ตั้งแต่เกิดกรณีเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็ไม่เคยอยากจะไปกัมพูชาอีกเลย มันเหมือนกับจะหาความปลอดภัยในชีวิตไม่ค่อยได้ ประเทศกัมพูชามีสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย มีมรดกอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะนครวัด นครธม ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างหนึ่ง หากมีโอกาสก็ควรจะไปเยือนสักครั้ง แม้ว่าจะเคยไปเยือนเมื่อหลายปีก่อนได้สัมผัสกับความอลังการของสิ่งปลูกสร้างที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่พอกลับมาแล้ว ไม่ค่อยได้เขียนถึงนครโบราณแห่งนี้เท่าใดนัก มีคนเขียนเกี่ยวกับนครวัดมากจนอ่านไม่ไหว แต่ทว่าความอลังการของปราสาทยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ
จนกระทั่งได้รับคำสั่งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชให้เดินทางไปร่วมงาน “งานมหกรรมวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแห่งเอเชีย” เจ้าภาพระบุจัดขึ้นครั้งแรก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 14-17 ธันวาคม 2554 จัดขึ้นสองแห่งคือกรุงพนมเปญและนครวัด จังหวัดเสียมเรียบ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาของกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ในงานนี้ได้เชิญผู้นำและตัวแทนชาวพุทธจากสิบสามประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อให้ทันในวันเปิดงานจึงต้องออกเดินทางในวันที่ 13 ธันวาคม 2554
นึกภาพงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ไม่ออก แต่ดูจากกำหนดการเบื้องต้นแล้ว มีสมเด็จพระสังฆราชทั้งสองนิกายมาร่วมเป็นประธานคือสมเด็จพระมหาสังฆราชาบัวครี(สมเด็จพระสังฆราชคณะธรรมยุติกนิกาย) และสมเด็จพระมหาสังฆราชาเทพวงศ์(สมเด็จพระสังฆราชคณะมหานิกาย) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ส่วนประธานฝ่ายฆราวาสคือสมเด็จอัคระมหาเสนาปาเทเดโชฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นกำหนดการเบื้องต้นแล้วก็ต้องบอกว่า เป็นงานใหญ่ในเอเชียอีกงานหนึ่ง
กัมพูชาและไทยมีชายแดนติดกันเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่หลายคนคงคิดว่าจะเดินทางไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์กรณีเขาพระวิหารที่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว เห็นเงียบหายไป คงตกลงกันได้แล้ว เพราะถึงอย่างไรก็ย้ายประเทศหนีจากกันไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกันเพราะชายแดนติดต่อกัน อยู่ใกล้กันอาจจะพอปรับความเข้าใจกันได้ หากไม่ถือทิฐิเพื่อหวังจะเอาชนะกันเกินไป แต่เรื่องของการเมืองและการทูตนั้นลึกซึ้งยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้
ในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรมบางอย่างใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง กัมพูชามีสมเด็จพระสังฆราชสองพระองค์ สมเด็จมหาสังฆราชาบัว ครี เคยเดินทางมาเมืองไทยหลายครั้ง พูดภาษาไทยได้ ได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2546 พระนามในตอนนั้นคือสมเด็จพระสุคันธาธิบดี(บัว ครี) เข้ารับปริญญาปีเดียวกับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์และกรรมการมหาเถรสมาคม
หัวใจของงานในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ “นครวัดหรืออังกอร์วัด” ตามกำหนดการมีพระสงฆ์จากทั่วโลกเข้าร่วมงานประมาณ 200 รูป จะไปทำอะไรไม่ได้บอกไว้ชัดเจนนัก เพียงแต่กำหนดไว้บางส่วนว่ามีการสวดมนต์และทำสมาธิเพื่อสันติภาพของโลกและพระพุทธศาสนา มีการแสดงทางวัฒนธรรม เที่ยวชมนครวัด นครธม งานเริ่มตั้งแต่เช้าถึงตอนกลางคืน เรื่องของนครวัด นครธมนั้นมีผู้เขียนถึงจำนวนมาก หนังสือที่ซื้อมาในการเดินทางไปเมื่อหลายปีก่อนตอนนี้ก็ยังอ่านไม่จบ พอคิดจะเริ่มอ่านและศึกษาอย่างจริงจังก็มักจะมีเรื่องใหม่สอดแทรกเข้ามาเสมอ หนังสือเหล่านั้นเลยหลับใหลอยู่ในตู้หนังสือต่อไป พอถึงช่วงจะออกเดินทางไปเยือนกัมพูชาอีกครั้งก็ค้นมาอ่านอีกที แต่ยังหาประเด็นที่จะนำมาเขียนไม่ได้
หากกล่าวถึงกัมพูชาสิ่งที่คิดถึงเป็นอันดับแรกคือปราสาทเขาพระวิหาร จากนั้นจึงคิดถึง “นครวัด นครธม” และตามาด้วย “ทุ่งสังหาร” ความทรงจำเกี่ยวกับกัมพูชามีทั้งเรื่องของความมหัศจรรย์และเรื่องของความโหดร้ายเกินกว่าที่มนุษย์จะคาดเดาได้ เคยไปดูหัวกะโหลกหลายหมื่นอันที่เขาเก็บรักษาไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเสียมเรียบ เห็นแล้วสะท้อนใจทำไมมนุษย์จึงโหดร้ายขนาดนั้น ไกด์นำเที่ยวก็อธิบายไปร้องให้ไป เขาบอกว่ามีคนตายมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนคนฟังจำได้บ้างไม่ได้บ้าง เรื่องราวมันสลับซับซ้อน ไม่รู้ใครผิดใครถูก อำนาจหากตกอยู่ในมือของคนบ้าก็อาจจะก่อให้เกิดการสูญเสียที่มากมายมหาศาลเกินกว่าคนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ ได้ข่าวว่าตอนนี้กำลังพิจารณาคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารโหดในครั้งนั้นด้วย
ส่วนเรื่องของนครวัดนครธมก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์จริงๆ จากหนังสือ Ancient Angkor เขียนโดย Michael Freeman and Claude Jacques (ซื้อมาเมื่อเดินทางไปครั้งแรก)ระบุไว้ว่า “นครวัดสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 (ค.ศ 1113-1150, พศ. 1656-1693) เป็นศาสนสถานประจำพระนครของพระองค์ ตัวเทวสถานได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จนเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญ แต่เดิมนครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระวิษณุ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวัดในพระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ ได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ “เมืองพระนคร” เมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นมรดกโลกแห่งแรกของประเทศกัมพูชา
หนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง “ลาวและกัมพูชา” แปลโดยพวงนิล คำปังสุ์ หน้า 249 ระบุถึงสถานที่สำคัญในพนมเปญสรุปได้ว่า “กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของกัมพูชามีสถานที่สำคัญคือพระราชวังหลวง พระเจดีย์เงิน วัดอุณาโลม วัดพนม และทุ่งสังหารเจืองไอซึ่งออกจากเมืองไปทางใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร” การไปในงานแบบนี้คงมีโอกาสน้อยที่จะได้ไปชม นอกจากเจ้าภาพเขาจะพาไป ตอนนี้มีหนังสือสองเล่มอยู่ในมือแล้ว
นครวัดนครธมหรืออังกอร์วัด น่าจะได้ชมนานที่สุดคาดว่านครโบราณแห่งนี้ยังคงโดดเด่นงดงามอลังการรอคอยการไปเยือนของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ภายใต้ความอลังการนั้น ทำให้ยากที่จะเข้าถึงวิธีคิดในการก่อสร้าง จะเป็นด้วยพลังศรัทธาหรืออำนาจก็แล้วแต่ ทว่าสิ่งที่ยังปรากฏให้เห็นก็ต้องนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเลยทีเดียว ครั้งก่อนไปเยือนด้วยความตั้งใจไปจริงๆและปราสาทกำลังได้รับบูรณะ แต่ครั้งนี้เดินทางโดยไม่ได้ตั้งใจ เร่งด่วนจนแทบจะเตรียมตัวไม่ทัน อะไรจะเกิดขึ้น ไปแล้วจะเห็นอะไร กลับมาจะเล่าให้ฟัง ได้เวลาเตรียมตัวออกเดินทางแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/12/54