กาลครั้งหนึ่งขณะที่อยู่ ณ ถ้ำหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งใจว่าจะไปเที่ยวชมความงามของธรรมชาติที่อยู่ภายในถ้ำซึ่งประดับตกแต่งไปด้วยหินงอกหินย้อย บางแห่งมีหยดน้ำไหลรินลงมาตามซอกเขา บางแห่งมีเพียงหยดน้ำเล็กๆที่ค่อยๆจับตัวจนกลายเป็นหยดน้ำพอได้ขนาดอิ่มตัวก็จะหยดลงยังพื้นหินเบื้องล่าง พยายามจ้องมองเพื่อที่จะถ่ายภาพน้ำที่กำลังจะหยดลงยังพื้นดิน แต่ทว่าไม่เคยทันเลยสักครั้ง พอจะถ่ายภาพน้ำก็พลันหยดลงก่อนทุกที ส่วนภาพหินงอกหินย้อยนั้นถ่ายภาพไม่ยาก แต่ถ่ายได้ไม่ค่อยงดงามนัก เนื่องจากแสงสว่างภายในในน้ำไม่เพียงพอ ครั้นจะใช้ไฟแฟ็ชจากกล้องถ่ายภาพ ภาพถ่ายก็ขาดความเป็นธรรมชาติ หยดน้ำหยดแล้วหยดเล่าที่ผ่านมาและผ่านไปเฉกเช่นชีวิตมนุษย์ที่มาสถิตยังโลกนี้แล้วก็จากไป
พอออกมานอกถ้ำนั่งเล่นเพลินๆหันกลับไปมองยังถ้ำที่พึ่งออกมา และหันมองขึ้นเบื้องสูงบนภูเขาที่สูงตระหง่าน กระแสลมกรรโชกมาเป็นระยะๆ กระแสลมพัดกระหน่ำรุนแรงมานานแล้ว จึงต้องยืนหลบมุมจ้องมองไปยังภูเขาสูงตระหง่านสูงเสียดฟ้า ต้นไม้ใบหญ้าปลิวว่อนเพราะแรงลม ต้นไม้บางต้นหักโค่น เพราะทนแรงลมไหว แต่ทว่าภูเขากลับสงบนิ่งไม่ติงไหว ยังคงมั่นคงไม่โอนเอนไปตามแรงลมที่แม้จะพัดด้วยความรุนแรงสักปานใด ก็ไม่อาจจะทำให้ภูเขานั้นไหวติงได้ คนโบราณมีคำเปรียบเทียบบุคคลที่มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวไว้ว่า “มั่นคงเข็มแข็งประดุจขุนเขา”
ในอดีตมีพระเถระรูปหนึ่งนามว่าพระลกุณฏกภัททิยะมีรูปร่างเล็กหากมองโดยผิวเผินเหมือนสามเณร แต่ทว่าท่านเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลาอาสวะแล้ว พระภิกษุสามเณรเห็นท่านคิดว่าเป็นสามเณรจึงมักจะล้อเล่นกับพระเถระรูปร่างเล็กนั้น บางรูปยังถามว่า “ท่านไม่อยากสึกหรือ ยังอยู่ดีสบายในเพศสมณะดีอยู่หรือ ยังยินดีแน่นแฟ้นในพระศาสนาดีอยู่หรือ” บางรูปถึงกับเอามือจับศีรษะ บีบจมูก ดึงหูพระเถระเล่น พระลกุณฏกภัททิยะก็ไม่ได้โกรธหรือดุด่าว่าร้ายใคร ยังคงทำตนเป็นปรกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระเถระไม่ได้โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย
จนกระทั่งเรื่องของความไม่โกรธไม่ประทุษร้ายใครๆของพระลุกณฏกภัททิยะกลายเป็นเรื่องเล่าลือในหมู่พระภิกษุ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเดินผ่านวงสนทนาที่ภิกษุกำลังสนทนากันเรื่องนี้พอดี จึงแวะเข้าไปถามสาเหตุ เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆแล้วพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพ ย่อมไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายเลย เพราะท่านเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน เช่นกับศิลาแท่งทึบ”
จากนั้นจึงแสดงคาถาดังที่ปรากฏในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/16/22) ความว่า “ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใดบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ
เอวํ นินฺทา ปสํสาสุ น สมญฺชนฺติ ปณฺฑิตา
ภูเขาหินแม้จะถูกกระแสลมพัดกรรโชกอย่างไรเพราะมีความมั่นคงแข็งแรง แต่หากภูเขานั้นมีโพรงด้านใน เมื่อถูกลดพัดก็จะเกิดเสียงดัง บางครั้งกังวานประดุจเสียงระฆัง ดังนั้นภูเขาทึบกับภูเขาที่เป็นถ้ำจึงมีความแตกต่างกัน แต่ในที่นี่ท่านเน้นไปที่ภูเขาหินทึบไม่มีโพรง จึงมีความมั่นคงแข็งแรง
ในโลกแห่งมนุษย์ย่อมมีทั้งคำนินทาและคำสรรเสริญ หากทำถูกใจใครก็มักจะได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่าทำได้ดี แต่การกระทำอย่างเดียวกันหากไปขัดผลประโยชน์ของคนอื่น ก็อาจจะต้องได้รับคำนินทากลับมา นินทาและสรรเสริญเป็นธรรมหมวดหนึ่งในโลกธรรมแปดประการดังที่แสดงไว้ในโลกธรรมสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต(23/96/122) ความว่า “โลกธรรมแปดประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลกและโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรมแปดประการคือ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่งท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ”
หากยังเป็นมนุษย์ดำรงอยู่ในมนุษยโลกนี้ก็ย่อมประสบพบกับความเป็นไปของโลก คนที่ถูกนินทาหรือสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มี ย่อมต้องประสบกับทั้งคำนินทาและสรรเสริญ ในทำนองเดียวกันมนุษย์เจริญฝ่ายเดียวก็หามิได้ก็ต้องมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อีกทั้งความสุขหรือความทุกข์ก็เป็นธรรมดาของโลก ตราบใดก็ตามที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนก็หนีโลกธรรมนี้ไม่พ้น โลกธรรมจึงเป็นเหมือนกระแสลมที่จะพัดพาจิตใจของมนุษย์ให้หวั่นไหวได้ อีกอย่างหนึ่งอายตนะภายนอกหรืออารมณ์ทั้งหกประการก็เป็นเหมือนกระแสลมที่ทำให้มนุษย์ทั่วไปหวั่นไหวได้ แต่สำหรับจิตของพระอรหันต์ไม่หวั่นไหวเพราะอารมณ์ทั้งหลายดังคาถาสุภาษิตของพระโสณโกฬิวิสเถระ ในขุททกนิกาย เถรคาถา (26/380/356) ความว่า “ภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ย่อมไม่ทำจิตของบุคคลผู้คงที่ให้หวั่นไหวได้ ฉันนั้น จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไรๆ เพราะผู้คงที่นั้นพิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น
จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะเผชิญกับโลกธรรมและอารมณ์เหล่านี้อย่างไร หากจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามคำนินทาหรือสรรเสริญ ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเข็มแข็ง ท่านจึงเปรียบไว้เหมือนภูเขาหิน ที่แม้จะถูกกระแสลมพัดพาอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว เอนเอียงไปตามแรงลม ดังเช่นมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อโลกธรรมแม้ทั้งแปดครอบงำอยู่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เอนเอียง คือไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน ด้วยอำนาจความยินร้ายหรือยินดี ฉันนั้นจิตใจของบัณฑิตเมื่อเผชิญกับอารมณ์ทั้งหลายจึงเป็นเหมือนกับลมพัดภูเขาหินศิลาแท่งทึบ กระแสลมผ่านไปแต่ไม่อาจทำให้ภูเขาหวั่นไหวเอนเอียงได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/07/55