ปีใหม่ผ่านไปได้หลายวันแล้วชีวิตกลับคืนสู่ความเป็นปรกติ เคยดำเนินชีวิตอย่างไรก็คงดำเนินต่อไปอย่างนั้น มีบ้างที่บางคนอาจจะต้องเปลี่ยนงานเปลี่ยนหน้าที่ เปลี่ยนตำแหน่ง บางคนกลายเป็นคนไม่มีงานทำ เพราะโรงงานบางแห่งปิดตัวลง กรรมกรคนงานทั้งหลายต่างก็ดีใจกันถ้วนหน้าเพราะได้รับค่าแรงขั้นต่ำสามร้อยบาท ตามนโยบายช่วยคนจนของรัฐบาลไทย
คืนนั้นดึกมากแล้วปิดไฟเข้านอน แต่ต้องสะดุ้งตื่นอย่างกะทันหัน เพราะมีเสียงดังมากคล้ายเสียงระเบิด เสียงนั้นเหมือนกับจะปรากฏอยู่ข้างๆกุฏิ เสียงดังสองครั้งห่างกันเพียงชั่วเวลาสองสามนาที ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ความหลับจึงต้องสะดุ้งตื่น สอบสวนหาที่มาของเสียงเป็นเพียงรถจักรยานยนต์ที่จอดข้างๆกุฏิ จอดมานานเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่คงได้เวลาที่จะต้องออกเดินทางจึงติดเครื่องยนต์ เสียงดังในท่ามกลางความเงียบนั้น แม้จะเป็นเสียงปรกติเหมือนในเวลากลางวัน แต่พอเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนบรรยากาศอันเงียบสงัด เสียงนั้นจึงดังมากกว่าปรกติเหมือนเสียงปลุกให้ตื่น
ตั้งใจจะสอบถามว่ามาทำอะไรที่นี่ มีปัญหาอะไรไหม ทำไมมาทำให้เกิดเสียงรบกวนคนอื่นเขา แต่ก็ได้เพียงแต่คิดเพราะตามรถคันนั้นไม่ทัน เขาบิดคันเร่งเสียงดังหายเงียบไปทางหน้าวัดและเงียบหายไปในถนนโล่งในคืนที่เงียบสงัด ปล่อยไว้เพียงผู้ที่นอนไม่หลับอีกหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นมีหลวงตาไซเบอร์ฯรวมอยู่ด้วย พอเกิดความสะดุ้ง ตื่นเต้นจิตสะดุ้งนอนไม่หลับต้องนั่งทำใจให้สงบ แผ่เมตตาให้กับผู้ที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ว่าอย่าได้มีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย ขอให้ไปสู่ที่สงบๆเถิด อย่าได้กลับมารบกวนกันอีกเลย ขอให้เดินตามทางของใครของมัน
พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงจิตของมนุษย์มีธรรมชาติคือความสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ บางคนได้ยินเสียงอะไรนิดหน่อยก็สะดุ้ง แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญามีความเพียร สำรวมอินทรีย์และการสละปล่อยวางแล้ว แม้จะมีสิ่งรบกวนก็ยังอยู่อย่างสวัสดีได้ ดังที่แสดงไว้ใน สุพรหมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค(15/266-265/77) ความว่า “ครั้งนั้นสุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า “จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ถ้าเมื่อกิจทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อนั้นแก่ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย”
ในอรรถกถาสุพรหมสูตร หน้า 356 ได้แสดงถึงสาเหตุที่สุพรหมาเทพบุตรเข้ามาทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะเทพบุตรนั้นรู้ตัวว่าจะตายในอีกเจ็ดวันข้างหน้าพร้อมกับเหล่านางเทพธิดาที่เป็นบริวาร มีความโศกจึงได้มาทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า เนื้อความในอรรถกถา มีข้อความสรุปได้ดังนี้ “ได้ยินว่า เทพบุตรนั้นอันเหล่าเทพอัปสรห้อมล้อมแล้ว ไปยังสนามกีฬานันทนวัน นั่ง ณ อาสนะที่จัดไว้ใต้โคนต้นปาริฉัตร เหล่าเทพธิดา 500 นางก็นั่งล้อมเทพบุตรนั้น เหล่าเทพธิดาพากันปีนขึ้นต้นไม้
ถามว่า ก็ต้นไม้แม้สูง 100 โยชน์ ก็น้อมลงมาถึงมือด้วยอำนาจจิตของเหล่าเทวดามิใช่หรือ เหตุไร เทพธิดาเหล่านั้นจึงต้องปีนขึ้นเล่า
ตอบว่า เพราะเทพธิดาเหล่านั้นสนใจแต่จะเล่น แต่ครั้นปีนขึ้นไปแล้ว ก็ขับเพลงด้วยเสียงอันไพเราะทำดอกไม้ทั้งหลายให้หล่นลง เหล่าเทพธิดาที่ไม่ได้ปีนขึ้นไป เก็บดอกไม้เหล่านั้นเอามาร้อยทำเป็นพวงมาลัย
ครั้งนั้น เหล่าเทพธิดาที่ปีนขึ้นต้นไม้ก็ทำกาละ(จุติ)ด้วยอำนาจอุปัจเฉทกกรรมประหารครั้งเดียวเท่านั้น ไปบังเกิดในอเวจีนรก เสวยทุกข์ใหญ่ เมื่อเวลาล่วงไป เทพบุตรก็นึกรำพึงว่า ไม่ได้ยินเสียงเทพธิดาเหล่านั้น ดอกไม้ก็ไม่หล่น เขาไปไหนกันหนอ ก็เห็นไปบังเกิดในนรก เกิดรันทดใจ เพราะความโศกในของรัก จึงดำริว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เหล่าเทพธิดาก็ไปตามกรรม ตัวเราจะมีอายุสังขารเท่าไรกันเล่า เทพบุตรนั้นดำริว่า ในวันที่เจ็ดเราก็จะพึงทำกาละ(ตาย) พร้อมกับเหล่าเทพธิดาห้าร้อยนาง ส่วนที่เหลือพากันไปบังเกิดในนรกนั้นเหมือนกัน รันทดระทมเพราะความโศกที่รุนแรง
เทพบุตรนั้นก็ดำริว่า ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก นอกจากพระตถาคตแล้ว ก็ไม่มี ใครสามารถดับความโศกของเรานี้ได้ จึงไปเฝ้ากล่าวคาถาต่อหน้าพระพัตร์ของพระพุทธเจ้า
เนื้อความในคาถาต้นที่ว่า “ปัญญาและความเพียร” คือการเจริญโพชฌงค์ และคุณคือตบะ ตถาคตมองไม่เห็นความสวัสดีในที่อื่น ในบทคาถานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาการเจริญโพชฌงค์ก่อน ภายหลังก็ทรงถือเอาอินทรียสังวร ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น โดยใจความอินทรียสังวร ก็พึงทราบว่า ทรงถือเอาก่อน ด้วยว่า เมื่อภิกษุถือเอาอินทรียสังวรแล้ว ก็เป็นอันถือเอาจตุปาริสุทธิศีลด้วย
ภิกษุตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลนั้น เป็นนิสสัยมุตตกะ (พ้นจากการถือนิสสัยกับอุปัชฌาย์หรืออาจารย์) สมาทานตปคุณ กล่าวคือธุดงค์เข้าป่าเจริญกัมมัฏฐาน ย่อมทำโพชฌงค์ให้เกิดมีพร้อมกับวิปัสสนา อริยมรรคของภิกษุนั้นทำนิพพานธรรมอันใดเป็นอารมณ์แล้วเกิดขึ้น นิพพานธรรมอันนั้น ชื่อว่าสัพพนิสสัคคะ
เทพบุตร เทพธิดาแม้จะมีอายุยืนยาวก็มีความสะดุ้ง มีความสะเทือนใจ มีความรันทดระทมทุกข์ และมีกลัวตายเหมือนสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน ชีวิตมีอายุน้อย มนุษย์อยู่ได้ไม่เกินร้อยปีหรือเกินก็ไม่มากก็ต้องตาย เทวดาชอบทำบุญ แต่ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏต้องละอามิสมุ่งสันติ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของอุตตรเทวบุตรดังที่แสดงไว้ในอุตตรสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค(15/273-274/79) ความว่า “ครั้งนั้นอุตตรเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “ชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน บุคคลเห็นภัยในมรณะนี้แล้ว พึงทำบุญอันจะนำความสุขมาให้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน ผู้เห็นภัยในความตายนี้ พึงละโลกามิสเสีย มุ่งต่อสันติ”
คืนนั้นกว่าจะข่มจิตให้หายความสะดุ้งก็ใช้เวลานาน พิจารณาสภาวธรรม พิจารณาลมหายใจที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากมนุษย์มีอายุร้อยปี ตัวเราเองก็คงอยู่ในโลกนี้ได้อีกไม่นาน เพราะตอนนี้ก็ล่วงเลยมาเกินครึ่งร้อยปีแล้ว ชีวิตถูกต้อนเข้าสู่ความชราทุกทุวัน จะทำบุญเพื่อจะได้ไปอยู่กับเหล่าเทพเทวา หรือว่าจะละอามิสทางโลกมุ่งสู่สันติ คืนนั้นเหมือนกำลังเดินทางถึงระหว่างทางแยก ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนแต่ก้าวเข้าสู่ความหลับเสียก่อน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
06/01/56