สองสามวันมาแล้วลมหนาวกรรโชกแรงหอบเอาความหนาวเย็นมาเยือน ในขณะเดียวกันกับฝุ่นละอองทั้งหลายก็ปลิวมาตามแรงลมด้วย หนาวลมอย่างนี้ต้องหาผ้าห่ม ที่หากเป็นฤดูกาลปรกติก็จะเก็บซ่อนไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่ได้นำออกมาใช้ แต่พอความหนาวเริ่มขึ้นเมื่อใด ผ้าห่มก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหามาไว้ป้องกันความหนาว เสียงเพลงจากที่แห่งใดแห่งหนึ่งลอยมาตามสายลม”หนาวลมเขาว่าให้ห่มผ้า หนาวฟ้าเขาว่าให้ผิงไฟ” เพลงนี้เก่ามากแล้ว จำได้ว่าเคยฟังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้ปัจจุบันจะมีผู้นำมาร้องใหม่หลายครั้ง แต่ทว่าเนื้อหาของเพลงยังทันสมัย หนาวมาครั้งใดใจคิดอดีต
ค้นหาผ้าห่มมาห่มกันหนาว บังเอิญมีผ้าห่มเก่าๆผืนหนึ่งที่เก็บซุกซ่อนในผ้าจีวร ไม่ได้ใช้ผ้าห่มผืนนั้นถูกลืมเลือนมานานหลายเดือนแล้ว จึงหยิบขึ้นมาพิจารณาถึงแม้จะเก่าใช้มานานหลายปี แต่ก็ยังมีคุณภาพใช้งานได้ ผ้าห่มผืนนั้นมีอดีต มีความทรงจำ
หลายปีมาแล้ว เช้าวันหนึ่งที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา อินเดีย ดินแดนที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ช่วงที่แม่น้ำคงคาไหลผ่านเมืองพาราณสีนั้นหากใครได้อาบน้ำในแม่น้ำคงคาเชื่อกันว่าจะเป็นการล้างบาป หลังจากอาบน้ำแล้วบาปเก่าจะเบาบางลง เพราะความเชื่ออย่างนี้ ในแต่ละวันจึงมีชาวฮินดูพากันมาอาบน้ำวันละหลายหมื่นคน หากเป็นช่วงงานเทศกาลบางวันอาจเป็นแสนคนล้านคน
ฝูงคนที่คลาคล่ำในเช้าวันนั้น ดวงอาทิตย์ค่อยๆโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าเบื้องบุรพทิศกระทบกับสายน้ำที่เอื่อยไหล มีเรือโดยสารที่นำพาผู้คนนั่งเรือชมความงามอีกหลายลำ ส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างถิ่น ทุกคนตั้งใจที่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศยามเช้ากลางแม่น้ำคงคา บางคนเอามือวักน้ำขึ้นล้างหน้า บางคนถ่ายภาพอย่างเพลิดเพลินพยายามเก็บบันทึกภาพความงดงามนั้นไว้ให้มากที่สุด
วันนั้นเช่าเรือลำหนึ่งตั้งใจว่าจะลองอาบน้ำชำระบาปดูสักครั้ง แต่ไม่อยากอาบที่ใกล้ฝั่ง ต้องการอาบกลางแม่น้ำ อย่างน้อยน้ำคงสะอาดพออาบได้ ไม่ได้เชื่อในการล้างบาปตามความเชื่อของชาวฮินดูแต่ประการใด แต่อยากรับรู้ถึงพลังศรัทธาและความเย็นของน้ำว่ามีรสชาติเป็นประการใด ช่วงนั้นเป็นนักบวชพเนจรอาศัยหอพักพระนักศึกษาไทยในเมืองพาราณสีเป็นสถานที่พักพิง จึงไม่ใช่เดินทางอย่างนักท่องเที่ยวแต่กำลังแสวงหาที่ศึกษาต่อ จึงมีเวลาเดินชมเมืองพาราณสีได้อย่างไม่จำกัดเวลา
คนแจวเรือค่อยๆพาเรือเลาะเลียบตามริมฝั่งค่อยๆหันหัวเรือออกไปยังกลางกระแสน้ำ มองไปยังสถานที่อันเป็นที่เผาศพซึ่งยังมีควันลอยกรุ่นเป็นระยะ ลอยเป็นหย่อมๆเพราะเมรุเผาศพมีหลายแห่ง แต่รวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน จึงบอกให้คนแจวเรือพายเรือเข้าไปใกล้อีกนิดจะได้ถ่ายภาพได้สะดวก
คนแจวเรือบอกว่า “ไม่ได้ครับเขาห้ามถ่ายภาพในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์”
จึงบอกคนแจวเรือว่า “ไม่มีเจตนาจะหลบหลู่ แต่อยากได้ภาพไว้เพื่อเตือนใจตัวเองว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายเหมือนกัน จะได้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่มาท ต้องการถ่ายภาพเพื่อเป็นอนุสรณ์เท่านั้นไม่ได้นำไปใช้ในเชิงการค้าแต่ประการใด จะเพิ่มค่าเช่าให้อีกหนึ่งร้อยรูปี”
คงเพราะประโยคสุดท้าย คนแจวเรือจึงค่อยๆนำพาเรือเข้าไปใกล้สถานที่ที่เรียกว่า “มรณสถาน” จากนั้นก็เลิกเช่าเรือปล่อยให้เขากลับไป เดินขึ้นฝั่งนั่งผิงไฟกับนักบวชท่านหนึ่งใกล้ๆกับสถานที่เผาศพนั่นเอง เขาเพ่งมองมาที่ชุดที่กำลังใส่อยู่ซึ่งเป็นเพียงผ้าจีวรบางๆผืนหนึ่งซึ่งมีบางส่วนเปียกน้ำ นักบวชคนนั้นหยิบผ้าห่มขึ้นมาผืนหนึ่งและบอกในลักษณะว่าให้ห่มและยกให้เป็นของขวัญ ตอนนั้นไม่ได้คาดคิดว่าจะมีนักบวชที่พร้อมจะสละสิ่งของๆตนให้แก่นักบวชนอกศาสนา เท่าที่ได้รับฟังมาแม้จะเป็นนักบวชก็จะไม่ให้สิ่งของแก่ใครง่ายๆ ยิ่งเป็นคนต่างชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงหยิบเงินรูปีขึ้นมาวางลงตรงหน้าในลักษณะของการแลกเปลี่ยน
นักบวชท่านนั้นผงกศีรษะ หากเป็นประเพณีไทยก็ต้องบอกว่ายอมรับ แต่หากเป็นประเพณีของคนอินเดีย การผงกศีรษะคือการปฏิเสธ เขาพยายามอธิบายในทำนองว่า “ผมถวายผ้าห่มผืนนี้แก่ท่านเป็นบรรณาการที่มาเยือนอินเดีย ผมไม่ได้ขาย ผ้าห่มผืนนี้มีคฤหบดีท่านหนึ่งถวายมา แต่ผมไม่จำเป็นต้องใช้ อีกอย่างชีวิตนักบวชอย่างผมต้องร่อนเร่พเนจรเดินทางไปเรื่อยๆ ต้องมีความเบา หากจะถือสิ่งของอะไรติดมือไปด้วยต้องไม่หนักเกินไป ผมสละชีวิตแล้วอยู่ในปรัชญาที่ชาวอินเดียถือว่าเป็นช่วง “สันยาสี” ผมพึ่งมาจากฤาษีเกต เป็นทางเข้าภูเขาหิมาลัย ที่นั่นหนาวกว่านี้มาก ผมมาดูสถานที่ตาย ผมกำลังจะตาย จึงตั้งใจว่าจะมาทิ้งร่างไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้”
นักบวชชราท่านนั้นสาธยายด้วยน้ำเสียงกระท่อนกระแท่น ความรู้สึกตอนนั้นรู้สึกอายตัวเองที่ตีค่าความเป็นมิตรด้วยทรัพย์สินเงินทอง กล้องที่ถืออยู่ในมือแทบจะล่วงหลุดจากมือในช่วงขณะเวลานั้น นักบวชผู้พเนจรคล้ายกัน แต่มีถิ่นฐานต่างกัน นักบวชที่จำแนกลัทธิไม่ถูกท่านนั้น สละปล่อยวางชีวิตในมนุษยโลกนี้ เขากำลังมองเห็นแสงสีทองจากรรวิวารที่สถิตย์อยู่เหนือแม่น้ำคงคา อีกฟากฝั่งตรงข้ามจึงกลายเป็นเหมือนแสงสีทองงดงามจับตาประดุจประกายรัศมีที่เปล่งออกมาจากสรวงสวรรค์ กำลังยื่นมือมารับดวงวิญญาณของผู้ที่นอนรอมรณะที่กำลังจะมาถึง ณ ฟากฝั่งตรงข้าม เป็นมรรคาแห่งชีวิตในช่วงสุดท้าย
เมื่อรับผ้าห่มจากนักบวชชรารูปนั้นแล้วคลี่ห่มให้ดูในทันใด เห็นรอยยิ้มจากนักบวชท่านนั้นเหมือนกับว่าได้ทำการบริจาคอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต จึงยื่นเงินให้นักบวชรูปนั้นใหม่อีกครั้งพร้อมทั้งบอกว่า "อาตมาไม่ได้ซื้อผ้าห่ม แต่บริจาคเป็นค่าฟืนสำหรับเผาศพก็แล้วกัน" นักบวชชรารูปนั้นยังมีใบหน้าที่เจือด้วยรอยยิ้มในขณะที่ยื่นมือมารับเงินบริจาคนั้นไป
ปรัชญาชีวิตของชาวฮินดู เชื่อกันว่าชีวิตแบ่งออกเป็นสี่ช่วงเรียกว่า “อาศรม” เป็นขั้นตอนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตามหลักความเชื่อชาวฮินดู ได้แก่ “พรหมจรรย์ คฤหัสถ์ วนปรัสถ์ สันยาสี” หรือแบ่งช่วงอายุตามหน้าที่และการงานช่วงแรกศึกษาเล่าเรียน จากนั้นครองเรือนมีครอบครัวเรียกว่าช่วงคฤหัสถ์ ช่วงที่สามเรียกว่าวนปรัสถ์ แสวงหาหนทางโดยการเดินทางไกลทดสอบศึกษาชีวิตตามป่าเขาลำเนาไพร และช่วงสุดท้าย “สันยาสี” ออกบวชหลังจากออกไปบำเพ็ญธรรมอยู่ในป่าพอสมควรแล้ว หากมีศรัทธาแก่ กล้าจะเสียสละทุกอย่าง ปล่อยวางเสียสละทุกสิ่งเพื่อปฏิบัติตนรอความตายในขั้นสุดท้ายของชีวิต
พระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องเกี่ยวกับความตายไว้มากมาย ให้พิจารณาความตายเป็นเรื่องธรรมดา เรียกว่า “มรณธมฺมตา เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเนืองๆ พิจารณาเป็นประจำ อันจะทำให้ไม่เผลอตนตั้งอยู่ในความประมาทเรียกว่า “อภิณฺหปจฺจเวกฺขณ” ดังที่แสดงไว้ในฐานสูตร (22/57/81) ความว่า “สัตว์ทั้งหลายย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามธรรมดา พวกปุถุชนย่อมเกลียด ถ้าเราพึงเกลียดธรรมนั้น ในพวกสัตว์ผู้มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราผู้เป็นอยู่อย่างนี้ เรานั้นเป็นอยู่อย่างนี้ ทราบธรรมที่หาอุปธิมิได้ เห็นการออกบวชโดยเป็นธรรมเกษมครอบงำความมัวเมาทั้งปวงในความไม่มีโรค ในความเป็นหนุ่มสาว และในชีวิต ความอุตสาหะได้มีแล้ว แก่เราผู้เห็นเฉพาะซึ่งนิพพาน บัดนี้ เราไม่ควรเพื่อเสพกามทั้งหลายจักเป็นผู้ประพฤติไม่ถอยหลัง ตั้งหน้าประพฤติพรหมจรรย์”
การพิจารณาความเป็นธรรมดาของชีวิต คือ “แก่ เจ็บ ตาย” มนุษย์หนีแก่ไม่ได้ หนีตายไม่พ้น ทุกคนต้องตายเหมือนกัน การพิจารณาให้เห็นสัจธรรมความจริงจะทำให้เกิดความไม่มาทในการดำเนินชีวิต พระพุทธองค์ทรงแสดงต่อไปว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะ
นั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้”
การพิจารณาความเป็นธรรมดาของชีวิตจึงทำได้ทุกคนโดยไม่จำกัดสถานะ จะเป็นคนธรรมดาหรือนักบวชก็พิจารณาเนืองๆได้เหมือนกัน
ผ้าห่มผืนนั้นเป็นอภินันทการจากเพื่อนนักบวชนอกศาสนาท่านหนึ่ง จึงมักจะนำติดตัวเดินทางไปในที่ต่างๆมานานหลายปีแล้ว เพื่อเป็นสิ่งเตือนจิตเตือนใจว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งเราเองก็ต้องถึงคราวสิ้นชีพเหมือนคนอื่นๆ แม้หลักความเชื่อจะต่างกัน หลักสอนจะต่างกัน มีวิถีปฏิบัติต่างกัน แต่ความเป็นมิตรมิได้แยกศาสนาจะแห่งหนตำบลใด หรือในประเทศไหนมิตรภาพเกิดขึ้นได้เสมอ
ลมหนาวในวันนี้กับลมหนาวที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเมืองพาราณสีในวันที่นั่งผิงไฟอาศัยไออุ่นจากไฟศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชต่างศาสนา ผ้าห่มผืนนั้นยังคงอยู่ ยังเก็บรักษาไว้ คงใช้งานในคราที่เกิดความหนาวเย็น แม้จะเป็นเพียงผ้าผืนเล็กๆบางๆแต่ทว่าเมื่อนำมาห่มครั้งใด ใจพลันหวนระลึกนึกถึงเพื่อนนักบวชชราริมฝั่งแม่น้ำคงคาท่านนั้น หนาวที่เมืองไทยปีนี้ผ้าห่มยังอยู่ คนห่มก็ยังอยู่ แต่นักบวชที่มอบถวายผ้าห่มให้ในวันนั้นคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว คงถูกเผาและทิ้งซากลงแม่น้ำคงคาไปนานแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/01/56