มีผู้ส่งบทความมาให้ตั้งชื่อเรื่องสั้นๆว่า "ปาฏิโมกข์" แต่ไม่ประสงค์จะออกนาม เขียนได้ดีมีหลักฐาน วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันพระขึ้นสิบห้าค่ำตามปกติพระสงฆ์จะลงปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นการประชุมสงฆ์และฟังพระสงฆ์รูปหนึ่งสวดปาฏิโมกข์คือศีลของพระภิกษุ 227 ข้อ สวดเป็นภาษาบาลี ที่วัดมัชฌันติการามสวดตลอดปีไม่มีเว้นจะออกพรรษาหรือเข้าพรรษาก็สวดทุกวันพระขึ้นและแรม 15 ค่ำเป็นปกติ จึงไม่เคยรู้ว่าในอดีตการสวดปาฏิโมกข์นั้นจะมีเกร็ดประวัติที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าเคยมีกรณีร้องเรียนว่าพระไม่ลงปาฏิโมกข์ ผู้อ่านท่านนี้ส่งเรื่องเกี่ยวกับปาฏิโมกข์มาให้เห็นว่ามีประโยชน์ลองอ่านดู
เมื่อสองสามวันก่อน มีเวลาว่างพอที่จะลงมือจัดหนังสือหนังหาที่กองสุมกันอยู่ จัดหนังสือครั้งใดมักใช้เวลานานเสมอ เพราะอดไม่ได้ที่จะเปิดอ่านไปบ้างระหว่างการจัด ได้มีโอกาสอ่านเรื่องเก่า ๆ ที่ให้แง่มุมท้าทายให้คิด แม้บางครั้งความคิดนั้นจะนำไปสู่การตั้งคำถาม โดยไม่มีคำตอบ
ทุกวันนี้ชาวพุทธในบ้านเราต่างทราบกันดีว่าพระภิกษุสงฆ์สวดพระปาฏิโมกข์ 227ข้อทุกกึ่งเดือน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เมื่อลองย้อนอดีตผ่านตัวอักษรจากเอกสารเก่ากลับไปถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ทราบว่าเราได้เคยผ่านอะไรกันมาบ้าง
สำหรับคนยุคปัจจุบัน แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2352) มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ไม่สวดพระปาฏิโมกข์เลย หรือสวดปีละครั้งสองครั้ง หรือสวดไม่ครบ 227 ข้อ จนทำให้พุทธศาสนิกชนในยุคนั้นเดือดเนื้อร้อนใจ แต่คนโบราณไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ ไม่มีพื้นที่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้ได้แสดงความคิดเห็นโต้เถียงกัน ทางออกทางหนึ่งคือการเขียน “หนังสือทิ้ง” หรือบัตรสนเท่ห์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วก็นำไปทิ้งไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใจความบางตอนสะท้อนสภาพการณ์และความคิดเห็นของผู้คนให้เราเข้าใจได้
“ทุกวันนี้เป็นการปลายพระพุทธศาสนาล่วงไปมาก พระสงฆ์ประพฤติอนาจารการทุจริต เห็นแก่ลาภสักการโลกามิสหนักไปทางความสุขในปรัตยุบันถ่ายเดียว ไม่เหลียวต่อวินัยบัญญัติพุทธานุญาต ละเลยทอดทิ้งอุโบสถสังฆกรรมเสียมาก ถึงบางพวกทำอยู่บ้าง ก็สวดพระปาฏิโมกข์ไม่จบ สวดเพียงสังฆาทิเสสบ้าง อนิยตบ้าง อ้างเลศอันตรายต่าง ๆ แล้วเลิกเสียบ้าง ..... ขอพระบารมีปกเกล้าฯ ทรงเห็นแก่พระพุทธศาสนาให้มาก อย่าให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสิ้นเสียโดยเร็วเลย”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทราบความแล้ว ทรงสังเวชพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้ซักถามพระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ตามความในบัตรสนเท่ห์ ท่านเหล่านั้นยอมรับว่า “กาลเปนปลายพระพุทธศาสนาเรียวลงมากถึงเพียงนี้แล้ว จะสวดให้จบไม่ได้ด้วยพระปาฏิโมกข์ฟั่นเฝือนัก จะเป็นอันตู่พระพุทธวจนะไป” บางพวกก็อ้างว่าครูบาอาจารย์พาปฏิบัติมา หากจะสวดพระปาฏิโมกข์ให้ครบก็จะผิดแบบแผนไปจากเดิม
หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจสอบว่าวัดใดบ้างที่ทำอุโบสถสังฆกรรม วัดใดไม่ได้ทำ ปรากฎว่าวัดที่สวดพระปาฏิโมกข์เสมอทุกวันอุโบสถ คือ วัดราชบูรณะ วัดราชสิทธาราม วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส) วัดสัมพันธวงศาราม วัดโมลีโลกยาราม วัดปากน้ำ และวัดที่ขึ้นกับวัดทั้ง 6 นั้น ทรงมีพระดำริตัดพ้อว่า
“ในพรรษาพระสงฆ์ไปเที่ยวเทศนาวันละ 9 แห่ง 10 แห่ง มิได้คิดแก่ความยากลำบาก หรือเที่ยวบังสุกุลหาลาภสักการ ถึงจะบุกน้ำลุยโคลนกรำฝนทนแดดก็อุตสาหะไปได้ไม่กลัวเหนื่อย แต่ซึ่งจะกระทำอุโบสถสังฆกรรมอยู่ในวัด เป็นการไม่สู้ลำบากนักนั้น พระสงฆ์ไม่เอาเป็นธุระเลย”
เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คณะสงฆ์ได้กระทำอุโบสถสังฆกรรมตามพระวินัยบัญญัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระราชอุทิศเครื่องไทยทาน หรือที่เรียกว่า “กระจาดพระปาฏิโมกข์” ถวายพระสงฆ์ที่สวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันอุโบสถ จนกลายเป็นธรรมเนียมสืบมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เราไม่มีวันจะทราบได้ว่าท่านผู้ถวาย “หนังสือทิ้ง” ฉบับนั้นคือใคร มีอาชีพ หรือมีสถานภาพอย่างไรในสังคมยุคนั้น แต่อดประหลาดใจไม่ได้ว่าแม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานกว่า 200 ปี ห่างไกลจากการศึกสงครามขนาดใหญ่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อร้องเรียนและความห่วงใยของพุทธศาสนิกชนต่อปัญหาที่พระภิกษุสงฆ์สวดพระปาฏิโมกข์ไม่ครบ 227 ข้อ จะยังคงหวนกลับมาให้ได้ศึกษาเทียบเคียงอีกครั้ง
ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
15/08/54
ที่มา : คำประกาศเรื่องปวารณา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว