ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          ช่วงนี้โรงเรียนหยุด ไม่ได้ยินเสียงเด็กนักเรียนมาหลายวันแล้ว โรงเรียนอยู่ข้างวัดมีเพียงถนนตัดผ่านแยกระหว่างโรงเรียนกับวัดออกจากกัน พื้นที่แยกกันได้ แต่เสียงแยกไม่ได้ ทุกเช้าเริ่มต้นที่วันจันทร์จึงมักจะได้ยินเสียงจอแจของพวกเด็กๆมาจากโรงเรียน  เสียงเหล่านั้นฟังไม่ได้ศัพท์จับสำเนียงไม่ได้ว่าพวกเขากำลังคุยกันเรื่องอะไร บอกได้เพียงแต่ว่าได้เวลาเริ่มต้นในการทำงานของแต่ละวันแล้ว  เสียงนั้นจะเริ่มจากหกโมงเช้าเรื่อยไปจนถึงเวลาแปดนาฬิกา พอเคารพธงชาติเสร็จ เสียงเหล่านั้นก็เงียบ เพราะเด็กนักเรียนเข้าห้องเรียนแล้ว


          ช่วงนี้อีกเหมือนกันที่ใกล้เทศกาลออกพรรษาซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงเจ็ดแปดวัน การเข้าพรรษาก็จะครบสามเดือนพอดี ช่วงนี้หลวงตาไซเบอร์จึงไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน นอกจากจะมีงานนิมนต์ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ อาทิตย์ที่แล้วเดินทางไปร่วมงานทำบุญอายุวัฒนมงคล 5 รอบ 60 ปีและฉลองสัญญาบัตรพัดยศ พระราชาคณะชั้นราช “พระราชปริยัติวิมล” (สายัณห์ ป.ธ.4, Ph.D.) ที่วัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
          ท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติวิมลเคยอยู่จำพรรษาที่วัดมัชฌันติการามในช่วงประมาณปีพุทธศักราช 2523-2530 ช่วงนั้นผู้เขียนยังมาทันได้พักอยู่กุฏิหลังเดิมของท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งตอนนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศอินเดีย ผู้เขียนจึงได้อยู่เฝ้ากุฏิให้ท่าน และเริ่มต้นเรียนในระดับปริญญาตรีที่สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศวิหาร หากปีใดท่านกลับมาก็จะมาพักที่กุฏิหลังเดิม หลายครั้งที่ได้สนทนากับท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งมักจะบอกเสมอว่า “เราเกิดมายากจนต้องเรียนหนังสือให้มาก หากมีโอกาสควรเรียนให้จบถึงขั้นสูงสุด  ส่วนจะเรียนอะไรจากที่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับโอกาส คนจนไม่ค่อยมีสิทธิ์ในการเลือกที่เรียน  จะเรียนที่ไหนก็ได้ เท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย”

 

          ท่านเจ้าคุณฯ มีความอดทนและใจเย็นมาก บางวันนั่งรับแขกสนทนากับญาติโยมที่มาพบปะไม่ขาดสายตั้งแต่เช้าจนเย็น พูดคุยกับทุกคนด้วยความใจดี เคยถามท่านเจ้าคุณฯว่าไม่เหนื่อยหรือที่จะต้องนั่งทั้งวัน ท่านเจ้าคุณฯตอบง่ายๆว่า “เหนื่อยสิ แต่ต้องอดทน เพราะคนเหล่านี้คือผู้มีพระคุณที่ได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการศึกษา หากไม่มีผู้อุปถัมภ์ ผมก็ไม่มีโอกาสได้เรียน”
          ท่านเจ้าคุณฯมีความวิริยะอุตสาห์อย่างยอดเยี่ยมในที่สุดก็ศึกษาจนจบปริญญาเอกสาขาบาลีและพระพุทธศาสนา  วิชาเอกพุทธปรัชญา จากมหาวิทยาลัยมารัทวาดาร์ ประเทศอินเดีย  กลับมาประเทศไทยทำงานสอนหนังสือที่มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด และดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งทางการบริหารเป็นเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด(ธรรมยุต)
          ท่านเจ้าคุณฯพระราชปริยัติวิมล เมื่อมีอายุครบหกสิบปี ยังมีฎีกามานิมนต์พระสงฆ์จากวัดมัชฌันติการาม กรุงเทพฯไปร่วมงานหลายรูป ผู้เขียนจึงพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย  ในงานแม้จะได้พูดคุยอะไรกับท่านเจ้าคุณฯ เลยก็ตามเพราะมีคนจำนวนมาก แต่ก็ยังเห็นรอยยิ้มอันประกอบด้วยเมตตาที่มาเป็นการทักทาย จึงทำได้เพียงแค่คุยกันด้วยสายตา
          การที่ลูกชาวบ้านหลานชาวนาจะมีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาเอกนั้นมีโอกาสน้อยมาก วิธีหนึ่งของคนชนบทจึงนิยมให้ลูกบวชเรียน   ท่านเจ้าคุณฯบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2510  มีชีวิตในเพศฆราวาสเพียงสิบห้าปี จากนั้นก็เรียนมาเรื่อยๆทั้งทางโลกทางธรรมจนจบระดับสูงสุดของการศึกษาทางโลกเมื่อปีพุทธศักราช 2542 ใช้เวลาถึงสามสิบปี

 

          ครั้งหนึ่งได้พบกับท่านเจ้าคุณฯ ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อครั้งที่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ” ชื่อนี้เพราะมาก แปลความได้ตรงตามตัวอักษรว่า “เจ้าคณะร้อยเอ็ด” เพราะคำภาษาบาลีว่า “เอกุตตรสตํ” แปลว่า “101” ตอนนั้นท่านกำลังเรียนปริญญาเอก เคยถามท่านเจ้าคุณฯว่า “หน้าที่การงานในทางการบริหารก็มีพร้อมแล้ว ยังจะเรียนไปทำไม” ท่านเจ้าคุณฯ ตอบสั้นๆว่า “ เมื่อมีโอกาสต้องเรียน คนโบราณสอนว่าต้องทำให้ให้สุดขุดให้ถึง ต้องแสวงหาโอกาสให้ได้  เมื่อได้โอกาสไม่ควรปล่อยให้มันผ่านไป ต้องทำให้ถึงที่สุด”

          ตอนนั้นคิดถึงคำพูดของพระเดชพระคุณพระพุทธพจนวราภรณ์(จันทร์ กุสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ ที่เคยเขียนไว้ในหนังสือมงคลชีวิตประสิทธิพรตอนหนึ่งว่า "โอกาสของคนอยู่ที่ความสนใจ" แม้จะมีเงิน มีความสามารถแต่หากไม่มีโอกาสก็ยากจะประสบความสำเร็จได้ นกไม่มีขนคนไม่มีเพื่อนขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้  ส่วนคนที่มีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเขาย่อมหาโอกาสในการศึกษาเรียนรู้และกระทำในสิ่งที่ตนสนใจจนได้ ความสนใจจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาส 
          ที่สระน้ำข้างวัดมิ่งเมืองมีดอกบัวหลายพันธุ์ ดอกบัวเกิดจากโคลนตมและน้ำแต่ค่อยๆเจริญเติบโตจนกระทั่งถึงเวลาเบ่งบาน จนกระทั่งมีคนนำมาบูชาพระ โดยที่ไม่ได้มีใครรังเกียจว่าดอกบัวมาจากโคลนตม ดอกบัวจึงเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้ในการสักการบูชาสิ่งที่ควรเคารพเช่นพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า มนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกันแม้จะมีพื้นเพมาจากลูกชาวบ้านหลานชาวนา แต่หากมีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย ก็ย่อมมีโอกาสในการศึกษา เราต้องหาโอกาสให้แก่ชีวิตให้ได้ โอกาสไม่มาหาเราเอง เราต้องแสวงหาเอาเอง เพราะโอกาสของคนอยู่ที่ความสนใจ  หากไม่สนใจแม้มีโอกาสก็ยังคว้าไว้ไม่ได้ แต่หากมีความสนใจใฝ่รู้ก็ย่อมหาโอกาสจนได้  การศึกษาทำให้มีความรู้แต่จะต้องมาคู่กับกับความประพฤติดีด้วย  ผู้ที่มีแต่ความรู้ดีแต่หากประพฤติไม่ดี การศึกษานั้นก็ยังไม่สมบูรณ์ ผู้ที่ความรู้ดีและความประพฤติดีเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์และเทวดา

 

          ในพระพุทธศาสนามีสุภาษิตบทหนึ่งที่แสดงถึงความรู้และความประพฤติดังที่ปรากฏในในอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (9/160/128)  ความว่า“วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส” แปลความตามพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย(9/160/107) ว่า “ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดา” คำว่า “วิชฺชา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง) แปลว่า “ความรู้” ส่วนคำว่า “จรณ” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่หญิงไม่ชาย) แปลได้หลายความหมายคือ “การเที่ยวไป ความประพฤติ จรณะ  เท้า” ดังนั้นจึงพอจะแปลได้อีกอย่างว่า “ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” มีความรู้ดีอย่างเดียวแต่ความประพฤติไม่ดีก็ยังเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ได้
          สองข้างทางจากกรุงเทพมหานครถึงร้อยเอ็ดมองเห็นทุ่งนาที่ข้าวกำลังออกรวง บางแห่งต้นข้าวแก่แล้วพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว บางแห่งข้าวกำลังมีสีเขียวกำลังจะจะเริ่มออกรวง ข้าวในที่นาเดียวกันแก่อ่อนต่างกัน สุกไม่พร้อมกัน หากมองให้ดีจะเห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่หาเวลาในการทำงานด้วยการปลูกข้าวที่สุกไม่พร้อมกันจึงทำการเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ พอเกี่ยวข้าวพันธุ์นี้เสร็จข้าวอีกพันธุ์หนึ่งก็จะเริ่มแก่พอดี การทำงานจึงสืบต่อ ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป เพราะชาวนาบางพื้นที่ยังนิยมใช้แรงงานคนปลูกเอง เกี่ยวเอง แม้จะมีเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแล้วก็ตาม แต่การทำงานด้วยแรงคนก็ยังมีความจำเป็นอยู่ หากชาวนายังคงทำนาก็มั่นใจได้ว่าเราจะมีข้าวกิน


          เสียงเด็กๆจากโรงเรียนข้างวัดเงียบไปหลายวันแล้ว แต่ก่อนเคยรำคาญเสียงเด็กเหล่านี้จนหาความสงบไม่ค่อยได้ แต่ในปัจจุบันไม่รำคาญแล้ว กลับรู้สึกเพลิดเพลินที่ได้ยินเสียงเด็ก เพราะเมื่อใดที่ได้ยินเสียงเด็กเล่นกันแสดงว่าพวกเขายังมีพลังในการที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนต่อไป ผู้เขียนก็เริ่มจะเป็นไม้ใกล้ฝั่ง เป็นดอกบัวที่เหี่ยวแห้งรอวันร่วงโรยกลับคืนสู่สภาพแห่งความเป็นจริงนั่นคือธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ กลายสภาพเป็นของดั้งเดิม  เด็กๆพวกนี้คืออนาคตของโลกในยุคต่อไป พวกเขาโชคดีที่เกิดมาแล้วมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน
 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
22/10/55

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก