ในฐานะคนสอนหนังสือคนหนึ่งสอนหลายระดับตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี โท เอก สอนแผนกบาลี สอนพระพุทธศาสนาให้แก่นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รับงานบรรยายธรรม แสดงธรรมเดือนละหลายครั้ง จนมีคนเรียกขานว่า “อาจารย์” บ้าง “ครู” บ้าง โดยหน้าที่ปัจจุบันยังเป็นครูใหญ่ สำนักศาสนศึกษา วัดมัชฌันติการาม มีหน้าที่จัดการศึกษา สอนหนังสือวิชาภาษาบาลีให้แก่พระภิกษุสามเณรมานานหลายปี แต่ยังไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นครูจริงๆ วันเสาร์ที่ผ่านมานักศึกษากลุ่มหนึ่งจัดงานวันครูจึงนิมนต์ไปร่วมงานในฐานะ ครูคนหนึ่ง ปัจจุบันอายุมากขึ้นแม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนเรียนภาษาบาลี เพราะยังศึกษาไม่จบในชั้นสูงสุดของการศึกษา แต่อีกฐานะหนึ่งคือกำลังเป็นครูสอนหนังสือมานานหลายปี ส่งนักเรียนถึงฝั่งมาหลายรุ่นแล้วเหมือนคนแจวเรือจ้างที่ไม่รับค่าจ้างจาก ผู้โดยสาร วันนี้วันครูความทรงจำในอดีตย้อนกลับไปคิดถึงครูคนหนึ่งที่เคยสอนการเขียนบท ความ ปัจจุบันครูท่านั้นยังมีชีวิตอยู่อายุ 85 ปีแล้ว
ในชีวิตที่ผ่านมานานหลายปีจนล่วงผ่านมัชฌิมวัยมาแล้วมีครูหลายคน ที่ช่วยแนะนำพร่ำสอนให้วิชาความรู้ และสอนให้ประพฤติตนเป็นคนดี ท่านเหล่านั้นเมื่อส่งนักเรียนถึงฝั่งแล้วก็หมดหน้าที่สำหรับนักเรียนคนนั้น จึงมีคำเรียกขานครูอีกอย่างหนึ่งว่า “เรือจ้าง” ส่งศิษย์ข้ามฟากถึงฝั่งแห่งการศึกษาแล้วก็หมดหน้าที่ แต่ครูมีหน้าที่สำหรับนักเรียนคนอื่นๆต่อไป หน้าที่ครูจึงไม่เคยหมดไปด้วย บางคนสอนวิชาชีพ บางคนสอนวิชาชีวิต ซึ่งใครจะได้ผลอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างทั้งจากส่วนของครูและ ตัวนักเรียนเอง แต่ครูที่เปรียบเหมือนคนแจวเรือจ้างยังคงทำหน้าที่แจวเรือข้ามฟากส่งศิษย์ไป ยังอีกฝั่งต่อไป
วันที่สิบหก มกราคมของทุกปีถือว่าเป็น “วันครู” คำว่า “ครู” มาจากภาษาบาลีว่า “ครุ” เป็นคำนามเพศชายแปลว่าผู้สอน ผู้แนะนำ ผู้ควรเคารพ ปีก ถ้าเป็นคำคุณนามจะแปลว่า ใหญ่ หนัก ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ ผู้ควรได้รับการยกย่อง สำคัญ” ใครที่ถูกเรียกว่าครูจึงต้องมีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวในอะไรง่ายๆ
ส่วนคำว่า “อาจารย์” มาจากคำนามในภาษาบาลีว่า “อาจริย” เป็นคำนามเพศชายแปลว่า “อาจารย์ ผู้ฝึกมารยาท ผู้สั่งสอน ผู้แนะนำ ครูกับอาจารย์แม้จะมีความหมายคล้ายกันและใช้แทนกันได้ แต่ทว่าคำว่า “ครู” จะบ่งไปในทางที่ผู้พูดให้การยอมรับนับถือและยกย่อง ส่วนคำว่า “อาจารย์” มักจะใช้ไปในทางผู้สั่งสอนและผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ยกย่องก็ได้ คนใบ้หวยก็เรียกว่าอาจารย์ได้ แต่เป็นครูไม่ได้
ผู้ที่จะทำหน้าที่ครูตามทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงคุณสมบัติของครูเรียกว่ากัลยาณมิตธรรมดังที่มีปรากฎใน สขสูตร อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต(23/34/33)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเจ็ดประการควรเสพควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ธรรมเจ็ดประการคือภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นผู้ควรสรรเสริญ เป็นผู้ฉลาดพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ปิโย จ โหติ มนาโป จ ครุ จ ภาวนีโย จ วตฺตา จ วจนกฺขโม จ คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โหติ โน จ อฏฺฐาเน นิโยเชติ”
พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าแสดงแก่ภิกษุบอกถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น เป็นกัลยาณมิตร เป็นครู หรือผู้ให้คำแนะนำ คุณสมบัติทั้งเจ็ดประการนี้มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นก็มีความเหมาะสมที่จะเป็นครูของเราได้ เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามมีครูที่จำได้หลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นครูที่ไม่มีวันลืมคือ “ธรรมโฆษ” ครูคนแรกที่สอนและแนะนำในการเขียนบทความ
สมัยหนึ่งผู้เขียนเคยทำงานบรรณาธิการหนังสือประจำมหาวิทยาลัย ตอนนั้นไม่มีความรู้ด้านการเขียนมาก่อน ไม่เคยเขียนบทความ เคยเขียนแต่บันทึกประจำวันซึ่งในแต่ละปีก็เขียนได้ไม่มาก บางเดือนแทบจะไม่ได้เขียนเลย ส่วนงานเขียนอื่นๆไม่ค่อยมี หากเป็นสมัยเริ่มแตกวัยหนุ่มเคยรับจ้างเขียนจดหมายประเภทจีบสาวเล่นๆ จนบางคนได้แต่งงานกันอย่างจริงจังก็เคยมีมาแล้ว ส่วนคนเขียนคงเพราะมัวแต่ประดิษฐ์ถ้อยคำให้คนอื่น เลยไม่ค่อยมีโอกาสเขียนจดหมายของตัวเอง จึงไม่เคยได้แต่งงานมีครอบครัวเหมือนคนอื่นๆเขา
วารสารฉบับนั้นออกติดต่อกันมาหลายฉบับแล้ว ออกมาเป็นรายสองเดือน ปีหนึ่งออกเพียงหกฉบับ ส่วนคนเขียนก็จะเน้นที่อาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนเข้าไปทำงานใหม่ๆเป็นอาจารย์สอนวิชาพระวินัยปิฎกให้แก่นักศึกษาชั้น ปีที่หนึ่ง และสอนวิชาภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนระดับมัธยม ซึ่งก็ไม่ใช่งานที่ยากอะไร ทำหน้าที่ไปตามที่ได้รับมอบหมาย แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อบรรณาธิการของวารสารของมหาวิทยาลัยว่างลง ไม่รู้มีใครเสนอชื่อให้ผู้เขียนเป็นบรรณาธิการวารสารฉบับนั้น จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่างานเข้า เพราะบรรณาธิการไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนจะไปอ่านและแก้ไขงานเขียนของคนอื่น ได้อย่างไร
จึงได้เริ่มฝึกเขียนบทความขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เขียนจบห้าหน้ากระดาษใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์คิดว่าพร้อมที่จะตีพิมพ์ได้แล้วจึงต้องหาคนวิจารณ์ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อโด่งดังท่านหนึ่งนามว่า “ธรรมโฆษ” ผู้เขียนนิยามอิงธรรมะเรื่อง “ลีลาวดี” และงานเขียนอื่นๆอีกมากมาย ช่วงนั้นท่านเกษียณอายุราชการแล้ว เป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชาพระสุตตันปิฎกให้แก่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏ ราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ท่านธรรมโฆษเมตตาอ่านบทความฉบับนั้นให้ ใช้เวลาหนึ่งคืน พอรุ่งเช้าก็เรียกเข้าไปหาพร้อมทั้งเริ่มบทเรียนของการเขียนที่จดใจได้ไม่ เคยลืม
ท่านธรรมโฆษบอกว่า “ท่านมหาฯ เขียนเรื่องอะไร แก่นของเรื่องอยู่ตรงไหน สาระสำคัญคืออะไร บทนำอยู่ตรงไหน บทขยายอยู่ตรงไหน และอะไรคือบทสรุป อะไรคือสิ่งบทความเรื่องนี้ต้องการนำเสนอ”
นักเขียนใหม่พูดไม่ออก ธรรมโฆษส่งต้นฉบับบทความเรื่องนั้นให้พร้อมทั้งมีปากกาสีแดงทั้งขีดเส้นใต้ ทั้งวงกลมหน้าละหลายแห่ง เสียงของท่านธรรมโฆษยังดำเนินไปด้วยน้ำเสียงปรกติว่า “การเขียนบทความต้องมีบทนำ บทขยาย หากจะมีบทขยายก็ขยายต่อไปได้เรื่อยๆอาจจะเรียกว่าบทตั้งและบทขยาย แตกประเด็นออกไปได้หลากหลาย และต้องมีบทสรุปซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับบทนำ ขึ้นต้นบทนำว่าอย่างไรซึ่งส่วนมากมักจะเป็นการตั้งคำถาม บทสรุปจะต้องตอบคำถามนั้นให้ได้ว่าเป็นไปตามที่เปิดประเด็นหรือตั้ง สมมุติฐานไว้หรือไม่ ท่านมหาฯไปแก้ไขตามที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ พรุ่งนี้ค่อยมาคุยกันอีกที”
ยุคสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผิดตรงไหนก็แก้ไขใหม่ได้ แต่ยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดหากมีผิดตรงไหนก็ต้องเริ่มต้นพิมพ์ใหม่หมด ผู้เขียนใช้เวลาแก้ไขบทความเรื่องนั้นเกือบทั้งคืน พอเที่ยงวันก็เข้าพบท่านธรรมโฆษอีกครั้ง พร้อมทั้งมีความมั่นใจว่างานน่าจะสมบูรณ์แล้ว จากห้าหน้ากระดาษลดลงเหลือเพียงสี่หน้ากระดาษ
เวลาผ่านไปประมาณสามชั่วโมง ธรรมโฆษให้คนมาตามไปพบอีกครั้ง จากนั้นก็ถวายน้ำชาหนึ่งถ้วย และเริ่มต้นคำแนะนำอย่างใจเย็นว่า “ท่านมหาฯ มีบทนำ มีบทขยาย และมีบทสรุปแล้ว แม้จะอ่อนไปบ้าง โดยรูปแบบเริ่มเข้าที่แล้ว แต่โดยเนื้อหายังใช้ไม่ได้ จะเขียนเรื่องอะไร ประเด็นอยู่ตรงไหน เขียนไปเรื่อยๆแบบนี้มีบทสรุปก็เหมือนไม่มี ใส่ความเห็นของตนเองมากเกินไป น่าจะมีความเห็นของนักวิชาการที่น่าเชื่อถือมาอ้างอิงให้บทความมีคุณค่าขึ้น บางทีแม้ความเห็นของเราจะดีสักปานใดก็ตาม แต่ความน่าเชื่อถือยังต้องพึ่งพานักวิชาการคนอื่นๆด้วย ไปหาความเห็นของนักวิชาการสักสองสามคนมาอ้างอิงในบทความหรือจะนำสุภาษิตบทใด บทหนึ่งจากพระไตรปิฎกก็ได้มาอ้าง”
ตอนนั้นเริ่มท้อแล้ว ไม่อยากเขียนแล้ว คิดเสียว่าไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่เมื่อย้อนกลับมาคิดอีกทีว่า การได้รับคำแนะนำจากนักเขียนจริงๆที่มีผลงานมากมายอย่างนี้หายาก และการที่ท่านให้คำชี้แนะก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเองคงมีแววในการเขียนอยู่บ้างท่านจึงเมตตาให้คำแนะนำ จึงกลับมาแก้ไขบทความอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่เร่งรีบเหมือนครั้งก่อนค่อยๆคิดทบทวนและเลือกใช้ภาษาที่สละ สลวยขึ้น
เวลาผ่านไปสามวัน เดินสวนทางกับท่านธรรมโฆษอีกครั้ง ท่านยิ้มอย่างอารมณ์ดีและบอกว่า “ผมกำลังรออ่านบทความของท่านมหาฯอยู่นะอย่าพึ่งท้อ เป็นบุรุษต้องพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ หากหยุดตอนนี้ท่านมหาฯอาจจะเขียนบทความไม่ได้อีกเลย”
วันต่อมาจึงนำบทความฉบับนั้นส่งให้ท่านธรรมโฆษดูและแก้ไขอีกครั้ง และไม่ได้คาดหวังอะไรแล้ว ผ่านไปอีกสามวัน ท่านธรรมโฆษจึงส่งบทความให้และมีรอยดินสอแก้ไขอีกเพียงไม่กี่แห่ง ก่อนจะบอกด้วยรอยยิ้มว่า “ท่านมหาฯแก้ไขตามนี้ก็ใช้ได้แล้ว เรื่องนี้เฉพาะการเขียนบทความ ส่วนการเขียนสารคดี นวนิยายต้องคุยกันอีกยาว ข้อปลีกย่อยมีมากกว่า”
เป็นอันว่าการเรียนเขียนบทความกับท่านธรรมโฆษผ่านมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการวารสารของมหาวิทยาลัยประมาณสิบกว่าปี และเขียนบทความมาเรื่อยๆ ครั้งแรกๆก็เขียนตามกฎและคำแนะนำของท่านธรรมโฆษ แต่พักหลังๆกฎเกณฑ์เริ่มเลือนหาย จึงเขียนไปตามอารมณ์และความเข้าใจของตนเอง กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ผสมผสานระหว่างบทความ สารคดี บทรำพึงรำพันหรืออาจะเป็นเรื่องสั้น แต่ผู้เขียนเรียกงานเขียนของตนเองว่า “บันทึกความทรงจำ”
วันนี้ท่านธรรมโฆษหรือชื่อจริงคือศาสตราจารย์เกียรติคุณแสง จันทร์งาม มีอายุแปดสิบห้าปีแล้ว ยังคงแปลหนังสือ สอนหนังสือ เขียนหนังสืออยู่ ผู้เขียนถือว่า “ธรรมโฆษ” คือครูในการเขียนหนังสือ แม้ว่าลูกศิษย์จะยังเขียนหนังสือยังไม่ได้เรื่อง ยังเขียนไม่ค่อยจะเป็นเรื่อง แต่ก็ยังมีความพยายามในการเขียนต่อไป ทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารฉบับใดแล้ว แต่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของและบรรณาธิการประจำอยู่ที่เว็บไซต์ไซเบอร์วนาราม ซึ่งจะครบกำหนดสามปีในเดือนกุมภาพันธ์นี้
เรือจ้างส่งผู้โดยสารข้ามฟากยังอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ก็รับผู้โดยสารจากฝั่งนี้ไปส่งยังฝั่งโน้น เรือจ้างย้อนกลับไปกลับมาวันแล้ววันเล่า ผู้โดยสารหลายคนย้อนกลับมาอีกครั้ง โดยสารเรือลำเดิม ผู้โดยสารต่างก็จดจำคนแจวเรือจ้างได้ อาจจะทักทายบ้างหรืออาจจะมีของฝากบ้าง แต่สำหรับคนแจวเรือมักจะจดจำผู้โดยสารไม่ค่อยได้ เพราะผู้โดยสารมีหลายคน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูก็เฉกเช่นคนแจวเรือจ้างที่ส่งศิษย์ไปยังอีกฝั่งแล้ว ก็เลือน ย้อนกลับมาทำหน้าที่ส่งศิษย์คนอื่นๆต่อไป วันนี้อดีตผู้โดยสารคนหนึ่งเคยนั่งเรือข้ามฟากจากครูคือ “ธรรมโฆษ” เหมือนคนแจวเรือจ้างฟรีที่ไม่รับค่าโดยสารจากผู้ข้ามฟาก ส่วนผู้โดยสารคนหนึ่งเคยนั่งเรือกับครูท่านนั้น แต่ดูเหมือนว่าจะข้ามไปไม่ถึงฝั่ง เหมือนกับว่ากำลังนั่งเรือชมวิวทิวทัศน์ลอยคออยู่ในสายธารแห่งกาลเวลาไม่ยอม ขึ้นฝั่งสักที เพราะอดีตผู้โดยสารเรือในอดีตคนนั้น ปัจจุบันได้กลายมาเป็นคนแจวเรือจ้างเสียเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/01/56