความปรารถนาจะแสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือชีวิตภพปัจจุบัน คนจีนไม่ค่อยสนใจศาสนา เพราะเขาสนใจปรัชญา เขาไม่เป็นพวกศาสนา เพราะเขาเป็นพวกปรัชญา เขาได้รับความพอใจจากการแสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือชีวิตภพปัจจุบันจากปรัชญา เขาแสดงออกและชื่นชมคุณค่าเหนือจริยธรรมทางโลก การดำเนินชีวิตตามปรัชญาทำให้สัมผัสทดสอบคุณค่าเหนือจริยธรรมทางโลกด้วยตนเอง” (เล่มเดียวกัน,หน้า 13)
                “วันตรุษจีน” เป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุด ในประเทศจีน ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เพราะฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีนเริ่มต้นด้วยวันลีชุน ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคติของปีปฏิทินจีน วันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งคล้ายกันกับงานเทศกาลของตะวันตก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่หนึ่ง เดือนหนึ่ง ในปฏิทินจีนโบราณและสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ คืนก่อนตรุษจีนเป็นวันซึ่งครอบครัวจีนมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า “ฉูซี่” หรือ “การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน” เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบสุริยจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า “วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ”

                วันขึ้นปีใหม่หรือวันรวมญาติของคนจีน ตรุษจีนจึงน่าจะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับมนุษย์ ในทางปรัชญาอาจจะเรียกว่า “ปรัชญาโลกิยะ” หรือเรื่องของชาวโลก เรื่องของสังคม  ในโลกทางตะวันออกมีปรัชญาสองสายที่มีอิทธิพลสำหรับชาวโลกคือปรัชญาอินเดียและปรัชญาจีน อินเดียมักจะมีคำสอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า ต้องหลีกลี้จากตาข่ายทางโลก ต้องปลีกตัวจากสังคม ปรัชญาอินเดียเป็นประเภท “โลกุตตระ”
                ในหนังสือปรัชญาจีน เฝิงอิ่วหลันเขียนไว้ว่า “นักปรัชญาพุทธบอกว่า “การมีชีวิตเป็นบ่อเกิดของความทุกข์” เพลโตบอกว่า “ร่างกายเป็นคุกตะรางของวิญญาณ” นักปรัชญาเต้าบางคนบอกว่า “การมีชีวิตเหมือนเป็นฝี การตายเหมือนเจาะฝีแตก” นักวิชาการหลายคนจึงมองว่าปรัชญาจีนคือปรัชญาโลกิยะ สิ่งที่ปรัชญาจีนเน้นหนักคือสังคม มิใช่จักรวาลคือความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก มิใช่นรกสวรรค์คือชีวิตในภพนี้ มิใช่ชีวิตในภพหน้า (หน้า 15)
                มีคำสอนของขงจื่อบทหนึ่งที่กล่าวถึงลำดับขั้นตอนในการพัฒนาตนของตัวท่านเองว่า “เมื่อข้าพเจ้าอายุสิบห้าก็มีจิตมุ่งใฝ่หาหลักธรรม อายุสามสิบก็ยืนหยัดตั้งตัวได้ อายุสี่สิบก็ไม่สับสน อายุห้าสิบรู้ประกาศิตสวรรค์ อายุหกสิบทำตามประกาศิตสวรรค์ อายุเจ็ดสิบทำตามใจชอบโดยไม่ผิดจริยธรรม” (เฝิงอิ่วหลัน,ส.สุวรรณ แปล,ปรัชญาจีน,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,2553,หน้า 49)

              ในขณะที่เหลาจื่อมีคำสอนบทหนึ่งว่า “สรรพสิ่งในโลกเกิดจากมี มีเกิดจากไม่มี” (หน้า127) อันนี้เข้าใจยากหน่อย อะไรคือมี อะไรคือไม่มี
                ขงจื่อจึงมีขั้นตอนในการพัฒนาตนจนประสบความสำเร็จ คำสอนของท่านได้กลายมาเป็น “วัฒนธรรมความเชื่อ” ของคนจีน คำสอนของขงจื่อจึงแทรกอยู่ในประเพณีต่างๆของคนจีน
                สมัยเป็นหนุ่มเคยทำงานกับคนจีนตอนนั้นอายุยังไม่ถึงยี่สิบปี หากปฏิบัติตามคำสอนของขงจื่อน่าจะเริ่มมุงหาหลักธรรม แต่ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการเล่นงิ้ว ในเทศกาลตรุษจีนก็จะได้รางวัลเป็นซองสีแดงที่มีเงินบรรจุอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก บางครั้งมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับเสียอีก ไม่รู้ว่าเขาคำนวณจากอะไร ในแต่ละปีพนักงานที่เป็นลูกจ้างของคนจีนจึงต้องรออั่งเปาคือซองสีแดงเป็นรางวัล ซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะคิดทำอะไรได้ตามสิ่งที่ตนตั้งความหวังไว้
                สมัยนั้นผู้เขียนทำงานเป็นเด็กเล่นงิ้วที่โรงงิ้วแถวเยาวชราช ยุคนั้นมีโรงงิ้วอยู่สองโรง แสดงทุกวันในช่วงเวลาเย็นๆ บางวันแม้จะมีคนดูเพียงไม่กี่คนแต่ก็ต้องแสดง ตอนนั้นรับบทเป็นทหารถือหอกหรือดาบยืนอยู่ข้างๆตัวเอกของเรื่องไม่ต้องพูดอะไรเพียงแต่แสดงอาการยกหอกยกดาบไปตามเรื่อง หรือบางครั้งอาจจะมีฉากการต่อสู้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร ยกดาบขึ้นสัมผัสกับคู่ต่อสู้สองสามครั้งก็เก็บฉาก จึงเคยมีประวัติเป็นคนเล่นงิ้วกับเขาอยู่ช่วงเวลาสั้นๆ หากพัฒนาฝีมือการแสดงมากหน่อยก็จะมีบทพูดสองสามคำและมีบทการต่อสู้มากขึ้น บางคนจากทหารถือหอกภายหลังได้กลายเป็นตัวเอกของเรื่องก็มี

                หากเป็นการเปิดการแสดงนอกโรงงิ้วคือในการเทศกาลต่างๆก็จะมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือเด็กยกของ เด็กจัดเตรียมเวทีการแสดงและตัวแสดงไปพร้อมกัน รายได้เขาจ่ายเป็นเงินเดือน  หากจำไม่ผิดตอนนั้นได้เงินเดือนๆละหนึ่งพันห้าร้อยบาท เมื่อรวมกับค่าอื่นๆรายได้ก็จะตกประมาณเดือนละสองถึงสามพันบาท นั่นเป็นรายได้เมื่อสามสิบปีที่แล้ว
                แม้จะผ่านเยาวราชหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยไปเยี่ยมโรงงิ้วที่ว่านั่นอีกเลย ไม่รู้ว่ายังอยู่หรือเลิกกิจการไปแล้ว เยาวราชในสมัยนั้นจึงพลุกพล่านไปด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพ พอถึงวันตรุษจีนก็จะมีงานเลี้ยงพนักงานอย่างยิ่งใหญ่และแถมอังเปาให้อีกคนละซอง ดังนั้นพนักงานลูกจ้างคนจีนทั้งหลายจึงชอบวันตรุษจีนเป็นที่สุด ทั้งได้กินอิ่ม มีเงินใช้แถมมีวันหยุดติดต่อกันอีกหลายวัน
                วันเวลาผันผ่านเหมือนม่านฝัน ผ่านมาผ่านไป ชีวิตนี้ไม่มีอะไรต้านทาน คาดหวังอนาคตไม่ได้ ที่เคยคาดหวังว่าจะได้เป็นคนเล่นงิ้วเป็นตัวเอกในการแสดงก็ไม่ได้เป็น เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน จำต้องละทิ้งสิ่งต่างๆไป เหมือนกับที่พระรัฐปาลได้แสดงธัมมุทเทสไว้ในรัฐปาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/446/309) ตอนหนึ่งว่า “โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อสฺสโก โลโก สพฺพํ ปหาย คมนียํ”

                อดีตจึงเหมือนลมพัดผ่าน ย้อนเวลากลับไปหาอดีตไม่ได้ แต่ย้อนความทรงจำได้ ดวงอาทิตย์เมื่อขึ้นถึงเที่ยงแล้วก็จะเริ่มคล้อยต่ำลงเรื่อยๆ เหมือนสรรพชีวิตที่เมื่อขึ้นถึงจุดกึ่งกลางชีวิตแล้วก็จะเริ่มคล้อยต่ำและลับหายไปจากฟากฟ้า ดวงอาทิตย์ดวงเดิมยังมีโอกาสโผล่ขึ้นมาทักทายโลกอีกในเช้าของวันใหม่ แต่สรรพชีวิตเมื่อหมดลมหายใจก็ไม่มีวันที่จะย้อนกลับคืนมามีชีวิตอีกเลย แม้จะเวียนว่ายตายเกิดใหม่ก็จะมาในร่างใหม่มิใช่ร่างเดิม สรรพสัตว์พึ่งพาอาศัยโลกได้เพียงชั่วครู่ยาม ไม่นานก็ต้องจากลาโลกนี้ไป
                เด็กเล่นงิ้วในอดีตเมื่อสามสิบปีก่อนได้ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนเป็นปีสุดท้าย ปีนั้นบอกลาโรงงิ้วและบรรดาเพื่อนฝูงเพียงสั้นๆว่าจะกลับบ้านไปไหว้บรรพบุรุษ จากวันนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ได้กลับไปที่โรงงิ้วอีกเลย เพราะตั้งแต่วันนั้นมาก็หลบอยู่ภายใต้ความสงบร่มเย็นของร่มกาสาวพัตร แต่ยังคงไหว้บรรพบุรุษทุกปี ไหว้โดยไม่มีเทศกาล


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
07/02/56

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก